รำลึกมาเรียม ดุหยงน้อยที่นำการขับเคลื่อนและความหวังงานอนุรักษ์มาสู่พะยูนไทย

รำลึก ‘มาเรียม’ เพื่อให้มนุษย์ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ กระตุ้นให้ภาครัฐเอาจริงกับกฏหมายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก

2 ปีก่อน ลูกพะยูนกำพร้าเพศเมียที่ชื่อว่า มาเรียม ซึ่งเข้ามาเกยตื้นที่จังหวัดกระบี่ ได้ครองใจผู้คนในหน้าโซเชียลมีเดียของไทย เนื่องจากความน่ารัก และเรื่องราวของความสู้ชีวิตเพื่อเติบโตอยู่รอดของมัน

โดยมาเรียมได้หลงฝูง พลัดพรากจากแม่ในท้องทะเลมาอยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งช่วยกันอนุบาลมาเรียมให้สามารถเติบโตและมีชีวิตรอดในท้องทะเล เกิดเป็นเรื่องราวความผูกพันระหว่างมนุษย์และสัตว์ทะเลตัวหนึ่ง

สิ่งนี้ทำให้มีการส่งต่อกำลังใจจากผู้คนไปยังมาเรียมมากมาย มีอาสาสมัครขอลงพื้นที่ดูแลเจ้ามาเรียม มีการจัดโครงการเพื่อระดมทุนช่วยเหลือ สื่อมวลชนด้านสิ่งแวดล้อมพากันนำเสนอข่าวพัฒนาการอย่างมาเรียมอย่างต่อเนื่อง และผู้คนสังคมได้รับรู้แนวคิดเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะทะเลไทย ผ่านการเฝ้ามองชีวิตของมาเรียม

จนกระทั่งเช้าวันที่ 17 สิงหาคม 2562 มาเรียมได้จากโลกนี้ไปอย่างกระทันหัน

ผลจากการชันสูตร มาเรียมจากเราไปด้วยอาการช็อก และพบเศษพลาสติกเล็กๆ หลายชิ้นขวางลำไส้ จนมีอาการอุดตันบางส่วนและอักเสบ ทำให้มีแก๊สสะสมอยู่เต็มทางเดินอาหาร มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนอง

เราหวังว่าการเสียชีวิตของมาเรียมจะทำให้ผู้คนตระหนักว่ามนุษย์ต้องยุติวิถีชีวิตที่รบกวนสัตว์และธรรมชาติ รวมไปถึงกระตุ้นให้ภาครัฐเอาจริงเอาจังกับการออกกฏหมายด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก

เนื่องในวันมหาสมุทรโลก (World Ocean Day) National Geographic Thailand ขอนำเรื่องราวของมาเรียมเมื่อครั้งที่ยังมีชีวิต ที่ได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของเราเมื่อ 2 ปีก่อน มาเผยแพร่อีกครั้ง เพื่อเป็นการรำลึกมาเรียมและไม่ให้เรื่องราวของมันถูกลืมเลือนไป

เรื่อง  เพชร มโนปวิตร

ภาพถ่าย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

มาเรียม ลูกพะยูนกำพร้า ว่ายน้ำแวะเวียนเข้ามาใกล้แนวหญ้าทะเลที่เกาะลิบง จังหวัดตรัง ซึ่งจัดให้เป็นพื้นที่พักฟื้นของลูกพะยูนตัวนี้ ปัจจุบัน พะยูนถูกจัดให้เป็นสัตว์ทะเลหายากและสัตว์สงวนของไทย ซึ่งมีประชากรเหลืออยู่ในน่านน้ำไทยเพียงราว 300 ตัวเท่านั้น

ช่วงปลายเดือนเมษายน 2562 ทีมงานศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ต ได้รับรายงานลูกพะยูนเข้ามาเกยตื้นที่จังหวัดกระบี่ หลังประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ นักวิชาการตัดสินใจเคลื่อนย้ายลูกพะยูนตัวดังกล่าวไปอนุบาลในแหล่งอาศัยตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของพะยูนในจังหวัดตรัง เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกพะยูนซึ่งได้รับการตั้งชื่อว่า  มาเรียม ได้มีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติอีกครั้ง

การดูแลอนุบาล “มาเรียม” ถือเป็นภารกิจดูแลลูกพะยูนในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยความทุ่มเท ความชำนาญ และความร่วมมือของทุกฝ่าย มาเรียมไม่เพียงเป็นศูนย์รวมใจของนักวิชาการ ชาวบ้านและอาสาสมัครจากทุกแห่งหน แต่ยังกลายเป็นความหวังสำคัญในการจัดการอนุรักษ์ถิ่นอาศัยของพะยูนไทยในระยะยาว

ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ต เล่าว่า ได้รับรายงานการเกยตื้นของมาเรียมตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2562 บริเวณแหล่งหญ้าทะเลอ่าวทึงปอดะ จังหวัดกระบี่ ในสภาพร่างกายที่สมบูรณ์ ภายนอกไม่มีรอยบาดแผล และสามารถว่ายน้ำได้เป็นปกติ

อย่างไรก็ตาม หลังจากชาวบ้านอุ้มไปปล่อยบริเวณที่น้ำทะเลท่วมถึงแล้ว วันต่อมากลับพบว่า มาเรียมยังว่ายวนเวียนอยู่บริเวณใต้ท้องเรือหางยาวและเรือคายักบริเวณปากคลอง ใกล้กับที่พบเกยตื้นครั้งแรก คราวนี้เจ้าหน้าที่เข้ามาร่วมทำการช่วยเหลือด้วย โดยนำไปปล่อยบริเวณแหล่งหญ้าหน้าอ่าวทึงปอดะเช่นเดิมและเฝ้าสังเกตอยู่ห่างๆ ปรากฏว่ามาเรียมหายไปหนึ่งวันก่อนพบว่า กลับมาว่ายวนเวียนอยู่ในบริเวณเรืออีก แสดงว่าพะยูนน้อยพลัดหลงกับแม่พะยูนแล้วจริงๆ

“ถึงตอนนั้นเราต้องตัดสินใจแล้วว่าจะทำยังไงดี เพราะถ้าปล่อยที่เดิมอีก มาเรียมมีโอกาสถูกเรือชน หรือได้รับบาดเจ็บจากการถูกใบพัดเรือได้ง่ายๆ เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่สัญจรเข้า-ออกของเรือประมง แต่หากนำไปอนุบาลในบ่อเลี้ยงที่ภูเก็ต แม้ว่าจะเป็นทางเลือกที่ดีในการรักษาชีวิต แต่คิดดูแล้วก็เป็นเรื่องโหดร้ายเกินไปที่มาเรียมอาจจะต้องอยู่ในบ่อไปตลอดชีวิต”

ดร. ก้องเกียรติ บอกว่า โดยปกติลูกพะยูนในวัยนี้จำเป็นต้องอยู่กับแม่เพื่อได้รับน้ำนมและเรียนรู้ประสบการณ์การใช้ชีวิต ส่วนใหญ่ลูกพะยูนวัยเด็กขนาดนี้ที่กำพร้าแม่มักจะเสียชีวิต ในประเทศไทยเคยมีความพยายามช่วยชีวิตลูกพะยูนเกยตื้นหรือได้รับบาดเจ็บจากเครื่องมือประมงด้วยการนำไปอนุบาลในบ่อเลี้ยงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2522 แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ได้ไม่นาน นานที่สุดคือ 200 วันเมื่อปี พ.ศ. 2534

“เป็นเรื่องยากทีเดียวที่เราต้องเป็นคนเลือกเส้นทางชีวิตให้มาเรียม แต่เราคิดว่าการมีชีวิตอย่างมีคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญกว่าการมีชีวิตรอดในบ่อเลี้ยง เราจึงตัดสินใจเคลื่อนย้ายมาเรียมเมื่อวันที่ 29 เมษายนมาปล่อยบริเวณอ่าวทุ่งคา เกาะลิบง ซึ่งเป็นแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่และมีพะยูนมากกว่าร้อยตัว”

ทีมสัตวแพทย์และอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง คอยเฝ้าดูแลสุขภาพและให้นมกับมาเรียม  การพลัดพรากจากแม่ก่อนถึงวัยหย่านมซึ่งอาจกินเวลาเกือบสองปี  ทำให้มาเรียมต้องได้รับการดูแลจากมนุษย์และได้รับสารอาหารที่จำเป็นเพื่อให้มีชีวิตรอดจนพ้นวัยหย่านม และออกไปใช้ชีวิตในธรรมชาติต่อไปได้

เป็นเรื่องยากทีเดียวที่เราต้องเป็นคนเลือกเส้นทางชีวิตให้มาเรียม แต่เราคิดว่าการมีชีวิตอย่างมีคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญกว่าการมีชีวิตรอดในบ่อเลี้ยง

พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยในทะเล และมีสถานภาพเป็นสัตว์สงวน ซึ่งนับว่าได้รับการปกป้องคุ้มครองสูงสุดในทางกฎหมายของประเทศ ปัจจุบันยังคงพบพะยูนแพร่กระจายอยู่ในบริเวณชายฝั่งที่มีแหล่งหญ้าทะเลอุดมสมบูรณ์ ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน แต่แนวหญ้าทะเลในจังหวัดตรังถือเป็นแหล่งอาศัยที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด ซึ่งจากการบินสำรวจล่าสุดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำโดย ดร.ก้องเกียรติ พบว่ามีจำนวนประชากรพะยูนราว 185 ตัวหรือร้อยละ 70 ของพะยูนทั้งประเทศ ที่น่ายินดีคือประชากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหกปีที่ผ่านมา หลังจากลดลงเหลือราว 125 ตัวเมื่อปี พ.ศ. 2556 จังหวัดตรังจึงมักถูกยกให้เป็นเมืองหลวงของพะยูนในประเทศไทยโดยปริยาย

คนไทยเองน่าจะมีความผูกพันกับพะยูนมาช้านานแล้วจึงมีชื่อเรียกพะยูนหลายชื่อด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น หมูน้ำ, หมูดุด, ดุหยง, เงือก, วัวทะเล และพะยูน หรือปลาพะยูน ชาวปักษ์ใต้นิยมเรียกพะยูนว่า “ดุหยง หรือ ตุหยง” ซึ่งมาจากภาษามลายูที่ใช้เรียกพะยูน (Duyong, sea pig หรือหมูทะเล) อาจเป็นเพราะทั้งความน่ารักน่าสงสารของพะยูน และการที่พะยูนเป็นสัตว์มีรูปร่างพิเศษ อันเป็นที่มาของนางเงือกแห่งท้องทะเล

เมื่อพะยูนน้อยเดินทางมาถึงเกาะลิบง นายสุเทพ ขันชัย หัวหน้ากลุ่มพิทักษ์ดุหยง ตำบลเกาะลิบง จังหวัดตรัง ได้ตั้งชื่อให้ว่า “มาเรียม” แปลว่า “ผู้หญิงที่มีความสง่างามแห่งท้องทะเล” เนื่องจากเป็นลูกพะยูนตัวเมีย

แน่นอนว่าการดูแลพักฟื้นสัตว์ทะเลหายากในบ่อเลี้ยงสามารถจัดการได้ง่ายและเป็นระบบมากกว่า เพราะควบคุมปัจจัยต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพน้ำ อุณหภูมิ และระบบการจัดการที่สะดวกต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ภารกิจการดูแลอนุบาลมาเรียมในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติระบบเปิดจึงเป็นความท้าทายอย่างมาก แต่โชคดีที่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากชุมชนท้องถิ่น

มาเรียมว่ายน้ำคลอเคลียอยู่ใต้ท้องเรือคายักสีส้มที่ถูกตั้งชื่อเล่นให้ว่า “แม่ส้ม” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่าเป็นพฤติกรรมของพะยูนวัยเยาว์ที่ชอบอิงแอบอยู่ใต้ร่างกายของผู้เป็นแม่ในธรรมชาติเพื่อหลบภัย จากภาพแสดงให้เห็นหางที่เป็นแฉกซึ่งเป็นลักษณะเด่นของพะยูนที่แตกต่างจากสัตว์สกุลไซรีเนียชนิดอื่นๆ เช่น มานาที ที่มีหางเป็นรูปใบพัด
หลังจากให้นมมาเรียม ทีมสัตวแพทย์สัตว์น้ำก็ออกพายเรือคายัก “แม่ส้ม” ไปรอบๆอ่าวโดยที่มีเจ้าพะยูนน้อยคอยว่ายน้ำติดตามอยู่ใต้ท้องเรือ เพื่อให้มาเรียมได้ว่ายน้ำออกกำลังบริหารร่างกายหลังอาหารมื้อใหญ่  การดูแลมาเรียมอาจกินเวลายาวนานต่อไปถึงอีกครึ่งปี

เมื่อพะยูนน้อยเดินทางมาถึงเกาะลิบง นายสุเทพ ขันชัย หัวหน้ากลุ่มพิทักษ์ดุหยง ตำบลเกาะลิบง จังหวัดตรัง ได้ตั้งชื่อให้ว่า “มาเรียม” แปลว่า “ผู้หญิงที่มีความสง่างามแห่งท้องทะเล” เนื่องจากเป็นลูกพะยูนตัวเมีย

ทีมงานที่รวมตัวกันเฉพาะกิจประกอบไปด้วยสัตวแพทย์จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช อาสาสมัครกลุ่มพิทักษ์ดุหยง เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ผู้ประสานงานและอาสาสมัครจากกลุ่ม ThaiWhales ซึ่งต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันให้การดูแลมาเรียมตั้งแต่เช้ามืดจนเย็นย่ำทุกวัน โดยภารกิจหลักคือการให้นม ตรวจสุขภาพ และทำหน้าที่เสมือนแม่บุญธรรมให้กับมาเรียม

“การดูแลสัตว์ในทะเลยากกว่าระบบปิดเยอะเลยค่ะ แน่นอนว่าสถานที่ไม่ได้สะดวกสบาย และมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการทำงานตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นถูกแมงกะพรุน หรือคลื่นลมที่คาดเดาไม่ได้ แต่มีข้อดีมากคือสัตว์ได้อยู่ในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ โดยเฉพาะกรณีของมาเรียม เราเรียกว่าเป็นการนำลูกพะยูนมาฟื้นฟูสุขภาพในแหล่งที่อยู่อาศัยในธรรมชาติ เพราะพะยูนได้อยู่ในธรรมชาติ มีโอกาสเรียนรู้กับทะเล และได้ใช้สัญชาตญาณในการดำรงชีวิตค่ะ”​ สัตวแพทย์หญิง พัชราภรณ์ แก้วโม่ง หรือ”หมอฟ้า” แห่งศูนย์วิจัยฯ จังหวัดภูเก็ต หนึ่งในผู้ดูแลมาเรียมให้ความเห็น

โดยเฉลี่ยลูกพะยูนจะอยู่กับแม่จนอายุเกือบสองปีจึงจะหย่านม นั่นหมายความว่ามาเรียมต้องการน้ำนมและการดูแลเสมือนแม่อีกอย่างน้อยหกเดือนจนกว่าจะพร้อมใช้ชีวิตด้วยตัวเอง การดูแลสัตว์ทะเลหายากแต่ละชนิดมีรายละเอียดแตกต่างกันไป ในส่วนของมาเรียมสิ่งที่ทีมงานต้องดูแลคือ  การจัดการด้านโภชนาการที่ต้องเหมาะสมกับความต้องการในช่วงวัย เช่น นอกเหนือจากน้ำนม ยังต้องฝึกให้มาเรียมกินหญ้าทะเลเพื่อให้คุ้นเคยกับอาหารตามธรรมชาติ การดูแลสุขภาพประจำวัน หลังให้กินนมก็จะต้องพาออกไปว่ายน้ำเพื่อออกกำลังกายและคุ้นเคยกับสภาพพื้นที่โดยรอบ นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงเรื่องจิตวิทยาหรือสภาพจิตใจของสัตว์เป็นพิเศษ เนื่องจากมาเรียมเป็นลูกสัตว์ที่ยังต้องการแม่ ต้องการความอบอุ่นและการดูแลปกป้อง

“เราจะเห็นเลยว่ามาเรียมมีพฤติกรรมเหมือนเด็ก เขาจะชอบเข้าไปซ่อนและว่ายคลอเคลียอยู่ใต้ท้องเรือคายักที่เราใช้ เหมือนต้องการความอบอุ่นจากแม่ จนเราตั้งชื่อเรือคายักว่า ‘แม่ส้ม’ ตามสีของเรือ หรือบางครั้งก็ว่ายเข้าไปซุกที่หินก้อนประจำระหว่างรอเราไปให้นม เราเลยตั้งชื่อว่า ‘หินแม่’ พอเวลาผ่านไป น้องเค้าไว้ใจเรามากขึ้น ทุกเช้าก็จะว่ายเข้ามาคลอเคลียรอกินนม หลังกินก็จะมานอนซบ และก็ว่ายน้ำเล่นด้วยเหมือนเด็กๆ ถึงจะพูดไม่ได้ แต่น้องก็ส่งเสียงและสบตากับเราเหมือนพยายามจะสื่อสาร”  หมอฟ้าเล่าบรรยากาศการดูแลมาเรียมที่สร้างความประทับใจให้กับอาสาสมัครทุกคน

อาสาสมัครจากกลุ่มพิทักษ์ดุหยง พยุงตัวมาเรียมที่กำลังงีบหลับหลังกินอาหารจนอิ่มที่ริมแนวป่า 
ความร่วมมือของอาสาสมัครชุมชนบนเกาะลิบงในการทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลิบง เป็นส่วนสำคัญในการเฝ้าดูแลประชากรพะยูนที่ยังหลงเหลือมากที่สุดในไทย

พอเวลาผ่านไป น้องเค้าไว้ใจเรามากขึ้น ทุกเช้าก็จะว่ายเข้ามาคลอเคลียรอกินนม หลังกินก็จะมานอนซบ และก็ว่ายน้ำเล่นด้วยเหมือนเด็กๆ ถึงจะพูดไม่ได้ แต่น้องก็ส่งเสียงและสบตากับเราเหมือนพยายามจะสื่อสาร

เป้าหมายของการดูแลมาเรียมต่อจากนี้ คือการช่วยให้มาเรียมเจริญเติบโตแข็งแรงตามวัย ได้มีโอกาสใช้ชีวิตตามธรรมชาติอีกครั้ง และที่สำคัญต้องมีการคุ้มครองถิ่นที่อยู่อาศัยหรือปกป้องบ้านของมาเรียมให้ปลอดจากภัยคุกคามต่างๆ  แน่นอนว่าภัยคุกคามส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเครืองมือประมงหรือเส้นทางการสัญจรทางเรือ

น่ายินดีที่การบูรณาการในการออกกฎเกณฑ์การจัดการพื้นที่เพื่อช่วยมาเรียมได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากชุมชน โดยเฉพาะมติการรื้อถอน “หลาด” หรือโป๊ะน้ำตื้น (setnet) ออกจากพื้นที่เกาะลิบงทั้งหมด ความจริง “หลาด” เป็นเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายในเขตอนุรักษ์อยู่แล้วเพราะเป็นอันตรายต่อพะยูนและเต่าทะเล การที่ต้องใช้พื้นที่อนุบาลมาเรียมช่วยให้มีการจัดการเรื่องนี้อย่างรวดเร็วและจริงจัง นำโดยคุณชัยพฤกษ์ วีรวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง และผู้นำท้องถิ่นเกาะลิบง รวมทั้งชุมชนชาวเกาะลิบง กลุ่มพิทักษ์ดุหยง

“สิ่งที่เรากังวลอีกอย่างก็คือ มาเรียมอาจมีพฤติกรรมที่คุ้นเคยกับคน ซึ่งอาจจะทำให้เป็นอันตรายต่อตัวเองได้ เช่นเสี่ยงที่จะถูกเรือชนหรือโดนใบพัดเรือ แต่นั่นก็เป็นความเสี่ยงที่ต้องแลกมากับโอกาสในการเรียนรู้เพื่อใช้ชีวิตด้วยตนเอง เราหวังว่าเมื่อมาเรียมโตเป็นสาว อาจจะมีพะยูนตัวผู้ในบริเวณนี้มาจีบไปเข้าฝูงต่อไป” ดร. ก้องเกียรติอธิบาย

ช่วงเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์ระดับหนี่งว่า การมาถึงของมาเรียมช่วยให้เกิดการจัดการอนุรักษ์พื้นที่อย่างแข็งขัน ซึ่งเท่ากับว่าช่วยคุ้มครองระบบนิเวศหญ้าทะเลและพะยูนตัวอื่นๆ ไปด้วย มาเรียมได้ทำหน้าที่เหมือนกับทูตสันถวไมตรีที่ช่วยให้มนุษย์ได้มีโอกาสใกล้ชิดและเข้าใจความต้องการของสัตว์ทะเลหายากอย่างพะยูนมากขึ้น เพราะมาเรียมได้กลายเป็นเหมือนคนในครอบครัว และสมาชิกของชุมชนไปแล้ว เป็นความผูกพันและมิตรภาพที่มองไม่เห็นด้วยตาแต่สัมผัสได้ด้วยใจ

มาเรียมเคี้ยวหญ้าทะเลที่ถูกป้อนเพื่อฝึกฝนให้คุ้นเคยกับการกินอาหารตามธรรมชาติของพะยูน ซึ่งทางหน่วยสัตว์ทะเลหายากหวังว่ามาเรียมจะสามารถใช้ชีวิตในธรรมชาติได้อย่างพะยูนทั่วไปเมื่อถึงเวลาอันควร

หากทุกฝ่ายสามารถร่วมกันบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปกป้องแหล่งอาศัยหากินของพะยูนอย่างเข้มแข็ง ลดภัยคุกคามจากกิจกรรมมนุษย์ โอกาสที่จะใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์ป่าทางอ้อมเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนย่อมเป็นไปได้ เช่นการจัดการท่องเที่ยวชมพะยูนอย่างยั่งยืน โดยมีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นเป็นคนให้ความรู้

โชคชะตาที่ไม่อาจกำหนดได้ของดุหยงน้อยมาเรียม อาจเป็นการจุดประกายครั้งสำคัญให้เกิดการจัดการอนุรักษ์พื้นที่อันเป็นบ้านของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดในประเทศที่เหลืออยู่ ให้ชุมชนและสัตว์ทะเลหายากได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ดุหยง เกาะลิบง การรวมตัวของคนชุมชนเพื่อภารกิจฟื้นฟูท้องทะเล

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.