กลไกเบื้องหลัง ตั๊กแตน ระบาด

สำนักข่าวในประเทศลาวรายงานการระบาดของฝูง ตั๊กแตน เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยในเนื้อหารายงาน ความเสียของพืชผลทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก ช่วงก่อนหน้านั้น สื่อหลายแห่งรายงานข่าวการระบาดของแมลงในประเทศอินเดียเช่นกัน หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า จากอินเดียแมลงบินข้ามพรมแดนไประบาดในประเทศลาวได้อย่างไร

จากกรณีดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญพบว่า “ตั๊กแตน ที่ระบาดในประเทศลาวและอินเดียเป็นคนละชนิดพันธุ์” ศรุต สุทธิอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวและอธิบายว่า “ตั๊กแตนที่ระบาดในประเทศลาวคือตั๊กแตนไผ่ (Yellow-spined bamboo locust ชื่อวิทยาศาสตร์ Ceracris kiangsu) ส่วนที่พบระบาดในอินเดียคือ ตั๊กแตนทะเลทราย (Desert locust ชื่อวิทยาศาสตร์ Schistocerca gregaria)”

สำหรับวงจรชีวิตของของตั๊กแตนไผ่จะแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะวางไข่ใต้ผิวดินในช่วงเดือน มกราคม-เมษายน ระยะตัวอ่อน (46 – 69 วัน) ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ระยะตัวเต็มวัย (40 วัน) ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน และระยะไข่ในช่วงเดือน ตุลาคม – ธันวาคม ซึ่งมีรายงานพบว่า ตั๊กแตนชนิดนี้วางไข่บริเวณใต้ผิวดินจำนวนมาก โดยไข่จะฟักในบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึง อุณหภูมิสูงกว่า 32 องศาเซลเซียส ตัวเต็มวัยของตั๊กแตนไผ่มักอาศัยอยู่ในพื้นที่อากาศค่อนข้างเย็น ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยมีการแพร่กระจายเป็นกลุ่ม ตัวอ่อนในระยะสุดท้ายเริ่มมีการอพยพเคลื่อนย้ายเป็นกลุ่มใหญ่

ตั๊กแตนไผ่สามารถสร้างความเสียหายให้แก่พืชกลุ่มไผ่ และผลผลิตทางการเกษตร อาทิ พืชตระกูลหญ้า ข้าว และข้าวโพดและยังพบว่าสามารถเข้าทำลายพืชตระกูลปาล์ม และพืชล้มลุกบางชนิดโดยระยะตัวเต็มวัยเป็นระยะที่สร้างความเสียหายได้กว้างขวางและรุนแรงที่สุด

ตั๊กแตนไผ่ ภาพถ่าย ศรุต สุทธิอารมณ์

การแพร่ระบาดพบครั้งแรกในปี 1929 ที่มณฑลเสฉวน หูเป่ย เกียงสู หูหนาน เกียงสี ฝูเจียน และกวางตุ้ง ประเทศจีน ต่อมาพบการระบาดรุนแรงในปี 1935-1946 สำหรับในประเทศไทยพบตั๊กแตนไผ่เมื่อปี 1969 ที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดสุพรรณบุรี แต่ไม่มีรายงานการระบาดในประเทศไทย ปี 2016 พบการระบาดที่แขวงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งห่างจากไทยประมาณ 114 กิโลเมตร พบแพร่กระจายอย่างกว้างขวางบริเวณพื้นที่ป่าไผ่ทางตอนใต้ของประเทศจีนด้านตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลเจียงซี บริเวณทางลาดเชิงเขามีความสูงจากระดับน้ำทะเล 300 – 400 เมตร บางครั้งพบในพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 780 เมตร

ในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา ตั๊กแตนไผ่ได้ทำความเสียหายให้กับข้าวและข้าวโพด ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่พบการระบาดและทำความเสียหายให้กับผลผลิตทางการเกษตรในประเทศไทย แต่เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาด จึงขอให้เกษตรกรในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน และจังหวัดเลย ควรมีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การระบาดของตั๊กแตนไผ่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างต่อเนื่อง โดยหมั่นสำรวจแปลงปลูกข้าวและแปลงปลูกข้าวโพดอย่างสม่ำเสมอหากพบตั๊กแตนไผ่ในพื้นที่ทำการเกษตร ให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดเพื่อทำการควบคุมและดำเนินการป้องกันกำจัดทันที

สำหรับตั๊กแตนทะเลทรายที่เริ่มต้นระบาดในแอฟริกาตะวันออกช่วงต้นปี 2020 และระบาดมาถึงอินเดียเมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา จัดอยู่ในกลุ่มตั๊กแตนหนวดสั้น ลองนึกภาพฝูงแมลงบินได้ 70,000 ล้านตัว บินว่อนปกคลุมพื้นที่ 1,200 ตารางกิโลเมตร หรือขนาดราว 1.5 เท่าของนิวยอร์กซิตี และกัดกินพืชผลกว่า 135 ล้านกิโลกรัมภายในวันเดียว นั่นคือความใหญ่ของแมลงฝูงหนึ่งที่จะรวมตัวกันได้ ฝูงตั๊กแตนระบาดซึ่งเกิดจากตั๊กแตนหลายฝูงมารวมตัวกัน มีการอ้างอิงในพระคริสตธรรมคัมภีร์และคัมภีร์อัลกุรอาน ในหมู่ตั๊กแตนหลายพันชนิด มีเพียง 22 ชนิดที่ได้รับการระบุว่าเป็นตั๊กแตนหนวดสั้น พวกมันถูกจำแนกโดยความสามารถในการเปลี่ยนจากสถานะอยู่เพียงตัวเดียวไปเป็นสถานะ “อยู่รวมกันเป็นฝูง” เมื่อปี 2004 ชาวมาลีราวหนึ่งล้านคนเผชิญกับทุพภิกขภัย หลังตั๊กแตนหนวดสั้นรุมกินธัญพืชของประเทศถึงร้อยละ 90 การเปลี่ยนพฤติกรรมและลักษณะเฉพาะทางกายภาพของตั๊กแตนหนวดสั้น อาจทำให้พวกมันกลับไปอยู่เพียงตัวเดียวในที่สุด หรือพวกมันอาจทนทาน และส่งผ่านพฤติกรรมและลักษณะเฉพาะนั้นไปสู่ลูกหลาน

ตั๊กแตนทะเลทรายซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจมากที่สุด คุกคามพื้นที่หนึ่งในห้าของโลกและประชากรหนึ่งในสิบของโลก กว่า 60 ประเทศ ประเทศมีแนวโน้มจะถูกฝูงตั๊กแตนสร้างความเสียหาย ตั๊กแตนหนวดสั้นในระยะอยู่เพียงตัวเดียวอาศัยและวางไข่ในบริเวณที่เล็กกว่า การระบาดครั้งใหญ่ล่าสุด จากปี 1986 ถึง 1989 โจมตีอเมริกาเหนือและตะวันออกกลาง ฝูงตั๊กแตนจำนวนมากตายขณะข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก และบางส่วนไปถึงทะเลแคริบเบียน

1
การรวมกันโดยไม่ได้ตั้งใจ
ตั๊กแตนหนวดสั้นที่ออกหาอาหารอยู่เสมอถูกบีบให้รวมตัวกันในช่วงที่อากาศแห้งแล้ง เมื่อพืชพรรณแห้งตายและทิ้งบริเวณที่เขียวชอุ่มไว้เพียงน้อยนิดในทะเลทราย

2
การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน
ภายในไม่กี่ชั่วโมงของการรวมฝูง การเพิ่มขึ้นของสารเซโรโทนินในระบบประสาทส่วนกลาง (CNS) กระตุ้นการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม เช่น การเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว การอยู่รวมกันเป็นฝูง การทำความสะอาดตัวเองเพิ่มขึ้น และความอยากอาหารที่หลากหลายมากขึ้น

การหลั่งสารเซโรโทนินเกิดขึ้นจากการกระตุ้นของขนบนขา รวมทั้งการมองเห็นและการได้กลิ่นตั๊กแตนตัวอื่นๆ

3
การวางไข่และกินอาหารอย่างบ้าคลั่ง
ฝนที่กลับมาตกทำให้แหล่งวางไข่ชุ่มชื้น ตั๊กแตนนุ่นใหม่ๆ รวมตัวกันเป็นกลุ่มออกหาอาหารพร้อมกัน เมื่อปีกเจริญออกมา พวกมันกลายเป็นฝูงแมลงบินได้ที่ออกหาอาหารและถิ่นอาศัยมากขึ้น

กระตุ้นสมอง
การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระยะอยู่รวมกันเป็นฝูงทำให้สมอง โดยเฉพาะสมองส่วนกลาง มีขนาดใหญ่ขึ้น บางทีอาจเพื่อประมวลผลข้อมูลที่ซับซ้อนขึ้น

4
หายนะติดปีก
ถึงแม้จะพบได้น้อย การระบาดครั้งใหญ่เริ่มขึ้นเมื่อฝูงตั๊กแตนพัฒนาขึ้นเหนือภูมิภาคหลายแห่ง หากไม่มีการแทรกแซง การระบาดอาจกินเวลาหลายปี จนกว่าการตายจากปรากฏการณ์ธรรมชาติจะเกิดขึ้น


ข้อมูลอ้างอิง
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
คอลัมน์ สำรวจโลก: ถอดรหัส เผยแพร่ในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2020

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.