แม่ของฉันกำลังเย็บฝักยูคาลิปตัสประดับชุดกระโปรงที่ตัดจากผ้าเนื้อพลิ้วสีเขียวอ่อน ระหว่างพูดคุยหัวเราะร่วนกับเพื่อนๆ แม่เพิ่งอายุ 19 ปี
ตอนนั้นเป็นเดือนกุมภาพันธ์ปี 1970 ไม่กี่เดือนก่อน วันคุ้มครองโลก (Earth Day) ครั้งแรก นักศึกษาที่วิทยาลัยแซนโฮเซสเตตกำลังเตรียมจัดงาน “เซอร์ไววัลแฟร์” ซึ่งพวกเขาวางแผนจะประกอบพิธีฝังรถฟอร์ดมาเวอริกสีเหลืองใหม่เอี่ยมคันหนึ่ง รถคันนี้รวมทั้งรถที่ใช้เครื่องยนต์เผาไหม้ภายในทั้งหมดจะได้รับการประกาศว่าตายแล้ว
เพราะพวกมันสำรอกมลพิษที่มีส่วนก่อหมอกควันเลวร้ายในแซนโฮเซและเมืองอื่นๆ ทั่วโลก พอล เอเวอรี นักข่าวหนังสือพิมพ์แซนแฟรนซิสโกโครนิเคิล เขียนไว้ว่า รถมาเวอริกคันที่ว่า “ถูกเข็นผ่านย่านดาวน์ทาวน์ของแซนโฮเซในขบวนแห่ที่นำโดยศาสนาจารย์สามคน และกลุ่มนักศึกษาหญิงสวมเสื้อกาวน์คล้ายผ้าห่อศพสีเขียว”
ห้าสิบปีให้หลัง แม่ยังจำเสื้อคลุมที่ว่านั้นได้ นักศึกษาในวันนั้นห่วงใยเรื่องแหล่งนํ้าปนเปื้อน ปัญหาประชากรล้นโลก และอากาศเป็นพิษ แต่แม่เป็นคนมองโลกสวย “แม่เชื่อว่ามนุษย์จะลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาได้เมื่อจำเป็น” แม่บอก และในระดับหนึ่งเราก็ทำเช่นนั้นจริงๆ รถยนต์ในสหรัฐฯ สะอาดขึ้นถึงร้อยละ 99 เมื่อเทียบกับสมัยนั้น เพราะการบังคับใช้กฎหมายควบคุมมลพิษ
ฉันไม่ได้ความสามารถในการเย็บปักถักร้อยมาจากแม่ ในวัย 41 ปี ฉันยังเอาเสื้อผ้าไปให้แม่ซ่อมเหมือนเดิม แต่ฉันได้นิสัยมองโลกสวยมา และทุกวันนี้ พวกเรามีปัญหาท้าทายใหม่ๆให้ลุกขึ้นมาจัดการ
ฉันยังรู้สึกหนักอึ้งบ่อยครั้งกับสารพัดปัญหาอันโยงใยที่ประจัญหน้าเราอยู่ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพืชพันธุ์ในธรรมชาติและประชากรสัตว์ป่าที่ลดน้อยลง ไปจนถึงความอยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมที่แพร่ไปทั่ว ปัญหาเหล่านี้แก้ไขยากกว่าหมอกควัน
อะไรทำให้ฉันมีความหวังน่ะหรือ เรามีความรู้และเทคโนโลยีที่จำเป็นอยู่ในมือพร้อมแล้ว ไม่ว่าจะเพื่อเลี้ยงประชากรจำนวนมากขึ้น แจกจ่ายพลังงานให้ทั่วถึงทุกคน เริ่มพลิกสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือป้องกันการสูญพันธุ์ส่วนใหญ่ กระแสเรียกร้องจากสาธารณชนให้ผู้มีอำนาจลงมือแก้ปัญหากู่ก้องไปทั่วท้องถนน เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ผู้คนทั่วโลกราวหกล้านคนร่วมใจกัน “หยุดงานประท้วงปัญหาสภาพภูมิอากาศ” เช่นเดียวกับเมื่อปี 1970 การเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมหวนกลับมาอีกครั้ง ฉันเชื่อว่าเราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นแก่โลกในปี 2070 เมื่อวันคุ้มครองโลกมีอายุครบหนึ่งศตวรรษ
อนาคตดังกล่าวจะไม่เหมือนกับในปี 2020 หรือ 1970 เราไม่อาจเปลี่ยนสิ่งที่ทำไปแล้วได้ จะย้อนเวลากลับก็ไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงไม่ว่าในเชิงนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ หรือสังคม ล้วนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การเปลี่ยนแปลงบางอย่างจะส่งผลน่าเศร้า เราจะสูญเสียสิ่งที่เรารัก เช่น ชนิดพันธุ์ต่างๆ สถานที่ที่ผูกพัน และความสัมพันธ์ประดามีกับโลกนอกเหนือไปจากมนุษย์ที่คงอยู่มานับพันๆ ปี การเปลี่ยนแปลงบางอย่างจะไม่อาจทำนายได้โดยง่าย ระบบนิเวศจะปรับเปลี่ยนพลิกผัน ชนิดพันธุ์จะวิวัฒน์ตามไป
เราเองก็จะเปลี่ยนไปด้วย พวกเราจำนวนมากจะเรียนรู้ที่จะมองตัวเองต่างไปจากเดิมว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งท่ามกลางสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่ใช่อยู่ฝ่ายตรงกันข้าม ฉันทำนายว่า เราจะมองย้อนกลับมายังปลายศตวรรษที่ยี่สิบและต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านอันสับสนอลหม่านและเจ็บปวด เป็นช่วงเวลาที่มนุษยชาติเรียนรู้ที่จะเจริญงอกงามบนความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันและกับนานาชนิดพันธุ์รอบตัวเรา
ความท้าทายใหญ่หลวงที่สุดที่เราเผชิญร่วมกันอยู่คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหากปัญหานี้ดูใหญ่โตจนชวนให้ถอดใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราในฐานะปัจเจกบุคคลไม่สามารถหยุดปรากฏการณ์นี้ได้ ต่อให้เราเป็นผู้บริโภคสายเขียวตัวจริงที่เลิกเดินทางด้วยเครื่องบิน นำถุงช็อปปิ้งกลับมาใช้ใหม่ และเป็นสาวกวีแกน เราล้วนติดอยู่ในกับดักของระบบที่ทำให้การหยุดซํ้าเติมปัญหากลายเป็นเรื่องยากแสนยาก การดำรงชีวิตหมายถึงความจำเป็นต้องกินอาหาร เดินทางไปทำงาน อยู่อย่างอบอุ่นเพียงพอในฤดูหนาว และเย็นพอในฤดูร้อน เพื่อให้สามารถทำงานและหลับนอนได้ จนถึงปัจจุบัน การทำสิ่งเหล่านี้ในแทบทุกหนแห่งโดยไม่ปล่อยคาร์บอนเลยยังเป็นไปไม่ได้
แต่การเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่หลายคนจะทันรู้สึก รถยนต์เข้ามาแทนที่ม้าภายในเวลาเพียง 15 ปีในหลายพื้นที่ เราอยู่กันมาได้หลายพันปีโดยไม่มีพลาสติก แล้วจู่ๆภายในไม่กี่สิบปี รอบตัวเราก็เกลื่อนกล่นไปด้วยพลาสติก ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เราเป็นทั้งนักประดิษฐ์ผู้ชาญฉลาด และสุดยอดนักปรับตัวผู้อ้าแขนรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ขอเพียงมีเจตจำนงมุ่งมั่นร่วมกันบวกกับนโยบายที่ถูกต้องเหมาะสม เราจะสามารถสร้างพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งรูปแบบใหม่ๆขึ้นมา ผลิตสินค้าปราศจากสารก่อมลพิษหรือปล่อยคาร์บอน เป็นผลิตภัณฑ์ย่อยสลายได้ที่จะใช้ทดแทนพลาสติก
ในระดับปัจเจก จะเป็นการดีและมีประสิทธิภาพมากกว่า ถ้าเราทุ่มเทพลังงานให้กับการเรียกร้องนโยบายเหล่านี้ ซึ่งจะช่วยให้การใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีค่าใช้จ่ายถูกลง และเป็นหนทางที่ง่ายกว่า เมื่อเทียบกับการซื้อสินค้าสีเขียวและผลิตภัณฑ์ทางเลือก “เฉพาะกลุ่ม” ราคาแพงในท้องตลาดปัจจุบัน ฉันเห็นผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆที่ตระหนักในข้อเท็จจริงนี้ ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ฉันมีความหวัง เราไม่อาจแก้วิกฤติสภาพภูมิอากาศได้ด้วยการเป็น “ผู้บริโภคที่ดี” แต่เราสามารถช่วยให้อะไรหลายอย่างดีขึ้นได้อย่างแน่นอนด้วยการเป็น “พลเมืองดี”
หนึ่งในสี่ของปริมาณการปล่อยคาร์บอนมาจากการผลิตไฟฟ้าและสร้างความร้อนนับว่าโชคดีถ้าหากมีความมุ่งมั่นทางการเมืองแล้ว สิ่งเหล่านี้ยังเป็นตัวการปล่อยคาร์บอนที่จัดการได้ง่ายที่สุดด้วย “เราสามารถลดปริมาณการปล่อยให้เหลือครึ่งหนึ่งได้ภายในสิบปีครับ” เป็นคำยืนยันจากโจนาทาน โฟลีย์ ผู้อำนวยการบริหารโครงการดรอว์ดาวน์ (Project Drawdown) องค์กรไม่แสวงกำไรซึ่งประเมินความคุ้มค่าของวิธีการต่างๆที่จะใช้แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานลมและแสงอาทิตย์รุดหน้าไปไกล และมีค่าใช้จ่ายถูกลงมากพอจะนำมาใช้ในระดับกว้างขวางได้แล้ว
เกษตรกรรม การทำไม้ และการใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นปัญหาที่แก้ยากกว่า ทั้งสามอย่างนี้ปล่อยคาร์บอนรวมกันอีกหนึ่งในสี่ของปริมาณการปล่อยทั้งหมดของเรา โดยส่วนใหญ่เป็นก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่ลอยออกมาจากมูลสัตว์หรือปุ๋ยสังเคราะห์ ก๊าซมีเทนที่วัวควายเรอออกมา ตลอดจนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาเชื้อเพลิงและวัสดุทางการเกษตร เมื่อถึงปี 2070 เราอาจต้องเลี้ยงประชากรมากกว่า 10,000 ล้านคน เราจะลดผลกระทบจากการทำเกษตรที่มีต่อสภาพภูมิอากาศและที่ดินลงได้อย่างไร ขณะที่ยังสามารถผลิตอาหารได้มากพอสำหรับทุกคน
ทางออกหนึ่งคือการหยุดให้เงินอุดหนุนการผลิตเนื้อสัตว์ และส่งเสริมให้สังคมในวงกว้างหันไปบริโภคหาอาหารจากพืชมากขึ้น โดยเฉพาะเนื้อวัวซึ่งใช้ที่ดินและนํ้าเปลืองที่สุด การจะได้เนื้อวัวสักหนึ่งกิโลกรัม เราต้องใช้พืชเลี้ยงวัวตัวนั้นราวหกกิโลกรัม โชคดีที่เรื่องนี้ยังมีความหวังซึ่งมาในรูปของอาหารทางเลือกที่มีรสชาติดีเหมือนเนื้อสัตว์ แต่ทำจากพืช ฉันไม่คาดหวังว่าคนทั้งโลกจะกลายเป็นวีแกนในปี 2070 แต่คนส่วนใหญ่จะกินเนื้อน้อยลงกว่าทุกวันนี้ไปเอง
แล้วตัวฟาร์มหรือเรือกสวนไร่นาเองเล่า นักสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มจะแบ่งเป็นสองค่าย ค่ายหนึ่งบอกว่า การทำเกษตรต้องเข้มข้นขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีอย่างหุ่นยนต์ พืชดัดแปรพันธุกรรม และฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) เพื่อให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างมหาศาลโดยสร้างผลกระทบเพียงน้อยนิด ขณะที่อีกค่ายชี้ว่า ฟาร์มหรือพื้นที่เพาะปลูกต้องเป็น “ธรรมชาติ” มากขึ้น โดยปลูกพืชแบบผสมผสาน ลดการใช้สารเคมีเป็นพิษ และปล่อยพื้นที่ชายขอบของเรือกสวนไร่นาให้เป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า หลังจากรายงานเรื่องนี้มาหลายปี ฉันอดสงสัยไม่ได้ว่า เราทำทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกันไม่ได้หรือ
การปล่อยคาร์บอนส่วนที่เหลือมาจากภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง และอาคารบ้านเรือน เราจะใช้วิธีใดปรับปรุงอาคารบ้านเรือนให้ทันสมัยขึ้น ต้องหาอะไรมาใช้ทดแทนนํ้ามันและก๊าซในการสร้างความอบอุ่น (และทำความเย็น) และจะเอาตัวเขมือบนํ้ามันราว 1,500 ล้านคันออกไปจากท้องถนนอย่างไร
ทางเลือกเดียวที่เป็นไปได้คือ รัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้วยมาตรการจูงใจทางภาษีและกฎหมาย ในนอร์เวย์ ครึ่งหนึ่งของรถยนต์ที่จดทะเบียนใหม่ในปัจจุบันเป็นรถไฟฟ้า สาเหตุสำคัญเป็นเพราะรัฐบาลยกเว้นภาษีการขาย ทำให้รถไฟฟ้าทำราคาได้ถูกพอๆ กับรถใช้นํ้ามัน ซึ่งอย่างหลังจะห้ามขายภายในปี 2025
เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต่อให้เราลดการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกลงใกล้เป็นศูนย์ เราก็ยังจำเป็นต้องลงทุนกับวิธีการต่างๆ ที่จะใช้กำจัดก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยและล่องลอยอยู่ในบรรยากาศแล้ว เทคโนโลยีที่จะใช้แก้ไขปัญหานี้ดูมีความหวัง แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นเริ่มพัฒนา ยกเว้นมวลหมู่ต้นไม้ซึ่งในระยะสั้นอย่างน้อยก็เป็นตัวดูดซับคาร์บอนชั้นดี
คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากเชื้อเพลิงฟอสซิล มักไม่ใช่คนที่ได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสที่สุดจากการใช้เชื้อเพลิงดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้ากับควันพิษที่ปล่อยออกมาพบมากอย่างผิดปกติวิสัยในย่านที่อยู่อาศัยของคนจนและไม่ใช่คนผิวขาว การวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งชี้ว่า ช่องว่างของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวระหว่างประเทศยากจนที่สุดกับประเทศรํ่ารวยที่สุดกว้างถึงร้อยละ 25 อยู่แล้ว โดยที่ยังไม่มีปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วนใหญ่เป็นเพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้นในประเทศเขตร้อนทำให้ผลิตภาพการผลิตทางการเกษตรลดลง พายุที่รุนแรงขึ้น ภัยแล้ง และอุทกภัยสร้างความบอบชํ้าแก่คนยากจนที่สุดในโลกมากพออยู่แล้ว
ความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศที่แท้จริงจะทำให้โลกมีความยืดหยุ่นสูงขึ้น แม้ในยามที่โลกกำลังช่วยเยียวยามนุษยชาติจากความบอบชํ้าทางเศรษฐกิจและสังคมในประวัติศาสตร์ ในแง่หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเปิดโอกาสให้เราลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหา ให้เราได้เติบโตขึ้นในฐานะชนิดพันธุ์หนึ่ง
เรื่อง เอ็มมา มาร์ริส
อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนเมษายน 2563