บรรดาสัตว์นับล้านสายพันธุ์กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เนื่องจากมนุษย์

การประเมินและรวบรวมข้อมูลในระดับโลกบ่งชี้ว่า โอกาสในการปกป้องความหลากหลายทางระบบนิเวศ สัตว์สูญพันธุ์ และโลกที่อุดมสมบูรณ์นั้นเริ่มหมดลง แต่ยังพอมีทางแก้ปัญหาอยู่บ้าง

องค์การสหประชาชาติออกโรงเตือนว่า บรรดามนุษย์เป็นเหตุให้สายพันธุ์สัตว์นับล้านชนิดต้องกลายเป็น สัตว์สูญพันธุ์ ไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลร้ายทั้งเผ่าพันธุ์มนุษย์และทุกชีวิตที่เหลืออยู่บนโลก

รายงานที่ชื่อว่า รายงานการประเมินความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศระดับโลก ได้รวบรวมแหล่งข้อมูลจากรัฐบาลและวิทยาศาสตร์กว่า 1500 แหล่งข้อมูล โดยผู้เชี่ยวชาญจำนวน 145 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก รายงานฉบับนี้มองถึงสภาวะของความหลากหลายทางชีวภาพบนโลกในอีก 15 ปีข้างหน้า

บรรดาผู้เขียนรายงานนี้พบว่า สาเหตุของการเสื่อมถอยของธรรมชาติบนโลกเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เช่น การเปลี่ยนสภาพที่ดิน การตัดไม้ทำลายป่า การทำประมงเกินขนาด การล่าสัตว์ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ มลภาวะ และการรุกรานของสัตว์ต่างถิ่น

นอกจากนี้ บรรดาสัตว์ราว 8.7 ล้านสายพันธุ์ (หรือาจมากกว่านี้) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “สายใยสนับสนุนความปลอดภัยของชีวิต” (Life supporting Safety Net) ซึ่งมีทั้งแหล่งอาหาร น้ำสะอาด อากาศ พลังงาน และอื่นๆ กำลังหร่อยหรอลงไป

จำนวนประชากรของแพนด้ายักษ์เพิ่มขึ้นมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงสถานะของมันจากบัญชีแดงไอยูซีเอ็น (แสดงสถานะการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิต) จาก “สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์ (endangered) ” มาเป็น “มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (vulnerable) ” เมื่อปี 2016 ภาพถ่ายโดย JOEL SARTORE, NATIONAL GEOGRAPHIC PHOTO ARK

โลกแห่ง “สารข้นเหนียวสีเขียว”

ในโลกใต้ทะเล บรรดาสิ่งมีชีวิตตัวน้อยอาจจะเหลือเป็นเพียงแต่สารห่อหุ้มตัวข้นเหนียวสีเขียว (green slime) ป่าไม้เขตร้อนในพื้นที่ห่างไกลบางแห่งใกล้เงียบงันเพราะไม่มีมวลหมู่แมลงที่คอยส่งเสียง ทุ่งหญ้าเขียวขจีกำลังกลายเป็นทะเลทราย กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ส่งผลให้พื้นที่ต่างๆ ของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 75 และพื้นที่มหาสมุทรกว่าร้อยละ 66 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ครอบคลุมโลกของเรามากที่สุด กำลังทุกข์ทนจากผลกระทบที่เกิดมากมนุษย์

“มนุษย์เรากำลังกัดกร่อนสุดยอดรากฐานทางเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ ความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลก” เซอร์ โรเบิร์ต วัตสัน ประธานนโยบายเวทีวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลนานาชาติทางชีวภาพและระบบนิเวศ (The Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services – IPBES) กล่าวและเสริมว่า “ความกังวลส่วนตัวของผมคือสภาวะของมหาสมุทร ทั้งพลาสติก พื้นที่มรณะทางทะเล (Dead Zone) การทำประมงเกินขนาด ความเป็นกรด (acidification) เรากำลังทำลายมหาสมุทรอย่างมหาศาล”

ปกป้องบรรดาสัตว์ให้มากกว่านี้

การปกป้องธรรมชาติและรักษาสายพันธุ์สัตว์ คือการปกป้องพื้นดิน พืชน้ำ และสัตว์ที่ต้องอยู่รอด โจนาธาน ไบล์ลี รองประธานบริหารและหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กล่าว การปกป้องพื้นที่โลกได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2050 ด้วยการบรรลุเป้าหมายระหว่างทางคือ คือปกป้องพื้นที่โลกให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2030

เต่ากระถูกบัญญัติให้เป็นสัตว์ที่วิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (critically endangered) ในบัญชีแดงไอยูซีเอ็น โดยการค้ากระดองเต่า การเก็บไข่เพื่อไปเป็นอาหาร และการทำลายปะการัง เป็นสาเหตุที่ทำให้พวกมันมีจำนวนลดลง ภาพถ่ายโดย JOEL SARTORE, NATIONAL GEOGRAPHIC PHOTO ARK

รายงานดังกล่าวสรุปว่า เพื่อปกป้องธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ สังคมเราต้องเปลี่ยนความสนใจในการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวมาสู่เป้าหมายทางธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จะง่ายมากขึ้นถ้ามีหลายๆ ประเทศเปลี่ยนจากการพัฒนาการทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานความเข้าใจที่ว่า ธรรมชาติคือรากฐานของการพัฒนา การวางแผนโดยยึดเอาธรรมชาติเป็นฐานจะเป็นจุดเริ่มต้นของคุณภาพชีวิตที่ดีและลดผลกระทบในแง่ลบได้มาก

นอกจากนี้ ในรายงานดังกล่าวชี้ว่า บรรดาชนเผ่าท้องถิ่นทั่วโลก ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ มีความสามารถในการปกป้องและจัดการธรรมชาติมากกว่ารัฐบาลหรือองค์กรความร่วมมือใดๆ ซึ่งรัฐบาลในแต่ละประเทศต้องช่วยเหลือพวกเขาในแง่ของการจัดการให้สิทธิที่ดินทำกิน และไม่รุกรานพวกเขา

“ชนเผ่าท้องถิ่นเป็นผู้ให้ความร่วมมือคนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นของโลก” – โฆฆี การินโญ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายของโครงงานป่ามนุษย์ (Forest People Program) ขององค์การสิทธิมนุษยชน กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 2020 จะมีการประชุมของสหประชาชาติที่ชื่อว่า การประชุมว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศจีน บรรดานักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะทำให้เกิดข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อปกป้องธรรมชาติของโลก เช่นเดียวกับข้อตกลงปารีสที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสภาพภูมิอากาศของโลก

“หลักฐาน [ที่ได้ปรากฏในรายงาน] นั้นมีความชัดเจนอย่างยิ่ง อนาคตจะกลายเป็นเรื่องเลวร้ายถ้าเราไม่ทำอะไรเสียตั้งแต่ตอนนี้ จะไม่มีอนาคตสำหรับเรา หากไม่มีธรรมชาติ” ซานดรา ดิอาซ หนึ่งในผู้เขียนรายงาน กล่าว

เรื่องโดย 


อ่านเพิ่มเติม บรรดาสัตว์น้ำในท้องทะเลกำลังสูญพันธุ์เร็วกว่าที่คิด

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.