เซเลโดเนีย เตเยส จำไม่ได้แล้วว่า เธอย้ายมายังคาบสมุทรโอซาปีไหน หรือตอนอายุเท่าไรแน่ แต่เธอจำได้แม่นว่า เธอมาทำไม ในเมื่อที่ดินผืนนี้จับจองได้ไม่ต้องซื้อหา ในตอนนั้น คาบสมุทร ขนาด 1,800 ตารางกิโลเมตรที่โค้งไปตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนใต้ของ คอสตาริกา เป็นเขตแดนป่า ตัดขาดจากแผ่นดินใหญ่ด้วยคอคอดที่เป็นป่าชายเลนรกทึบผ่านแทบไม่ได้ และเข้าถึงได้ก็โดยทางเรือเป็นหลัก
เซเลโดเนียกำลังตั้งครรภ์ตอนที่เธอมาถึงพร้อมกับลูกห้าคน ไก่หกตัว สุนัขหนึ่งตัว และเงิน 700 โคโลนหรือประมาณหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ เธอยังพาแฟนมาด้วย แต่เขา “เกลียดธรรมชาติและวิ่งหนีแมลง” เธอเท้าความหลัง ดังนั้นเธอจึงคว้าขวานขึ้นมาแผ้วถางที่ดิน ด้วยตัวเอง
ราว 40 ปีต่อมา ดอญญาเซเลโดเนีย ดังที่ทุกคนเรียกขานด้วยความเคารพนับถือ ยังคงอาศัย อยู่บนที่ดินผืนเดิมในเมืองที่ชื่อ ลาปัลมา วันหนึ่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2019 ตอนที่ผมไปหา เธอพาผมชมบ้านชมสวน และจากย่างก้าวที่สาวฉับๆ นั้น ดูไม่ออกเลยว่า ตาของเธอเกือบบอดแล้ว
สำหรับดอญญาเซเลโดเนีย วันนี้เป็นวันไถ่บาป แทนที่จะโค่นป่า เธอคืนพื้นที่ส่วนเล็กๆ แก่ผืนป่า จากการเชื้อเชิญของเธอ องค์กรไม่แสวงกำไรชื่อ โอซาคอนเซอร์เวชัน (Osa Consevation) ได้เข้ามาสร้างเครือข่ายกลุ่มคนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อปลูกกล้าพันธุ์ไม้พื้นเมือง 1,700 ต้น ในไร่ขนาด 56 ไร่ซึ่งส่วนใหญ่อยู่เลียบลำธารตามแนวเขตที่ดินฝั่งหนึ่งของเธอ
ในวันปลูกต้นไม้ประจำปีของ คอสตาริกา ลูกๆหลายคนจากหกคน หลาน 16 คน และเหลน 14 คนของเธอมาชุมนุมกันเพื่อ เฉลิมฉลอง รวมทั้งคนอีกมากมายจากชุมชนโดยรอบ มีนิทรรศการ ปาฐกถา การละเล่น และการเต้นรำโดยเด็กๆที่สวมชุดพื้นเมืองสีสันสดใส
ทุกตารางเมตรของโอซาจัดเป็นพื้นที่ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แม้จะมีเนื้อที่ไม่ถึง 0.001 ของร้อยละหนึ่งของพื้นผิวโลก แต่ที่นี่เป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตร้อยละ 2.5 ของโลก ถิ่นอาศัย อันหลากหลายในคาบสมุทรแห่งนี้ ตั้งแต่ป่าเมฆ ป่าดิบชื้นที่ราบต่ำ หนองบึง และป่าชายเลน ไปจนถึง ลากูนทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม เป็นที่พักพิงของสิ่งมีชีวิตหลายพันชนิด รวมถึงฝูงนกมาคอว์แดงที่ส่งเสียง อื้ออึง ลิงแมงมุม และสัตว์อื่นที่หมดไปหรือลดลงอย่างฮวบฮาบจากพื้นที่ส่วนใหญ่ในเขตกระจายพันธุ์ในอดีต แมวป่าห้าชนิดหากินอยู่ในป่า ทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก เต่าทะเลสี่ชนิดคลานขึ้นมาวางไข่ บนชายหาด ส่วนทางด้านตะวันออก ปลาฉลามหัวค้อนและวาฬหลังค่อมว่ายน้ำเข้าไปในฟยอร์ด กอลโฟดุลเซเพื่อตกลูก
กระนั้น ระบบนิเวศของโอซาก็เปราะบาง ในอดีต ที่นี่รอดพ้นจากการถูกทำลายล้างอย่าง ฉิวเฉียดมาแล้วถึงสองครั้ง สาเหตุไม่ใช่เพราะผลประโยชน์ทางการค้าขนาดใหญ่มากเท่ากับผลกระทบเล็กๆ น้อยๆ อันเกิดจากการที่ชาวบ้านโค่นป่าเพื่อทำมาหากิน หรือร่อนหาทองคำไม่กี่สตางค์ในแม่น้ำสายต่างๆ ของโอซา
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายชุมชนในโอซาหันมาคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาเคยหาประโยชน์อย่างกระตือรือร้น แทนที่จะโค่นต้นไม้เก่าแก่เพื่อเอาซุง พวกเขาแผ้วถางเส้นทางไว้รองรับนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และแกะรอยพรานลักลอบล่าสัตว์ แทนที่จะลักลอบแกะรอยสัตว์ป่าเสียเอง
แอนดี วิตเวิร์ท ผู้อำนวยการบริหารวัย 37 ปีของโอซาคอนเซอร์เวชัน ร่วมงานกับองค์กรนี้ เมื่อปี 2017 หลังจากต่อสู้ในสงครามที่สิ้นหวังเพื่อการอนุรักษ์ป่าแอมะซอนในเปรูอยู่หกปี
“ตอนมาถึงโอซา ผมรู้สึกมีความหวังขึ้นมาอีกครั้งในทันทีครับ” วิตเวิร์ทบอกผมระหว่างร่วมโต๊ะอาหารเช้าที่สถานีวิจัยชีววิทยาของโอซาคอนเซอร์เวชันทางตะวันตกเฉียงใต้ของคาบสมุทร “ในแอมะซอน ปีหนึ่งผมอาจได้เห็นลิงแมงมุมครั้งหรือสองครั้ง ที่นี่ผมเห็นวันละครั้งหรือสองครั้ง มันเปลี่ยนไปอย่างน่าประทับใจเลยครับ”
วิตเวิร์ทรีบยกความดีความชอบในความสำเร็จของโอซาให้แก่นโยบายริเริ่มการฟื้นฟูสภาพป่า ตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ยี่สิบ ป่าที่เคยครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 75 ของประเทศ ถูกโค่นอย่างเป็นระบบเพื่อทำไม้ เลี้ยงปศุสัตว์ และปลูกพืชผล เช่น กล้วยและสับปะรด ไม่ถึงหนึ่ง ชั่วอายุคน ผืนดินที่ยังคงมีต้นไม้ปกคลุมเหลืออยู่แทบไม่ถึงหนึ่งในห้า
แต่ในกลางทศวรรษ 1990 รัฐบาลลงมือแก้ปัญหา ไม่ใช่แค่เพียงหยุดยั้ง แต่ยังพลิกสถานการณ์ด้วย เริ่มจากการผ่านกฎหมายห้ามการตัดต้นไม้ใดๆโดยไร้แผนการจัดการอย่างละเอียด และริเริ่มโครงการจ่ายเงินให้เจ้าของที่ดินดูแลพื้นที่ป่าและปลูกต้นไม้ต้นใหม่ๆ โดยใช้งบประมาณจากภาษีที่เรียกเก็บจากน้ำมันเชื้อเพลิง ในระยะเวลาเพียว 25 ปี คอสตาริกามีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า และกำลังจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ นั่ นคือมีป่าครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 60 ของประเทศเมื่อถึงปี 2030
ทว่าปัจจุบัน พื้นที่แห่งนี้กำลังเผชิญภัยคุกคามอย่างใหม่ การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำลายเศรษฐกิจของคอสตาริกาจนย่อยยับ หยุดยั้งเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวที่เคยหลั่งไหลเข้ามาหนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเลี้ยงชีพที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน หัวใจและความคิดของชาวโอซากำลังโอบรับจริยธรรมด้านการอนุรักษ์ แต่พวกเขาก็ยังต้องกินต้องอยู่
“ผู้คนที่นี่ใกล้ชิดธรรมชาติค่ะ” ฮิลารี บรัมเบิร์ก เจ้าหน้าที่ของโอซาคอนเซอร์เวชันซึ่งดำเนินโครงการปลูกป่าในไร่ของดอญญาเซเลโดเนีย กล่าว “แต่พอพูดถึงเรื่องการหาเลี้ยงครอบครัวหรือการปกป้องธรรมชาติ ครอบครัวย่อมต้องมาก่อน”
ฤดูใบไม้ผลิปี 2020 ไม่มีนักท่องเที่ยวให้ปรุงอาหารให้ ไม่มีงานให้ไกด์ในโดสบราโซสหรือรันโชเกมาโดทำและที่โอซาคอนเซอร์เวชันก็ไม่มีอาสาสมัครคอยดูแลต้นไม้หรือป้องกันลูกเต่าทะเลจากสัตว์ผู้ล่าบนชายหาดริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกแห่งนี้เลย คอสตาริกาตอบสนองต่อการคุกคามของโควิด-19 อย่างเข้มงวดด้วยการระงับการเดินทางระหว่างประเทศทั้งหมด พอถึงปลายเดือนพฤศจิกายนเมื่อสหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิต 264,808 คน ตัวเลขของคอสตาริกาอยู่ที่ 1,690 คน
แต่ความเสียหายทางเศรษฐกิจใหญ่หลวงถึงขั้นหายนะเมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวล่มสลาย ก็ไม่มีเงินทุนไหลมาหล่อเลี้ยงระบบอุทยานแห่งชาติของประเทศ บีบให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ต้องปิดกอร์โกวาโดในเดือนมีนาคม และถอนกำลังเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าออกจากอุทยาน ทุกอย่างเงียบสงบอยู่สองสามสัปดาห์ จากนั้นไกด์ทัวร์ของโอซาก็กระจายข่าวไปตามแชตในสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีคนฉวยโอกาสจากการไม่มีนักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่จัดทัวร์ล่าสัตว์ในอุทยาน
พรานสองคนฆ่าเพ็กคารีปากขาวไปเก้าตัว ซึ่งไม่ได้ฆ่าไปเป็นอาหาร แต่เพื่อเป็นเกมกีฬา เมื่อผมโทรศัพท์ไปคุยกับดิโอนิซีโอ ปาเนียกัว คาสโตร ไกด์ที่ทำงานมานานและเป็นนักอนุรักษ์ในคาบสมุทรตั้งแต่โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก ผมได้ยินความเจ็บปวดรวดร้าวของเขาทางโทรศัพท์บรรดาไกด์แจ้งเจ้าหน้าที่ ซึ่งส่งตำรวจมาและจับกุมผู้ต้องหาบางคนได้ แต่อุทยานมีขนาดใหญ่ อีกทั้งการ บังคับใช้กฎหมายก็เบาเกินไปและทำเป็นครั้งคราว เกินกว่าจะรับมือกับความเสียหายที่รุนแรงขึ้นได้อย่างทันท่วงที
ไม่ใช่แต่พวกพราน ทั้งการว่างงานและราคาทองคำที่สูงขึ้นทั่วโลกซึ่งเป็นผลจากการระบาดใหญ่ ทำให้นักร่อนทองจำนวนมากหลั่งไหลกลับสู่อุทยานอย่างที่ไม่เคยเห็นกันมานานหลายทศวรรษ นักค้ายาเสพติดกับพวกคนตัดไม้ก็ฉวยโอกาสจากความปั่นป่วนคราวนี้ด้วยเช่นกัน
แต่ยังมีแนวปราการป้องกันอีกทางหนึ่งด้วย นั่นคือชาวโอซาเอง ในการตอบโต้วิกฤติการณ์นี้ คาร์โลส มานูเอล โรดริเกซ รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของคอสตาริกาในเวลานั้นรื้อฟื้นแนวคิดเรื่องกลุ่มเจ้าหน้าที่อาสาสมัครแกนนำ 52 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไกด์และผู้นำชุมชนต่างๆรวมถึง รันโช เกมาโดและลาปัลมาซึ่งได้รับการอบรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเฝ้าระวังและออกปฏิบัติหน้าที่เพื่อสร้างแนวกันชนรอบอุทยาน
พวกเขาไม่มีอาวุธ แต่มีโทรศัพท์ กล้องถ่ายภาพ และสายสัมพันธ์กับชุมชนต่างๆ พวกเขาสามารถแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายได้อย่างรวดเร็วเมื่อพบกิจกรรมผิดกฎหมาย ดูเหมือนว่าปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากกลุ่มจัดตั้งจากนอกคาบสมุทร เมื่อเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวพังทลายจึงเลี่ยงไม่ได้ที่คนท้องถิ่นบางส่วนจะเหลือทางเลือกน้อย นอกจากหยิบกระทะร่อนและพลั่วอันเก่าเข้าไปร่วมลักลอบร่อนทองคำในอุทยาน
“ใครๆต่างก็ต้องดิ้นรนหาเงิน และการร่อนทองก็เป็น วิธีหนึ่งครับ” มูญโญซบอกผมทางโทรศัพท์ ผมถามว่าตัวเขาเองหวั่นไหวบ้างไหม เพราะเขาก็เป็นไกด์คนหนึ่งที่ ตกงาน นํ้าเสียงตอนที่เขาตอบนั้นมีความปวดร้าวเจืออยู่ “ผมพยายามไม่ไปที่นั่นครับ”
เรื่อง เจมี ชรีฟ
ภาพถ่าย ชาร์ลี แฮมิลตัน เจมส์
สามารถติดตามสารคดี ปกปักษ์พิทักษ์สรวงสววรค์ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2564
.
สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2