เธออุทิศชีวิตเพื่อปกป้องช้างของเคนยา
ในวาระนี้ เพาลา คาฮุมบา นักชีววิทยาด้านการอนุรักษ์ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นให้เป็น ผู้ชนะรางวัลนักสำรวจแห่งปีของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ซึ่งเป็นรางวัลประจำปีของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก มอบให้แก่บุคคลที่จุดประกายการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นสำคัญที่โลกกำลังเผชิญอยู่
รางวัลนี้ถือเป็นหนึ่งในสี่รางวัลที่ถูกเสนอจากทางสมาคมในสัปดาห์นี้ภายในเทศกาลนักสำรวจ (Explorers Festival) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก และยังมีรางวัลอื่นๆ ได้แก่ รางวัลบัฟเฟต์ (Buffett Awards) สองรางวัลสำหรับการเป็นผู้นำในงานด้านการอนุรักษ์ และเหรียญฮับบาร์ด (Hubbard Medal) ซึ่งแสดงถึงความโดดเด่นสูงสุดของสมาคม
คาฮุมบากล่าวถึงรางวัลของเธอว่า “นี่ถือเป็นการยืนยันว่าฉันมาถูกทางแล้ว และฉันควรจะเดินหน้าต่อไป” เธอเป็นซีอีโอของไวล์ไลฟ์ไดเร็กต์ (WildlifeDirect) ซึ่งเป็นองค์กรที่อุทิศตนเพื่อหยุดการลักลอบล่าช้าง และสัตว์ป่าอื่น ๆ ในเคนยา ซึ่งเธอมีโครงการอันเป็นเอกลักษณ์คือ “Hands Off Our Elephants” ที่ได้เสริมสร้างกฎหมายต่อต้านการลักลอบล่าสัตว์ กระตุ้นการรับรู้ที่สำคัญ และการสนับสนุนการอนุรักษ์ในประเทศ นับตั้งแต่ริเริ่มโครงการในปี 2013 โครงการนี้มีส่วนให้การล่าช้างในเคนยาได้ลดลงถึงร้อยละ 80 และลดการรุกล้ำที่อยู่อาศัยของแรดได้กว่าร้อยละ 90
คาฮุมบากล่าวว่า แรงผลักดันและแรงบันดาลใจในการปกป้องสัตว์ป่าของเคนยามาจากความเชื่อมั่นที่ว่า “ฉันไม่ใช่แค่สามารถสร้างความแตกต่าง แต่ฉันจำเป็นต้องสร้างความแตกต่าง”
เอนริก ซาลา นักนิเวศวิทยาทางทะเล และนักสำรวจของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟิก ได้รับรางวัลเหรียญฮับบาร์ด ซึ่งตั้งชื่อตามประธานสมาคมท่านแรก การ์ดิเนอร์ กรีน ฮับบาร์ด ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่สุดขององค์กร ซึ่งมอบให้กับบุคคลที่มีความก้าวหน้าในการสำรวจ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และการค้นพบ ผู้ที่เคยได้รับรางวัลก่อนหน้านี้ ได้แก่ นักอนุรักษ์ เจน กูดอลล์ นักบินอวกาศ จอห์น เกล็นน์ และบ็อบ บอลลาร์ด นักสำรวจใต้ทะเลลึก ผู้ค้นพบซากปรักหักพังของเรือไททานิก
ซาลาเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้นำในโครงการทะเลพิสุทธิ์ ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟิก เพื่อปกป้องพื้นที่วิกฤติของมหาสมุทร งานของเขาทำให้เขาต้อง “ดำน้ำไปทั่วโลก ตั้งแต่แนวปะการังในมหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างใหญ่ไปจนถึงหมู่เกาะน้ำแข็งของอาร์กติก” ในปัจจุบัน โครงการทะเลพิสุทธิ์ได้ช่วยสร้างเขตสงวนทางทะเลที่ใหญ่ที่สุด 23 แห่งบนโลก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่าล้านตารางกิโลเมตร
นักชีววิทยาสัตว์ป่า อัลดุลลาฮี อาลี และเบร์นัล โรดริเกซ–เอร์เรรา ได้รับรางวัลบัฟเฟตต์ สำหรับผู้นำในงานด้านการอนุรักษ์
เบร์นัล โรดริเกซ–เอร์เรรา เป็นศาสตราจารย์ที่โรงเรียนชีววิทยามหาวิทยาลัยคอสตาริกา และเป็นผู้ก่อตั้งเขตสงวนทางชีววิทยาตีริมบีนา (Tirimbina Biological Reserve) ซึ่งเป็นองค์กรที่อุทิศให้กับการอนุรักษ์ที่หลบภัยสัตว์ป่าขนาด 3.44 ตารางกิโลเมตร ทางตอนเหนือของคอสตาริกา งานของเขามุ่งเน้นไปที่การปกป้องค้างคาวเกือบ 170 สายพันธุ์ในละตินอเมริกา ซึ่งถูกคุกคาม การสูญเสียถิ่นที่อยู่และการฆ่าโดยเจตนาอันเนื่องมาจากความเข้าใจผิดและความกลัว “เราพึ่งพาความหลากหลายทางชีวภาพ” โรดรเกซ กล่าว ดังนั้น “เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน”
อับดุลลาฮี อาลี ผู้ชนะรางวัลบัฟเฟตต์ ยังเป็นผู้ก่อตั้งโครงการอนุรักษ์ฮิโรลา ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อหยุดยั้งการสูญพันธุ์ของแอนทีโลปฮิโรลาที่หายากและใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งในพื้นที่ตามแนวชายแดนเคนยา–โซมาเลีย ฮิโรลา 300 ถึง 500 ตัวยังคงอยู่ในป่า พวกมันต้องสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยจากการคุกคาม การรุกล้ำแหล่งที่อยู่ และภัยแล้ง ในการทำงานเพื่อปกป้องพวกเขา กลุ่มของอาลีได้ให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยส่งเสริมให้คนในท้องถิ่น รวมทั้งคนเลี้ยงสัตว์โซมาเลียมีบทบาทอย่างแข็งขันในการอนุรักษ์ฮิโรลา
“การเป็นประจักษ์พยานต่อการสูญพันธุ์เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ” เขากล่าว การทำงานเพื่อกอบกู้เผ่าพันธุ์ “ไม่ใช่งานง่าย แต่เป็นแรงบันดาลใจอย่างลึกซึ้งเมื่อคุณไม่ได้ทำคนเดียว แต่ทำไปพร้อมกันกับชุมชนของคุณ”
เพาลา คาฮุมบา กล่าวว่า “ความท้าทายที่สัตว์ป่าในแอฟริกาเผชิญทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตอาจดูมืดมนในบางครั้ง แต่ความคิดที่จะละทิ้งสัตว์ป่าในแอฟริกาคือสำหรับฉันเหมือนกับการทอดทิ้งลูกของฉันให้ตายไป ฉะนั้น ฉันไม่เคยเบื่อที่จะลองวิธีใหม่ ๆ ในการสร้างความแตกต่าง”
เรื่อง นาตาชา แดลี
แปลและเรียบเรียง ต้นคิด เจียรกุล
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ :