อากาศยามเย็นในฤดูร้อนวันนั้นอุ่นพอให้พวกทหารถอดเสื้อนั่งเล่นกลางแจ้งได้ คนหนึ่งเล่นกีตาร์ อีกคนอ่านหนังสือ บรรยากาศผ่อนคลายคล้ายพักร้อน แม้นี่จะเป็นค่ายทหารเดนมาร์กทางตะวันออกเฉียงเหนือของ กรีนแลนด์ เรียกว่าสถานีนอร์ (Station Nord) ซึ่งอยู่ห่างจากขั้วโลกเหนือ 925 กิโลเมตร เสียงหึ่งๆของเครื่องปั่นไฟแว่วมาแต่ไกล และบางครั้งบางคราวสุนัขกรีนแลนด์สองตัวจะส่งเสียงเห่า ดวงอาทิตย์วนรอบท้องฟ้าอาร์กติก
ภารกิจประจำวันของหน่วยทหารแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นงานด้านวิทยาศาสตร์ อาร์กติกอุ่นขึ้นเร็วกว่าพื้นที่อื่นใดในโลก และสำหรับนักวิจัยที่ศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่นี่มีข้อดีจากทำเลที่อยู่ห่างไกล นั่นคือเกือบ 82 องศาเหนือ ภายในอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเข้าถึงได้เพราะมีลานบิน ไม่ใช่เรื่องเกินจริงที่จะบอกว่า อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นที่นี่ส่งผลกระทบต่อโลกทั้งใบ อาร์กติกเป็นส่วนหนึ่งของระบบทำความเย็นของโลก และเมื่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้น้ำแข็งทะเลละลายเร็วขึ้น ระบบที่ว่าก็กำลังพังลง
มีสถานที่ไม่กี่แห่งที่เราลืมตาตื่นในโรงนอนซึ่งมีเตียงเรียงเป็นตับ ดื่มกาแฟ แล้วก้าวออกไปสู่สภาพแวดล้อมสุดขั้วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทั้งหิมะขาวโพลน อากาศหนาวจับจิต หมอก และความมืดในฤดูหนาวที่ยาวนานหลายเดือน คือสิ่งปกติที่มีให้พบเจอ
สถานีนอร์ยังมีจุดประสงค์ทางการเมืองด้วยถึงได้มีทหารเป็นผู้ดูแล เดนมาร์กอ้างอำนาจอธิปไตยที่นานาชาติยอมรับเหนือภูมิภาคแถบนี้ แต่จำต้องสำแดงตนเพื่อรักษาอำนาจนั้น สำหรับผู้เชี่ยวชาญหกคนที่พำนักอยู่ที่นี่ ซึ่งทั้งหมดเป็นทหารในกองทัพเดนมาร์กและแทบจะเป็นเพศชายเสมอ สถานีนอร์คือบ้านตลอดการประจำการนาน 26 เดือน
อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นที่นี่ส่งผลกระทบต่อโลกทั้งใบ อาร์กติกเป็นส่วนหนึ่งของระบบทำความเย็นของโลก และเมื่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้น้ำแข็งทะเลละลายเร็วขึ้น ระบบที่ว่าก็กำลังพังลง
สถานีซึ่งแรกเริ่มเป็นศูนย์ตรวจวัดลมฟ้าอากาศเมื่อปี 1952 คือหมู่บ้านเล็กๆที่มีสนามบินของตนเอง มีอาคารกว่า 25 หลัง รวมถึงโรงนอน ห้องประชุมเชิงปฏิบัติการ เพิงเก็บเครื่องปั่นไฟ ครัว และศูนย์ชุมชน
ที่นี่กว้างขวางพอจะจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อสร้างงานวิทยาศาสตร์ระดับโลกท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่อันตรายแต่สวยงามได้ ทหารเก็บกวาดลานบิน เติมน้ำมันเครื่องบิน ทำความสะอาดโรงนอน เก็บเสบียงที่ส่งมาทางเครื่องบินบรรทุกสินค้า ตักน้ำจากทะเลสาบธารน้ำแข็งที่อยู่ใกล้ๆ และซ่อมแซมอุปกรณ์ ในฤดูหนาว ทหารหกนาย หรือแปดถ้านับสุนัขด้วย จะอยู่ตามลำพังหลายเดือนโดยมีสัญญาณดาวเทียมเอื้อให้ส่งอีเมลและข้อความง่ายๆได้ แต่ละคนจะได้สิทธิโทรศัพท์ประจำเดือน
ช่วงฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูใบไม้ร่วง พวกเขาจะเปิดบ้านต้อนรับชุมชนนานาชาติที่ผลัดเปลี่ยนกันมาเยือนมากถึง 60 คน ซึ่งมีทั้งทีมนักวิทยาศาสตร์ คนงานสนับสนุน นักบิน วิศวกร และเจ้าหน้าที่ทหาร
ชุมชนนี้มีวัฒนธรรมของตนเอง ถ้าใครไปกินข้าวสายจะต้องทำเค้กมาเลี้ยงคนทั้งชุมชนสักวัน ทุกคืนวันเสาร์มีงานเลี้ยงที่เสิร์ฟอาหารหลักสามจาน ทุกคนต้องผูกเนคไทหรือสวมกระโปรง และถ้าไม่มีติดตัวมา แบบคนที่มาครั้งแรกส่วนใหญ่ ก็อาจใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในสถานีทำขึ้นจากของใดๆก็ตามที่พอหาได้ รวมถึงไม้ สายไฟ หนังสือ หรือซองชา ดังตัวอย่างของจริงที่จัดแสดงอยู่บนผนังโรงครัว
ช่วงฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูใบไม้ร่วง พวกเขาจะเปิดบ้านต้อนรับชุมชนนานาชาติที่ผลัดเปลี่ยนกันมาเยือนมากถึง 60 คน ซึ่งมีทั้งทีมนักวิทยาศาสตร์ คนงานสนับสนุน นักบิน วิศวกร และเจ้าหน้าที่ทหาร
ทอมัส ครุมเพน นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันอัลเฟรดเวเกเนอร์ของเยอรมนี เป็นผู้นำการบินสำรวจเพื่อวัดความหนาของน้ำแข็งทะเลช่วงฤดูร้อน ซึ่งคำนวณจากภาพถ่ายดาวเทียมได้ยาก นอกเหนือไปจากค่าอื่นๆ โดยนำอากาศยาน ดีซี-3 ที่ได้รับการปรับแต่งแล้ว ออกบินที่ระดับความสูง 60 เมตรเหนือน้ำแข็งและพ่วงเซ็นเซอร์ที่ผูกไว้กับเชือกให้ลอยเหนือผิวน้ำแข็งแค่ 15 เมตร ครุมเพน บอกว่า งานนี้ใช้สมาธิมากเสียจนกระทั่ง “บางครั้งก็ยากที่ผมจะมองออกไปนอกหน้าต่างและสนุกกับงานหรือเฝ้าสังเกตสิ่งที่ตัวเองกำลังสำรวจอยู่จริงๆ”
การบินเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความวิริยะอุตสาหะเพียงเพื่อตอบคำถามง่ายๆว่า น้ำแข็งทะเลหนาเท่าไร หิมะสะท้อนแสงแค่ไหน
ข้อสังเกตที่ได้จากการบินเหล่านี้จะป้อนเข้าสู่แบบจำลองสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์สลับซับซ้อนเพื่อคาดการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากสภาพภูมิอากาศยังคงเปลี่ยนแปลงต่อไป ข้อมูลเกี่ยวกับอาร์กติกนับว่าสำคัญยิ่งต่อการพยากรณ์ผลกระทบระดับโลก เช่น การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิและของระดับทะเล
“เราจำเป็นต้องมองไปยังอนาคตเพื่อบอกผู้คนว่า ผลกระทบอะไรที่พวกเราจะเผชิญ” ครุมเพนบอก นักวิจัยคนอื่นๆปล่อยบอลลูนตรวจลมฟ้าอากาศ ขุดหลุมเก็บตัวอย่างหิมะ หรือจับตามองอุปกรณ์ของตนเองทั้งคืนโดยมีสุนัขคอยเห่าเตือนภัยหมีขั้วโลกอยู่ใกล้ๆ พวกเขาค่อยๆเก็บรวบรวมข้อมูลที่จะช่วยตอบคำถามสำคัญที่สุดแห่งยุคการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั่นคือจะเกิดอะไรขึ้นกับโลกของเรา คำตอบนี้ทำให้เกิดข้อโต้แย้งทั้งทางการเมืองและวิทยาศาสตร์ และต้องใช้ข้อมูลที่สะสมมาหลายปีจากหลายสถานที่กว่าจะเริ่มได้เค้าคำตอบ
เรื่อง เจนนิเฟอร์ คิงสลีย์
ภาพถ่าย เอสเทอร์ ฮอร์แวท
*อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2562
สารคดีแนะนำ