ทีมอาสาสมัครดำน้ำเก็บเศษแห-อวนทิ้งร้างในทะเลแห่งนิวซีแลนด์

ความยั่งยืนคือประเด็นที่โลกแฟชั่นจำเป็นต้องเดินตาม และแบรนด์หรูอย่างปราดา (Prada) ก็ให้ความสนใจในเรื่องนี้ผ่านโครงการ “ใช้ไนลอนอีกครั้ง” (Re-Nylon Project) ซึ่งปราดาร่วมมือกับโครงการอัพไซเคิล (Upcycle – การเปลี่ยนวัสดุที่ไม่ใช้แล้วให้มีคุณภาพดีกว่าเดิม) ทั่วโลก เพื่อเปลี่ยนเศษผ้าเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต ตั้งแต่พรมเก่าไปจนถึงแหตกปลา ให้เป็นสินค้าใหม่อีกครั้ง

ร็อบ วิลสัน ตรวจดูนาฬิกาดำน้ำและพยุงตัวขึ้นยืนในชุดดำน้ำที่ดูรุงรัง พร้อมถังออกซิเจน 2 ใบติดอยู่กลางหลัง คู่หูของเขาลงไปรออยู่ในน้ำก่อนแล้ว มีอาสาสมัคร นักดำน้ำฟรีไดเวอร์อยู่บนผิวน้ำสองคนเพื่อคอยจับตาดูสิ่งต่างๆ ส่วนนักดำน้ำสกูบาอีก 2 คนจะดำน้ำเอาเศษซากแหหรืออวนที่อยู่ลึกลงไปในมหาสมุทรราว 14 เมตรขึ้นมา พวกเขาต้องทรงตัวให้มั่นท่ามกลางกระแสน้ำใหญ่ที่ไหลสู่มหาสมุทรใต้ (South Ocean Water)

วิลสันเป็นผู้ดำเนินโครงการ Ghost Fishing New Zealand (GFNZ) องค์กร อาสาสมัคร ในเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งอุทิศตัวในการเก็บแหหรืออวนที่ถูกทิ้งและเศษซากอื่นๆบริเวณน่านน้ำชายฝั่ง เขาและทีมมุ่งทำภารกิจเก็บแหอวนเหล่านี้ในช่วงสุดสัปดาห์ ตามรายงานการพบเห็นแหและอวนจับปลาเหล่านี้ของนักดำน้ำหรือเรือ

45 นาทีถัดมา วิลสันและทีมของเขาก็ขึ้นมาที่ผิวน้ำ ดึงแหหนักอึ้งที่เต็มไปด้วยโคลน สัตว์จำพวกกุ้ง ปู ดาวทะเล เพรียงหัวหอม และโครงกระดูกของสัตว์ที่ติดกับแหที่ทำจากไนลอนอย่างดี เมื่อขึ้นไปบนเรือ นักดำน้ำแกะสัตว์ที่ติดอยู่ตามแหออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และปล่อยพวกมันกลับลงทะเล

“อันนี้เป็นแหขนาด 40-50 เมตร” วิลสันกล่าวขณะดึงหน้ากากดำน้ำออกและเสริมว่า “มันอาจจะจมอยู่อย่างนั้นมาได้ราว 20 ปีแล้วครับ”

นี่คือภาพโครงกระดูกปลาที่ยังติดอยู่กับแหที่ถูกทิ้ง
นักดำน้ำอาสาสมัครติดถุงยกเป่าลมกับแหที่ถูกทิ้งเพื่อให้มันลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ

โกสต์เกียร์ (Ghost Gear) หรือแห อวน และอุปกรณ์ประมงอื่นๆที่ถูกทิ้งลงทะเล คิดเป็นร้อยละ 10 ของปริมาณขยะในมหาสมุทร โดยกว่าร้อยละ 50 ของขยะที่อยู่ในแพขยะใหญ่แปซิฟิก (Great Pacific garbage patch) คือโกสต์เกียร์ โกสต์เกียร์ซึ่งผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมอาจมีความยาวถึง 9-10 กิโลเมตร พวกมันถูกพัดพาไปในกระแสน้ำมหาสมุทร และยังดึงบรรดาสัตว์ทะเลให้มาติด แม้เจ้าของตัวจริงจะทำหายหรือทิ้งมันลงไปในมหาสมุทรแล้ว

ถ้าแหเหล่านี้ไม่ถูกกำจัด จะมีพลาสติกอีกค่อนข้างมากที่ยังอยู่ในธรรมชาติ ไนลอนใช้เวลานับศตวรรษในการย่อยสลาย มันทำลายสิ่งมีชีวิตทุกอย่าง ตั้งแต่กุ้ง ดาวทะเล เต่า ปลาฉลาม โลมา และวาฬ นับล้านตัวในแต่ละปี ปลาตัวเล็กเข้าไปติดแห ปลาตัวใหญ่ที่จะไปกินปลาตัวเล็กที่ติดแหก็ติดแหตามไปด้วย ในที่สุดแหจะจมทะเลจนกว่าจะมีคนมาพบและเก็บกู้ขึ้นมา แล้ววงจรนี้ก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme) ประมาณการว่ามีโกสต์เกียร์กว่า 640,000 ตันเข้าสู่ระบบนิเวศทางทะเลในทุกปี

แหที่ถูกทิ้งปากนี้อาจถูกทิ้งให้จมอยู่ใต้น้ำและดึงให้สัตว์น้ำติดกับมานานนับสองทศวรรษแล้ว

การเก็บกู้โกสต์เกียร์ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้อวนจะยาวแค่ 40 เมตร ก็เป็นเรื่องท้าทาย “มันเป็นการว่ายน้ำเชิงเทคนิค โดยเฉพาะตอนนี้ ซึ่งเป็นช่วงกลางฤดูหนาวที่เราต้องพบเจอกับน้ำเย็นและทัศนวิสัยในการมองเห็นต่ำครับ” วิลสันอธิบาย ขณะที่กัปตันเตรียมนำเรือเข้าฝั่ง เราอยู่ในที่พักบนอ่าวมาฮันกา (Mahanga Bay) บนคาบสมุทรมิรามาร์ (Miramar Peninsula) อันเป็นแหลมที่ตั้งอยู่กลางท่าเรือเวลลิงตัน

กัปตันเรือฉีดน้ำล้างอวนก่อนจะกลับไปที่ท่าเรือ ทั้งโคลนและมวลชีวภาพที่ติดอยู่ในแหนานนับปีถูกล้างออก เมื่อล้างเสร็จแล้ว สิ่งที่เหลือคือตาข่ายสีเขียวขนาดใหญ่ที่ดูเหมือนว่าจมอยู่ใต้น้ำและไม่ถูกแตะต้องมานานหลายทศวรรษ

GFNZ ร่วมมือกับเฮลตีซี (Healthy Sea) โครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงนักดำน้ำอาสาสมัครจากทั่วโลก และร่วมมือกับอุตสาหกรรมประมง ทั้งในการกู้โกสต์เกียร์และพัฒนาวิธีการทำประมงอย่างยั่งยืนเพื่อที่จะไม่ให้มีอวนหายลงไปในทะเลตั้งแต่ต้น  โครงการเฮลตีซีร่วมก่อตั้งโดยอะควาฟิล (Aquafil) บริษัทผลิตไนลอนของอิตาลีที่ทำการหมุนเวียนอุปทานจากของเหลือใช้มาอยู่ในกระบวนการผลิตแทนการนำมาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อะควาฟิลได้พัฒนากระบวนการเปลี่ยนไนลอนที่ได้จากแหเก่าและพรมใช้แล้วให้เป็นเส้นใยคุณภาพสูงและมีสิทธิบัตรที่เรียกว่า ECONYL ซึ่งใช้ในการถักทอสินค้าแบรนด์ปราดาที่ทำจากไนลอนที่นำกลับมาใช้ใหม่ และสร้างสรรค์เป็นคอลเล็กชันแคปซูล Re-Nylon ของปราดา

อุตสาหกรรมแฟชั่นกำลังใช้วัสดุที่มาจากขยะอันตรายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงแหที่ถูกทิ้งในทะเล

นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2013 เฮลตีซีกู้แหทั้งจากทะเลและมหาสมุทรได้ราว 550,000 ตัน ซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับแหทั้งหมดที่อยู่ที่นั่น แต่ก็ถือเป็นจำนวนมากเมื่อพิจารณาจากปฏิบัติการที่เกิดจากความพยายามของอาสาสมัครเช่นวิลสันและทีมงานของเขา

ภายในบังกะโลบนชายฝั่งมีแผงคอมพิวเตอร์ที่วิลสันใช้เพ่งดูแผนที่และจีพีเอส เนื่องจากในการเก็บกู้แห คุณต้องหามันให้พบก่อน เขาต้องใช้เวลาสองสัปดาห์และการดำน้ำหลายครั้งกว่าจะเจอแห เพราะมีหลายครั้งที่แหนั้นเปลี่ยนจากตำแหน่งที่ถูกพบเห็นในครั้งแรก

การที่วิลสันและ GFNZ จะค้นพบแหจริงๆไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วอะไรที่ผลักดันให้วิลสันทำงานที่สำคัญเช่นนี้

“ผมรักมหาสมุทร และแหที่ถูกทิ้งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำลายล้าง จึงเป็นเรื่องดีที่ผมได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่ทำบางสิ่งกับมันครับ”

เรื่อง JOHNNY LANGENHEIM


อ่านเพิ่มเติม ชิ้นส่วนแห่งความแตกต่าง: กระบวนการฟื้นชีวิตเศษผ้าสู่สินค้าหรูในจีน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.