ผู้คนกล่าวกันว่า เมื่อใดที่เราได้ซึมซับอาร์กติกเข้าไปแล้ว ดินแดน ขั้วโลก แห่งนี้จะเรียกหาเราตลอดไป
ฉันใช้เวลาในวัยเด็กวิ่งเล่นไปทั่วทุ่งทุนดรา และชื่นชมแสงเหนือขณะเดินไปโรงเรียนในช่วงรัตติกาลขั้วโลก (polar night) ชื่อเสนาะหูที่ใช้เรียกช่วงเวลาสองเดือนแห่งความมืดมิด ซึ่งหาได้เป็นเพียงฤดูหนาวของที่นี่ หากยังเป็นสภาวะหนึ่งของจิตใจด้วย
หลายปีก่อน ฉันทิ้งบ้านเกิดที่ติคซี เมืองท่าห่างไกลบนชายฝั่งทะเลแลปทิฟของรัสเซีย เพื่อไปใช้ชีวิตตามเมืองใหญ่และประเทศต่างๆ แต่ภูมิภาคอาร์กติกพรํ่าเพรียกให้ฉันหวนกลับไปโดยตลอด ฉันโหยหาความเดียวดายกับจังหวะชีวิตที่เนิบช้าในภูมิทัศน์ทางตอนเหนือซึ่งปกคลุมด้วยนํ้าแข็งแห่งนี้จินตนาการของฉันโบยบินดังสายลมที่ไร้อุปสรรคขวางกั้น ฉันเป็นตัวเองอย่างแท้จริงเฉพาะเมื่ออยู่ที่นี่
ผู้คนที่ฉันบันทึกภาพก็ไม่ต่างไปมากนัก บางครั้งฉันคิดว่า เรื่องราวของพวกเขาเป็นเหมือนบทตอนในหนังสือ แต่ละบทเผยถึงความฝันแตกต่างกัน แต่ทุกบทเชื่อมโยงกับความรักต่อแผ่นดินนี้ด้วย แต่ละความฝันมีสีสันและบรรยากาศเฉพาะตัว แต่ละคนต่างมีเหตุผลที่จะอยู่ที่นี่
ความฝันแรกเป็นของเวียเชสลาฟ โครอตกี ผู้รั้งตําแหน่งหัวหน้าอันยาวนานของสถานีอุตุนิยมวิทยาโคโดวารีคาบนคาบสมุทรตัดขาดจากโลกในทะเลแบเร็นตส์ ซึ่งเป็นสันดอนจะงอยแคบยาวกันดารที่โครอตกีบอกว่าให้ความรู้สึกเหมือนเป็นเรือ เขาเป็นคนที่เรียกกันว่า โปลีอาร์นิค หรือผู้เชี่ยวชาญด้านขั้วโลกเหนือ และทุ่มเททั้งชีวิตให้กับการทํางานในภูมิภาคอาร์กติก ปัจจุบันเขายังคงช่วยรายงานสภาพอากาศอยู่
ด้านนอกสถานี ฉันได้ยินเสียงนํ้าแข็งกําลังเคลื่อนขยับบดเสียดกัน ลมพัดโบกสายวิทยุส่งเสียงหวีดหวิว ภายในสถานีกลับเงียบสงัด มีเพียงเสียงฝีเท้าของโครอตกีกับเสียงประตูดังเอี๊ยดอ๊าดบ่งบอกการเคลื่อนผ่านของกาลเวลา
เขาจะออกจากสถานีทุก ๆ สามชั่วโมง แล้วกลับเข้ามาพร้อมกับพึมพําข้อมูลสภาพอากาศกับตัวเอง “ลมหรดีเฉียงใต้ความเร็ว 12 เมตรต่อวินาที ลมกระโชกความเร็วสูงสุด 18 เมตร ทวีกําลังแรงขึ้น ความกดอากาศลดลง พายุหิมะกําลังก่อตัว” จากนั้นเขาจะรายงานผ่านเครื่องส่งวิทยุโบราณเสียงแตกพร่าไปยังบุคคลผู้หนึ่งที่เขาไม่เคยพบเจอ
วันหนึ่งฉันรู้สึกเศร้า รัตติกาลขั้วโลกทําให้ความคิดของฉันพลุ่งพล่านสับสน ฉันมาหาโครอตกีพร้อมชาถ้วยหนึ่งและถามเขาว่า เขาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่คนเดียวทุกวันเหมือนเดิมแบบนี้ได้อย่างไร เขาบอกฉันว่า “คุณคาดหวังมากเกินไป ซึ่งคงเป็นเรื่องปกตินะผมว่า”
“แต่ทุกวันที่นี่ไม่เหมือนเดิมนะครับ คิดดูสิ วันนี้คุณได้เห็นแสงเหนือสว่างไสว แล้วก็ได้เห็นปรากฏการณ์ที่พบได้ยากมากของชั้นนํ้าแข็งผืนบางปกคลุมทะเล ไม่น่าดีใจหรอกหรือที่ได้เห็นดวงดาวในคํ่าคืนนี้ หลังจากหลบซ่อนไม่ให้เราเห็นอยู่หลังเมฆมากว่าหนึ่งสัปดาห์”
ฉันรู้สึกผิดที่จ้องมองเข้าสู่โลกภายในตัวเองมากเกินไป จนลืมสังเกตโลกภายนอก นับแต่นั้นฉันก็พินิจทุกสิ่งอย่างละเอียด
ฉันอาศัยอยู่กับคู่รักหนุ่มสาวชื่อ เอฟเกเนีย คอสตีโควา และอีวาน ซิฟคอฟ เป็นเวลาหนึ่งเดือน พวกเขาทํางานเก็บข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาอยู่ในดินแดนสุดขอบโลกนํ้าแข็งอีกแห่งหนึ่งของรัสเซีย คอสตีโควาขอให้ซิฟคอฟมาอยู่กับเธอทางเหนือ
หลังจากใช้ชีวิตปีแรกด้วยกันในเมืองแห่งหนึ่งของไซบีเรีย ทั้งสองติดตามสภาพอากาศ ผ่าฟืน ทำอาหาร เฝ้าประภาคาร และคอยดูแลกันและกัน หากต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ ทั้งสองมีเพียงเฮลิคอปเตอร์ที่อยู่ห่างไกลออกไปเป็นที่พึ่ง
การอยู่อย่างโดดเดี่ยวอาจเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทําให้ชาวชุคชี 300 คนในหมู่บ้านเอนูร์มีโนยังรักษาขนบประเพณีของตนไว้ได้ พวกเขาอาศัยหากินจากผืนดินและท้องทะเลเฉกเช่นที่บรรพบุรุษทํากันมา ปฏิบัติตามความเชื่อปรัมปราและตํานานที่สืบทอดกันมาหลายชั่วคน
การเป็นพรานถือเป็นเรื่องมีเกียรติ และชาวบ้านก็เคารพในโควตาการจับทั้งที่กําหนดโดยรัฐบาลกลางและนานาชาติ ขณะออกล่าวอลรัสและวาฬเพื่อหล่อเลี้ยงชุมชนให้อยู่รอดตลอดฤดูหนาวอันยาวนาน ไม่ไกลจากหมู่บ้านเอนูร์มีโน ฉันอาศัยอยู่ในกระท่อม
ไม้หลังหนึ่งเป็นเวลาสองสัปดาห์กับนักวิทยาศาสตร์ผู้หนึ่งที่กําลังศึกษาวอลรัส ระหว่างนั้นเราออกจากกระท่อมไปไหนไม่ได้อยู่สามวันเต็มๆ และต้องคอยระวังที่จะไม่ก่อให้เกิดความแตกตื่นขึ้นมาในฝูงวอลรัสราว 100,000 ตัว ซึ่งขึ้นจากนํ้ามาอยู่รอบกระท่อมเราเต็มไปหมด การเคลื่อนไหวและการต่อสู้กันของพวกมันทําให้กระท่อมถึงกับสั่นไหว
ความฝันถึงความเกรียงไกรของโซเวียตถูกกลบอยู่ใต้เกล็ดนํ้าแข็งในดิคซอน เมืองท่าแห่งหนึ่งบนชายฝั่งทะเลคารา ในยุครุ่งเรืองแห่งทศวรรษ 1980 เมืองนี้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งภูมิภาคอาร์กติกของรัสเซีย ทว่านับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเป็นต้นมา ดิคซอนแทบจะกลายเป็นเมืองร้าง
ในช่วงสัปดาห์แรกๆ ฉันผิดหวังกับภาพถ่ายที่บันทึกท่ามกลางความมืดมิดไร้ที่สิ้นสุดของดิคซอน แต่แล้วจู่ๆ แสงเหนือก็เจิดจรัสบนท้องฟ้า ทาบทาทุกสรรพสิ่งให้เป็นโทนสีนีออนอยู่หลายชั่วโมง เมื่อแสงเหนือจางหายไป เมืองดิคซอนก็ค่อย ๆ กลืนหายไปในความมืดอีกครั้ง จนกระทั่งมองไม่เห็นในท้ายที่สุด
เรื่องและภาพถ่าย เอฟเกเนีย อาร์บูกาเอวา
สามารถติดตามเรื่องราวฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนธันวาคม 2563
สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2