อนาคตบนเส้นด้ายของ แอนตาร์กติกา

หิ้งน้ำแข็งที่แตกตัวออกจากทวีปแอนตาร์กติกาอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของหายนะ

มองจากด้านบนผิวขรุขระของหิ้งน้ำแข็งปรากฏรอยแตกขนาดใหญ่ที่บ่งชี้ว่ามันกำลังจะหลุดออกจากชั้นน้ำแข็งเดิมที่มีอายุหลายพันปี แผ่นน้ำแข็งที่กำลังจะหลุดออกนี้เป็นส่วนหนึ่งของหิ้งน้ำแข็งลาร์เซน ซี ที่ตั้งอยู่บนแหลมทางตะวันตกของทวีปแอนตาร์กติกา อุณหภูมิที่สูงขึ้นของน้ำทะเลโดยรอบคือสาเหตุ และการหลุดออกครั้งนี้จะเปลี่ยนหน้าตาของแผนที่ทวีปแอนตาร์กติกาตลอดไป ด้วยขนาดของหิ้งน้ำแข็งที่ใหญ่ถึง 6,000 ตารางกิโลเมตร เทียบเท่ากับพื้นที่กว้างใหญ่กว่ากรุงลอนดอน 4 เท่า และคิดเป็นราว 2 ใน 3 ของสาธารณรัฐไซปรัส เกาะบนทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

พืดน้ำแข็งฝั่งตะวันตกของทวีปแอนตาร์กติกานี้มีความหนาราว 2.5 ไมล์ และครอบคลุมพื้นที่ขนาด 2 เท่าของรัฐเท็กซัส รอบๆของพืดน้ำแข็งประกอบด้วยภูเขาน้ำแข็งจำนวนมาก นั่นแปลว่าหากมหาสมุทรยังคงอุ่นขึ้นเรื่อยๆจนละลายชั้นน้ำแข็งที่เปราะบางเหล่านี้จนหมด ทีมนักวิจัยเชื่อว่าระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10 ฟุต

“หิ้งน้ำแข็งบริเวณนี้เป็นจุดที่ละลายเร็วที่สุดบนโลก” อีริค ริกนอท นักธรณีวิทยาจาก NASA Jet Propulsion Laboratory ในเมืองแพซาดีนา ของรัฐแคลิฟอร์เนียกล่าว ตัวเขาศึกษาชั้นน้ำแข็งในภูมิภาคนี้มานานกว่า 2 ทศวรรษ ด้วยการใช้เทคโนโลยีเรดาห์และภาพถ่ายดาวเทียม ริกนอทเชื่อว่าการพังทลายของพืดน้ำแข็งตะวันตก ในทวีปแอนตาร์กติกานั้นไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่คำถามคือมันจะใช้เวลานานแค่ไหน 500 ปี หรือน้อยกว่า 100 ปี และมนุษย์เราเองเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตนี้อย่างไร

“เราจำเป็นที่จะต้องได้ตัวเลขที่ถูกต้องแม่นยำ” เขากล่าว “ในขณะเดียวกันก็ต้องระวังอย่าเสียเวลาไปกับข้อมูลมากเกินไป”

ในแอนตาร์กติกาตะวันออก นักวิจัยชาวออสเตรเลียช่วยกันทิ่มเสาลงในน้ำแข็งเพื่อหารอยแยกบนธารน้ำแข็งทอตเทนก่อนจะใช้เครื่องมือต่างๆตรวจวัดว่า ธารน้ำแข็งนี้เคลื่อนตัวและบางลงเร็วเพียงใด

การคาดการณ์เวลาของการแตกหักที่ถูกต้องนั้น จำเป็นที่จะต้องเดินทางไปยังพืดน้ำแข็ง ในปี 2012 เครื่องบินแฝด Twin Otter บินผ่านบริเวณหิ้งน้ำแข็งดังกล่าว นักบินสังเกตุเห็นรอยแตกขนาดใหญ่ จึงลงจอดเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจ

หลังจากนั้นทีมนักวิทยาศาสตร์ก็เดินทางมายังที่นี่ นำโดย มาร์ติน ทรัฟเฟอร์ นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยอลาสกา พวกเขาตั้งแคมป์อยู่ในบริเวณรอยแตก ด้วยแผนที่จะเฝ้าสังเกตุการณ์รอยแตกนี้เป็นระยะเวลานาน 2 เดือน นับเป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่ค้างคืนยังสถานที่แห่งนี้ ปกติแล้วบริเวณดังกล่าวเป็นสถานที่อันตราย แต่ทีมของทรัฟเฟอร์ต้องการเจาะชั้นน้ำแข็งเพื่อวัดความร้อนที่เกิดขึ้นด้านล่าง

ในขณะที่ทีมนักวิจัยค้างคืนในเต้นท์ พวกเขาได้ยินเสียงแตกหักดังมาจากบริเวณรอยแตก ในช่วงเช้าเมื่อทีมวิจัยเข้าตรวจสอบพวกเขาก็พบรอยแตกเพิ่มที่ดูเหมือนว่าจะมีความลึกมากกว่าเดิม ตลอดระยะเวลา 5 สัปดาห์ของการศึกษา ชั้นน้ำแข็งดังกล่าวบางลงเหลือความหนาราว 7 ฟุต

นักวิทยาศาสตร์ใช้เวลาในการศึกษาอยู่นานพอตัว กว่าจะทราบว่าพืดน้ำแข็งฝั่งตะวันตกของทวีปแอนตร์กติกานั้นละลายรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ สแตน จาร์คอบ นักสมุทรศาสตร์จากสถาบัน Lamont-Doherty Earth Observatory ในนิวยอร์ก อธิบายว่าการละลายอย่างรวดเร็วนี้เกิดขึ้นจากกระแสน้ำอุ่นที่มาจากมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ห่างออกไปทางตอนเหนือประมาณ 200 ไมล์ เกลือในกระแสน้ำอุ่นได้กัดเซาะหน้าตาของภูเขาน้ำแข็งใต้ทะเลให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม รวมถึงการกระแทกของกระแสน้ำอุ่นนั่นได้ส่งผลให้ธารน้ำแข็งที่มีอายุหลายพันปี ได้รับผลกระทบอยู่ตลอดเวลา

ทีมนักวิจัยประมาณปริมาณของน้ำแข็งที่สูญเสียไป “ในอัตราที่บ้ามาก” เอเดรียน เจนคินส์ นักธรณีวิทยาจากสถาบันสำรวจแอนตาร์กติกา โดยมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ให้คำนิยามถึงสถานการณ์ จากการคำนวณของเขา หิ้งน้ำแข็งปริมาณ 13 ลูกบาศก์ไมล์กำลังละลายลงทุกปีๆ จากด้านล่าง นั่นหมายความว่าหิ้งน้ำแข็งด้านบนจะบางลงประมาณ 300 ฟุตต่อปี

“หิ้งน้ำแข็งละลายเร็วกว่าที่เราจะคำนวณได้ทันอีกครับ” เจนคินส์กล่าว

แผนที่แสดงจุดที่หิ้งน้ำแข็งลาร์เซน ซีกำลังจะหลุดออกจากทวีป จากการตรวจสอบล่าสุดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา แผ่นน้ำแข็งนี้มีขนาดพอๆกับรัฐเดลาแวร์ ในสหรัฐอมเริกา และมีน้ำหนักมากถึง 1 ล้านล้านตัน เรียกได้ว่านี่คือภูเขาน้ำแข็งขนาดยักษ์ที่สุดเท่าที่เคยมีบันทึกมา

เฮเลน ฟิกเกอร์ นักธรณีวิทยาจากสถาบันสมุทรศาสตร์ ในซานดิเอโก เปรียบเทียบสถานการณ์ของหิ้งน้ำแข็งในปัจจุบันว่าเป็นเหมือนกับ “นกคานารีในเหมืองถ่านหิน” (คนงานเหมืองจะนำนกลงไปในเหมืองด้วย เพื่อคอยสังเกตุอาการของนก เนื่องจากนกคานารีมีความไวต่อก๊าซพิษมากกว่ามนุษย์ หากนกล้มหรือเสียชีวิต คนงานเหมืองจะรีบอพยพออกจากพื้นที่ทันที) เนื่องจากปกติแล้วน้ำแข็งขั้วโลกละลายลงสู่มหาสมุทรตลอดเวลา และที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เปรียบเหมือนสัญญาณเตือนสู่หายนะมากกว่า

จากผลการศึกษา ฟิกเกอร์และทีมของเธอพบว่า ตั้งแต่ปี 1994 – 2012 หิ้งน้ำแข็งจากทวีปแอนตาร์กติกามีการละลายที่รวดเร็วขึ้นถึง 12 เท่า จาก 6 ลูกบาศก์ไมล์เพิ่มเป็น 74 ลูกบาศก์ไมล์ต่อปี “และเมื่อเวลาผ่านไป การละลายก็จะเกิดเร็วขึ้นอีก” ริกนอทกล่าวเสริม “อีก 30 – 40 ปีข้างหน้าคุณอาจยังไม่สนใจมันนัก แต่หลังจากปี 2050 จนถึง 2100 หลายๆอย่างจะเริ่มเลวร้ายขึ้น”

อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นของโลกนี้ เป็นผลมาจากการหันมาใช้พลังงานเชื้อเพลิงของมนุษย์ นับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้น ในศตวรรษที่ 19 คลื่นความร้อนส่วนใหญ่ที่กระทบเข้ากับหิ้งน้ำแข็งแอนตาร์กติกา เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ประมาณการณ์ไว้ว่าการละลายของแอนตาร์กติกาจะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 1.5 – 3.5 ฟุตในปี 2100 ตัวเลขนี้อาจเปลี่ยนแปลงโดยขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์ผลิตก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน

ผลการศึกษาทางธรณีวิทยา เมื่อ 125,000 ปีก่อน เป็นช่วงเวลาที่อุณหภูมิของโลกสูงกว่าอุณหภูมิในปัจจุบัน ระดับน้ำทะเลสูงกว่านี้ราว 20 – 30 ฟุต และหากย้อนกลับไปอีกราว 3 ล้านปี ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศสูงกว่าทุกวันนี้มากนัก ระดับน้ำทะเลสูงกว่าปัจจุบันราว 70 ฟุต หายนะในอดีตเหล่านี้อาจหวนกลับมาหากแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ และแอนตาร์กติกาตะวันตกละลายหมด ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 35 ฟุต

ดังนั้นแล้วเพื่อพิจารณาถึงสิ่งเลวร้ายที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้น ทีมนักวิทยาศาสตร์จำต้องหันไปให้ความสนใจกับพืดน้ำแข็งตะวันออกของแอนตาร์กติกาแทน ซึ่งมีขนาดใหญ่คิดเป็นสัดส่วนน้ำแข็ง 3 ใน 4 จากทั้งหมดทั่วโลก

เรื่อง ดักลาส ฟ็อกซ์
ภาพถ่าย คามิลเล่ ซีแมน

 

อ่านเพิ่มเติม : โลกจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? ถ้าน้ำแข็งละลายหมดความงามใต้โลกน้ำแข็งวิกฤติ น้ำแข็งขั้วโลก ละลาย

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.