พรุควนเคร็ง : พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญต่อชีวิต

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 สำนักข่าว ไทยพีบีเอส รายงานว่า กรมป่าไม้ร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำเจ้าหน้าที่กว่า 200 คน ลงพื้นที่ดับไฟป่า พรุควนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราช

หลังพบว่า ระยะเวลาภายใน 7 เดือนเกิดไฟไหม้ในป่า พรุควนเคร็ง 88 ครั้ง สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ป่าจำนวน 4,968 ไร่ โดยระบุต้นเหตุชัดเจน คือ การเผาป่าเพื่อขยายพื้นที่การเกษตร และหาปลาในป่าพรุ

รู้จักกับพื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าพรุ และไฟป่าพรุ

พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland)

คำจำกัดความตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ กล่าวว่า

พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands) หมายถึง ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขังหรือ น้ำท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมไปถึงชายฝั่งทะเลและที่ในทะเลในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุด มีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร

ที่ราบลุ่มแม่น้ำโอกาวางโก พื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญ และใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา

พื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ดังนี้

1. พื้นที่ชุ่มน้ำทางทะเล และชายฝั่งทะเล (Marine and Coastal Wetlands) ได้แก่ แนวปะการังชายฝั่ง หาดทราย แหล่งน้ำกร่อย หาดโคลน หาดเลน ป่าชายเลน

2. พื้นที่ชุ่มน้ำภายในแผ่นดินใหญ่ (Inland Wetlands) เช่น ทะเลสาบ หนอง บึง ห้วย ป่าพรุ

3. พื้นที่ชุ่มน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น (Human-made Wetlands) เช่น อ่างเก็บน้ำ สระน้ำ บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ พื้นที่เกษตรกรรม

ดังนั้นป่าพรุจึงเป็นหนึ่งในประเภทของพื้นที่ชุ่มน้ำ และมีระบบนิเวศภายในที่แตกต่างจากป่าบกทั่วไป

ลักษณะโดยทั่วไปของป่าพรุ

คำว่า พรุ เป็น คำสามัญที่ชาวบ้านทางภาคใต้ใช้เรียกบริเวณที่เป็นที่ลุ่มชุ่มชื้น มีน้ำแช่ขังมาก มีซากผุพังของต้นไม้และพันธุ์พืชทับถมมากหรือน้อย เวลาเหยียบย่ำจะยุบตัวและมีความรู้สึกหยุ่นๆ

ป่าพรุ (peat swamp forest) เกิดจากแอ่งน้ำจืดขังติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และมีการสะสมของชั้นดินอินทรียวัตถุ ได้แก่ ซากพืช ซากต้นไม้ ใบไม้ที่ย่อยสลายอย่างช้า ๆ กลายเป็นดินพีท (peat) หรือดินอินทรีย์ที่มีลักษณะหยุ่นยวบเหมือนฟองน้ำ มีความหนาแน่นน้อย อุ้มน้ำได้มาก

พรุโต๊ะแดง เป็นป่าพรุขนาดใหญ่ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของเมืองไทย / ภาพถ่าย: ปิ่น บุตรี

ไฟไหม้ป่าพรุ

จากลักษณะทางกายภาพของป่าพรุ ส่งผลให้ชั้นดินและซากอินทรีย์ที่ทับกันอยู่ด้านล่างถมกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ในช่วงอากาศแห้งแล้งจัด หรือมีการระบายน้ำออกจากป่าพรุ จนระดับน้ำในป่าพรุลดต่ำลงกว่าระดับผิวดิน เป็นช่วงเวลาที่พบไฟไหม้ป่าพรุบ่อยครั้งที่สุด

ไฟไหม้ป่าพรุมีลักษณะพิเศษ คือเป็นไฟกึ่งผิวดินกึ่งใต้ดิน (Semi-Ground Fire) คือส่วนหนึ่งจะไหม้ในแนวระนาบไปตามผิวพื้นป่าเช่นเดียวกับไฟผิวดิน ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะไหม้ในแนวดิ่งลึกลงไปในชั้นดินพรุ ซึ่งในเรื่องนี้ ถึงแม้ชั้นดินพรุบางแห่งจะหนาหลายเมตรก็ตาม แต่ไฟในแนวดิ่งจะไหม้ลึกลงไปได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากยิ่งลึกปริมาณออกซิเจนจะยิ่งน้อย และใกล้ระดับน้ำใต้ดิน ทำให้ความชื้นมีมากขึ้นตามระดับความลึก

ลักษณะไฟกึ่งผิวดินกึ่งใต้ดินในป่าพรุ / ขอบคุณภาพจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

เนื่องจากลักษณะเฉพาะของไฟป่าพรุที่แตกต่างไปจากไฟป่าบกโดยทั่วไป การดับไฟป่าพรุจึงมีความยากลำบากกว่าการดับไฟป่าบกหลายเท่าตัว เพราะต้องต่อสู้กับไฟทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง เจ้าหน้าที่หาขอบเขตที่แท้จริงของไฟได้ยาก เนื่องจากไฟมีควันมหาศาลแต่แทบจะไม่มีเปลวไฟให้เห็น ในขณะที่ไฟจะคุกรุ่นคืบคลานไปเรื่อยๆ ดังนั้นไฟที่คิดว่าดับลงแล้วจึงกลับคุขึ้นใหม่ได้โดยง่าย

ในประเทศไทย เคยเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าพรุหลายครั้ง โดยครั้งสำคัญเกิดในปี 1997 ที่ป่าพรุบาเจาะมีพื้นที่พรุถูกไฟไหม้ประมาณ 7,000 ไร่ และในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ปี 1998 เกิดไฟไหม้ป่าพรุโต๊ะแดง เสียหายไปถึง 14,837 ไร่ โดยต้องใช้ระยะเวลาเกือบสองเดือนและเสียงบประมาณไปจำนวนหลายล้านบาทกว่าจะควบคุมไฟป่าไว้ได้

อ่านต่อหน้า 2 เรื่องความสำคัญของป่าพรุควนเคร็ง

ป่าพรุควนเคร็งมีความสำคัญอย่างไร

จากรายงานโครงการสำรวจสถานภาพพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทพรุของประเทศไทย ปี 2008 โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย รายงานการใช้ประโยชน์และความสำคัญของป่าพรุควนเคร็งไว้หลายด้าน ดังนี้

การเก็บกักน้ำฝนและน้ำท่า พื้นที่พรุควนเคร็งเป็นที่ราบลุ่มริมด้านเหนือของทะเลสาบสงขลา พื้นที่พรุรับน้ำที่มาจากต้นน้ำและเก็บกักน้ำเอ่อล้นจากทะเลสาบ และเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญ

การดักตะกอนและแร่ธาตุ การกรองตะกอนและแร่ธาตุจากแหล่งน้ำธรรมชาติและพื้นที่เกษตรที่ระบายลงสู่พื้นที่พรุ ก่อนปลดปล่อยน้ำลงสู่ทะเลสาบสงขลา

แหล่งทรัพยากรและผลผลิตธรรมชาติ พบพรรณไม้ทั้งสิ้น 260 ชนิด พบสัตว์ป่าในพื้นที่พรุรอบทะเลน้อย รวมทั้งสิ้น 131 ชนิด ทรัพยากรปลาที่พบยังเป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านอาหารกว่า 8 ชนิด และเป็นปลาสวยงามกว่า 17 ชนิด นอกจากนี้ พรุควนเคร็งเป็นแหล่งกระจูดส่งไปเป็นวัตถุดิบสำหรับงานหัตถกรรมเสื่อของชุมชนทะเลน้อย

ด้านนิเวศวิทยาและห่วงโซ่อาหาร เป็นพื้นที่ป่าพรุขนาดกว้างใหญ่ มีไม้เสม็ดขาวเป็นไม้เด่นและหนาแน่น เป็นแอ่งน้ำขนาดกว้างใหญ่ มีพรรณไม้น้ำหนาแน่น มีลำน้ำหลายสายไหลผ่าน ประกอบกับการขุดคลองระบายน้ำพาดผ่าน สภาพทางนิเวศวิทยาแหล่งน้ำส่วนใหญ่เป็นพื้นที่แอ่งน้ำนิ่งขนาดใหญ่ เชื่อมต่อกับลำน้ำหลายสาย และทะเลสาบ

การดักสารมลพิษ เป็นพื้นที่รับน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีจากพื้นที่การเกษตร

การคุกคามที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่พรุ

การสูญเสียที่ดินหรือพื้นที่พรุ เกิดจากการบุกรุกและครอบครองที่ดิน การอ้างสิทธิการครอบครองที่ดินในพื้นที่พรุ รวมทั้งการกันพื้นที่อนุรักษ์เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ทำให้สูญเสียพื้นที่พรุตลอดเวลา

การใช้ทรัพยากรไม่ถูกวิธี พบการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่พรุ และการลักลอบตัดไม้ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ ตลอดทั้งยังไม่มีการวางระบบการจัดการทรัพยากรของชุมชนทำให้ป่าไม้เสื่อมโทรม

ต้นเสม็ดขายที่ยืนต้นเรียงรายอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ / ภาพถ่าย: นภัทรดนัย

การจัดการน้ำไม่เหมาะสม เนื่องจากการขุดลอกคูคลองใช้น้ำเพื่อการเกษตร มีผลกระทบต่อระบบน้ำในพื้นที่พรุ แอ่งน้ำบริเวณกลางพื้นที่ตื้นเขินจากการทับถมของซากพืชโดยเฉพาะหญ้า รวมถึงลำน้ำหลายสายมีการตื้นเขินและถูกบุกรุก

การใช้ประโยชน์ที่ดิน/กิจกรรมที่ขัดแย้ง พบการใช้พื้นที่พรุเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก การเหยียบย่ำของสัตว์กระทบต่อหน้าดินและการสะสมของดินอินทรีย์ ทำให้สูญเสียหน้าดินจากการถูกชะล้างลงสู่

การแพร่ระบาดของพืชและสัตว์ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น จากการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในพื้นที่พรุ ได้นำพืชและสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่พรุ

ในตอนท้ายของรายงานพบว่า “ชาวบ้านมีความต้องการอนุรักษ์พื้นที่พรุควนเคร็งไว้ เนื่องจากพื้นที่เป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญต่อการประกอบอาชีพของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น”

ดงต้นกระจูดที่ขึ้นอยู่ริมฝั่ง เป็นวัตถุดิบในการผลิตหัตกรรมของคนในท้องถิ่น / ภาพถ่าย: นภัทรดนัย

จนถึงวันนี้ “หลังเกิดไฟไหม้ป่าพรุเป็นเวลาร่วมเดือน ร่วมกับเหตุการณ์ฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้พื้นที่พรุควนเคร็งอยู่ในลักษณะป่าพรุที่สิ้นสภาพพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติไปอย่างสิ้นเชิง พื้นที่ความเสียหายประมาณ 15,000 ไร่” จากเนื้อหาข่าวที่เผยแพร่ใน Manager Online

เหตุไฟไหม้ป่าพรุควนเคร็งจนสิ้นสภาพพื้นที่ชุ่มน้ำ แสดงให้เห็นถึงการสูญเสียพื้นที่แหล่งอาหาร แหล่งวัตถุดิบท้องถิ่น แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ และจากป่าพรุที่เป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ไฟป่าเปลี่ยนให้ป่าพรุควนเคร็งเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดใหญ่


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ :  พื้นที่ชุ่มน้ำ…ในชีวิตและความทรงจำ

พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างทะเลสาบสงขลา มีขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่หลายจังหวัด มีระบบนิเวศหลายหลาย ทั้งน้ำเค็ม น้ำกร่อย น้ำจืด มีป่าไม้ทั้งที่เป็นป่าบก ป่าพรุน้ำท่วมขัง และป่าชายเลน ซึ่งเป็นที่พักพิงของสิ่งมีชีวิตหลากหลาย รวมทั้งมนุษย์มาอย่างยาวนาน
© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.