เทรนด์วัสดุทดแทนจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กที่ขับเคลื่อนโลกสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

จากเทรนด์วัสดุทดแทน สู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หนทางในการขับเคลื่อนโลกรูปแบบใหม่ที่มนุษยชาติกำลังมุ่งไป

ปี 2020 โลกเผชิญภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุด

ตั้งแต่การตรวจพบคลื่นความร้อนในทวีปแอนตาร์กติกาพื้นที่ที่ควรจะหนาวเย็นที่สุดในโลก รวมถึงการถล่มลงของธารน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในกรีนแลนด์ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อระดับน้ำทะเลที่เพิ่มระดับสูงขึ้นทั่วโลก

การเพิ่มขึ้นของกองทัพตั๊กแตนที่บุกทำลายพื้นที่เกษตรกรรมในทวีปแอฟริกาตะวันออกและเอเชีย ซึ่งการระบาดครั้งใหญ่ของฝูงตั๊กแตนนี้ ได้นำพามาซึ่งวิกฤตการขาดแคลนอาหารครั้งสำคัญ

การมาถึงของพายุไซโคลนที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายปีของอินเดียและบังคลาเทศ ซึ่งมีความเร็วลมสูงถึง 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พัดถล่มสร้างความเสียหายให้แก่บ้านเรือนและผู้คนจำนวนมาก

มาจนถึงไฟป่าในออสเตรเลียที่เผาผลาญผืนป่าไปกว่า 30 ล้านไร่ และไฟป่าในสหรัฐอเมริกาที่ลุกลามกินพื้นที่ไปกว่า 5 ล้านไร่ สัตว์ป่าหลายล้านตัวต้องสังเวยชีวิตไปในเหตุการณ์ครั้งนี้ พร้อม ๆ กับปัญหาเขม่าควันที่ปกคลุมท้องฟ้าจนเป็นม่านหมอกทึบ

ไฟป่าในออสเตรเลีย ครอบคลุมพื้นที่หลายล้านไร่และมีสัตว์ป่าล้มตายไปนับล้านตัว ภาพถ่ายโดย Marcus Kauffman

และล่าสุดกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ใน 11 จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ได้รับผลกระทบหลายแสนคน ซึ่งนับเป็นอุทกภัยที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายปี

ทั้งหมดนี้คือตัวบ่งชี้ว่าโลกของเรามีสุขภาพที่แย่ลงจากการเสียสมดุลของสภาพแวดล้อม ภัยพิบัติที่เล่าไปข้างต้น เกิดขึ้นจากการสะสมต้นตอปัญหามาตลอดหลายศตวรรษ นับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทุก ๆ ปีเราใช้ทรัพยากรบนโลกมากเกินกว่าที่ธรรมชาติจะสร้างทดแทนขึ้นมาใหม่ได้ทัน ไม่ว่าจะเป็นการทำประมงเกินขนาด รวมถึงเปลี่ยนป่าทั่วโลกให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสาเหตุของการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากกว่าที่ระบบนิเวศจะดูดซับไหว

ดังนั้นในการขับเคลื่อนโลกไปข้างหน้า เราจะใช้วิธีการแบบเดิม ๆ ที่เป็นมาไม่ได้อีกต่อไป โดยเฉพาะเศรษฐกิจรูปแบบเดิมที่หัวใจหลักมุ่งเน้นไปที่การใช้ทรัพยากรเพื่อผลิตสินค้า แล้วจบลงด้วยการสร้างขยะมหาศาล เห็นได้จากในแต่ละวัน เรามีขยะมูลฝอยมากกว่า 3.5 ล้านตัน ที่ทิ้งลงไปในหลุมขยะทั่วโลก

เพื่อไม่ให้โลกต้องเผชิญกับสภาวะที่รอวันย่ำแย่ลงไปเรื่อย ๆ แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงน่าจะเป็นหนทางในการขับเคลื่อนโลกรูปแบบใหม่ที่พวกเรากำลังมุ่งไป

ในอนาคต การพัฒนาเศรษฐกิจต้องเติบโตควบคู่ไปกับการดำรงอยู่ของธรรมชาติและระบบนิเวศ ภาพถ่ายโดย JING GUO

เศรษฐกิจหมุนเวียนคืออะไร

องค์การสหประชาชาติระบุว่า ด้วยความเร็วของการเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติ และการปล่อยขยะมลพิษของระบบอุตสาหกรรมในปัจจุบัน มนุษยชาติเหลือเวลาอีกเพียงทศวรรษเดียวเท่านั้นในแก้ไขปัญหานี้ หากเรายังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการบริโภค ยังไม่เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจและการผลิต เราจะไม่สามารถอาศัยอยู่บนพื้นผิวโลกได้ในอนาคต  ท่ามกลางอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้น กับปัญหาความแห้งแล้งที่เป็นภัยต่อการดำรงชีวิต สภาพอากาศที่ไม่สามารถคาดเดาได้ และผันผวนมากขึ้นด้วยพายุรูปแบบต่าง ๆ

แนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียนคือการลดขยะและมลพิษ ด้วยการนำวัสดุและผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเปลี่ยนมุมมองต่อสิ่งที่เคยถูกเรียกว่า “ขยะ” ว่าจริง ๆ แล้วสิ่งของที่ใช้แล้วนั้น ไม่จำเป็นต้องถูกทิ้ง และจบชีวิตลงที่หลุมขยะเสมอไป

ปัจจุบัน ขยะมูลฝอยหลายล้านตันเล็ดลอดลงสู่แหล่งน้ำและไหลไปยังมหาสมุทร และยังไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม ภาพถ่ายโดย Alexander Schimmeck

มูลนิธิ Ellen MacArthur แห่งสหราชอาณาจักร องค์กรแนวหน้าที่เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันคนรุ่นใหม่ให้ร่วมกันคิด ดีไซน์ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ผ่านกรอบรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาตลอดทศวรรษของการก่อตั้ง ระบุถึงหลักสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน คือการออกแบบของเสียและมลพิษ โดยเก็บวัสดุและผลิตภัณฑ์ไว้ใช้เรื่อย ๆ เพื่อฟื้นฟูระบบธรรมชาติ

ดังนั้นแทนที่จะทิ้งขว้าง เราต้องหาวิธีเพิ่มมูลค่าให้ขยะด้วยการใช้ซ้ำ (Reuse) ผลิตซ้ำ (Remanufacturing) เปลี่ยนรูปแบบการใช้ซ้ำ (Recycle) และออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่จากวัสดุเดิม (Upcycling) กลายเป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่วัสดุและผลิตภัณฑ์ถูกใช้หมุนเวียนเป็นวงกลม ใช้เสร็จแล้วก็อัปเกรดพวกมันไปเรื่อย ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผ่านกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ แทนรูปแบบเศรษฐกิจแบบเดิมที่ซื้อ – ใช้ – ทิ้งทันที แบบเป็นเส้นตรง (Linear)

ศิลปินออกแบบหน้ากาก พร้อมรูระบายอากาศหายใจ จากกล่องน้ำดื่ม ภาพถ่ายโดย Utopia By Cho

ทำไมวัสดุทดแทนจึงสำคัญ

เศรษฐกิจหมุนเวียน หมายถึงรูปแบบที่จะทำให้เรายังสามารถบรรลุการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ โดยไม่ต้องสูญเสียความเป็นอยู่ของโลก หลายปีที่ผ่านมาแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้เติบโต และได้รับการนำไปประยุกต์ใช้ในหลายธุรกิจทั่วโลก ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่สามารถสร้างความเป็นไปได้ได้มากมาย

เทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบันสามารถเปลี่ยนโครงสร้างทางชีวภาพของวัสดุได้ ทำให้เกิดวัสดุทดแทนหลากหลายประเภทการใช้งาน ซึ่งล้วนแต่ผลิตขึ้นมาจากวัสดุรีไซเคิล จึงช่วยลดการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติ ลดการปล่อยของเสีย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยต่อมนุษย์มากขึ้น

หลากหลายผลิตภัณฑ์จาก Precious Plastic กลุ่มนักออกแบบชาวเดนมาร์ก ที่คิดค้นการหลอมละลายพลาสติก PE เพื่อขึ้นรูปใหม่

หนึ่งในผลิตภัณฑ์นั้นคือ Sci Wood ไม้สังเคราะห์ที่ผลิตขึ้นจากผงไม้เนื้อแข็ง และเม็ดพลาสติกรีไซเคิล โดยผงไม้เนื้อแข็งเหล่านี้ แปรรูปมาจากขี้เลื่อยไม้เนื้อแข็ง ซึ่งเป็นเศษเหลือทิ้งจากการใช้งานในโรงงานไม้แปรรูป ดังนั้นนอกจากจะเป็นการลดการตัดต้นไม้ และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าแล้ว ไม้สังเคราะห์ชนิดนี้ยังช่วยหมุนเวียนการใช้พลาสติก ผ่านการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ  ที่นำไปใช้งานได้หลากหลายและทนทาน

ไม้สังเคราะห์ Sci Wood ในงานออกแบบ ด้วยเทคโนโลยีการขึ้นรูป จากพลาสติกรีไซเคิล และผงไม้เนื้อแข็งที่หลงเหลือจากโรงงานแปรรูปไม้

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า สินค้าที่ใช้อยู่นั้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ

ลองมองหาฉลากสิ่งแวดล้อม (Environment Label) ไม่ว่าจะเป็นฉลากเขียว ฉลากคาร์บอน ฉลากประหยัดพลังงาน ฉลากรับรองไม่ทำลายป่าไม้ ไปจนถึงฉลากลดการใช้น้ำ ที่ปรากฏบนสินค้าที่จะแสดงให้รู้ว่าสินค้านั้น ๆ ได้รับการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมจากภาครัฐและองค์กรอย่างละเอียดมาแล้วว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (มากกว่าสินค้าประเภทเดียวกัน แต่ไม่มีฉลากรับรอง)

อย่างไม้ Sci Wood ที่ได้รับฉลากเขียวจากสภาสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศสิงคโปร์ ต่อเนื่อง 5 ปี ติดต่อกัน โดยได้รับการระบุว่า เป็นสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Product) หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตด้วยขั้นตอนที่มุ่งประหยัดพลังงาน และลดมลพิษระหว่างการใช้งาน ช่วยให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากขึ้น โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อให้สามารถนำวัสดุกลับมารีไซเคิลใหม่ หรือคืนสภาพ (Recovery) ได้

ต่อมาคือสัญลักษณ์ FSC (Forest Stewardship Council) หรือ องค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของสมาชิกที่มาจากหลากหลายหน่วยงาน ได้แก่ หน่วยงานทางด้านสิ่งแวดล้อม ทางด้านสังคม กลุ่มผู้ผลิตซื้อขายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ และกลุ่มผู้ทำสวนป่าจากทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์เดียวกัน นั่นคือมุ่งเน้นในการปรับปรุงพื้นที่ส่วนอนุรักษ์ ลดการตัดไม้ทำลายป่าธรรมชาติ และป่าอนุรักษ์

มาตรฐาน FSC จึงมีขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ผู้ซื้อว่า ผลิตภัณฑ์นั้นผลิตจากไม้ในป่าที่ได้รับการควบคุมเป็นอย่างดี อย่าง Sci Wood แม้จะมีส่วนผสมเพียงผงไม้เนื้อแข็งจากขี้เลื่อย แต่ก็เป็นเศษไม้จากป่าปลูก ไม่ได้รบกวนป่าตามธรรมชาติแต่อย่างใด

และความพิเศษของวัสดุทดแทน คือแม้จะถูกสังเคราะห์และออกแบบมาทดแทนวัสดุทางธรรมชาติ แต่คุณสมบัติของมันกลับดียิ่งกว่า เห็นได้จาก Sci Wood ไม่มีปัญหาไม้ผุ เปื่อย หักเปราะ สีหลุดลอก หรือปัญหาปลวกกินไม้ มันจึงมีความคงทน ไม่กลายเป็นของเสียง่าย ๆ และนั่นคือหัวใจอีกหนึ่งข้อของเศรษฐกิจหมุนเวียน

หนทางสู่ความยั่งยืน

ไม่ใช่แค่แวดวงวัสดุก่อสร้างและเฟอร์นิเจอร์ แวดวงแฟชั่นก็ตอบรับรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนกันอย่างคึกคัก เห็นได้จากการนำเศษผ้าเหลือใช้ไปอัพไซเคิลเป็นเสื้อผ้าชิ้นใหม่ของเหล่าดีไซเนอร์และแบรนด์สินค้าทั่วโลก

และอย่างที่อธิบายไปข้างต้น เศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ได้มีแค่การผลิตซ้ำเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงการเพิ่มอายุการใช้งานด้วย ซึ่งในปัจจุบันที่เทคโนโลยีทางการสื่อสารง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว เราสามารถเพิ่มความถี่การใช้ข้าวของร่วมกับคนอื่นได้ เช่น แทนที่จะซื้อชุดราตรีที่ได้ใส่แค่ครั้งเดียว เราสามารถใช้บริการแอปพลิเคชั่นเช่าเสื้อผ้า โดยที่ชุด 1 ชุด จะถูกใช้งานนับสิบนับร้อยครั้ง

การเคลื่อนไหวในแวดวงแฟชั่น ที่ทำให้คนหันมาตระหนักถึงผลเสียและผลกระทบมหาศาลของ Fast Fashion ภาพถ่ายโดย Francois Le Nguyen

ทศวรรษนับจากนี้ คือช่วงเวลาที่เราจะได้เห็นการก้าวกระโดดของเทคโนโลยี และการปรับตัวของมนุษย์ทั่วโลก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งนั่นจะกลายเป็นวิถีสู่ความยั่งยืนได้จริงในอนาคต


ทำความรู้จัก Sci Wood ไม้สังเคราะห์ที่ผลิตขึ้นจากผงไม้เนื้อแข็งและเม็ดพลาสติกรีไซเคิล เพิ่มเติมได้ที่ www.sci-wood.com

ข้อมูลอ้างอิง

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.