หมอกควันไฟป่า ส่งผลกระทบต่อสุขภาพรุนแรง

งานวิจัยล่าสุด แสดงให้เห็นว่า หมอกควันไฟป่า สร้างผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน มากกว่ามลพิษทางอากาศจากแหล่งอื่นๆ ถึงสิบเท่า

เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งของทุกปี สถานการณ์ หมอกควันไฟป่า ก็เวียนกลับมาอยู่ในกระแสสังคมอีกครั้ง ประชาชนที่อาศัยอยู่ใน 17 จังหวัดภาคเหนือของไทย ต่างรับรู้ถึงเหตุการณ์เหล่านี้ได้อย่างดี เพราะส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันไฟป่า หลายพื้นที่ในภาคเหนือถูกปกคุลมด้วยหมอกควันหลายวันติดต่อกัน บางปี ประชาชนต้องทนกับมลพิษทางอากาศยาวนานเกือบหนึ่งเดือน ส่งผลให้ประชาชนมีปัญหาสุขภาพตามมา โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

สำหรับต่างประเทศ ชาวอเมริกันหลายสิบล้านคนต้องเผชิญกับควันไฟป่าอย่างน้อยหนึ่งวันในปีที่แล้ว ในบางเมือง หมอกควันจากไฟป่าปกคลุมไปทั่วบริเวณเป็นเวลาหลายสัปดาห์เนื่องจากไฟป่า เช่น ในสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตก ส่งผลให้ประชาชนต้องเข้าโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ และหลายคนกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองในระยะยาว

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา พบว่า ควันไฟป่าอาจเป็นอันตรายมากกว่าแหล่งมลพิษทางอากาศอื่นๆ เช่น ยานพาหนะ หรือโรงงานอุตสาหกรรม ถึง 10 เท่า โดยในรายงานได้แสดงให้ความน่ากังวลต่อชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อไฟป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้การเกิดไฟป่ามีความรุนแรงมากขึ้น

ทอม คอร์ริงแฮม อาจารย์ในระดับปริญญาเอก และทีมนักวิจัยจากสถาบันสมุทรศาสตร์สคริปป์ (Scripps Institution of Oceanography) ที่ซานดิเอโก สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาข้อมูลย้อนหลังเกี่ยวกับคุณภาพอากาศ 14 ปี ระหว่างปี 1999 ถึง 2012 และข้อมูลของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ พวกเขาพบว่า การเข้ารักษาตัวด้วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.3 เป็นร้อยละ 10 เนื่องจากมลพิษทางอากาศที่เกิดจากไฟป่า ในทางกลับกัน เมื่อเปรียบเทียบกับมลพิษทางอากาศจากแหล่งอื่นในปริมาณที่เท่ากัน พบว่าประชาชนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1.3

การศึกษาของเรา เป็นงานวิจัยที่แสดงผลในระดับประชากรเป็นครั้งแรก” คอร์ริงแฮมกล่าวและเสริมว่า “หมอกควันจากไฟป่าเป็นผลกระทบซึ่งขยายไปไกลกว่าแค่บริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ และมีผลกระทบในวงกว้าง

การเกิดไฟป่ามักปล่อยอนุภาคเล็กๆ ที่เรียกว่า PM2.5 ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าเส้นผมของมนุษย์ อนุภาค PM2.5 สามารถเข้าสู่ปอดและกระแสเลือด และอาจทำให้เกิดอันตรายอย่างมีนัยสำคัญ โดยอาจก่อให้เกิดอาการเรื้อรังในปอดและหัวใจ และในระยะยาวอาจะทำให้เกิดโรคหอบหืด โรคหลอดเลือดสมอง และหัวใจวายได้ คอร์ริงแฮมกล่าว

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2020 เกิดควันไฟป่าปกคลุมทั่วทั้งอ่าวทางตะวันตกของซานดิเอโก ทำให้ท้องฟ้าเปลี่ยนเป็นสีส้ม ประชาชนหลายคนให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ ว่า มีอาการเจ็บคอ น้ำตาไหล และปัญหาอื่นๆ

เราทราบดีว่า ไฟป่าจะรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โรซานา อากีเลรา นักศึกษาหลังปริญญาเอก และผู้ร่วมเขียนงานวิจัย กล่าวและเสริมว่า “และสิ่งสำคัญคือ เราต้องเริ่มคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพ”

ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า เหตุใดอนุภาค PM2.5 จากไฟป่า จึงเป็นอันตรายมากกว่าแหล่งมลพิษทางอากาศอื่นๆ แต่จากการตั้งสมมติฐาน ทีมนักวิจัยคาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับแหล่งกำเนิดอนุภาค PM2.5 ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า อนุภาค PM2.5 จากไฟป่า มีผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าแหล่งอื่น

ในประเทศไทย จากรายงานสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ปี 2012 พบว่า ในจังหวัดน่านและลำปางจะมีอัตราป่วยด้วยกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจสูงกว่าจังหวัดอื่นในเขตภาคเหนือตอนบน โดยอัตราการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจมีแนวโน้มที่สูงขึ้นทุกปี และสูงเพิ่มมากขึ้นในปี 2012 (ข้อมูลเฉพาะผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากปัญหาหมอกควัน ที่รวบรวมจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และข้อมูลผู้ป่วยนอกจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข)

รายงานสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ปี 2012

ในปี 2019 กลุ่มควบคุมโรคในเขตเมือง สคร.1 เชียงใหม่ กรมควบคุมโรค รายงานผ่านเว็บไซต์ว่า จากการเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพจากภาวะหมอกควันในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 ในระหว่างวันที่ 10-16 กุมภาพันธ์ ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ พบกลุ่มผู้ป่วยจำนวนมากใน 4 กลุ่มโรค ประกอบด้วย กลุ่มโรคทางเดินหายใจทุกชนิด กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดทุกชนิด กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และกลุ่มโรคตาอักเสบ

สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA รายงานว่า ในปี 2019 เกิดจุดความร้อนสะสม (hot spot) จากไฟป่า สูงสุดในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ซึ่งเป็นจุดกำเนิดสำคัญของหมอกควันที่ปกคลุมไปหลายพื้นที่ในภาคเหนือ

ข้อมูลจาก GISTDA

ในอนาคต คอร์ริงแฮมกล่าวว่า การวิจัยใหม่แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับปรุงระบบวิเคราะห์คุณภาพอากาศและโปรแกรมด้านสาธารณสุข ทีมวิจัยให้คำแนะนำในท้ายรายงานว่า ควรให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประชากรที่มีความเสี่ยง และประชาชนที่มีรายได้น้อย เพื่อให้พวกเขาสามารถซื้อเครื่องกรองอากาศได้ และทีมนักวิจัยเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อลดภาวะโลกร้อน

สำหรับประเทศไทย ปัญหาที่รุนแรงขึ้นทำให้หลายภาคส่วนในพื้นที่รวมตัวออกมาเคลื่อนไหว เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขอย่างจริงจัง องค์กรที่เข้ามามีบทบาท เช่น สภาลมหายใจเชียงใหม่ เกิดจากการรวมตัวของภาคประชาชนและเอกชนที่เข้าไปช่วยภาครัฐพัฒนาคุณภาพอากาศของเมือง ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาจากต้นตอควันพิษ ทั้งในชนบทและในเมืองผ่านโครงการต่าง ๆ รวมทั้งขับเคลื่อนให้คนในสังคมได้ตระหนักและลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง

ส่วนในภาควิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดตั้งคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ เป็นการรวมตัวของคณาจารย์ผู้ชำนาญในหลายสาขาวิชา เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ดำเนินงานศึกษาวิจัย เสนอแนวทาง และถ่ายทอดนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหา รวมถึงเริ่มขับเคลื่อน “CMU model” ให้เป็นโมเดลต้นแบบการพัฒนา

สืบค้นและเรียบเรียง
ณภัทรดนัย


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.nature.com/articles/s41467-021-21708-0
https://www.npr.org/sections/health-shots/2021/03/05/973848360/study-finds-wildfire-smoke-more-harmful-to-humans-than-pollution-from-cars
https://www.ecowatch.com/wildfire-smoke-toxic-pollution-2650974582.html?rebelltitem=1#rebelltitem1
https://consumer.healthday.com/b-3-8-wildfire-smoke-is-especially-toxic-to-lungs-study-shows-2650889356.html
https://www.theguardian.com/us-news/2021/mar/06/california-wildfire-smoke-harmful-pollution-study
https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256303LocalEconomy.aspx


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : หมอกควัน หรือ “หมอกพิษ” (Smog)

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.