อาทิตย์อัสดงสาดแสงแดงอาบช่องแคบเลอแมร์ นอกฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรแอนตาร์กติก น้ำแข็งตามแนวชายฝั่งของทวีปแห่งนี้เริ่มสั่นคลอน เนื่องจากทะเลและอากาศที่โอบล้อมอบอุ่นขึ้นเพราะ โลกร้อน
เมื่อมองลงมาจากเบื้องบน หิ้งน้ำแข็งเกาะไพน์ดูไม่ต่างจากรถไฟที่กำลังตกรางอย่างช้าๆ พื้นผิวของมันเต็มไปด้วยรอยแตกขนาดใหญ่หลายพันรอย ชายขอบโดยรอบเป็นริ้วร่องจากรอยแยกหลายแห่งที่กว้างเกือบครึ่งกิโลเมตร ระหว่างปี 2015 ถึง 2016 น้ำแข็งขนาด 580 ตารางกิโลเมตรแตกออกทางด้านท้ายและลอยละล่องไปในทะเลอามันด์เซน ในช่วง 20 ถึง 30 ปีที่ผ่านมาน้ำในบริเวณดังกล่าวอุ่นขึ้นกว่าครึ่งองศาเซลเซียสจากภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นอัตราที่ทำให้น้ำแข็งละลายและการแตกตัวเพิ่มขึ้นถึงสี่เท่า
หิ้งน้ำแข็งเกาะไพน์เป็นส่วนปลายที่ลอยอยู่ในน้ำของธารน้ำแข็งเกาะไพน์ (Pine Island Glacier) ซึ่งเป็นหนึ่งใน ธารน้ำแข็งขนาดใหญ่หลายแห่งที่ละลายลงสู่ทะเลอามันด์เซน รวมๆกันแล้วเรียกว่า พืดน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันตก (West Antarctica Ice Sheet) มีความหนากว่าสามกิโลเมตรและกินพื้นที่กว้างกว่าประเทศฝรั่งเศสสองเท่า พืดน้ำแข็งนี้ทอดตัวผ่านหมู่เกาะหลายแห่ง แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ทอดตัวอยู่บนแอ่งก้นสมุทรที่ระดับความลึกกว่า 1,500 เมตรจากระดับทะเล ทำให้เปราะบางเป็นพิเศษเมื่อมหาสมุทรอุ่นขึ้น หากน้ำแข็งอันเปราะบางทั้งหมดนี้เคลื่อนตัวหลุดออกจากที่ตั้ง แตกหักเป็นเสี่ยงๆ และลอยละล่องออกไป อย่างที่นักวิจัยเชื่อมากขึ้นเรื่อยๆว่า อาจเกิดขึ้นจริง นั่นจะทำให้ระดับทะเลเพิ่มสูงขึ้นราว 3.3 เมตรและท่วมกลบชายฝั่งทะเลทั่วโลก
พืดน้ำแข็งที่ถูกเหนี่ยวรั้งหรือตรึงไว้ด้วยหิ้งน้ำแข็งตามแนวชายขอบ ขณะที่ปราการลอยน้ำเหล่านั้นซึ่งถูกค้ำยันด้วยภูเขาเดี่ยวๆ และสันหินตามขอบแอ่ง เริ่มพังทลายลง ทั่วท้องทะเลอามันด์เซนและตามแนวชายฝั่งแปซิฟิกของแอนตาร์กติกาตะวันตก หิ้งน้ำแข็งหลายแห่งกำลังอ่อนแรง ขณะที่ธารน้ำแข็งซึ่งอยู่ด้านหลังก็เริ่มหดตัว หิ้งน้ำแข็งเกาะไพน์ซึ่งหนาราว 400 เมตรตลอดพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เพราะน้ำแข็งบางลงโดยเฉลี่ย 45 เมตรระหว่างปี 1994 ถึง 2012 แต่ที่น่าวิตกกว่าคือธารน้ำแข็งทเวตส์ที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งหากพังทลายลง อาจสร้างความสั่นคลอนให้พืดน้ำแข็งส่วนใหญ่ในแอนตาร์กติกาตะวันตก
เอริก ริกนอต นักวิทยาธารน้ำแข็ง (glaciologist) จากห้องปฏิบัติการจรวดขับดันหรือเจพีแอล (Jet Propulsion Laboratory: JPL) ขององค์การนาซาบอกว่า “ธารน้ำแข็งเหล่านี้หดตัวเร็วที่สุดบนพื้นโลกแล้วครับ” ริกนอตผู้ศึกษาภูมิภาคนี้มานานกว่า 20 ปีเชื่อว่า การล่มสลายของพืดน้ำแข็งแอนตาร์กติกาตะวันตกเป็นเรื่องของเวลาว่าช้าหรือเร็วเท่านั้น คำถามคือจะเกิดขึ้นในอีก 500 ปีข้างหน้าหรือน้อยกว่าร้อยปี และมนุษยชาติจะมีเวลาเตรียมตัวเพื่อรับมือหรือไม่
ริกนอตย้ำว่า “เราจำเป็นต้องได้ตัวเลขที่ถูกต้องครับ แต่ต้องระวังอย่ามัวแต่เสียเวลาคิดคำนวณตัวเลขนั้นมากเกินไป”
นักวิทยาศาสตร์ใช้เวลานานกว่าจะตระหนักว่า น้ำแข็งในแอนตาร์กติกาตะวันตกละลายรวดเร็วเพียงใด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะด้านหน้าของหิ้งน้ำแข็งเกาะไพน์ซึ่งเป็นด้านที่ลอยอยู่ของธารน้ำแข็ง ผิวทะเลจะแข็งตัวในฤดูหนาว ส่วนในฤดูร้อน น้ำแข็งทะเลที่แตกออกจะจับตัวกับภูเขาน้ำแข็งที่แตกออกจากหิ้งน้ำแข็ง เกิดเป็นปราการเคลื่อนที่ที่ในอดีตเคยปิดกั้นเรือไม่ให้เข้าใกล้หิ้งน้ำแข็งอย่างน้อย 160 กิโลเมตร
เมื่อเดือนมีนาคม ปี 1994 เรือตัดน้ำแข็ง นาทาเนียล บี. ปาล์มเมอร์ของสหรัฐฯ น่าจะเป็นเรือเดินสมุทรลำที่สองที่เคยเข้าถึงหิ้งน้ำแข็งแห่งนี้ เรือปาล์มเมอร์ใช้เวลาเพียง 12 ชั่วโมงตรงด้านหน้าหิ้งน้ำแข็ง ก่อนที่น้ำแข็งทะเลจะรุกคืบเข้ามาจนเรือต้องถอยร่น ขึ้นเหนือ แต่ทีมงานยังมีเวลาพอที่จะหย่อนเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ผ่านมวลน้ำ และค้นพบสิ่งที่ชวนวิตก กล่าวคือ บริเวณใกล้ผิวน้ำ กระแสน้ำที่ไหลออกจากด้านล่างของหิ้งน้ำแข็งมีความเค็มน้อยกว่าน้ำทะเลที่อยู่รายรอบเล็กน้อย ทั้งนี้เพราะถูกเจือจางด้วยน้ำแข็งที่ละลายออกมา (น้ำแข็งเป็นน้ำจืดเพราะเกิดจากหิมะที่ตกในแอนตาร์กติกาตะวันตก) และที่ระดับความลึก 600 ถึง 900 เมตรตามแนวหุบผาชันก้นสมุทรใต้หิ้งน้ำแข็งมีกระแสน้ำที่อุ่นกว่าไหลเข้ามา
สแตน เจคอบส์ นักสมุทรศาสตร์ เข้าใจได้ทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น น้ำอุ่นนั้นไหลมาจากมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางเหนือกว่า 300 กิโลเมตร เป็นน้ำที่หนาแน่นไปด้วยเกลือมากเสียจนไหลไปตามพื้นของหุบผาชันใต้ทะเลที่ลาดตัวต่ำลงมาทางธารน้ำแข็ง ธารน้ำแข็งเองมีส่วนกัดเซาะให้เกิดหุบผาชันดังกล่าวเมื่อหลายพันปีก่อนในสมัยน้ำแข็ง
ปัจจุบัน หุบผาชันแห่งเดียวกันนี้กลายเป็นช่องทางของน้ำทะเลอุ่นด้านล่างหิ้งน้ำแข็งเกาะไพน์ ณ จุดใดจุดหนึ่งลึกเข้ามาในแผ่นดินอีกหลายสิบกิโลเมตร น้ำอุ่นพบกับ “เส้นเกยตื้น” (grounding line) ซึ่งเป็นจุดที่ธารน้ำแข็งยกตัวขึ้นเหนือก้นสมุทรและกลายเป็นหิ้งน้ำแข็งที่ลอยตัว เมื่อเจอกับกำแพงน้ำแข็งดังกล่าว น้ำอุ่นก็จะกัดเซาะ ทำให้เกิดกระแสน้ำที่เต็มไปด้วยน้ำจืดจากน้ำแข็งละลาย แต่เนื่องจากน้ำที่ละลายนี้เย็นกว่าและจืดกว่า จึงมีความหนาแน่นน้อยกว่า ทำให้ลอยตัวขึ้นเหนือกระแสน้ำอุ่นที่ไหลบ่าเข้ามา และไหลกลับออกสู่ทะเลข้างใต้หิ้งน้ำแข็ง
การวัดปริมาณน้ำจืดดังกล่าวช่วยให้นักวิจัยพยากรณ์ปริมาณน้ำแข็งที่สูญเสียไปได้ เอเดรียน เจนกินส์ นักวิทยาธารน้ำแข็ง บอกว่าอัตราการละลายอยู่ในระดับที่ “บ้าไปแล้ว” จากการคำนวณเขาพบว่า หิ้งน้ำแข็งสูญเสียน้ำแข็ง 53 ตารางกิโลเมตรต่อปีจากด้านล่าง และน้ำแข็งส่วนที่ใกล้กับเส้นเกยตื้นอาจบางลงถึง 90 เมตรต่อปีทีเดียว
เจนกินส์ย้ำว่า “ธารน้ำแข็งที่ละลายเร็วขนาดนี้เกินกว่าที่เราคาดคิดไว้มากครับ”
เรื่อง ดักลาส ฟ็อกซ์
ภาพถ่าย คามิลล์ ซีแมน
อ่านเพิ่มเติม