Explorer Awards 2019 : วีรยา โอชะกุล

Explorer Awards 2019

“เป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เป็นทีมที่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน แต่ข้อเสียเปรียบ

ของผู้หญิงก็คือ ต้องใช้เวลานานกว่าจะได้รับการยอมรับ ไม่ใช่ว่าเดินไป

ถือปืนไป ชี้นิ้วสั่ง แล้วเขาจะยอมรับ ไม่ใช่ ใช้เวลา เหนื่อยมาก

ใช้พลังสามเท่าสี่เท่า กว่าจะเท่ากับผู้ชาย”

วีรยา โอชะกุล

ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 12 (นครสวรรค์)

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

“ดอกไม้เหล็กแห่งผืนป่าตะวันตก” คือฉายาที่สังคมมอบให้ข้าราชการหญิง ผู้ใช้เวลา ความมุ่งมั่นทุ่มเท และความเข้มแข็ง พิสูจน์ตนเองจนเป็นที่ยอมรับในองค์กร จากนักวิชาการป่าไม้ที่เคยจับแต่ปากกาและกล้องถ่ายภาพ มาสู่ผู้พิทักษ์ผืนป่ามรดกโลกอย่างทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง  ความเด็ดเดี่ยวและยึดมั่นในหลักการ ไม่ยอมก้มห้วให้กับอิทธิพลใดๆ ทั้งในและนอกระบบราชการ ทำให้ครั้งหนึ่งเธอเคยมี “ค่าหัว” ทุกวันนี้ แม้จะมีเวลาเข้าป่าน้อยลงด้วยตำแหน่งหน้าที่ทางราชการที่สูงขึ้น แต่ความสุขของวีรยา โอชะกุล ไม่เคยแปรเปลี่ยน “ทำในสิ่งที่ตัวเองรักและมีความสุขทุกครั้งที่ได้กลับเข้าป่า อยากใช้เวลาที่มีอยู่ซึ่งไม่รู้ว่าจะยาวนานแค่ไหน ทำประโยชน์ให้กับสิ่งที่ตัวเองรัก เราจะมีความสุขกับมัน แล้วจะทำได้ดีด้วย”

ในโอกาสที่วีรยา โอชะกุล ได้รับรางวัล Explorer Awards 2019 ทีมงาน เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดินทางไปสัมภาษณ์เธอท่ามกลางขุนเขา แมกไม้และสายน้ำ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี 

———————————————-

จุดเริ่มต้นที่สนใจอยากเรียนวนศาสตร์

ตอนเรียน ม.3 มีโอกาสได้ไปเที่ยวภูหินร่องกล้ากับเพื่อนๆ ตอนนั้นเริ่มมีความรู้สึกชอบการเดินทางท่องเที่ยว ตอนนั้นคิดว่า ถ้าเรียนคณะวนศาสตร์คงได้ทำอะไรแบบนี้ ซึ่งคิดผิด [หัวเราะ] เป็นความรู้สึกว่า อยากเรียนอะไรที่ได้เดินทาง ได้อยู่กับป่า ทั้งๆที่ตอนเด็กๆ เป็นคนที่แพ้อะไรง่าย เวลาเด็กๆ ตามผู้ใหญ่ไปไร่ไปสวน ได้กลิ่นอะไรแปลกๆ ก็จะจามเหมือนคนแพ้อากาศ ไหนจะคันพวกแมลง ไหนจะร้อน ทั้งๆ ที่ก็ได้กลับบ้านแค่ปีละครั้งคือช่วงซัมเมอร์ แต่ความรู้สึกตอนที่ได้ไปเที่ยวครั้งนั้นก็เปลี่ยนความคิดไปพอสมควร พอได้เข้าไปเรียนจริงๆ ในแง่หนึ่งก็สมกับความตั้งใจ เพราะได้เดินทาง ได้ไปตามอุทยานต่างๆ ไปพบพวกพี่ๆ ที่ทำงานอยู่ตามอุทยาน จะเป็นช่วงวันหยุดบ้าง ช่วงปิดเทอมบ้าง ตอนนั้นเองที่เกิดความคิดอยากทำงานแบบนี้ อยากเป็นผู้ช่วยหัวหน้าอุทยาน ตอนนั้นคิดแค่นี้ว่า  อยากทำงานในป่า ได้ใช้ชีวิตอยู่กับลูกน้องที่ทำงานในป่า ตอนนั้นเป็นความรู้สึกที่เริ่มมีตอนเรียนสักปีสองปีสามได้

ป่ามีอะไรดี ถึงทำให้รู้สึกอยากอยู่ป่า อยากทำงานในป่า

มัน สบาย นะ สบายในแง่รู้สึกไม่อึดอัด รู้สึกโล่ง ส่วนตัวเป็นคนไม่ชอบสวนหรือสวนหย่อมที่ตัดหรือจัดต้นไม้อย่างเป็นระเบียบ หรือว่าสัตว์อยู่ในกรง เราคิดว่านั่นไม่มีอิสรภาพ ความที่ยังเป็นเด็ก เลยคิดว่าทำงานในป่าน่าจะมีอิสระตรงนั้น ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ ไม่น่าจะมีกรอบอะไร ไม่ต้องอยู่ในห้องแคบๆ ไม่ต้องเนื้อแต่งตัว

เส้นทางอาชีพของข้าราชการป่าไม้หญิงคนหนึ่ง

ตอนนั้นสอบบรรจุข้าราชการได้ พ.ศ.  2539 ต้องเรียนรู้งานในกรมอยู่สองปี พอหัวหน้าในกรมย้ายมาเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งก็ถามว่า อยากมาไหม ตอนนั้นตัดสินใจทันทีว่าอยากมาเป็นผู้ช่วยหัวหน้าอุทยาน เป็นการออกพื้นที่ครั้งแรกในฐานะข้าราชการ นักวิชาการป่าไม้ ซี 3 มาทำหน้าที่เป็นหัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่า เริ่มบริหารจัดการ การดูแลป้องกัน การเบิกเงินเดือนให้ลูกน้อง การจัดหาเสบียง การดูแลคุณภาพชีวิต หัวหน้าก็ทำได้แค่นั้น…ผู้หญิง ไม่มีทางที่จะได้ออกไปรบราฆ่าฟันกับใคร  ที่บอกว่าผู้หญิงทำได้ แค่นั้น จริงๆ คือยังไม่เคยมีใครได้รับโอกาส ไม่ใช่ว่าเคยทำมาแล้วห้าคน สิบคน ตอนนั้นงานในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ข้าราชการผู้หญิงถ้าไม่ทำงานดูแลเหมือนงานแม่บ้าน ก็งานวิชาการ ซึ่งเราก็ยอมรับว่าเหมาะกับผู้หญิงจริงๆ ไม่มีอันตราย เป็นงานที่สำคัญต่อหน่วยงานเหมือนกัน

จุดเปลี่ยนคือตอนย้ายจากที่นี่  [ห้วยขาแข้ง] ซึ่งอยู่มาหกเดือน ไปทำงานที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยงและภูทอง จังหวัดพิษณุโลก อันนั้นต้องบอกว่าตรงตามตำแหน่งเลย ตอนแรกก็ยังทำงานวิชาการเหมือนเดิม ไม่ได้ทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าด้วยซ้ำ ตอนนั้นมีโครงการมิยาซาว่า สำรวจสัตว์ สำรวจพืช ซึ่งเป็นงานวิชาการที่เราได้รับมอบหมายให้ทำ เดินป่าไปกับลูกน้อง เก็บข้อมูลทางวิชาการ เขียนรายงาน จนกระทั่งหัวหน้าย้ายไป พื้นที่ภูเมี่ยง-ภูทอง เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาบุกรุกแผ้วถาง มีชาวเขาอยู่ในพื้นที่ซึ่งปัญหาค่อนข้างรุนแรง ตอนนั้นหาคนที่จะทำงานป้องกันไม่ได้ มีผู้ช่วยหลายคน แต่ส่วนใหญ่ไม่สะดวกที่จะทำ พอหัวหน้ามาถามเราว่าพร้อมจะทำไหม เราตอบไปว่า ไม่เคยทำ แต่จะลองทำดู วันนั้นคือวันแรกที่รู้สึกว่าเป็นโอกาส เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตตัวเอง จากที่เมื่อก่อนทำงานวิชาการใช้อุปกรณ์อย่างกล้องถ่ายรูป สมุดโน้ต และจีพีเอส พอมาทำงานนี้ ต้องเรียนรู้จากลูกน้อง ไปด่านตรวจ ดูคดีจับกุมผู้กระทำความผิด ต้องเขียนบันทึกจับกุม  ทำไม่เป็นเลย แรกๆ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่เดิมคงคิดว่า ทำไมให้ผู้หญิงที่ทำอะไรไม่เป็นเลย แถมยังเด็กกว่า มาเป็นหัวหน้าชุดพวกผม ตอนนั้นยอมรับว่าหนักใจสำหรับเราซึ่งรับปากหัวหน้าไว้ว่าจะลองทำดู และยังไม่มั่นใจเลยว่าจะทำได้ แต่ในเมื่อมีโอกาส ก็ต้องลองทำ ตั้งแต่วันนั้น พอทำงานไปเรื่อยๆ เราก็รู้ว่าอุปกรณ์เพิ่มเติมจำเป็นต้องมี ต้องไปวิ่งจัดหาอาวุธ เริ่มส่งคดี หัดเขียนบันทึก ต้องขอฝึกอบรมเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวน ซึ่งต้องใช้พลัง เพราะมีความต้องการฝึกอบรมอยู่มาก

ความสุขก็คือเวลากลับเข้าป่าแต่ละครั้ง ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองมีความสุข อยากใช้เวลาที่มีอยู่ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่ายาวนานขนาดไหน ทำประโยชน์ให้กับสิ่งที่ตัวเองรักด้วย แล้วเราก็จะมีความสุขกับมัน แล้วเราก็จะทำได้ดีด้วย

การยอมรับจากลูกน้องเกิดขึ้นได้อย่างไร

เราอยู่ที่ภูเมี่ยง-ภูทองหกปี อยู่กันตั้งแต่เริ่มทำไม่เป็น ลูกน้องมองว่าเป็นภาระ ทำจนเค้ามองว่าเราเป็นทีม ไม่ว่าจะออกกี่ครั้ง ให้ไปด้วย ข้อกังวัลอย่างเดียวของเราคือ ฉันช่วยไม่ได้นะ ฉันเดินไม่เร็วนะ ฉันชาร์จไม่ได้นะ แล้วเคยโดนล้อม เหมือนกับว่าเราคือภาระของเขา อารมณ์นั้นเรารู้สึกว่า เราคือตัวถ่วง ตอนนั้นก็ทบทวนแล้วว่า ผู้หญิงทำได้หรือเปล่า ตอนนั้นเราเป็นห่วงว่าจะทำให้คนอื่นในทีมเดือดร้อนไปด้วย เพราะเขาต้องรับผิดชอบ นอกจากงานในหน้าที่แล้ว ยังต้องมารับผิดชอบชีวิตหัวหน้าทีมอีก… ตอนนั้นรู้สึกว่าแบกไว้ เพราะรู้อยู่อย่างเดียวว่า พลาดไม่ได้ การรบค่อนข้างรุนแรง ทั้งโดนยิง โดนเผา โดนซุ่ม โดนล้อม เวลาอยู่ในวงล้อมทุกครั้งก็จะรู้สึกว่า ต้องรอดให้ได้  ทำกันมาหกปี จนสุดท้ายรู้สึกว่า เขายอมรับเราในฐานะทีม อาจจะทำเหมือนกับเขาไม่ได้ทุกอย่าง แต่สิ่งที่เราเพิ่มเติมให้เขาได้คือ ความรับผิดชอบ การส่งคดี การคุยกับระดับผู้ใหญ่ การต่อรอง การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ความรับผิดชอบพวกนี้ เสียงเราดังกว่าเขาแน่ๆ เราก็ใช้ในสิ่งที่ชดเชยให้เขาได้ เสริมในสิ่งที่เราเห็นว่าขาดอยู่ ก็ทำงานด้วยกันได้  

ต้องจับปืน จับอาวุธบ้างไหม

ต้องมีแน่ๆ ท้ายๆ ช่วงปีที่ห้าที่หก ถึงขนาดที่ว่า มีคนทำผิดห้าหกคน มีการเว้นไว้ให้เราชาร์จคนหนึ่งด้วย เชื่อใจกันขนาดนั้น เราก็แบบ ‘คิดได้ยังไง’ เขาก็บอก ‘อันนี้เอาไว้ให้ผู้ช่วย ผมเอาห้าคนนี้’ โชคดีที่วันนั้นจบได้ด้วยดี ก็สนุกดีนะ เป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เป็นทีมที่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน แต่ข้อเสียเปรียบของผู้หญิงก็คือ ต้องใช้เวลานานกว่าจะได้รับการยอมรับ ไม่ใช่ว่าเดินไป ถือปืนไป ชี้นิ้วสั่งแล้วเขาจะยอมรับ ไม่ใช่ ใช้เวลา เหนื่อยมาก ใช้พลังสามเท่าสี่เท่า กว่าจะเท่ากับผู้ชาย

ถ้าเราทำอย่างเข้มข้น สม่ำเสมอ ไม่เลือกว่าอันนี้คุณทำได้ อันนี้คุณทำไม่ได้  คือตัดสินใจด้วยตัวเอง  เอาระเบียบเป็นตัวตั้ง  เชื่อมั่นอย่างนั้น ก็เลยทำ และก็รู้ว่า ถ้าทำอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง เอาจริงเอาจัง ทรัพยากรไม่มีทางจะหดหายไปได้มากขนาดนี้

ทราบมาว่าถึงขนาดเคยโดนหมายหัวและมีค่าตัว

ตอนนั้นมีปัญหาบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อปลูกขิง ปลูกกระชายดำ เราก็เข้าไปปราบปราม เขาถึงขนาดพูดว่า ขิงได้ไร่ละสองแสน สองแสน จ้างคนมายิงเราหมื่นห้าสองหมื่นก็ได้แล้ว คุ้มกว่ากันเยอะ ขั้นนั้นเลย ก็ค่อนข้างแรง ถามว่ากลัวไหม ตัวเราถ้ากลัว ถ้าคิดอะไร ก็คงไม่กล้า แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเลย คิดแต่จะทำ ปีแรกเราเดินไปบอกเขาว่า ปีหน้าไม่ให้ทำแล้วนะ สิ่งที่เขาตอบกลับมาคือ โอเค ตรงนี้ไม่ให้ทำ ปีหน้าเจอกันที่ใหม่นะ ท้าทายกันขนาดนั้น เขาไม่คิดว่าเราจะทำจริง ใช้เวลาหลายปี กว่าที่เขาจะเห็นว่าที่เราห้าม เราปฏิบัติจริง เหนื่อยมาก ทำงานเจ็ดวันไม่มีวันหยุด เดินลาดตระเวนทุกวัน ทำงานทุกวัน กลางวันบ้าง กลางคืนบ้าง ช่วงนั้นสนุกสนานกับงานมาก ไม่ได้คิดอะไรเลย แต่ว่าหลายๆ คนห่วง กังวล ผู้บังคับบัญชาห่วง ที่บ้านห่วง คนที่เห็นก็จะพูดว่า เรียนจบปริญญาตรีมาขนาดนี้ เอาชีวิตมาแลกแบบนี้ไม่คุ้มค่าที่จะทำ แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไร คิดแต่ว่า หน้าที่ที่ได้รับคืออะไร แล้วเราก็ทำ  แล้วก็สนุกกับมันมาก

ยึดอะไรเป็นหลักในการทำงานทำให้ไม่เคยถอดใจ

ถ้าเราทุกคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีได้ เชื่อว่าสังคมคงไม่เป็นปัญหาแบบนี้ อย่างปัญหาทำลายทรัพยากรเริ่มต้นส่วนหนึ่ง มากกว่า 50 เปอร์เซนต์ คือความบกพร่องของเราที่เป็นเจ้าหน้าที่ เลยทำให้ปัญหาลุกลามมาจนถึงทุกวันนี้  เราเริ่มต้นจากนิดหนึ่งเราปล่อย พอไปเยอะๆ เราบอกเราจะแก้ มันแก้ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเรา นิดหนึ่งเราก็จัดการ และถ้าเราทำอย่างเข้มข้น สม่ำเสมอ ไม่เลือกว่าอันนี้คุณทำได้ อันนี้คุณทำไม่ได้  คือตัดสินใจด้วยตัวเอง  เอาระเบียบเป็นตัวตั้ง เชื่อมั่นอย่างนั้นก็เลยทำ และรู้ว่า ถ้าทำอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง เอาจริงเอาจัง ทรัพยากรไม่มีทางจะหดหายไปได้มากขนาดนี้

รับมือกับแรงเสียดทานอย่างไร

อาจเป็นเพราะเป็นคนไม่สน เอาแต่จะทำ ไม่คุย ใครก็สั่งไม่ได้ ตอนนั้นเป็นขนาดนั้น ถ้าผิด ไม่ต้องมาคุยกัน ไม่มีทาง  ก็เหมือนเราเป็นเด็กหัวแข็ง ไม่เห็นหัวผู้ใหญ่ คุยกับใครไม่รู้เรื่อง ไม่ต้องไปคุยกับมัน ไม่มีประโยชน์ ขออะไรก็ไม่ได้ ซึ่งมันผิดหลักสังคมไทย เราเด็กด้วย ผู้หญิงด้วย มันต้องให้สิ ต้องไว้หน้าคนนู้นคนนี้ แต่เราไม่ใช่ แล้วเค้าก็จะเกลียด แต่เราก็ยอมรับมัน เพราะเราเลือกเอง เราเป็นแบบนี้

 ความสุขทุกวันนี้คืออะไร

ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก เราชอบอยู่กับป่า ความสุขก็คือเวลากลับเข้าป่าแต่ละครั้ง ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองมีความสุข อยากใช้เวลาที่มีอยู่ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่ายาวนานขนาดไหน ทำประโยชน์ให้กับสิ่งที่ตัวเองรักด้วย แล้วเราก็จะมีความสุขกับมัน แล้วเราก็จะทำได้ดีด้วย เชื่อมั่นอย่างนั้น สุดท้ายก็คงไม่ทิ้งลูกน้อง ไม่ทิ้งป่า แต่ด้วยการเปลี่ยนบทบาท อาจจะต้องคิดใหม่ เข้ามาบริหารจัดการโดยตรงไม่ได้ อะไรที่ช่วยเหลือได้ support ได้ แก้ปัญหาในภาพใหญ่เท่าที่ฐานะ ตำแหน่ง โอกาสมี ก็ทำหน้าที่ของเรา คำพูดที่ว่า ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดก็ยังติดตัวเรามาตลอด มีหน้าที่อะไรก็ทำ แล้วก็ทำให้ถึงที่สุดด้วย

 ประสบการณ์แปดปีที่ทุ่งใหญ่นเรศวร

ตอนอยู่ที่ภูเมี่ยง-ภูทอง [แรงกดดัน] ก็ว่าหนักแล้ว มาอยู่ที่ทุ่งใหญ่ฯ นี่ต้องบอกว่าหนักสุดๆ ไม่ใช่กับชาวบ้าน แต่กับคนอื่น อย่างทุ่งใหญ่ ถ้าไม่ร่ำรวย คนจนๆ จะโบกรถไปได้ไหม ต้องคนมีเส้นมีสาย มีฐานะทางสังคม ติดต่อผ่านช่องทางต่างๆ มา ตำแหน่งใหญ่โตในระบบราชการ ใบสั่งมาจะต้องไปนั่นไปนี่ เป็นแบบนี้ประจำ แต่พอเราปฏิเสธ ก็เหมือนกับเราไม่มีมารยาท เด็กคนนี้ไม่มีมารยาท แต่เราจะมีเหตุผลชี้แจงตลอด ถึงเขาจะไม่ฟัง แต่เราก็ไม่ให้เข้า เราทำอะไร เราไม่ได้ยึดติดว่า ฉันกลัวย้ายนะ กลัวนู่นนะ กลัวนี่นะ ถ้าทำแล้ว เราไม่กลัว คำสั่งมาก็เดินทาง แค่นั้น พอเราไม่ยึดติด ก็ทำงานสบายใจ ว่ากันตามระเบียบ ไม่ต้องมาถาม ไม่ต้องโทรถามว่า คณะนี้ยอมไหม ให้ไหมหัวหน้า? ไม่ต้องมาถาม คุณมีระเบียบอยู่ในมือ ตามนั้นเป๊ะ โทรหาเราก็ค่าเท่าเดิม ถ้าเราทำอย่างนี้เป็นมาตรฐาน ลูกน้องก็ทำงานง่าย แรงกดดันไม่มี แต่ถ้าคณะนี้ปล่อย คณะนี้ให้ ในชีวิตเราไม่เคยทำ ยิ่งเรายึดระเบียบมากเท่าไร ก็ทำงานง่ายขึ้นเท่านั้น เราก็จะคุยกับชาวบ้านง่ายขึ้น หยุดก็หยุด พอก็พอ ให้ก็ให้ หลักการทำงานของเรามาแบบนี้

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.