โตนเลสาบ ชีวิตลอยน้ำที่กำลังสูญสิ้น

โตนเลสาบ ชีวิตลอยน้ำที่กำลังสูญสิ้น

เช้าแล้ว แต่ฟ้ากลับสลัวขึ้นทุกทีและฝนก็ยังตกลงมาปรอยๆ ไม่ขาดสาย แม่หญิงชุนนัม วัย 50 ปียังไม่ยอมวางมือจากการดึง “มอง” หรือตาข่ายจับปลาขึ้นมา เรือพายของเธอไม่ได้ลอยอยู่ในแม่น้ำ หากเป็นผืนป่าที่ถูกน้ำเอ่อท่วมตามฤดูกาล “โตนเลสาบ”

ทุกปีเมื่อถึงฤดูฝนแม่น้ำน้อยใหญ่หลายสายรอบโตนเลสาบ (Tonle Sap) หรือทะเลสาบเขมร และน้ำจากแม่น้ำโขงจะไหลบ่าเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน ป่าในเขตอนุรักษ์พันธุ์นกเพร็กโตล (PrekToal Bird Sanctuary) จังหวัดเสียมเรียบแห่งนี้จะถูกน้ำท่วมตั้งแต่เดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งทำให้ “ตัว” ของโตนเลสาบขยายจนมีขนาดใหญ่กว่าพื้นที่ยามน้ำลดในฤดูแล้งถึงห้าเท่าตัว  สังคมพืชในป่าน้ำท่วมแห่งนี้ต้องปรับตัวให้อยู่กับน้ำที่เอ่อท่วมและขังนองอยู่นานถึงครึ่งปีให้ได้  ระบบนิเวศและพืชพันธุ์ของที่นี่จึงมีลักษณะพิเศษที่หาไม่ได้ในพื้นที่อื่นๆ ของโลก เช่นเดียวกับมนุษย์หลากหลายเชื้อชาติทั้งชาวกัมพูชา  ชาวจาม และชาวเวียดนาม ที่ตั้งรกรากและฝากชีวิตไว้กับวัฏจักรตามธรรมชาติของโตนเลสาบ

ขณะที่ชุนนัมยังง่วนอยู่กับการเก็บมองตามป่าน้ำท่วมไปเรื่อยๆ ผมก็สังเกตเห็นสัตว์ลำตัวลายๆ ยาวๆ นับร้อยตัวที่ติดขึ้นมากับมองด้วย ทีแรกผมคิดว่าเป็นปลาไหล แต่ไม่ใช่พวกมันคืองูต่างหาก  โชคดีที่ส่วนใหญ่เป็นงูน้ำไม่มีพิษในโตนเลสาบ เราพบงูน้ำ 7 ชนิดพันธุ์หลักๆ จากที่มีอยู่นับสิบชนิดรวมทั้งงูกึ่งบกกึ่งน้ำ ชุนนัมบอกผมว่าบางครั้งมีพวก งูพิษติดขึ้นมาด้วย นอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยของงูและปลานานาชนิดแล้ว เขตอนุรักษ์นกแห่งนี้ยังขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งวางไข่และสร้างรวงรังที่สำคัญของนกน้ำและนกอพยพต่างๆ ที่พากันย้ายถิ่นมาในฤดูหนาว เพราะเหตุนี้การทำมาหากินของชาวบ้านและชาวประมงในพื้นที่จึงถูกจำกัดและเข้มงวดเป็นพิเศษ

ตกสายราวแปดโมงเช้า แต่ฟ้ายังมืดสนิท ฝนฟ้าคะนองไม่ยอมหยุด ชุนนัมดูจะพอใจกับผลงานของวันนี้ เธอจึงพายเรือกลับบ้านซึ่งอยู่ห่างออกไปราวสามกิโลเมตร พอถึงบ้าน เฉพาะงูที่ติดมองมาก็ชั่งน้ำหนักรวมกันได้ราว 10 กิโลกรัม  ชุนนัมบอกว่าเมื่อก่อนเคยหาได้มากกว่านี้  เดี๋ยวนี้ทั้งงูทั้งปลาลดลงมาก

เรือขนาดเล็กของชาวจามรวมตัวกันจับปลาที่อพยพจากโตนเลสาบสู่แม่น้ำโตนเล ก่อนจะไหลไปรวมกับแม่น้ำโขงที่พนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา

ข้อมูลขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือไอยูซีเอ็น (International Union for Conservation of Nature: IUCN) ระบุว่างูน้ำเหล่านี้มีสถานะถูกคุกคาม (threatened) เนื่องจากถูกจับเกินขนาดส่วนใหญ่ ถูกนำไปขายเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงจระเข้ในฟาร์มต่างๆ ทั้งของนายทุนและชาวบ้านรายย่อยรอบโตนเลสาบ  ขณะที่ข้อมูลล่าสุดของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society)ระบุว่า ในปีหนึ่งๆ งูน้ำเหล่านี้ถูกจับมากถึง 6.9 ล้านตัว

โตนเลสาบมีป่าน้ำท่วมอยู่รอบๆ ว่ากันว่าป่าน้ำท่วมของที่นี่มีพันธุ์พืชมากถึง 200 ชนิด หลายชนิดเป็นพืชเฉพาะถิ่น  แต่ต้นไม้ที่มีลักษณะเด่นและถือเป็นไม้หลักของที่นี่คือไม้ “เรง” ในภาษาเขมร หรือจิกน้ำ (Barringtonia acutangula) ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงได้ถึง 20 เมตร เจริญงอกงามอยู่ในน้ำขังได้นานถึง 9 เดือน นอกจากเป็นไม้หลักในป่าน้ำท่วมแล้ว ไม้ชนิดนี้ยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เป็นที่ทำรังของนกน้ำ และมีประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย เช่น ป้องกันการกัดเซาะและช่วยป้องกันลม

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือป่าน้ำท่วมและต้นไม้เหล่านี้กำลังถูกคุกคามจากการบุกรุกทำลายอย่างจงใจเพื่อเพิ่มพื้นที่ทำกินหรือกิจกรรมอื่นๆ ทั้งยังต้องเผชิญกับไฟป่าที่เกิดจากความแห้งแล้งในฤดูแล้ง อุณหภูมิที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  และที่สำคัญคือการเผาป่าทั้งด้วยความตั้งใจและเผอเรอ

ภาพถ่ายทางอากาศของชุมชนกำปงหลวง จังหวัดโพธิสัตว์ เมืองน้ำแห่งนี้มีผู้อาศัยกว่า 1,200 ครัวเรือน ชาวประมงจะนำปลาที่จับได้มาขายที่นี่ ก่อนจับจ่ายซื้อของใช้ที่จำเป็นกลับไป

ในหน้าแล้งเมื่อโตนเลสาบหดตัวและแคบลงกลายเป็นแม่น้ำก็ยังเป็นโอกาสให้ชาวประมงคอยดักปลาที่อพยพกลับสู่แม่น้ำโขง โดยเฉพาะในฤดูทำปลาร้าหรือที่เรียกว่า “ปลาหก” ในภาษาเขมร  เมื่อฝูงปลาเล็กปลาน้อยอย่างปลาสร้อยอพยพออกจากโตนเลสาบ  ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ชาวประมงจะใช้เครื่องมือจับปลาทุกชนิดที่หาได้ดักปลาเหล่านี้ นี่คือเทศกาลจับปลาขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม เรือเอี้ยมจุ๊นหรือเครื่องมือประมงพื้นบ้านชนิดไหนๆ ก็ไม่อาจสู้ “หย่าย” (Dài) ของชาวเวียดนาม ซึ่งเป็นอวนขนาดใหญ่มีความยาวถึงสองกิโลเมตรผูกติดกับแพสองลำที่ลอยอยู่ในน้ำ ช่วงที่ปลาชุกชุมมากๆ หย่ายแต่ละอันอาจจับปลาได้ชั่วโมงละมากกว่าห้าตัน  เรือแต่ละลำขนปลาเพียบแปล้จนเกือบล่มเลยก็มี  ลำที่ได้ปลามากถึงขนาดขนไม่ไหว ก็โยนปลาทิ้งเสียเปล่าไปมากมาย พ่อค้าคนกลางจำนวนมากจะมาที่แพหย่ายเหล่านี้เพื่อหาซื้อปลาไปขายต่อ ส่วนบนฝั่งแม่น้ำก็มีการเปิดโรงงานชั่วคราวเพื่อทำปลาร้ากันตรงนั้นเลยทีเดียว

ไกลออกไปในโตนเลสาบมีเครื่องมือหาปลาขนาดใหญ่อีกชนิดหนึ่งวางเรียงรายอยู่ทั่วไป แต่ละอันดูคล้ายลูกศรยักษ์ที่ใช้ตาข่ายขึงยาวเป็นร้อยเมตร หรือขนาด 400-500 เมตรก็มีให้เห็น ตาข่ายยักษ์เหล่านี้ทำหน้าที่ตะล่อมปลาให้ว่ายเข้าสู่ปลายลูกศรที่มีลอบขนาดใหญ่ติดตั้งอยู่  เครื่องมือลูกศรยักษ์ชนิดนี้จับปลาได้คราวละมากมายและหลากหลายขนาด  ปัจจุบันเครื่องมือชนิดนี้ถูกห้ามใช้ในฤดูน้ำหลากตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป แต่ก็ยังมีการลักลอบใช้และติดสินบนเจ้าหน้าที่กันอยู่เนืองๆ

ทั้งชาวบ้านและชาวประมงที่โตนเลสาบต่างพูดตรงกันว่าปลาเริ่มลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 5-6 ปี ที่ผ่านมา และกำลังลดลงเรื่อยๆ  ที่น่าสนใจคือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่เขื่อนในน้ำโขงตอนบนซึ่งอยู่ในประเทศจีนสร้างเสร็จไปแล้วหลายแห่ง ทั้งยังเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เขื่อนไซยะบุรีในลาวเริ่มก่อสร้างด้วย

เด็กๆ กำลังเดินกลับบ้านหลังเลิกเรียนบนถนนใจกลางหมู่บ้านกำปงพลุก อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก เด็กนักเรียนเหล่านี้ต้องเปลี่ยนไปใช้เรือเป็นพาหนะเดินทางระหว่างบ้านกับโรงเรียน

“สำหรับชาวกัมพูชาที่ยากจนเหล่านี้แล้ว อยู่ได้โดยไม่มีไฟฟ้าใช้” เซ็งลอง รองผู้อำนวยการเครือข่ายปฏิบัติงานเพื่อชาวประมง กัมพูชา (Fisheries Action Coalition Team-FACT) กล่าว “แต่ถ้าไม่มีปลากิน อยู่ไม่ได้” องค์กรอย่าง FACT จึงพยายามให้ความรู้เรื่องเขื่อนที่กำลังก่อสร้างโดยเฉพาะเขื่อนในกัมพูชากับลาว ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮงของลาว หรือเขื่อนซำบอในกัมพูชา ถึงอย่างนั้น แต่ชาวบ้านในโตนเลสาบก็รู้เรื่องเขื่อนเหล่านี้น้อยมากจะมีบ้างก็เป็นแกนนำหมู่บ้านไม่กี่คนที่พูดว่าการที่จำนวนประชากรปลาลดลงมีสาเหตุหลักมาจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เช่นเขื่อนต่างๆ สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง การจับปลาที่ผิดกฎหมายและจับปลาเกินขนาด

เพียงหนึ่งปีหลังจากที่ผมเจอชุนนัมคราวนั้น เธอไม่ได้ออกไปหาปลาอย่างเคย

เธอบอกว่าการออกไปหาปลาไม่พอเลี้ยงครอบครัวเหมือนเมื่อก่อน ลูกๆ สามคนที่โตแล้วจึงออกไปทำงานในเมืองแล้วส่งเงินมาเลี้ยงครอบครัว แม้จะไม่มากแต่ก็พออยู่ได้ ไม่มีภาพที่เธอออกไปอยู่ท่ามกลางสายฝนคอยสาวตาข่ายมองที่มีงูตัวลายๆ ติดขึ้นมาอีกต่อไป เช่นเดียวกับที่งูน้ำเหล่านั้นค่อยๆหายไป ภาพของชุนนัมที่ถูกห้อมล้อมด้วยหลานๆ ภายในบ้าน แทนที่จะอยู่ท่ามกลางสายน้ำ ง่วนกับการจับปลาและงูน้ำที่เคยมีอยู่อย่างชุกชุม เป็นภาพน่าเศร้าที่บ่งบอกว่าทั้งวิถีดั้งเดิมและธรรมชาติกำลังสูญหายไปพร้อมๆ กัน

เรื่อง เทพ การุณย์

ภาพถ่าย สุเทพ กฤษณาวารินทร์

 

อ่านเพิ่มเติม

วิถีชีวิตของชนเผ่าที่เปลี่ยนไปเพราะเขื่อน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.