ชายคนหนึ่งตกปลาที่โรงงานถ่านหินในเมืองดีทรอยต์ ภาพถ่ายโดย AMI VITALE, NAT GEO IMAGE COLLECTION
มลพิษทางอากาศส่งผลให้ร่างกายเราย่ำแย่ องค์การอนามัยโลกเชื่อมโยงเรื่องนี้กับโรคร้ายต่างๆ เช่น มะเร็งปอดและโรคหลอดเลือดสมอง งานวิจัยชิ้นใหม่เผยว่า ภูมิภาคที่มีมลพิษมักพบผู้ป่วยมีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคซึมเศร้าหรือโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว (ไบโพบาร์)
ในประเทศสหรัฐอเมริกา นักวิทยาศาสตร์พบว่า ประเทศที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่ ตามตัวชี้วัดของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency -EPA) ของสหรัฐอเมริกา มีการเพิ่มขึ้นของโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้วอยู่ที่ร้อยละ 27 และร้อยละ 6 ในโรคซึมเศร้า เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยระดับประเทศ
Andrey Rzhetsky ผู้เขียนงานวิจัยและนักพันธุศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก กล่าวอย่างระมัดระวังว่า งานศึกษาครั้งนี้ไม่ได้เป็นการพิสูจน์อย่างชัดเจนว่า มลพิษทางอากาศก่อให้เกิดอาการป่วยทางจิตใจ แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่าสถานที่ที่ผู้คนอยู่อาศัยอาจเพิ่มความเสี่ยงในเรื่องนี้เล็กน้อย
เช่นเดียวกับการศึกษาที่คล้ายกันในกรุงลอนดอน ประเทศจีน และเกาหลีใต้ ซึ่งพบความเชื่อมโยงระหว่างสถานที่ที่มีมลพิษกับสุขภาพจิตที่ย่ำแย่
Rzhetsky กล่าวว่า งานศึกษาจากประเทศเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า สถานที่ไหนในสหรัฐอเมริกาที่มีมลพิษ ความผิดปกติทางระบบประสาทก็จะเพิ่มจำนวนขึ้น
(เชิญรับชมวิดีโออธิบายเรื่องของมลพิษทางอากาศจากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก)
ร่างแผนที่แห่งมลพิษ
บรรดานักวิจัยได้พิจารณาข้อมูลจากสหรัฐอเมริกาและเดนมาร์กเพื่อสร้างความเชื่อมโยง
ในสหรัฐอเมริกา นักวิจัยได้พิจารณาข้อมูลประกันสุขภาพของคน 151 ล้านคนในรอบ 11 ปี ที่ได้เรียกร้องค่าสินไหมในอาการความผิดปกติทางจิต 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว, โรคซึมเศร้า, ภาวะความผิดปกติด้านบุคลิกภาพ และโรคจิตเภท และนักวิจัยได้พิจารณาข้อมูลของโรคลมชักและโรคพาร์กินสันเช่นเดียวกัน
จากนั้นนักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลอากาศ น้ำ และคุณภาพดินโดยเลือกจากสถานที่ที่มีอัตราการเรียกร้องสินไหมและอัตราความหนาแน่นของมลพิษที่คาบเกี่ยวกัน โดยผลปรากฎว่า มลพิษทางอากาศและโรคอารมณ์ผิดปกติสองขั้วมีความคาบเกี่ยวกันมากที่สุด
เพื่อทำซ้ำผลการสำรวจในสหรัฐอเมริกา นักวิจัยร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ชาวเดนมาร์ก เพื่อศึกษาผลกระทบของมลพิษในเดนมาร์ก แต่มีวิธีการที่แตกต่างในสหรัฐอเมริกา คือ นักวิทยาศาสตร์เดนมาร์กไม่ได้ดูที่ข้อมูลระดับภูมิภาค แต่ดูว่าประชากรแต่ละคนได้พบเจอกับมลพิษทางอากาศในช่วงวัยเด็กเป็นจำนวนเท่าไหร่ แต่สิ่งที่เหมือนกับงานวิจัยในสหรัฐอเมริกา คือการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศเชื่อมโยงกับโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้วและโรคซึมเศร้าในอัตราที่สูงขึ้น
“ผลการค้นพบเหล่านี้ได้เพิ่มหลักฐานปัจจุบัน โดยอ้างอิงจากงานศึกษาก่อนหน้านี้ในเรื่องของความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ระหว่างมลพิษทางอากาศและความผิดปกติทางจิตใจ” Ioanis Bakalis นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจลอนดอน ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัย กล่าว
ทว่า เขากล่าวว่าการศึกษาขึ้นอยู่กับข้อมูลระดับวงกว้างระดับประเทศ ซึ่งมีหลายตัวแปรมากเกินกว่าจะสรุปว่า ไม่ว่ามลพิษทางอากาศแบบใดก็ตามสามารถก่อให้เกิดโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้วและโรคซึมเศร้า
ด้านประเทศจีน นักวิทยาศาสตร์ในกรุงปักกิ่งได้เผยแพร่ข้อมูลเมื่อปีที่แล้วว่า การหายใจเอาอากาศที่มีอนุภาคเล็กๆ มีผลให้ความฉลาดหายไป ส่งผลต่อคะแนนสอบด้านการพูดและคณิตศาสตร์
โดย Xin Zhang ผู้เขียนงานวิจัยมองว่า มลพิษนั้นมีผลทำลายสมองเนื้อสีขาว
สมองกับธรรมชาติ
ในอังกฤษ นักวิทยาศาสตร์กำลังเฝ้าดูว่าคุณภาพอากาศของเมืองมีผลกระทบต่อเด็กจำนวน 250 คนอย่างไร โดยเด็กๆ จะสวมกระเป๋าเป้ตรวจอากาศซึ่งจะบอกว่าที่ไหน และเมื่อไหร่ที่เด็กๆ พบเจอมลพิษมากที่สุด
เจ้าหน้าที่ของเมืองกล่าวว่า ข้อมูลนี้จะช่วยให้พวกเขาปรับปรุงด้านการสาธารณสุขได้
Rzhetsky หวังไว้เช่นเดียวกันว่าปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพทางจิตที่รักษาความผิดปกติทางระบบประสาท
โดยการใช้สภาพแวดล้อมที่บริสุทธิ์เพื่อรักษาอาการผิดปกติเหล่านี้จะเป็น “เป้าหมายสูงสุด” เขากล่าว
ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามสร้างความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษกับสุขภาพจิต ผลวิจัยในเรื่อง คุณประโยชน์ทางจิตใจของการอยู่ในธรรมชาติ ได้มีการสรุปอย่างแน่นอนแล้ว กล่าวคือ เมื่อเราใช้เวลาในธรรมชาติ ไม่ว่าจะในพื้นที่ป่าหรือสวนสาธารณะท้องถิ่น สมองของเราจะผ่อนคลายมากขึ้น