มิติความจริงที่หายไปจาก Seaspiracy สารคดีโด่งดังที่บอกให้มนุษย์เลิกกินปลา

ไม่ถึงเดือนนับจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Seaspiracy ออกสู่สายตาผู้ชมทั่วโลกทาง Netflix ก็สร้างปรากฏการณ์หลายระลอก ทั้งติดอันดับยอดชมสูงสุดในหลายประเทศ และจุดประเด็นคำถามให้ผู้คนถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน ถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของท้องทะเล

เนื้อเรื่องของ Seaspiracy ดำเนินผ่านการเดินทางของ Ali Tabrizi ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี ที่บอกเล่าทั้งปัญหาขยะพลาสติก อวนผีหรือซากอุปกรณ์ประมง การใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ทำลายระบบนิเวศและสร้างทั้งปัญหาจับสัตว์น้ำเกินขนาด ไปจนถึงสัตว์น้ำพลอยได้ที่คุกคามสัตว์หายากใกล้สูญพันธ์ การประมงไม่เป็นธรรมที่เรือประมงข้ามชาติไปแย่งชิงทรัพยากรอย่างผิดกฏหมาย ไปจนถึงการกดขี่แรงงานประมงอย่างทารุณกรรม

เรียกได้ว่า มีการเอ่ยถึงแทบทุกประเด็นวิกฤตของท้องทะเลในปัจจุบัน จึงไม่น่าแปลกใจหากภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จะติดตลาด และสามารถสร้างปรากฏการณ์เป็นที่พูดถึงของคนทั่วไปได้ เพราะที่ผ่านมาผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย ไม่สามารถเชื่อมโยงได้ว่าชีวิตประจำวันของตนเอง ไปสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

ภาพจากภาพยนตร์สารคดี Seaspiracy ทาง Netflix

เมื่อได้เห็นชะตากรรมมหาสมุทรที่ตนเองมีส่วนกระทำ จากการใช้ชีวิต กิน ดื่ม เที่ยวทั่วไปในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ พร้อมอารมณ์ร่วมในการค่อย ๆ ค้นพบความจริงหลายอย่างไปพร้อมกับ Ali จากต้นจนจบเรื่อง จึงเกิดเป็นคลื่นแห่งความสะเทือนใจซัดกระเซ็นไปทั่วโลกอินเตอร์เน็ต

ความสำเร็จลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นอย่างถล่มทลายมาแล้วกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Cowspiracy ที่บอกเล่าความเชื่อมโยงของสภาวะโลกร้อนกับอุตสาหกรรมปศุสัตว์ เขียนบทและกำกับโดย Kip Anderson นักกิจกรรมผู้สนับสนุนแนวคิดการกินแบบละเว้นเนื้อสัตว์ (Plant-Based Diet) ซึ่งผันตัวมาเป็นโปรดิวเซอร์ของ Seaspiracy ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ตอนนี้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ฉุดรั้งไม่ให้ Seaspiracy ขึ้นแท่นภาพยนตร์สารคดีน้ำดีอย่างเอกฉันท์ คือ ‘การพยายาม’ มากเกินไป ประหนึ่งผู้กำกับตั้งธงไว้แล้ว ว่าเรื่องราวทั้งหมดจะต้องผูกโยงและขมวดรวมกันเป็นทฤษฎีสมคบคิดที่มีตัวร้ายบงการอยู่เบื้องหลัง

โปสเตอร์ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Cowspiracy ออกฉายครั้งแรกปี 2014

ผู้กำกับจึงเลือกที่จะปิดตาหนึ่งข้าง และใช้ข้อมูลเก่า ที่มีตัวเลขหรือผลวิจัยบางอย่างสอดคล้องกับสิ่งที่ต้องการนำเสนอในภาพยนตร์มาเป็นตัวอ้างอิง แทนที่จะนำเสนอข้อมูลปัจจุบันซึ่งสถานการณ์บางอย่างเปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้รุนแรงอย่างในอดีตอีกแล้ว

เช่น การตอกย้ำซ้ำ ๆ ว่าปลาจะสูญพันธุ์หมดไปจากมหาสมุทรภายในปี 2048 ทั้งที่ความจริงสัตว์ทะเลกำลังค่อย ๆ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากปัจจัยหลายประการ รวมถึงการฟื้นฟูประมงโลกกำลังถูกขับเคลื่อนอย่างมีพลวัต จากการทุ่มเททำงานหนักนับทศวรรษของหลากหลายองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคมทั่วโลก

ภาพจากภาพยนตร์สารคดี Seaspiracy ทาง Netflix

เพื่อทำความเข้าใจความเป็นจริงในมิติที่ครอบคลุมขึ้น เราชวนคุณไปพูดคุยกับ ดอมินิก ภูวสวัสดิ์ จักรพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงและสิทธิมนุษยชน ผู้ประจำอยู่ที่ประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

และผ่านการทำงานสืบสวนภาคสนาม ที่ได้คลุกคลีกับผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์และละเมิดสิทธิแรงงานมามากมาย รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายการประมงและแรงงานร่วมหลายภาคส่วนในประเทศไทย

ประมงพื้นบ้าน ไม่เท่ากับ ประมงพาณิชย์

หลังดู Seaspiracy จบ ความคิดแรกของผมคือ แม้ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จะพูดถึงประเด็นสำคัญบางอย่างเกี่ยวกับความร้ายแรงของอุตสาหกรรมการประมง

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจำนวนมากที่ปรากฏในเรื่อง เป็นการตีความและถูกเล่าในมิติเดียว ความจริงแล้วประเด็นวิกฤตทางทะเลที่หลอมรวมอยู่ในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ทั้งหมด มีความซับซ้อนและเต็มไปด้วยบริบทมากมาย เกินกว่าที่จะเล่าแบบขาว-ดำ ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมากต่อด้านวงการอนุรักษ์มหาสมุทร รวมถึงองค์กรที่กำลังทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั่วโลก

ประเด็นที่รุนแรงที่สุด ในความคิดของผม คือการละเลยที่จะระบุความแตกต่างระหว่างประมงในระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และระบบจับปลาขนาดเล็กของชาวประมงพื้นบ้าน

ภาพจากภาพยนตร์สารคดี Seaspiracy ทาง Netflix
ภาพจากภาพยนตร์สารคดี Seaspiracy ทาง Netflix

การที่ Seaspiracy ใช้พู่กันขนาดเดียวกันวาดภาพภูมิทัศน์การประมงทั้งหมด นับเป็นการสร้างความเสื่อมเสียอย่างไม่อาจหวนคืนได้ แก่ชาวประมงพื้นบ้านหลายล้านคนทั่วโลก ที่การจับปลาไม่เพียงเป็นวิถีชีวิตที่สืบทอดต่อกันมารุ่นสู่รุ่น แต่ยังเป็นแหล่งโปรตีนหลักสำหรับการบริโภคอีกด้วย

ผมทำงานกับชาวประมงพื้นบ้านรายย่อยหลายคน ทั้งที่ประเทศไทยและอินโดนีเซีย พวกเขาไม่ใช่กลุ่มคนที่ควรถูกตีตราว่ากำลัง “เข่นฆ่า” ท้องทะเล เพราะพวกเขาคือผู้ได้รับผลกระทบอย่างสาหัสเป็นรายแรก ๆ จากการจับปลาเกินขนาดและการประมงผิดกฏหมายของกองเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่

เรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ลักลอบจับปลาอย่างผิดกฎหมายในเขตพื้นที่ชายฝั่ง ที่กำหนดไว้สำหรับคนหาปลาขนาดเล็กเท่านั้น นับเป็นการปล้นทรัพยากรทางทะเลทรงคุณค่า ทำลายเครื่องมือประมงขนาดเล็กอันมีค่าของชุมชนประมง ผ่านการใช้อวนลากขนาดยักษ์ในน่านน้ำ และที่เรือใหญ่เหล่านี้ ยังลอยลำกระทำเช่นนี้ได้ ส่วนหนึ่งมาจากอำนาจของคนใหญ่โตที่หนุนหลังอยู่

แสงแรกของวันอาบไล้ผิวนํ้าและอวนล้อม ขณะที่ลูกเรือประมงคนหนึ่งกำลังลงไปแก้อวนที่พันกัน เครื่องมือประมงของเรือประมงพาณิชย์เช่นนี้มักมีขนาดใหญ่และนํ้าหนักมาก อีกทั้งมีศักยภาพในการจับปลาสูง การทำประมงขนาดใหญ่คือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ทรัพยากรทางทะเลในอ่าวไทยร่อยหรอลงอย่างมาก

สารหลักที่ภาพยนตร์สารคดีตอกย้ำตลอดต้นจนจบเรื่องคือ “การประมงยั่งยืนไม่มีอยู่จริง” และ “ทางเลือกเดียวในการเยียวยามหาสมุทร คือมนุษย์ต้องเลิกกินสัตว์ทะเล” ชาวประมงขนาดเล็กจะเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบอย่างสาหัสอีกครั้ง หากผู้บริโภคทุกคนเลิกกินอาหารทะเล

ตามข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และธนาคารโลก ทั่วโลกมีชาวประมงในระบบจับปลาขนาดเล็กประมาณ 37-47 ล้านคน และ 90 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนี้ อยู่ในทวีปเอเชีย พวกเขาพึ่งพาประมงในการดำรงชีพ

ข้อพิสูจน์นี้ยิ่งชัดเจน เมื่อประเทศต่าง ๆ เผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของโควิด 19 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหยุดชะงัก ความต้องการอาหารทะเลลดลง เรือประมงขนาดเล็กต้องหยุดออกทะเล และส่งผลกระทบโดยตรงต่อความอยู่รอดของชาวประมงขนาดเล็ก

แรงงานทาสบนเรือ อดีตอันขมขื่น

Seaspiracy ยังกล่าวถึงภูมิทัศน์อุตสาหกรรมประมงประเทศไทยอย่างรวบรัด พร้อมบทสัมภาษณ์ลูกเรือชาวไทยที่กล่าวว่าเคยถูกทารุณกรรมบนเรือประมงไทย โดยไม่ได้ระบุว่าบทสัมภาษณ์ หรือการถูกใช้แรงงานอย่างผิดกฏหมายของลูกเรือคนนี้ เกิดขึ้นที่ไหน ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะชี้ชัดได้ว่า เหตุการณ์นี้อยู่ในช่วงใดของประวัติศาสตร์การต่อสู้และกวาดล้างการประมงรวมถึงการใช้แรงงานผิดกฏหมายในประเทศไทย

แน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้เคยมีอยู่จริงในอดีต ย้อนกลับไปในปี 2014 มีรายงานที่เชื่อถือได้จากองค์กรไม่แสวงผลกำไร (NGOs) ท้องถิ่นและนานาชาติ รวมถึงข่าวจากสำนักข่าวหลายแห่ง เช่น The Guardian เกี่ยวกับการทำร้ายร่างกาย และฆาตกรรมลูกเรือบนเรือประมงไทย

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แม้ประเทศไทยจะเดินหน้าปราบปรามและแก้ไขข้อผิดพลาดในอดีตอย่างจริงจัง แต่สิ่งสำคัญที่ยังต้องตระหนักร่วมกัน คือช่องว่างบางอย่างยังคงมีอยู่ การทำงานบนเรือประมงพาณิชย์ยังคงเป็นงานสุดทรหดของเหล่าลูกเรือแรงงานข้ามชาติ ด้วยชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน สภาพการทำงานที่ยากลำบาก และพื้นที่พักผ่อนอันคับแคบ

ลูกเรือประมงชาวพม่ากำลังนั่งพักรอเวลาผลัดเปลี่ยนกะ แม้อุตสาหกรรมประมง ในประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก แต่คนไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะปฏิเสธงานนี้ เพราะเป็นงานหนัก เสี่ยงอันตราย และได้ค่าตอบแทนตํ่า อาชีพแรงงานประมงจึงถูกยึดครองโดยแรงงานข้ามชาติเป็นส่วนใหญ่
ภาพถ่ายโดย สิทธิชัย จิตตะทัต (ตีพิมพ์ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมิถุนายน 2556)

การเอาเปรียบแรงงานบนเรือประมงพาณิชย์ยังมีอยู่ ผมมองว่าประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิรูปกฏหมายแรงงาน โดยเฉพาะพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ของไทย และการลงนามในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อให้ชาวประมงข้ามชาติสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานของตนเองได้ สิ่งนี้จะเป็นเครื่องมือ ช่วยพวกเขาต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในการใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมง

นอกจากนี้ ช่วงสัมภาษณ์ลูกเรือชาวไทยที่จำเป็นต้องปกปิดใบหน้าเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากเขาเคยเป็นเหยื่อของการใช้แรงงานอย่างผิดกฏหมาย ผมพบว่าภาพถ่ายทางอากาศ (Done Shot) ที่ระบุว่าเป็นพื้นที่ทางภาคใต้ นั้นดูผิดแปลกไปจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของไทย ที่ผมเคยไปสัมผัสและเก็บภาพถ่ายทางอากาศด้วยตัวเอง

เมื่อลองค้นหาในเว็บไซต์สต็อกฟุตเทจ ก็พบว่าภาพถ่ายทางอากาศดังกล่าว ถูกถ่ายที่ประเทศฟิลิปปินส์ และสามารถซื้อได้ในราคา 6,400 บาท โดยผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีอ้างว่า เขาจำเป็นต้องใช้สต็อกฟุตเทจเนื่องจากต้องการปกปิดตัวตนและที่อยู่ของอดีตลูกเรือคนดังกล่าวเพื่อความปลอดภัย

ภาพจากภาพยนตร์สารคดี Seaspiracy ทาง Netflix

ผมเคยสัมภาษณ์แรงงานที่ถูกทารุณกรรม รวมถึงผู้รอดชีวิตจากกระบวนการค้ามนุษย์มาแล้วมากกว่า 50 คน ผมเข้าใจดีถึงความจำเป็นในการปกป้องตัวตนและที่อยู่ของผู้ใช้สัมภาษณ์ แต่ผมไม่เคยหรือแม่แต่คิดที่จะใช้ภาพถ่ายของสถานที่อื่น

นี่คือจรรยาบรรณสื่อมวลชนในการบอกเล่าความจริง ผมไม่เห็นความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องใช้ภาพถ่ายของสถานที่อื่น มาแอบอ้างเป็นสถานที่ซึ่งระบุในเนื้อหาการสัมภาษณ์

กินปลาอย่างไรให้ยั่งยืน

การเหมารวมว่า “ทุกคนควรเลิกกินปลา” เพราะมันไม่ยั่งยืนต่อมหาสมุทรและมาจากแรงงานทาส นั้นเป็นแนวคิดอันสุดโต่งที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง อย่างที่ได้อธิบายไปข้างต้นว่าการประมงขนาดเล็กเป็นวิถีชีวิตและแหล่งรายได้ที่หล่อเลี้ยงผู้คนเกือบ 40 ล้านคนทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นด้วยว่า ผู้ที่มีทางเลือกในการบริโภค ควรจำกัดการบริโภคอาหารทะเลและใส่ใจในสิ่งที่จะบริโภคให้มากขึ้น เช่น ลดการบริโภคสัตว์ทะเลที่ถูกจับอย่างเข้มข้น อย่างปลาทูน่า เพราะปลาที่ถูกจับด้วยวิธีการที่ไม่ยั่งยืน เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจับสัตว์น้ำพลอยได้ โดยเฉพาะประมงอวนลากที่มักจะลากลูกปลาขนาดเล็กที่ยังไม่ได้ขนาด หรือสัตว์ทะเลหายากขึ้นมาตายจำนวนมหาศาล และเชื่อมโยงกับการใช้แรงงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์

ภาพจากภาพยนตร์สารคดี Seaspiracy ทาง Netflix
ภาพจากภาพยนตร์สารคดี Seaspiracy ทาง Netflix

นอกจากนี้ ผู้ที่มีทางเลือกควรจำกัดการบริโภคปลาและกุ้งที่ถูกเพาะเลี้ยงในฟาร์มเช่นกัน เพราะในกระบวนการเลี้ยง อาหารของสัตว์น้ำในกระชังเหล่านี้ ผลิตจากปลาที่จับในมหาสมุทรอยู่ดี กุ้งจากฟาร์มปริมาณน้อยกว่า 1 ตัน อาจต้องใช้ปลาจากท้องทะเลถึง 6 ตัน มาผลิตเป็นอาหารสำหรับเพาะเลี้ยง แม้ปัจจุบันจะมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการใช้โปรตีนจากแหล่งอื่นมาผลิตอาหารของสัตว์น้ำแล้วก็ตาม

นั่นคือข้อแนะนำสำหรับผู้มีทางเลือกในการบริโภค อย่างไรก็ตาม ยังมีคนนับล้านทั่วโลกที่ต้องพึ่งพาอาหารทะเล เป็นแหล่งโปรตีนหลักในแต่ละวัน เพราะไม่สามารถเข้าถึงหรือมีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะบริโภคโปรตีนทางเลือกอื่น ๆ รวมถึงโปรตีนจากพืช (Plant-Based Protein) ได้

ความไม่มั่นคงทางอาหารที่บุคคลหรือชุมชนสูญเสียการเข้าถึงทรัพยากรทางอาหาร มีแต่จะทวีความรุนแรงเมื่อประชากรโลกเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลให้ฤดูแล้งยาวนานไปจนถึงพายุรุนแรงขึ้น ในอนาคต

เมื่อภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกมีน้อยลง เราไม่สามารถปลูกข้าวโพดบนพื้นที่กว้างใหญ่ และใช้น้ำจืดปริมาณมหาศาลเพื่อทำปศุสัตว์แบบเดิมได้อีกต่อไป มนุษย์ต้องหาทางเลือกในการผลิตโปรตีนจากพืช ที่ใช้ทรัพยากรน้อยลง ให้สารอาหารและปริมาณโปรตีนเพิ่มขึ้น และทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ภาพจากภาพยนตร์สารคดี Seaspiracy ทาง Netflix

สิทธิและอำนาจของผู้บริโภค

ข้อสังเกตเชิงบวกที่ผมขอทิ้งท้าย คือความจริงที่ว่าสารคดีเรื่องนี้ได้จุดประกายการสนทนาขึ้นทั่วโลก ในประเด็นเกี่ยวกับอาหารทะเล และทำให้ผู้บริโภคเริ่มตั้งคำถามว่าอาหารทะเลของพวกเขามาจากไหน ใครเป็นคนจับมัน และจับมันด้วยวิธีการอย่างไร

สำหรับผม นี่คือสิ่งที่ดี เพราะเมื่อผู้บริโภครู้ว่าตนเองมีสิทธิและอำนาจในการตั้งคำถามต่อผู้ผลิตได้ เมื่อนั้นผู้ที่อยู่ในสายพานการผลิตทั้งหมด ต้องร่วมกันรับผิดชอบในการตอบคำถาม และมองหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการติดตามห่วงโซ่อุปทาน ที่จะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าอาหารทะเลที่พวกเขาซื้อและรับประทาน นั้นมาจากการประมงที่ถูกกฎหมาย มีจริยธรรม และยั่งยืนต่อทุกชีวิตในมหาสมุทรของพวกเราทุกคน

ฉลามวาฬที่ยังไม่โตเต็มวัยขนาดร่วมห้าเมตร แหวกว่ายอยู่ในท้องน้ำนอกเกาะบอน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ขณะที่เหล่านักดำน้ำเร่งว่ายตามเพื่อบันทึกภาพปลาขนาดใหญ่ที่สุดแห่งท้องทะเล งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากกิจกรรมท่องเที่ยวดูฉลามนั้นสูงกว่ามูลค่าที่เกิดจากกิจกรรมประมงชนิดเทียบกันไม่ได้
ภาพถ่ายโดย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

เรื่อง มิ่งขวัญ รัตนคช


ข้อมูลอ้างอิง


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : แนวปะการังจะอยู่รอดอย่างไร ภายใต้ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.