91% ของพลาสติก ไม่ได้ถูกนำกลับมาใช้ใหม่

การผลิตพลาสติกเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 60 ปีก่อน จากนั้นกระบวนการผลิตก็เดินหน้าอย่างรวดเร็ว และสร้างพลาสติกเป็นปริมาณมากถึง 8.3 พันล้านเมตริกตัน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ลงเอยที่ถังขยะ ปริมาณอันมหาศาลของพลาสติกดูเหมือนเป็นเรื่องที่ยากต่อการทำความเข้าใจ และในความเป็นจริงมันเป็นเช่นนั้น แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ผู้ผลิตพลาสติกขึ้นมาเองยังต้องอึ้งกับปริมาณของพลาสติกที่ถูกผลิตได้ รวมถึงปริมาณของขยะพลาสติกที่ถูกเผาและฝังกลบ

“เราทุกคนรู้ดีถึงการผลิตอันรวดเร็วของพลาสติกตั้งแต่ทศวรรษ 1950 มาจนปัจจุบัน แต่ปริมาณของมันนั้นทำเราถึงกับอึ้งไปเลย” เจนนา แจมเบิร์ก วิศวกรด้านสิ่งแวดล้อม ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาขยะพลาสติกในมหาสมุทร จากมหาวิทยาลัยจอร์เจียกล่าว

“จำนวนพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆนี้ จะทำลายทุกระบบบนโลก ซึ่งไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือกับมัน นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงเห็นพลาสติกจำนวนมากในมหาสมุทร” เธอกล่าว

พลาสติกต้องใช้เวลานานถึง 400 ปี กว่าจะย่อยสลายได้ ดังนั้นพลาสติกส่วนใหญ่จึงยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ และมีเพียงแค่ 12% เท่านั้นที่ถูกเผาทำลายไป

การศึกษาขยะพลาสติกเริ่มต้นขึ้น 2 ปีก่อน เมื่อนักวิทยาศาสตร์พยายามหาวิธีจัดการกับพลาสติกจำนวนมากในทะเล ซึ่งกำลังเป็นอันตรายต่อปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ มีการคาดการณ์ล่วงหน้าว่า ในครึ่งศตวรรษที่จะถึงนี้ มหาสมุทรจะมีขยะพลาสติกมากกว่าจำนวนปลา คำกล่าวนี้ได้กลายเป็นวลีที่ถูกนำไปกล่าวอ้างบ่อยที่สุด และกระตุ้นให้หาวิธีการบางอย่างจัดการกับปัญหานี้

ผลการศึกษาครั้งใหม่ถูกตีพิมพ์เมื่อวันพุธที่ 19 กรกฎาคม ในวารสาร Science Advances โดยเป็นการวิเคราะห์ขยะพลาสติกทั่วโลกเป็นครั้งแรก ในจำนวนพลาสติกทั้งหมด 8.3 พันล้านเมตริกตัน 6.3 พันล้านเมตริกตันจะกลายเป็นขยะหมายความว่า มีพลาสติกเพียง 9% เท่านั้นที่จะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ และประมาณร้อยละ 79 จบชีวิตลงในหลุมฝังกลบ ส่วนจำนวนที่เหลือนั้นกำลังลอยอยู่ในทะเล

หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ในปี 2050 จะมีขยะพลาสติกมากถึง 12 พันล้านเมตริกตัน ในหลุมฝังกลบ ปริมาณมหาศาลนี้คิดเป็นน้ำหนัก 35,000 เท่าของอาคารเอ็มไพร์สเตต

โรแลนด์ เกเยอร์ นักศึกษาผู้วิจัย กล่าวว่าทีมนักวิทยาศาสตร์พยายามก่อตั้งมูลนิธิ เพื่อจัดการกับกระบวนการผลิตพลาสติก”คุณไม่สามารถจัดการกับสิ่งที่คุณไม่ทราบปริมาณได้” เขากล่าว “มันไม่ใช่แต่เราผลิตมากเท่านั้น แต่มันเกี่ยวกับที่เรายังคงผลิตต่อไป ปีต่อปีอีกด้วย”

เกเยอร์ วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยา ทำการศึกษาเกี่ยวกับวัสดุที่มนุษย์ผลิตขึ้น เขาพบว่ากระบวนการผลิตพลาสติกรวดเร็วขึ้นเป็น 2 เท่าทุกๆ 15 ปี และแซงหน้าทุกวัสดุที่มนุษย์ผลิตขึ้น และเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆอย่างเหล็กกล้า ที่ถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างมีอายุการใช้งานนานถึงหลายสิบปี ในขณะที่ครึ่งหนึ่งของพลาสติกที่ผลิตได้กลับกลายเป็นขยะ ในเวลาเพียงไม่ถึงปี

การเติบโตขึ้นของการผลิตพลาสติกนี้ เพิ่มจำนวนจากการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 40% ของพลาสติกประเภทที่ไม่มีเส้นใย

ผลการศึกษาจากทีมเดียวกัน นำโดยแจมเบิร์ก ประมาณตัวเลขว่ามีขยะพลาสติกปริมาณ 8 ล้านเมตริกตันไหลลงสู่ทะเลทุกปี นั่นเทียบเท่ากับถุงขยะจำนวน 5 ถุงต่อพื้นที่ทุกๆตารางฟุตในทะเล

“เรามาตระหนักถึงผลกระทบของพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อม ก็เมื่อมันเป็นปัญหาแล้ว” แจมเบิร์กกล่าว

การควบคุมปริมาณของขยะพลาสติกเป็นงานใหญ่ที่ต้องร่วมมือกันระดับโลก เธอกล่าว นั่นครอบคุลมถึงการทบทวนเคมีภัณฑ์พลาสติกในขั้นตอนการผลิต การออกแบบผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์ให้กระตุ้นการรีไซเคิลมากขึ้น ไปจนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคเอง

ผลการศึกษาในปี 2012 ระบุ สหรัฐมีสัดส่วนการรีไซเซเคิลพลาสติกเพียง 9% เท่านั้น เมื่อเทียบกับยุโรปมีสัดส่วนที่ 30% และจีน 25%

เรื่อง ลอร่า พาร์คเกอร์

 

อ่านเพิ่มเติม : มหาสมุทรเป็นพิษ : ชมภาพถ่ายที่ช่วยย้ำเตือนถึงสถานะน่ากังวลของทะเลและมหาสมุทรในปัจจุบันชมภาพถ่ายอันโดดเด่น เมื่อมนุษย์ริเอาชนะภาวะโลกร้อน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.