เที่ยวน่าน ตามรอยความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูผืนป่า

การเดินทางมา เที่ยวน่าน ครั้งนี้ ได้เผยให้ฉันเห็นความการทำงานร่วมมือกันอย่างบูรณาการ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีต่อทุกฝ่าย ในเรื่องการฟื้นฟูพื้นที่ป่า

เวลาหัวค่ำนอกหน้าต่างคอนโดมิเนียมกลางเมืองหลวง ฉันเห็นแสงไฟวับวาม และรถราเคลื่อนสลับไปมาไม่หยุดหย่อน ภาพชินตาเช่นนี้สร้างความรู้สึกชินชาให้เกิดขึ้นในจิตใจ กระหน่ำซ้ำด้วยการประกาศล็อกดาวน์ในช่วงการระบาดใหญ่ของโรคร้ายที่ผ่านมา แผนการเดินทางเพื่อประโลมจิตใจของฉันในปีนี้ จึงเป็นอันต้องพับเก็บไปทั้งหมด

ใจที่กระหายการเดินทาง และนิสัยไม่อยู่ติดกับที่ของฉัน เฝ้ารอการได้ออกไปเดินย่ำบนผืนดินอีกครั้ง ในใจตอนนี้คิดว่า ขอเป็นที่ไหนก็ได้ให้ฉันได้หายไปจากเมืองนี้สักสองถึงสามวัน ก่อนจะกลับมาเผชิญเรื่องราวบทเดิมในชีวิตการทำงานอีกครั้ง แล้วเหมือนใครสักคนได้ยินเสียงเรียกร้องของใจที่หิวกระหาย ในที่สุดฉันก็ได้รับการติดต่อให้เดินทางไปจังหวัดน่าน เพื่อเยี่ยมชมความร่วมมือกันฟื้นฟูผืนป่าที่ถูกทำลายให้กลับมาเขียวชอุ่มอีกครั้ง

เมื่อวันเดินทางมาถึง ฉันจดจ่อที่จะได้เห็นบรรยากาศของสนามบินหลังผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์  ในสนามบินนานาชาติดอนเมือง มีขั้นตอนการรักษาความปลอดภัยตามมาตรการเฝ้าระวังโรคติดต่ออย่างเข้มงวดทุกขั้นตอน แต่ก็ใช้เวลาเพียงน้อยนิดสำหรับการผ่านจุดคัดกรองต่าง ๆ ฉันมาถึงสนามบินน่านนครในเวลาเพียงชั่วโมงเศษ และนัดหมายกับเพื่อนร่วมทางขาประจำไว้ที่นั่น เขานำรถยนต์มารอรับฉันที่สนามบิน และเรากำลังจะเดินทางไปยังตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลของเรา ระหว่างทางเราแล่นผ่านแมกไม้ที่ขึ้นอยู่สองข้างทางในบรรยากาศเเบบชนบท ได้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่กันอย่างเรียบง่าย เรือกสวนต่าง ๆ ทั้งลำไย มะม่วง และไร่ข้าวโพด ปรากฏสลับกันไปตลอดทาง

สำรวย ผัดผล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองจัง อธิบายหลักการบ่อพวง ที่เป็นหารแก้ปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำบนที่สูง

บ้านเมืองจังอยู่ห่างจากอำเภอเมืองฯ จังหวัดน่าน ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงโดยรถยนต์ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ชาวบ้านจึงต้องอาศัยอยู่ตามพื้นที่หุบเขา “เราเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกป่าครับ” สำรวย ผัดผล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองจัง กล่าวกับพวกเราเมื่อเดินทางไปถึง ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านเกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน ส่วนหนึ่งที่ฉันสอบถามจากชาวบ้านพบว่า แต่ละฝ่ายต่างมีข้อมูลที่ดินของตนเอง ซึ่งไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้

จากข้อมูลที่ฉันเห็นบนกระดานขนาดใหญ่ในอาคารสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองจัง พบว่าพื้นที่ทำกินของเกษตรกรไม่เพียงพอต่อความต้องการของจำนวนประชากร จึงเป็นภาพที่เราเห็นการแผ้วถางป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจอย่าง ข้าวโพด จนกลายเป็นกระแสอย่างที่เคยปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ และเป็นที่วิพากษ์กันเป็นวงกว้าง จากการบอกเล่าของสำรวยพบว่า ชาวบ้านถือครองที่ดินตรงนี้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ และทำการเกษตรมาโดยตลอด  ขณะที่กฎหมายเกี่ยวกับที่ดินเพิ่งเกิดขึ้นภายหลัง จึงเป็นผลให้ชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุก

เรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้ ดูเหมือนจะไม่จบลงโดยง่าย การเข้ามาทำงานของกลุ่มองค์การต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจึงเกิดขึ้น พบว่าความขัดแย้งของชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐนั้น เกิดจากการขาดคนกลางที่จะเข้ามาช่วยกำหนดมาตรฐาน ขาดแคลนเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ขาดการบูรณาการการทำงานข้อมูลพื้นฐานเชิงลึกและรอบด้าน ขาดองค์ความรู้ที่จะนำไปใช้ต่อยอด ขาดผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิสารสนเทศ และขาดข้อมูลภาพถ่าย

หนึ่งในหน่วยงานแรก ๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมทำงานกับชาวบ้านคือ ธนาคารกสิกรไทย ในนามมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ก่อตั้ง “โครงการน่านแซนด์บ๊อกซ์” เพื่อเป็นคนกลางสื่อสารระหว่างภาครัฐกับชาวบ้าน ในส่วนของข้อมูลทางภูมิสารสนเทศและเทคโนโลยีการสำรวจ ได้ความร่วมมือจากสํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จึงเกิดเป็นการทำงานแบบจตุภาคี ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคชุมชน และภาคสถาบัน (GISTDA) เพื่อสนับสนุนการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมและภูมิสารสนเทศ ในฐานะเครื่องมือทรงประสิทธิภาพในการอนุรักษ์ บริหารจัดการ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้อย่างบูรณาการและยั่งยืน

ตัวอย่างภาพถ่ายดาวเทียมแสดงการนำข้อมูลเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ที่นำไปเป็นข้อมูลกระกอบการออกเอกสารสิทธิ์ให้แก่เกษตรกร 

“การทำงานกับชาวบ้าน เริ่มต้นจากกระบวนการสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นค่ะ” อรพรรณ เฉลิมศิลป์ นักภูมิสารสนเทศจาก GISTDA กล่าวและเสริมว่า “เมื่อชาวบ้านเชื่อมั่นในกระบวนการของเรา ต่อจากนี้ก็เป็นเรื่องง่ายขึ้นค่ะ” ภาพในหน้าจอแล็บท็อปที่อยู่ในมือของอรพรรณ คือภาพถ่ายดาวเทียมแสดงอาณาเขตของพื้นที่ที่ชาวบ้านถือครอง เกิดขึ้นจากการชี้พิกัดของชาวบ้าน และการระบุพิกัดตามหลักเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ซึ่งเป็นข้อมูลปรับปรุงล่าสุดในเวลานี้

“ภาพถ่ายดาวเทียมไม่เคยโกหกครับ” หนึ่งในชาวบ้านที่มาต้อนรับเรากล่าว “ผมสามารถเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นว่าที่ดินของตัวเองอยู่ตรงไหน มีขอบเขตเป็นอย่างไร โดยดูจากภาพถ่ายดาวเทียม” ข้อมูลเหล่านี้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย เพราะมีความทันสมัย แม่นยำ และตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด 

ด้านขวาในภาพคือป่าบางส่วนที่ได้คืนมาจากการการบริหารจัดการที่ดินทำกินของชาวบ้าน

ก่อนชาวบ้านจะระบุพิกัดที่ดินของตัวเองได้ เจ้าหน้าที่จาก GISTDA ได้ลงพื้นที่ให้ความรู้ อบรม และแนะนำการใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมกับชาวบ้าน จนชาวบ้านสามารถมั่นใจได้ว่า ข้อมูลที่มีอยู่ในมือสามารถนำไปยืนยันกับหน่วยรัฐได้ “เราเข้ามาอยู่กับชาวบ้านตั้งแต่เริ่มต้นค่ะ เพื่อให้เขามั่นใจว่า เราอยากช่วยแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง และไม่ถูกลอยแพเหมือนที่ผ่านมา” เจ้าหน้าที่จาก GISTDA บอก

ข้อมูลทั้งหมดที่สำรวจได้ถูกส่งไปยังโครงการน่านแซนด์บ็อกซ์ เพื่อนำไปส่งต่อให้กับหน่วยงานจากรัฐบาลทั้งกรมป่าไม้ และคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อออกเอกสารสิทธิ์การใช้ประโยชน์ในที่ดินป่าสงวน “ในท้ายที่สุด หากเรามีเอกสารในส่วนนี้ เราก็มั่นใจในระดับหนึ่งว่า เราไม่ได้ทำผิดกฏหมาย ไม่มีชาวบ้านคนไหนอยากทำผิดกฎหมายหรอกครับ” สำรวยกล่าว

พื้นที่ระหว่างหุบเขาชาวบ้านเลือกที่ทำแปลงนาเพื่อปลูกข้าว และปลูกไม้เศรษฐกิจแซมตามไหล่เขา เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน

ผลจากความแม่นยำและมีประสิทธิภาพของข้อมูล ทำให้ความขัดแย้งที่เคยมีเบาบางลง และเกิดการสื่อสารมากขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน นำไปสู่กระบวนการฟื้นฟูพื้นที่ป่าอย่างเป็นรูปธรรม ชาวบ้านยินยอมที่จะไม่บุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติม และปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นการปลูกไม้ยืนต้นที่ให้ผล เช่น มะม่วง และลำไย โดยทางผู้นำชุมชนมีส่วนในการช่วยหานวัตกรรมเรื่องแหล่งน้ำ และตลาดรองรับผลผลิต ซึ่งเป็นหนึ่งกลไลที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืน

ความไม่เข้าใจกันระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐแปรเปลี่ยนเป็นความร่วมมือได้อย่างลงตัว สืบเนื่องมาจากทุกคนยอมรับในแนวทางปฏิบัติเดียวกัน ใช้ข้อมูลชุดเดียวกัน และได้ร่วมรับฟังกันอย่างจริงจัง แม้ความสำเร็จนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปที่ดินอย่างยั่งยืน แต่ก็เริ่มเป็นประจักษ์พยานให้ชุมชนอื่น ๆ เริ่มเห็นเป็นแบบอย่างของการทำงานกันอย่างบูรณาการ เพราะชาวบ้านไม่สามารถแก้ปัญหาเพียงลำพังได้  ขณะที่หน่วยงานรัฐก็เช่นกัน ทุกฝ่ายต่างต้องมาคุยกันเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน และจะเข้าใจกันได้ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงเดียวกัน

“พื้นที่ตรงนั้นเคยเป็นไร่ข้าวโพดมาก่อนครับ” สำรวยชี้ไปทางฟากหนึ่งของแปลงมะม่วง “แต่ตอนนี้เราปลูกไม้ผล ผสมกับไม้เศรษฐกิจมาได้ประมาณสี่ปีแล้ว” นี่เป็นหนึ่งในแนวทางที่ชาวบ้านแก้ปัญหาเขาหัวโล้น บทบาทของผู้นำชุมชนคือ การจัดหาแหล่งน้ำบนเขา เพื่อให้สามารถปลูกพืชชนิดอื่นแทนข้าวโพด ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น ๆ ในการแก้ปัญหานี้ ฉันเดินอยู่บนไหล่เขาสูงจากน้ำทะเลประมาณ 357 เมตร และพบว่าชาวบ้านได้นำหลักการบ่อพวง ซึ่งเป็นทฤษฎีที่เกิดจากในหลวงรัชกาลที่ 9 กลายเป็นแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตร ช่วยให้มั่นใจได้ว่าหากเกิดปัญหาภัยเเล้ง ชาวบ้านจะไม่ขาดเเคลนน้ำใช้เเน่นอน

พระอาทิตย์อัสดงสะท้อนเงาต้นไม้ริมแน่น้ำน่าน ฉันนั่งอยู่ตรงนั้นดูวิถียามเย็นของผู้คน และนึกย้อนกลับไปถึงเรื่องราวที่ฉันพบเจอมาตลอดวัน ฉันเห็นพื้นที่ป่าเริ่มกลับมาบางส่วน แม้จะยังไม่ถึงเป้าหมายตามที่โครงการน่านแซนด์บ็อกซ์ตั้งไว้ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่มีการ “หยุด” ทำลายพื้นที่ป่า และกำลังขยายผลไปยังทุกพื้นที่ในจังหวัดน่าน และที่นี่เป็นจังหวัดแรกในประเทศไทยที่มีเป้าหมายร่วมกันว่า จะร่วมกันแก้ปัญหานี้ให้ได้ทั้งจังหวัด

ลำน้ำน่านไหลผ่านหน้าฉันไปถึงปลายน้ำ พลางให้ฉันนึกถึงชีวิตที่ต้องไปพบเจอในเมืองหลวง แล้วฉันก็ตระหนักว่า แม้ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดน่านจะฟื้นคืนผืนป่ามากขึ้นเพียงใด แต่ถ้าคนเมืองอย่างฉันไม่รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตัวเอง มันก็คงไม่ได้ช่วยให้ภาพรวมของสิ่งแวดล้อมระดับประเทศดีขึ้น ต้นแบบการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายในจังหวัดน่าน จึงเป็นหนึ่งแนวคิดที่แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า ถ้าเราสนใจร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เราก็จะพบทางออกร่วมกัน

ขอขอบคุณ สํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : จิสด้าผุด AstroLab สร้างงานวิจัยและนวัตกรรมอวกาศแบบครบวงจร

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.