คนเมืองกรุงอย่างผมไม่ใส่ใจ ต้นไม้ มากนักตราบใดที่ต้นไม้เหล่านั้นไม่ใช่ต้นไม้หน้าบ้านเราเอง การได้เห็นต้นไม้ถูกตัดจนด้วนหรือแหว่งกลับกลายเป็นภาพชินตา “เดี๋ยวมันก็งอก” เราบอกกับตัวเองเช่นนั้น
ผมเพิ่งมารับรู้ถึงความเจ็บใจก็เมื่อตอนที่พบว่าต้นไม้ใหญ่ฝั่งตรงข้ามหน้าปากซอยบ้านอาจจะไม่มีวันแตกกิ่งใหม่ขึ้นมาอีกแล้ว ต้นไม้ต้นนี้ยืนต้นมานานแค่ไหนไม่มีใครทราบ แต่ทุกคนเพิ่งมาเริ่มเห็นคุณค่าของมันก็ตอนที่พระอาทิตย์ยามบ่ายสาดแสงลงมายังบรรดาพ่อค้าแม่ค้ากับลูกค้าที่กำลังรับประทานอาหารในบริเวณนั้น เนื่องจากไม่มีกิ่งไม้ใหญ่คอยบังให้ร่มเงาอีกต่อไป
ถ้าต้นไม้เลือกสถานที่อยู่อาศัยได้ คงไม่มีต้นไม้ต้นไหนอยากที่จะเกิดหรือเติบโตในฐานะต้นไม้ในเมือง อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตใดๆ ที่ด้านล่างรากของมันต้องเผชิญกับฟุตบาทแข็งๆ หรือท่อระบายน้ำ บางต้นโชคร้ายกว่านั้นเมื่อเจ้าหน้าที่ตัดสินใจเทปูนล้อมรอบ ในขณะที่ด้านบนกิ่งก้านของมันถูกตัดทิ้งได้ทุกเมื่อหากเติบโตแผ่ขยายจนไปกินพื้นที่ของสายไฟ
นั่นจึงทำให้ชาวกรุงอย่างผมชินตากับภาพของต้นไม้ที่ถูกตัดจนเหี้ยนเหล่านี้ เคราะห์ดีบางต้นรอดและยังคงเติบโตแตกกิ่งก้านสาขาออกไปได้ แม้จะไม่แข็งแรงเหมือนเดิมก็ตาม ในขณะที่บางต้นกลับไม่โชคดีเช่นนั้น การตัดต้นไม้โดยขาดองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งผลให้พวกมันกลายเป็นต้นไม้พิการ ซึ่งในที่สุดแล้วต้นไม้เหล่านี้จะเติบโตช้าลงๆ อันเป็นผลมาจากใบและรากที่ไม่แข็งแรง ทำให้รับส่งอาหารและพลังงานได้ไม่เพียงพอ เมื่อต้นไม้อ่อนแอลงเรื่อยๆ ในที่สุดมันจะตายกลายเป็นแค่ซากไม้ยืนต้น หากบรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงตัดต้นไม้อย่างขาดความรู้เช่นนี้ทุกปี
ภาพถ่ายชุดนี้ได้แนวคิดมาจากการรำลึกถึงอดีตของต้นไม้เหล่านั้น ก่อนที่จะถูกตัด หรือบั่นกิ่ง ต้นไม้พิการที่กุดแหว่ง หรือบิดเบี้ยวเหล่านี้ เคยมีหน้าตาเป็นอย่างไร? แผ่กิ่งก้านสาขายิ่งใหญ่ขนาดไหน? มีดอกหรือไม่? ด้วยความช่วยเหลือจากผู้คนในพื้นที่นั้นๆ คอลัมน์ “The Perspective” เดินเท้าออกสำรวจต้นไม้พิการหลายจุดในเมืองกรุง และขอให้พวกเขาช่วยวาดมันขึ้นมาอีกครั้งจากความทรงจำ
1.
สากล จงนิรักษ์ วินมอเตอร์ไซต์ประจำอยู่ที่วินหน้าห้างเซ็นจูรี่มานานกว่า 10 ปี เล่าให้ฟังว่า เห็นต้นไม้ต้นนี้มาตั้งแต่วันแรกของการทำงาน แต่ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์อายุกว่าทศวรรษต้นนี้กลับต้องถูกตัดจนกุดอีกครั้ง เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังต้นไม้ถูกตัดไปก็ส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดแก่บรรดาวินมอเตอร์ไซต์ อากาศที่ร้อนอบอ้าวในช่วงกลางวันนั้นร้อนยิ่งกว่าเดิม เมื่อขาดร่มเงาของต้นไม้
“ก่อนหน้านี้มันแผ่กิ่งใหญ่เลย เดี๋ยวนี้ร้อน เห็นเขาว่าตัดเพราะข่าวต้นไม้ล้มทับคนตายนั่นแหละ” สากลกล่าว ไม่นานเพื่อนร่วมอาชีพของเขา ชำนาญ เฉิดฉาย ที่ทำอาชีพขับวินมอเตอร์ไซต์ประจำย่านนี้มานาน 3 ปี ก็เข้ามาร่วมวงสนทนาด้วย พร้อมหยิบโทรศัพท์มือถือ เซิร์จภาพจากกูเกิลของต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ที่มีดอกสะพรั่งเต็มต้นให้ดู “สมัยก่อนนู้น ที่โรงเรียนผม ช่วงเดือนประมาณเมษาต้นนี้มันจะออกดอกเป็นสีชมพูเต็มต้นไปหมด ดอกร่วงกราวตามพื้น ที่นี่เองก็เหมือนกัน” เขากล่าวพลางเลื่อนภาพของต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ในแบบที่ควรจะเป็นให้ชม ผมมองไปที่ต้นไม้ กิ่งแนวตั้งของมันถูกบั่นออกจนหมด ไม่ทราบจริงๆ ว่าต้องใช้เวลากี่ปีกว่าชมพูพันธุ์ทิพย์ต้นนี้จะออกดอกอีกครั้ง ชะตากรรมของต้นไม้ตามแนวเสาไฟฟ้าไม่มีทางเลือกมากนัก หากยอดของมันสูงยาวขึ้นอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ก็จะกลับมาตัดมันซ้ำอีก
2.
“วันแรกที่มาเจอก็ตกใจ ทำไมมันโล่งๆ ไป” ณัฐริกา แห่งพิษ นักศึกษาปี 2 สาขาการถ่ายภาพและภาพยนตร์ บรรยายถึงความรู้สึกของเช้าวันหนี่ง เมื่อเธอมาเรียนตามปกติและพบว่ากิ่งใหญ่ของต้นก้ามปูถูกตัดออกไป พื้นที่ตรงนี้เพิ่งจะถูกดินถมทับเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ในอดีตสถานที่แห่งนี้เคยเป็นบึงให้นักศึกษาไว้สำหรับนั่งเล่นผ่อนคลาย
พัชรพงศ์ บำรุงชัยกุล นักศึกษาสาขาเดียวกัน ชั้นปี 3 เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนเคยมีศาลาตั้งอยู่ตรงนี้ และที่กิ่งใหญ่ของต้นก้ามปูเองก็เคยมีชิงช้าแขวนอยู่เช่นกัน เขาเล่าในขณะที่ณัฐริกาเปิดภาพเก่าๆ ให้ดูเป็นหลักฐาน เพื่อยืนยันว่าต้นไม้ต้นนี้อยู่คู่กับมหาวิทยาลัยมานาน จากในภาพเป็นพิธีไหว้ครูในสมัยที่เธอยังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 กิ่งของต้นก้ามปูในสภาพสมบูรณ์แผ่ขยายให้ร่มเงาครึ้มเป็นฉากหลัง “เห็นว่าสาเหตุที่ต้องถมที่ ตัดกิ่งไม้ ก็เพราะจะทำลานจอดรถค่ะ” เธอกล่าว
3.
ณรงค์ชัย เอี่ยมศรี พนักงานขายประจำร้านเล่าถึงความผูกพันที่ตัวเขามีกับต้นหูกวางต้นนี้ให้ฟังว่า เขาเห็นต้นไม้ต้นนี้ทุกวันตลอดการทำงานที่นี่มาแล้ว 26 ปี ถ้าให้คาดคะเนอายุของมัน ก็น่าจะราว 30 ปีได้ เมื่อถามถึงการตัดเขาเล่าว่า “นี่เพิ่งโดนตัดเมื่อวานเองครับ เป็นประจำทุกปี ช่วงเดือนมีนาคมกับปลายปีบ้าง เพราะมันโตแล้วไปเกะกายสายไฟ แต่มันโตเร็วมากนะ เหมือนมันรู้ว่าจะถูกตัดทุกปี แต่ก่อนมันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่เดี๋ยวนี้เขาตัดจนมันแผ่ออกด้านข้างแทนแล้ว” อากาศร้อนขึ้นคือผลกระทบโดยตรงที่ตัวเขารู้สึก และไม่ใช่แค่ต้นหูกวางต้นนี้เพียงต้นเดียว แต่ต้นไม้ต้นอื่นๆ ที่เรียงรายไปตามริมถนนจันทร์ก็จะทยอยถูกตัดด้วยเช่นกัน “เหมือนคนถูกโกนหัวทุกปี” เขากล่าว ผมเข้าใจความหมาย คนโกนผมไม่นานผมก็งอกขึ้นใหม่ ต้นไม้เองเดี๋ยวก็งอกแตกยอดใหม่เช่นกัน แต่ในมุมของทัศนียภาพแล้ว ต้นไม้หัวโกร๋นตั้งเรียงรายตามแนวถนน เป็นอะไรที่ไม่น่ามองนัก ทั้งยังส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพของพวกมัน
อ่านเพิ่มเติม : บทเรียนจากต้นไม้, 7 เคล็ดลับถ่ายต้นไม้ให้ว้าว!, สืบสานแรงบันดาลใจจากดาบวิชัย คนบ้าปลูก สู่กัปตันการบินไทยผู้ใช้เวลาว่างปลูกต้นไม้ให้ กรุงเทพฯ มานานร่วม 8 ปี
4.
สมพงษ์ และสมจิตร ปัทมอมรกุล สองสามีภรรยาผู้เปิดกิจการร้านค้าเหล็ก ติดกับร้านอาหารตั้งจั๊วหลีกล่าวว่า พวกเขาไม่ทราบชื่อของต้นไม้สองต้นนี้ แต่เห็นมันมาหลายปีแล้ว และเจ้าหน้าที่เองก็จะมาตัดมันทุกๆ ปี เมื่อถึงช่วงก่อนหน้าฝน “มันสูงประมาณสามชั้นครับ ใบมันจะออกเป็นพุ่มๆ นะ ไม่ใหญ่เท่าไหร่” เขาบรรยายถึงลักษณะของต้นไม้ต้นนี้ เมื่อถามถึงผลกระทบจากการตัดแต่งที่เกินจำเป็น เช่นเดียวกับใครหลายคน คำว่า “ร้อน” เป็นคำแรกที่ผุดออกมาจากปาก “ช่วงเย็นแดดจะส่องมาทางนี้พอดี พอไม่มีร่มเงาแล้วก็ไม่มีอะไรบังแดดให้” เขากล่าว
5.
จากต้นไม้ไม่ทราบชื่อหน้าตั้งจั๊วหลี เดินข้ามถนนมายังอีกฝั่งคุณจะประหลาดใจที่พบต้นไม้ในลักษณะเดียวกัน “เขาไล่ตัดทั้งแนวแหละครับ” ยันยง พวงศรี พนักงานร้านค้าเหล็กเส้นกล่าว ต้นไม้ฝั่งตรงข้ามที่ถูกตัดยอดไปนี้ เป็นต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ที่สูงที่สุด และมีกิ่งก้านแผ่เยอะที่สุดจนถึงสายไฟ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มันถูกตัด
“เคยอาศัยร่มเงามันอยู่ครับ เย็นๆ พอช่วงว่างจากงานเราก็ชอบไปนั่ง ไปนอนเล่นใต้ต้นไม้ แต่ก่อนนี้นะมีกระรอกตัวหนึ่งอาศัยอยู่มันจะกระโจนไปมาระหว่างต้นไม้แต่ละต้น เดี่ยวนี้พอต้นไม้โกร๋นแล้วกระรอกก็หายไปด้วย” ยันยงพูดด้วยความเสียดาย น่าแปลกที่ว่าต้นไม้ต้นนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในแนวเสาไฟ แต่ก็ยังถูกบั่นยอดเช่นเดียวกับต้นอื่นๆ
6.
ในบรรดาต้นไม้ที่เราเดินสำรวจมา ต้นนี้ถือได้ว่าน่าอดสูที่สุด เพราะถูกตัดจนไม่เหลือแม้แต่ใบเดียว สอบถามจาก เสนีย์ จันทะศรี คนขับรถโรงเรียนที่จอดอยู่บริเวณนั้นจึงได้ความว่า หางนกยูงที่โชคร้ายต้นนี้กิ่งของมันโน้มเอียงมามาหาถนน ทางการจึงต้องตัดมันทิ้งเสีย “มันมีแค่ 2 กิ่งใหญ่แหละครับ มันเอียงลงมาที่ถนนเลยถูกตัด ก็เสียดายนะเล่นตัดซะโกร๋นเลย แบบนี้กิ่งอ่อนพอโตขึ้นมามันมีโอกาสตายได้นะ เพราะไม่มีร่มเงา น่าจะเหลือไว้ให้สักหน่อยก็ยังดี” ตัวเขาเล่าด้วยความอัดอั้นตันใจ หลังจากทำงานผ่านเส้นทางนี้มา 2 ปี และเห็นต้นไม้ต้นนี้ทุกวัน แต่ในวันนี้กลับกลายสภาพเหลือแค่ตอไม้
สำหรับวิธีการตัดต้นไม้ตามแนวสายไฟอย่างถูกวิธีนั้น ครูต้อ ธราดล ทันด่วน หมอต้นไม้ผู้ช่วยชีวิตต้นไม้ในเมืองมานานกว่า 20 ปี ได้ใช้เฟซบุ๊กในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่บรรดาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และบุคคลทั่วไป สำคัญเลยก็คือก่อนเริ่มต้นที่จะตัดต้นไม้นั้น เจ้าหน้าที่ควรรู้ว่าปัญหาคืออะไร ปกติแล้วต้นไม้จะมีกิ่งสองแบบคือกิ่งแนวตั้ง และกิ่งแนวนอน กิ่งใดที่เป็นปัญหาก็ตัดกิ่งนั้นออกเสียเช่น ต้นไม้สูงเกะกะสายไฟก็ตัดกิ่งแนวตั้งออก เหลือกิ่งแนวนอนเอาไว้ หากต้นไม้แผ่ขยายพุ่มออกมามากเกินจนกีดขวางทางจราจร ก็ให้ตัดกิ่งแนวนอนออก เหลือกิ่งแนวตั้งเอาไว้ ไม่ใช่การตัดแบบบั่นเอาทุกยอดของต้นไม้ออกไป เพราะนั่นนอกจากจะเป็นการทำลายต้นไม้แล้ว กิ่งเล็กกิ่งน้อยที่แตกออกมาแบบผิดปกติในภายหลัง ยังจะเป็นการสร้างงานที่มากขึ้นให้แก่เจ้าหน้าที่เองในการตัดครั้งต่อไปอีกด้วย
ในบางครั้งการที่ต้นไม้ไม่ได้เคลื่อนไหว หรือเรียกร้องใดๆ ก็ทำให้ใครหลายคนหลงลืมไปว่า ต้นไม้เองก็เป็นสิ่งมีชีวิตเช่นกัน พวกเขามีความต้องการพื้นที่อยู่อาศัย และมีสุขภาพที่ให้ใส่ใจดูแล แน่นอนว่าสถานะของการเป็นต้นไม้ในเมืองนั้นจำต้องเผชิญกับการถูกตัด บั่นกิ่งเป็นแน่แท้ แต่จะดีกว่าไหมหากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายลงมือทำงานนี้ด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และทำเพื่อผลประโยชน์ทั้งสองฝั่ง ไม่ใช่แค่มนุษย์ ให้ต้นไม้ยังคงสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ในอนาคต เพราะในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์กับต้นไม้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ ยังมีผู้คนอีกมากมายที่มีความผูกพันกับต้นไม้ นอกเหนือจากที่ The Perspective ได้สำรวจมา การบั่นต้นไม้ที่พวกเขาเห็นและผูกพันมาหลายปีโดยไม่มีเหตุผลที่เหมาะสม ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทั้งทางร่างกายและจิตใจของพวกเขา
ลองจินตนาการดูเอาว่าเมืองใดที่ไม่มีต้นไม้อยู่เลยสักต้น เมืองนั้นจะอัปลักษณ์ขนาดไหน และใครจะอยากให้ลูกหลานของเราเติบโตขึ้นมาในเมืองอัปลักษณ์ เพราะเมืองที่ดีนั้นสะท้อนถึงคุณภาพชีวิต และคุณภาพจิตใจของผู้อยู่อาศัย ต้นไม้ในเมืองก็เช่นกัน
เรื่อง ธนเสฏฐ์ ศิริวัฒนาดิเรก
ภาพ พิสิษฐ์ สีเมฆ และ พันวิทย์ ภู่กฤษณา
อ่านเพิ่มเติม : บทเรียนจากต้นไม้, 7 เคล็ดลับถ่ายต้นไม้ให้ว้าว!, สืบสานแรงบันดาลใจจากดาบวิชัย คนบ้าปลูก สู่กัปตันการบินไทยผู้ใช้เวลาว่างปลูกต้นไม้ให้ กรุงเทพฯ มานานร่วม 8 ปี