เราทุกคนรู้กันดีว่า เสียงดัง นั้นเป็นอันตรายต่อหู แต่ในความเป็นจริงการใช้ชีวิตท่ามกลางเสียงดังที่เข้าขั้นเป็นมลพิษส่งผลกระทบมากกว่านั้น เสียงและการสั่นสะเทือนมีผลต่อระบบการไหลเวียนของเลือดและการทำงานของต่อมไร้ท่อต่างๆ ทั้งยังก่อให้เกิดความหงุดหงิด ความเครียด และวิตกกังวล ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลต่อการนอนหลับ, ความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจและปัญหาทางสุขภาพจิตตามมา
เมื่อร่างกายรับเสียงดังเข้ามา ระบบประสาทจะถูกกระตุ้น หัวใจเราจะเต้นเร็วขึ้น ซึ่งเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติ เมื่อร่างกายรู้สึกว่ากำลังเผชิญกับสถานการณ์อันตราย ลองจินตนาการถึงโลกในยุคดึกดำบรรพ์ บรรพบรุษของเราคงไม่สามารถเอาชีวิตรอดหากได้ยินเสียงของฝูงสัตว์กำลังพุ่งตรงเข้ามา แต่พวกเขายังคงนิ่งเฉยไม่สนใจ
มหาวิทยาลัยเท็กซัส ดัลลัส เคยทำการวิจัยถึงผลกระทบของเสียงดังที่มีผลต่อสมอง พวกเขาตรวจการทำงานของระบบประสาททางการได้ยินของหนูสองกลุ่ม ด้วยการนำพวกมันไปอยู่ในที่ที่มีเสียงดังระดับ 115 เดซิเบล (ส่งผลกระทบต่อการได้ยินในระดับปานกลาง) และ 124 เดซิเบล (ส่งผลกระทบต่อการได้ยินในระดับรุนแรง) เป็นเวลา 1 ชั่วโมง หลังการทดลองพวกเขาตรวจระบบประสาทของหูหนูอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 เดือน พบว่าสำหรับหนูกลุ่มที่เผชิญกับระดับเสียงที่มีความดังรุนแรง จากหนูจำนวนทั้งหมดมีหนูน้อยกว่า 1 ใน 3 ที่ระบบประสาทยังคงเป็นปกติ นอกนั้นการตอบสนองล้วนเชื่องช้าลง ส่วนในหนูอีกกลุ่มการตอบสนองทางระบบประสาทไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก เว้นแต่กับคลื่นเสียงความถี่สูงที่ช้าลงกว่าปกติ
นั่นคือการทดลองกับหนูเพียงแค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นอยู่กับพวกมันไปชั่วชีวิต
ตัวผมเองเป็นคนหนึ่งที่เผชิญปัญหาจากเสียงรบกวน เริ่มจากเสียงของบ้านข้างๆ ที่กำลังต่อเติมไม่หยุด แม้จะเป็นวันเสาร์อาทิตย์ ตามมาด้วยเสียงปั๊มน้ำเจ้าปัญหาของเพื่อนบ้านอีกหลัง และล่าสุดผมเพิ่งค้นพบว่าตัวเองหงุดหงิดจากเสียงที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางไปทำงานด้วยเช่นกัน เฉลี่ยระยะเวลาการเดินทางจากบ้านไปยังบริษัท ผมใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยทั่วไปผู้โดยสารที่นั่งรถเมล์จำต้องเผชิญกับเสียงการจราจรรอบนอกอยู่แล้ว แต่ต่อให้ขึ้นรถเมล์ปรับอากาศ หากต้องเจอกับคันที่เสียงเครื่องยนต์เก่าคร่ำคร่าดังสนั่น หรือมีเสียงปิดเปิดของประตูปึงปัง ก็นับว่าหนีมลพิษทางเสียงไม่พ้นอยู่ดี
ในแต่ละวันผมจะต้องเผชิญกับเสียงรบกวนโสตประสาทเหล่านี้เป็นเวลาราวสองชั่วโมงต่อวัน สัปดาห์ละ 5 วันคิดเป็น 52 x 10 ตกปีละ 520 ชั่วโมง หรือ 21.7 วันเต็ม ที่ผมต้องเผชิญกับมลพิษทางเสียงตลอดเวลาในฐานะผู้โดยสาร แล้วบรรดามนุษย์กรุงเทพคนอื่นๆที่ต้องเดินทางไปทำงานด้วยระบบขนส่งที่ทุลักทุเลและดังลั่นกว่าผมอย่างเรือด่วนล่ะ
ผมได้พูดคุยกับกระเป๋าเรือคลองแสนแสบและผู้โดยสารขาประจำของเรือ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการเดินทางด้วยเรือนั้นหนวกหู แต่จำต้องทนต่อไปเนื่องจากไม่มีทางเลือก เพราะเรือคลองแสนแสบเป็นการเดินทางที่รวดเร็วที่สุด ถ้าอยากหนีรถติด
แม้ผู้คนจำนวนมากเลือกที่จะยอมทนกับเสียงรบกวน แต่ผมกลับสงสัยว่าพาหนะใดในระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานครที่ดังรบกวนเข้าขั้นจัดเป็นมลพิษทางเสียงบ้าง เสียงรบกวนที่ว่านี้หมายรวมตั้งแต่เสียงของเครื่องยนต์ เสียงของผู้โดยสาร ไปจนถึงเสียงของบรรยากาศรอบๆทั้งหมด “The Perspective” จึงทดลองขึ้นรถลงเรือตามระบบขนส่งยอดนิยมของชาวเมือง เพื่อหาคำตอบ
กดฟังตัวอย่างเสียงของหลากหลายยานพาหนะของระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหาครได้ที่นี่
2. เสียงบันทึกของรถเมล์ปรับอากาศสาย 113 จากรามคำแหงไปยังประตูน้ำ
3. เสียงบันทึกของรถสองแถว วัดดอกไม้ – ถนนจันทน์
4. เสียงบันทึกของเรือคลองแสนแสบ จากท่าเรือประตูน้ำไปยังท่าเรือรามคำแหง 53
5. เสียงบันทึกของเรือด่วนเจ้าพระยา จากท่าช้างไปยังท่าสะพานพุทธ
6. เสียงบันทึกของรถไฟฟ้าบีทีเอส จากสถานีสะพานตากสินไปยังสถานีสยาม
7. เสียงบันทึกของรถไฟฟ้าเอมอาร์ที จากสถานีสุขุมวิทไปยังสถานีหัวลำโพง
ข้อมูลจากองค์กรอนามัยโลกได้กำหนดระดับเสียงที่เป็นพิษหรือดังเกินไปไว้ที่ 85 เดซิเบล ส่วนระดับเสียงที่บุคคลทั่วไปสามารถทนรับฟังได้คือ 120 เดซิเบล สำหรับประเทศไทยเองกำหนดค่ามาตรฐานระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไว้ที่ 75 เดซิเบล ตามประกาศจากกรมควบคุมมลพิษ ในส่วนของการทำงานนั้น หากเป็นการทำงานติดต่อกันนาน 12 ชั่วโมง ระดับเสียงที่ปลอดภัยควรอยู่ที่ไม่เกิน 87 เดซิเบล และหาก 8 ชั่วโมงควรอยู่ที่ไม่เกิน 90 เดซิเบล จึงจะถือว่าเป็นระดับปลอดภัย
ผลการทดลองจะเห็นว่า เรือโดยสารคลองแสนแสบนั้นมีค่าเฉลี่ยของเสียงรบกวนมากที่สุดถึง 98.2 เดซิเบล ในวันนั้นจุดพีคสุดของเสียงขึ้นแตะถึง 106.7 เดซิเบล จากเสียงเครื่องยนต์เมื่อเรือถูกเร่งความเร็วขึ้น อันดับสองคือ เรือด่วนเจ้าพระยา ตามมาด้วยรถเมล์, รถสองแถว, รถเมล์ปรับอากาศ, รถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดินเอมอาร์ที
อย่างไรก็ตามท่ามกลางความไม่ใส่ใจของผู้คนในเมืองต่อปัญหาเสียงรบกวนเหล่านี้ ยังมีองค์กรเล็กๆ แห่งหนึ่งที่เล็งเห็นถึงปัญหา โดยพยายามสร้างความตระหนักถึงพิษภัยของมลพิษทางเสียงให้มากที่สุด และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา
ตอนบ่ายวันหนึ่ง ผมเดินทางมาถึง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ซึ่งเป็นออฟฟิศเล็กๆ ตั้งอยู่บนชั้น 17 อาคารวิทยกิตติ์ ส่วนหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความประทับใจแรกของผมเกิดขึ้นทันทีเมื่อเห็นโมเดลผังเมืองของกรุงเทพมหานครขนาดใหญ่ติดอยู่บนผนัง ผมพยายามมองหาว่าเรากำลังอยู่ตรงส่วนไหนของแผนที่ แต่ด้วยความที่อาคารแต่ละหลังไม่ได้ลงรายละเอียดไว้ สุดท้ายจึงต้องให้เจ้าหน้าที่ช่วยชี้จุด
“จริงๆ แล้วกฎหรือระเบียบของเรื่องเสียงไม่ได้ถูกกำหนดในผังเมือง แต่อยู่ในพรบ. ควบคุมสิ่งแวดล้อมมากกว่า หรือพูดง่ายๆ ว่า เสียง ไม่ได้เป็นปัจจัยในการออกแบบผังเมือง” อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์กล่าว “แต่เคยมีงานวิจัยทางฟิสิกส์ชี้ว่าเมืองที่ประกอบด้วยอาคารสูงมากๆ ซึ่งมีโครงสร้างแข็งจะส่งผลให้เกิดการสะท้อนของเสียงมากขึ้น นั่นหมายความว่าลักษณะทางกายภาพของเมืองเองมีผลต่อการได้ยินของผู้คน”
ศูนย์แห่งนี้กำลังเตรียมตัวเปิดโครงการ “แผนที่เสียง” แคมเปญใหม่ที่จะสร้างแผนที่มลพิษทางเสียงของกรุงเทพฯ ขึ้นมาโดยให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมด้วยการใช้แอพพลิเคชั่นอัดเสียงตามพื้นที่ต่างๆ แล้วส่งเข้ามาในระบบของโครงการฯ ก่อนหน้านี้ทางศูนย์ฯ ได้ทดลองวัดค่ามลพิษทางเสียงไปแล้วในพื้นที่เขตปทุมวัน-บางรัก พบว่าบริเวณใต้ทางยกระดับบริเวณสามย่านเป็นจุดที่มีมลพิษทางเสียงสูงที่สุด เนื่องจากการจราจรและการก่อสร้างใกล้เคียง
“เราพบว่าจริงๆ พื้นที่อยู่อาศัยในเมืองค่อนข้างเงียบ ปัญหาเรื่องเสียงมักมาจากพื้นที่ที่ระบบขนส่งสาธารณะหนาแน่นมากกว่า เช่น จตุจักร อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นั่นหมายความว่ามลพิษทางเสียงในเมืองเกิดจากปัญหาการจราจรเป็นส่วนใหญ่” อดิศักดิ์กล่าว “เราคาดหวังว่าเรื่องเสียงจะกลายเป็นกระแสขึ้นมา และภาครัฐจะให้ความสนใจ เหมือนกับที่ก่อนหน้านี้มีการเรียกร้องให้แก้ไขฝุ่นละออง หรือน้ำเน่า เป็นต้น”
ทั้งนี้ปัญหามลพิษทางเสียงแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือเสียงที่สามารถหาแหล่งกำเนิดได้ชัดเจน เช่น คอนเสิร์ตหรืองานอีเวนต์ ประเภทนี้ควบคุมได้ง่าย เพียงแค่จัดการกับแหล่งกำเนิดเสียงอย่างลำโพง แต่อีกประเภทซึ่งเป็นมลพิษทางเสียงจากการจราจรนั้น การหาต้นตอที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียงที่ชัดเจนเป็นเรื่องยาก อาจต้องพึ่งพามาตรการจากภาครัฐในการควบคุม เช่น จัดการกับเครื่องยนต์ที่เก่ามากจนส่งเสียงดัง เป็นต้น
“ประชาชนไม่ควรรู้สึกว่าเสียงเป็นปัญหาที่ยอมรับได้ เราไม่ควรชินชากันมัน” สุพัตรา เพชรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองกล่าว
หากพบเจอปัญหาเกี่ยวกับเสียงรบกวน คุณผู้อ่านสามารถร้องเรียนกับกรุงเทพมหานครได้ หรืออย่างน้อยการโพสต์ปัญหาลงในโซเชียลก็เป็นหนทางหนึ่งในการแบ่งปันปัญหา ซึ่งในอนาคตศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองมีแผนจะลงพื้นที่วัดระดับเสียงจากปัญหาที่มีผู้โพสต์บนโลกออนไลน์เช่นกัน “สำคัญคือตัวเราอย่าใช้คำว่า ‘ไม่เป็นไร’ กับเสียงรบกวนครับ” อดิศักดิ์กล่าว คาดว่าโครงการ “แผนที่เสียง” จะเปิดให้ประชาชนช่วยกันอัดเสียงรบกวนและส่งเข้ามาเพื่อสร้างแผนที่เสียงของกรุงเทพมหานครภายในปลายปีนี้
เรื่อง ธนเสฏฐ์ ศิริวัฒนาดิเรก
ภาพ พันวิทย์ ภู่กฤษณา และ ธีรธัญภัค เหลืองอุบล
เสียง พิสิษฐ์ สีเมฆ
ขอขอบคุณ นฤภัย อักษรมี ที่ปรึกษาด้านเสียง
อ่านเพิ่มเติม : วาด ต้นไม้ จากความทรงจำ, ในสายตาคนต่างแดน