ปะการังเทียมช่วยปลาเขตร้อนปรับตัวในการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ

ซากเรือในทะเลของมลรัฐนอร์ทแคโรไลนาถูกล้อมรอบไปด้วยฝูงปลา และมีฉลามที่มีจำนวนประชากรคงที่ว่ายอยู่ล้อมรอบ ซากเรือได้กลายเป็นปะการังเทียมที่ช่วยรักษาชีวิต และเป็นที่อยู่ของสัตว์ทะเลที่ต้องอาศัยอยู่กับน้ำทะเลที่กำลังอุ่นขึ้น ภาพถ่ายโดย DAVID DOUBILET, NAT GEO IMAGE COLLECTION


ในสภาวะที่น้ำทะเลกำลังอุ่นขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อปะการัง ซากเรืออับปาง ที่เป็น ปะการังเทียม สามารถเป็นที่อาศัยหลบภัยของบรรดาสัตว์ทะเลได้

งานศึกษาชิ้นใหม่ที่ปรากฏในวารสาร Nature Communication Biology โดยเทย์เลอร์ แพกซ์ตัน นักนิเวศวิทยาจาก ศูนย์วิทยาศาสตร์มหาสมุทรชายฝั่งในเมืองโบฟอร์ต มลรัฐนอร์ทแคโรไลนา และเอเวอรี แพกซ์ตัน นักนิเวศวิทยาทางทะเลของ ห้องปฏิบัติการทางทะเล มหาวิทยาลัยดุค (the Duke University Marine Laboratory) แสดงให้เห็นว่า ปะการังเทียมในน้ำลึกของชายฝั่งในมลรัฐนอร์ทแคโรไลนา สามารถเพิ่มจำนวนปลาเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนในทางตอนเหนือของพื้นที่ชายฝั่งได้ โดยการค้นพบครั้งนี้มีความเกี่ยวข้องอย่างมีสำคัญสำหรับสายพันธุ์ปลาที่อยู่ในน้ำอุ่น

 

เนื่องจากอุณหภูมิของมหาสมุทรสูงขึ้น ปะการังเทียมสามารถช่วยเหลือการย้ายถิ่นเพื่อค้นหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับสายพันธุ์สัตว์เหล่านี้ได้ในอนาคต

ปลากำลังว่ายในซากเรือเบนวูด (Benwood) เรือซึ่งจมในมลรัฐฟลอริดาเมื่อปี 1942 ซึ่งในขณะนี้ได้ทำหน้าที่เป็นปะการังเทียมเรียบร้อยแล้ว ภาพถ่ายโดย DAVID DOUBILET, NAT GEO IMAGE COLLECTION

ปะการัง ที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ (และเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ)

ปะการังหิน (rocky reef) ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติบริเวณชายฝั่งในมลรัฐนอร์ทแคโรไลนามีลักษณะใกล้เคียงกับแนวปะการัง แต่ปะการังเขตร้อน (tropical reef) นั้นไม่เหมือนปะการังหินที่โครงสร้างของมันเกิดขึ้นจากหิน หรือสารตั้งต้นที่ไม่มีชีวิตประเภทอื่นๆ ซึ่งปะการังหินนั้นสามารถก่อรูปทรงได้หลายแบบ มันสามารถมีลักษณะแบนราบ หรือมีรูปร่างกระจายตัวเป็นหย่อมๆ ในก้นทะเล ในขณะที่ปะการังในเขตอบอุ่น (temperate reef) จะก่อตัวอยู่ตามแนวหน้าผาหรือแนวหินที่ยื่นออกมาจากไหล่ทวีป

โดยสิ่งที่มาช่วยเสริมปะการังเหล่านี้คือปะการังเทียม ซึ่งมีทั้งซากเรือล่ม หรือสิ่งของที่มนุษย์จงใจทิ้งลงทะเลเพื่อให้เป็นปะการัง เช่น ท่อคอนกรีต เสาค้ำสะพาน และเรือโยงที่ปลดระวางแล้ว

แม้ว่าความนิยมปะการังเทียมจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ใช่ของใหม่ มนุษย์ได้สร้างปะการังเทียมโดยบังเอิญในยามที่พวกเขาได้ออกไปสำรวจทะเล (และก็มีเรือที่ล่มในระหว่างกระบวนการสำรวจนั้น) ในช่วงคริสต์ศตวรรษ ที่ 1800 ชาวประมงบางคนได้ทิ้งท่อนซุงลงในแม่น้ำเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของปลาที่พวกเขาต้องการจับ โรเบิร์ต มารทอร์ นักชีววิทยาทางทะเลของ หน่วยงานทรัพยากรธรรมชาติแห่งมลรัฐเซาท์แคโรไลนา กล่าวและเสริมว่า “ปะการังเทียมส่วนใหญ่เกิดจากการทำประมง การใช้ปะการังเพื่อวัตถุประสงค์อื่นเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อมานานมานี้”

ปลาที่อยู่ห่างไกล

เหล่านักวิทยาศาสตร์ทำการสำรวจโดยการดำน้ำ พบว่า บรรดาปลาในพุ่มปะการังใช้ปะการังเทียมเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้คือ ปะการังเทียมนั้นให้ประโยชน์ในทางธรรมชาติกับบรรดาปลาเหล่านี้หรือไม่ อย่างไร ทั้ง เทย์เลอร์แพกซ์ตัน, เอเวอรี แพกซ์ตัน และทีมงานการศึกษาปะการัง 30 แห่งในมลรัฐนอร์ทแคโรไลนาโดยการดำน้ำลงไปใต้ทะเล และวางสายวัด (measuring tape) เพื่อนับจำนวนปลาที่ว่ายข้ามสายวัดไป และพวกเขาได้ทำการนับจำนวนซ้ำเช่นนี้อย่างน้อย 4 ครั้งต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2013 ถึง 2015 เพื่อตรวจจับผลที่แตกต่างออกไปในแต่ละฤดู

ซากเรือซึ่งจมอยู่ที่ คีย์ ลาร์โก ในมลรัฐฟลอริดา คือปะการังเทียมสำหรับกลุ่มปลา smallmouth grunts โดยสะพานเรือนั้นถูกหุ้มไปด้วยปะการังที่สวยงาม และฟองน้ำที่กำลังเติบโต ภาพถ่ายโดย DAVID DOUBILET, NAT GEO IMAGE

แพกซ์ตันประหลาดใจกับความหลากหลายของปลาเขตร้อนที่พบในปะการังด้วย

“ฉันเห็นปลาผีเสื้อ และปลาสินสมุทร ตอนนั้นฉันคิดว่า ภาพที่เห็นนั้นจริงหรือเปล่า แต่มันก็มีปลาพวกนั้นจริงๆ” แพกซ์ตันกล่าว

เมื่อกลับมาที่ห้องปฏิบัติการ บรรดานักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเปิดเผยว่า ปลาเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนนั้นสามารถสร้างบ้านของมันในปะการังเทียมได้หรือไม่ ผลที่ได้มานั้นน่าสนใจ เพราะปลาก็นิยมอยู่ปะการังที่อยู่ในน้ำลึก ทั้งปะการังเทียมและปะการังธรรมชาติ ที่อยู่ลึกระหว่าง 24 – 35 เมตรจากพื้นผิว

ทั้งแพ็กซ์ตันและเทย์เลอร์ยังไม่ทราบว่าเหตุใดบรรดาปลาจึงชอบไปอยู่อาศัยในบริเวณน้ำลึก คงต้องมีงานวิจัยในอนาคตเพื่อตอบคำถามนี้ และยังมีสิ่งที่ทีมนักวิจัยสงสัยคือ การรวมตัวของแพลงก์ตอนสัตว์ (Zooplankton) ที่เป็นอาหารของปลา ความซับซ้อนของโครงสร้างปะการังเทียมเมื่อเทียบกับปะการังธรรมชาติ และความใกล้เคียงของบริเวณทะเลน้ำลึก กับกระแสน้ำกัลฟ์สตรีม (Gulf Stream) บริเวณไหล่ทวีป

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม บรรดานักวิจัยต่างพากันกล่าวว่า การดำรงอยู่ของปะการังเหล่านี้จะช่วยในการอนุรักษ์เหล่าสัตว์ทะเล โดยการเป็นที่อยู่อาศัยในภาวะที่น้ำทะเลค่อยๆ อุ่นขึ้นเช่นนี้

เรื่องโดย CARRIE ARNOLD


อ่านเพิ่มเติม สัตว์ในมหาสมุทรกำลังขาดอากาศหายใจเพราะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.