“ผมรู้สึกนับถือ เคารพสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น รู้สึกถึงความเป็นชีวิต
ของสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น ผมรู้ว่าที่ผมมีงานเกี่ยวกับสัตว์ป่าได้
ไม่ใช่เพราะความสามารถหรือทักษะใดๆ ของผมเลย
แต่เป็นเพราะสัตว์ป่าอนุญาตให้ผมทำงานเท่านั้นเอง”
ช่างภาพสัตว์ป่าและนักเขียนแนวธรรมชาติ
ช่างภาพแนวสัตว์ป่าและธรรมชาติชั้นครู ผู้มีผลงานเผยแพร่สู่สาธารณะและปรากฏในสื่อหลากหลาย อาทิ นิตยสาร หนังสือ เว็บไซต์ และรายการสารคดีโทรทัศน์ มานานกว่าสามทศวรรษ ในวัยเด็กได้แรงบันดาลใจในการถ่ายภาพและทำความรู้จักกับสัตว์ป่าจากหนังสือว่าด้วยเรื่องสัตว์และธรรมชาติ จนออกเดินทางเพื่อบันทึกภาพและถ่ายทอดเรื่องราวของสัตว์ป่า ขณะเดียวกันก็เป็นผู้สร้างความเข้าใจและส่งต่อแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพ การอนุรักษ์ การเรียนรู้ และความเคารพชีวิตในธรรมชาติสู่ผู้อ่านและผู้ชมจำนวนมากอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
เนื่องในโอกาสที่ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ได้รับรางวัล Explorer Awards 2019 นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย จึงขอนำทรรศนะของ ม.ล.ปริญญากร ว่าด้วยการสำรวจและการอนุรักษ์มานำเสนอดังนี้
ประสบการณ์การสำรวจในฐานะที่เป็นช่างภาพสัตว์ป่า
ผมไม่ได้เป็นนักสำรวจอะไรหรอก ผมแค่ทำตามคนที่เขาทำมาแล้ว ตามทรรศนะของผม ไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีที่ไหนใหม่ในโลกนี้อีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในอวกาศหรือใต้ทะเลลึกล้ำ ในถ้ำที่ไหนก็แล้วแต่ มันมีรอยตีนคนเดินไปแล้ว มีคนที่เดินล่วงหน้าผม แต่การเดินตามรอยตีนของคนมันมีข้อดี ทำให้ผมเกิดความเคารพ ประเด็นก็คือ ถ้าเราคิดว่าเราเป็นคนแรก เป็นผู้บุกเบิก มันจะทำให้เรากร่างเกินไป ไม่เคารพในสิ่งที่เราเห็น
การออกไปทำให้เราได้รู้ว่าคนที่มาล่วงหน้าเราต้องใช้ความพยายามกันมากแค่ไหน เรามีเครื่องมือที่ดีแล้ว ในขณะที่คนที่ไปล่วงหน้าเรา เขาไปด้วยทักษะ โดยที่ไม่รู้อะไรล่วงหน้าเลย แต่ของเรารู้อยู่แล้วว่ามีอะไรรออยู่ข้างหน้า มีแผนที่ มีจีพีเอส
แต่สิ่งที่จะต้องสำรวจหรือจะต้องทน ก็คือทนกับตัวเอง ยืนระยะ และผจญกับอุปสรรคด้วยตนเอง และผมก็ไม่ได้เป็นคนแรกที่เผชิญแบบนี้ มีคนที่ทำมาแล้วและผ่านพ้นไปแล้ว เราจะทำได้แบบเขาไหม การเดินทางทั้งหลายแหล่ สุดท้ายจะมาอยู่ที่ตัวเราเอง สอนตัวเราเองว่าเราเป็นฝุ่น ไม่ได้มีอะไรเลย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อีก เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าสอนมา 2,500 กว่าปีแล้ว แต่บางอย่างมันต้องเจอด้วยตัวเองถึงจะรู้ เราไม่สามารถบอกได้ว่าบนยอดเขามันหนาวมาก ดูรูปถ่ายก็ไม่รู้สึกเท่าไหร่ ต้องไปสัมผัสจริงๆ ว่าเราจะทนได้ไหม แค่อ่านแค่ดูหนังมันอาจจะไม่พอ
ผมไม่ได้เป็นนักสำรวจอะไรหรอก ผมแค่ทำตามคนที่เขาทำมาแล้ว ตามทรรศนะของผม ไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีที่ไหนใหม่ในโลกนี้แล้ว
ทำไมถ่ายสัตว์ป่า
ผมออกเดินทางเพราะผมมีกล้องอยู่ในมือ ผมอยากออกไปทำงาน อยากออกไปบันทึกภาพ เมื่อเราได้ออกไปเห็น ก็อยากแชร์ เหมือนการเล่นเฟซบุ๊กสมัยนี้ อยากอวดว่าเราไปเช็คอินอยู่ตรงนี้ เพียงแต่ว่าสมัยผมเริ่ม ไม่ได้มีสื่อแบบนี้ ทำอย่างไรถึงจะให้คนอื่นได้รู้ว่าสิ่งที่เราเห็นมันวิเศษแค่ไหน ก็บันทึกเป็นรูป ส่วนงานเขียน สำหรับผมเป็นคำอธิบายภาพอย่างยาว พอทำไปมันก็เลยกลายเป็นงานเขียน
เหตุที่ถ่ายภาพสัตว์ป่าเพราะที่บ้านผมมีหนังสือเกี่ยวกับสัตว์ป่าเต็มไปหมด เป็นหนังสือภาษาอังกฤษที่พ่อสะสมเกี่ยวกับธรรมชาติ สัตว์ป่า ผมเปิดดูและเห็นรูปสัตว์ในแอฟริกา แต่อ่านไม่ออก เห็นแบบนี้แล้วอยากไปอยู่ตรงนั้น เห็นช่างภาพถ่ายภาพยีราฟ ถ่ายแรดวิ่งบนรถแลนด์โรเวอร์ อาจเป็นเรื่องที่ฝังใจว่าเราอยากเป็นแบบนั้น
บุกเบิกพื้นที่งานเขียนแนวธรรมชาติในนิตยสารผู้หญิง
ผู้อ่าน (ของนิตยสาร ดิฉัน) เป็นคนที่มีกำลังในการเปลี่ยนแปลง แล้วทำไมเราถึงจะไม่เอาเรื่องที่เราอยากให้เขารู้ไปให้เขารู้ ทำไมเราจะมานั่งคุยกันแต่พวกเราเอง มันไม่มีประโยชน์อะไร เราคุยกัน เราก็เห็นไปทางเดียวกัน เราลองคุยกับคนที่ไม่รู้สึกเหมือนเราบ้างสิ ถ้ามันเปลี่ยนเขาได้ มันไม่ดีกว่าเหรอ อย่าง (นิตยสาร) สารคดี ผมก็เขียน สารคดี เป็นเมกกะของคนทำงานด้านนี้ เรามีรูปลงปก สารคดี คือที่สุดแล้ว เหมือนถ้ามีงานลง NG ก็เป็นที่สุดแล้ว แต่จริงๆ เราควรให้คนอื่นไม่ได้รู้เรื่องอะไรแบบเราได้รู้และอยากบอก จะได้แพร่กระจายไป
เมื่อเราเห็นหนุ่มแบงก์ใส่เสื้อเชิ้ตขาว กางเกงสแล็ค เราจะไปตัดสินว่าเขาไม่ใช่พวกนักอนุรักษ์ เขาไม่คิดถึงสิ่งแวดล้อมไม่ได้ นักสิ่งแวดล้อมต้องใส่เสื้อสีเขียว ใส่ม่อฮ่อม ใส่รองเท้าแตะเดิน มันไม่ใช่อย่างนั้น เราจะตัดสินคนที่การแต่งตัวภายนอกไม่ได้
ความเป็นชีวิตของสัตว์ป่า
มีการเปลี่ยนแปลงในตัวผมเองมาก เป็นการสำรวจอันยาวนานมาก ภายใน 30 ปี มี 3 ช่วง ช่วงต้นเป็นช่วงที่ผมเรียนรู้ชีวิต ช่วงที่สองคิดว่าตัวเองรู้ทุกอย่างแล้ว พอช่วงที่สาม กลับมาเป็นช่วงที่ไม่รู้อะไรอีกเลย ตอนที่อยู่ช่วงที่สอง ผมเคยเขียนว่า ตอนเราเด็ก เรามีคำถามเยอะมาก แต่พอเราโตขึ้น คำถามเราก็น้อยลง ที่เขียนแบบนั้นเพราะคิดว่าเรารู้เยอะแล้ว แต่ที่จริงการเดินทาง การสำรวจอะไรก็ตาม มันทำให้ผมมาถึงช่วงที่สามของการทำงาน เริ่มรู้สึกว่าไอ้ที่เราคิดว่ารู้แล้ว มันอาจจะไม่ใช่อย่างนั้นก็ได้
เช่นว่าเราไปนั่งรอสัตว์อย่างที่เราเคยถ่ายเสือได้ตัวหนึ่ง ใช้วิธีเดียวกันเลย รอเหมือนกันทุกอย่าง วันนี้อาจจะไม่ใช่อย่างนั้นแล้วก็ได้ เสืออาจจะปรับตัวแล้วว่ามีคนอยู่ตรงนั้น มันได้กลิ่น ถึงตอนนี้ผมก็รู้แล้วว่าทั้งหมดทั้งปวงที่ผมถ่ายสัตว์ป่าได้ เพราะมันอนุญาตให้ผมถ่าย มันไม่ใช่เพราะความสามารถอะไรของผมเลย ยังไงมันก็รู้ว่าผมอยู่ตรงนั้น มันวางใจว่าผมไม่ได้เข้าไปใกล้มัน ไม่มีอันตราย และมันออกมาให้ถ่าย อันนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ผมตระหนักว่าเราไม่ได้เก่งอะไร ที่สามารถไปฝังตัวอยู่ในป่าได้ 10 วัน นอนกลางดินกินกลางทราย แล้วคิดว่าตัวเองเก่งในการใช้ชีวิตแบบนั้นเพื่อถ่ายเสือสักตัวให้ได้ เอาเข้าจริงๆ ถ้าเสือไม่อนุญาต ผมก็ถ่ายเสือสักตัวไม่ได้ ผมรู้สึกนับถือ เคารพสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น รู้สึกถึงความเป็นชีวิตมากยิ่งขึ้น
เอาเข้าจริงๆ ถ้าเสือไม่อนุญาต ผมก็ถ่ายเสือสักตัวไม่ได้ ผมรู้สึกนับถือ เคารพสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น รู้สึกถึงความเป็นชีวิตมากยิ่งขึ้น
เสือสอน
ผมเป็นคนที่ถูกสัตว์ชาร์จบ่อย เมื่อก่อนผมจะไม่พูดเรื่องแบบนี้เพราะกลัวว่างานเขียนของผมจะกลายเป็นเรื่องผจญภัย ผมพยายามบอกกับทุกคนว่าสัตว์ในป่าเขามีเขี้ยวเล็บ เขาทำหน้าที่ของเขาอยู่ เวลาเราเข้าไป อาจจะถูกก้าวร้าวใส่ เราไม่ต้องเอาเรื่องแบบนั้นมาเล่าให้คนฟังหรอก เพราะจะเป็นการทำให้คนรู้สึกว่าสัตว์ป่ายิ่งอันตราย ที่จริงคุณไม่จำเป็นต้องเข้าป่าเลยนะ เขาอยู่ของเขาดีๆ คุณเข้าไปแล้วก็มาบอกว่าเจ้าของบ้านอันตราย ซึ่งผมว่ามันไม่ควร เราควรจะมองสัตว์ป่าด้วยความรู้สึกว่าเขาทำงานของเขาอยู่ การที่ผมโดนก็เพราะผมไม่ได้ให้เกียรติเขา เข้าไปใกล้เกินไป เขาก็แค่จะสั่งสอน
แต่มีหลายคนที่บาดเจ็บเพราะสัตว์ป่า [ทั้งที่] เป็นพวกทำงานในป่าหรือนักวิจัย เพราะสัตว์ป่าสมัยนี้กับสมัยก่อนมันต่างกัน สมัยนี้อาจจะเครียด มันมีกิจกรรมของคนที่เข้าไปในป่ามากขึ้น มันอาจจะเป็นสัตว์ที่ป่วยอยู่หรือบาดเจ็บเพราะถูกเสือกัด โดนยิงมา โดนทำร้ายมา พอมาเจอคนมันก็เอาคืน กลิ่นแบบนี้ หน้าตาแบบนี้ มันไม่ได้เลือกว่าจะเอาคืนกับใคร จะเป็นนักวิจัย เป็นคนที่อยู่กับป่าเองก็ถูกกระทิงขวิด ช้างป่าเตะ ก็เป็นช้างที่เคยถูกคนทำร้ายมาก่อน
ผมสอนทีมที่ทำงานด้วยว่าให้กลัวไว้ก่อน ให้วิ่งหนีไว้ก่อน เพราะเราไม่รู้หรอกว่าสัตว์อยู่ในอารมณ์ไหน เอาเข้าจริงๆแล้ว เหมือนเราเดินถนนอยู่ไม่รู้หรอกว่าคนนี้โรคจิตไหม หรือเมายาบ้าอยู่ไหม ในสังคมสัตว์ป่าก็เป็นอย่างนั้น อาจมีกระทิงที่หงุดหงิดเพราะอุตส่าห์เดินมาตั้งนานเพื่อจะกินน้ำ แต่ได้กลิ่นคน มันกินน้ำไม่ได้ มันก็หงุดหงิดแล้ว
สัตว์สื่อสาร
แรกสุดเลยผมไปเฝ้านกยูง ผมอยู่ในซุ้มบังไพรที่ไม่มีหลังคา คิดว่าแค่บังตานกยูงก็พอแล้ว ปรากฏว่ามีนกจาบคาเคราน้ำเงินมาเกาะร้องเพื่อเตือนนกยูง พอนกยูงจะเดินออกมา นกตัวนี้ก็ร้อง เป็นวันแรกที่ผมรู้ว่ามันอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ตัวนี้เตือนตัวนั้น แล้วจะทำอย่างไรได้ ผมก็ต้องมีหลังคาปิดหลบจากนกตัวนี้ให้ได้ด้วย ไม่ใช่หลบแค่นกยูง แต่ระหว่างที่เราเดินไปบังไพร จะมีตัวอะไรเตือนอีกไหม เราไม่ได้ระวังแค่สัตว์ที่เราต้องการถ่าย แต่เราต้องระวังทุกอย่าง ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีสอนในตำรา ไม่มีบอกว่าอย่าให้กระรอกตัวนี้เห็นเรา ถ้าเห็น มันจะไปเตือนช้าง เตือนกระทิง ไม่ให้ออกมา หรือเตือนกันเองว่าจะมีสัตว์ใหญ่ออกมา เรื่องแบบนี้เป็นประสบการณ์ที่เมื่อเราออกไป เราก็จะรู้
ผมเชื่อมากว่าสัตว์สื่อสารกันได้ สัตว์เขาสื่อสารได้ทางดวงตา ทางภาษากาย เป็นเรื่องปกติที่เขาจะสื่อสารกัน เพียงแต่ไม่ใช่คำพูดเท่านั้นเอง เรื่องนี้ต้องใช้หัวใจสื่อ มันไม่ใช่แค่ตามอง เหมือนเจ้าชายน้อย จริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อีก เป็นเรื่องเก่าที่บางอย่างต้องสัมผัสด้วยใจ ไม่ใช่ดูด้วยตา
สิ่งที่เปลี่ยนคือทำให้รู้สึกว่าเอาเข้าจริงแล้ว ถึงตอนนี้เราไม่ได้รู้อะไรมากมายเลย เรายังต้องใช้เวลาเรียนรู้อีกมาก และการคิดแบบนี้ทำให้เราได้รู้มากขึ้นเรื่อยๆ มีทักษะมากขึ้น ตราบใดที่เราคิดว่าเราเจ๋งแล้ว มันก็เหมือนน้ำเต็มแก้ว ก็ลำบากแล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้น
สัตว์เขาสื่อสารได้ทางดวงตา ทางภาษากาย เป็นเรื่องปกติที่เขาจะสื่อสารกันได้ เพียงแต่ไม่ใช่คำพูดเท่านั้นเอง
อย่ารักสัตว์ป่าเหมือนรักหมาแมว
เราต้องมองให้ออกระหว่างสัตว์บ้านกับสัตว์ป่า อย่าเอาความรู้สึกรักสัตว์ป่าไปเหมือนกับรักหมารักแมวที่บ้าน เราต้องรู้ว่าสัตว์ป่าก็มีชีวิตของมัน มันไม่ได้ยินดีจะให้เราไปช่วยอะไร ถ้าช่วย ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง ช่วยให้มีที่อยู่อาศัย ช่วยให้มันมีชีวิตไปตามวิถี แต่ไม่ถึงกับต้องเอาตัวมันมาเพื่อให้มันมีชีวิตอยู่
คำว่า “พิชิต” ควรถูกลบออกไป
หลายคนออกไปเพื่อพิชิต ผมมีความรู้สึกว่าคำว่า “พิชิต” ต้องลบออกไปจากสารบบ [คำ] ไทย คุณไม่ได้พิชิตอะไรเลย จะไปพิชิตภูเขาได้อย่างไร หลายคนอาจจะมีพื้นฐานอยู่แล้วในการออกไปเพื่อเรียนรู้ว่าธรรมชาติยิ่งใหญ่แค่ไหน บางคนไปเห็นจริงๆ แล้วเปลี่ยนตัวเองได้ เพราะมีพื้นฐานที่รู้สึกกับธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นอย่างนั้น หลายคนแค่เปลี่ยนจากปืนมาเป็นกล้อง ออกไปถ่ายรูปนกถ่ายรูปสัตว์เพราะเมื่อก่อนอยากล่าสัตว์ แต่ตอนนี้ล่าสัตว์ไม่ได้แล้ว ก็เปลี่ยนจากไรเฟิลมาเป็นกล้อง
การออกสู่โลกกว้างและไปยืนอยู่บนเอเวอร์เรสต์ แล้วทำให้รู้สึกถึงความใหญ่โตของตัวเอง อย่างนั้นคือมาผิด ไม่มีประโยชน์อะไรในการออกสำรวจ เราไม่ได้อยู่ในยุคน้ำแข็ง ที่จะต้องไปหาดินแดนใหม่แล้ว เราเพียงแต่ทำตามคนอื่นๆ และมันก็มีเฟซบุ๊กไว้อวดกันเท่านั้นเอง
หลายคนออกไปเพื่อพิชิต ผมมีความรู้สึกว่าคำว่าพิชิตต้องลบออกไปจากสารบบ [คำ] ไทย คุณไม่ได้พิชิตอะไรเลย จะไปพิชิตภูเขาได้อย่างไร
ภาพถ่ายได้รับความเอื้อเฟื้อจาก: คุณสมิทธิ์ สุติบุตร์