ปลาแอนโชวี่เป็นที่รู้จักในฐานะส่วนประกอบของหน้าพิซซ่ามากยิ่งกว่าความสำคัญในฐานะบทบาทในห่วงโซ่อาหารทางทะเลเสียอีก และขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ยืนยันแล้วว่า พฤติกรรมการกินพลาสติกขนาดเล็กหรือไมโครพลาสติกของปลาเหล่านี้ กำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ด้วย เมื่อปลาแอนโชวี่กินขยะพลาสติกขนาดเล็กที่กระจัดกระจายอยู่ในมหาสมุทรเข้าไป มันถูกกินต่อโดยปลาขนาดใหญ่กว่า ดังนั้นสารพิษจากพลาสติกจึงถูกถ่ายทอดสู่ปลาตัวดังกล่าว รวมถึงผู้บริโภคอย่างเราด้วยเช่นกัน
ความเข้าใจผิดว่าขยะพลาสติกคืออาหารเกิดขึ้นจากกลิ่นของมันที่คล้ายกับอาหารจริง รายงานใหม่จากวารสาร Proceedings of the Royal Society B. ที่ทำการทดลองเกี่ยวกับผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล และเพิ่งตีพิมพ์ในสัปดาห์นี้ นอกจากนั้นรายงานอื่นๆ ที่เผยแพร่ลงในวารสาร Science Advances ก็อธิบายถึงวิธีการที่ไมโครพลาสติกเหล่านี้ถูกส่งต่อไปยังมหาสมุทรลึกได้อย่างไร โดยสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่เรียกกันว่า Giant Larvaceans
ไมโครพลาสติกเกิดขึ้นจากขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงในทะเลแตกหักจากผลกระทบของคลื่นและแสงอาทิตย์ พลาสติกขนาดเท่าเมล็ดข้าว หรือประมาณไม่เกิน 5 มิลลิเมตรนี้ ได้เปลี่ยนมหาสมุทรให้กลายเป็น ซุปพลาสติก แต่ผลกระทบของมันยังคงไม่อาจเข้าใจได้ครบทุกด้าน ในปี 2015 มีรายงานการวิจัยที่ช่วยยืนยันถึงปริมาณขยะพลาสติก และการนิยามว่ามหาสมุทรของเรากำลังกลายเป็นซุปพลาสติกนั้น นักวิทยาศาสตร์ไมได้พูดเกินจริง ประมาณปริมาณขยะไมโครพลาสติกในปี 2014 อยู่ที่ 15 – 51 ล้านล้านชิ้น คิดเป็นน้ำหนักประมาณ 93,000 – 236,000 เมตริกตัน
(ภาพถ่ายภาพนี้สะท้อนปัญหาขยะในมหาสมุทรได้ชัดเจน)
คำถามต่อมาคือ จะต้องใช้เวลานานแค่ไหนในการกำจัดพลาสติกเหล่านี้ และจะเกิดอะไรขึ้นกับมหาสมุทรของเราเมื่อสารพิษจากพลาสติกแพร่กระจายไปในมหาสมุทร? สิ่งมีชีวิตกว่า 700 สายพันธุ์กินไมโครพลาสติกเข้าไป และผลกระทบจากมหันตภัยครั้งนี้ยังคงอยู่ระหว่างการค้นคว้า
การวิจัยเกี่ยวกับไมโครพลาสติกก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เมื่อ แมทธิว ซาโวกา นักวิจัยปริญญาเอกจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาและวิทยาศาสตร์การประมง จากเมืองมอนเทอร์เรย์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เริ่มต้นศึกษาปลาแอนโชวี่ ตลอด 2 ปีของการศึกษาพบว่ามีปลากว่า 50 สายพันธุ์ที่กินไมโครพลาสติกเข้าไป และจำนวนนี้เพิ่มเป็น 100 สายพันธุ์ในอีก 2 ปีต่อมา
“ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ปะทุขึ้นในวงการวิทยาศาสตร์ เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา” ซาโวกากล่าว “ในมุมมองของสาธารณชน เมื่อพูดถึงขยะพลาสติกจะคิดถึงแปรงสีฟัน, ไฟแช็ก, ถุงพลาสติก หรืออะไรก็แล้วแต่ที่สามารถระบุได้ แต่ในความเป็นจริง 90% ของมหาสมุทรเต็มไปด้วยขยะขนาดเล็กกว่า 10 มิลลิเมตร มันเล็กมากจริงๆ”
กลิ่นที่เหมือนอาหาร
เมื่อขยะพลาสติกชิ้นใหญ่แตกลง ไมโครพลาสติกเหล่านี้จะกระจัดกระจายไปในทะเลและติดกับสาหร่าย รวมทั้งดูดเอากลิ่นที่ทำให้มันคล้ายกับอาหาร สอดคล้องกับการวิจัยในปี 2016 ที่รายงานว่านกนางนวลเองก็เข้าใจผิดว่าพลาสติกเหล่านี้คืออาหาร เนื่องจากกลิ่นของมัน
ในการศึกษาเกี่ยวกับนก ซาโวกาอ่านรายงานเก่าๆ ของข้อมูลแต่ไม่ได้ทำการทดสอบกับนกที่ยังมีชีวิต ดังนั้นในการศึกษาเกี่ยวกับปลาแอนโชวี่ เขาจึงทดลองกับปลาที่ยังมีชีวิตเพื่อศึกษาพฤติกรรมของพวกมัน
ปลาแอนโชวี่ที่ใช้ในการทดลองมาจากอ่าวมอนเทอร์เรย์ ในแคลิฟอร์เนีย ซาโวกาใช้สารละลายที่ต่างกัน คือหนึ่งสารละลายที่มีกลิ่นของเศษพลาสติก และสองสารละลายที่ปราศจากกลิ่นของพลาสติก เขาพบว่าปลาแอนโชวี่ที่ได้รับสารประกอบด้วยกลิ่นของพลาสติกตอบสนองต่อกลิ่นด้วยการพยายามค้นหาอาหาร ในขณะที่สารละลายปราศจากกลิ่นพลาสติก ปลาแอนโชวี่ไม่มีการตอบสนองใดๆ
(รู้หรือไม่ กากเพชรที่คุณใช้ในชีวิตประจำวันทำกำลังทำร้ายมหาสมุทร)
ปลาแอนโชวี่เป็นหนึ่งในสัตว์ 700 สายพันธุ์ที่กำลังกลืนกินขยะพลาสติก และสาเหตุที่ซาโวกาเลือดปลาแอนโชวี่ก็เพราะมันมีบทบาทสำคัญใยห่วงโซ่อาหาร “พวกมันมีส่วนสำคัญต่อระบบนิเวศของสัตว์ทะเลบริเวณชายฝั่ง” เขากล่าว “พวกมันกินคริลล์ (กุ้งขนาดเล็ก) และมันก็ตกเป็นอาหารของวาฬหลังค่อม สิงโตทะเล นกนางนวล ตลอดจนมนุษย์อย่างเรา”
พลาสติกกระจายไปทั่วได้อย่างไร
ผลการศึกษาชิ้นที่สองที่ถูกเผยแพร่ในสัปดาห์นี้ ให้คำตอบของข้อสงสัยที่ว่า ไมโครพลาสติกเดินทางกระจัดกระจายไปทั่วระบบนิเวศทางทะเลได้อย่างไร แม้แต่ในพื้นที่ห่างไกลอย่างทะเลลึกหรือทะเลอาร์กติก
คาคานิ เคทจา นักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกและนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ศูนย์วิจัยของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำอ่าวมอนเทอร์เรย์พบว่าไมโครพลาสติกจำนวนมากเดินทางไปยังมหาสมุทรลึกโดยสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก หรือรวมเป็นส่วนหนึ่งเข้ากับอวัยวะของ lavaceans โดยผลการศึกษาครั้งนี้ได้มาจากการติดตามขยะพลาสติกที่เดินทางไปพร้อมกับตัว lavaceans พลาสติกเหล่านี้จะถูกขับถ่ายออกมาในรูปของอุจจาระ หรือเมือกของมัน ก่อนจะจมลงสู่ก้นมหาสมุทร นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถคำนวณปริมาณของไมโครพลาสติกที่เดินทางข้ามมหาสมุทรได้ อย่างไรก็ตามการพบไมโครพลาสติกเหล่านี้ในบริเวณมหาสมุทรที่ลึกมากๆ เป็นข้อบ่งชี้ถึงปัญหาดังกล่าว
“พลาสติกจะสร้างปัญหาระยะยาว” เคทจากล่าว “อย่างไรก็ตามผลงานล่าสุดแสดงให้เห็นว่ามีการสะสมของตะกอนพลาสติกที่ด้านล่างของมหาสมุทรคิดดูสิว่าพลาสติกเดินทางไปได้อย่างไร? และพวกมันใช้เวลาในการจมเร็วแค่ไหนหว่าจะไปถึงก้นมหาสมุทร?”
“มีสิ่งมีชีวิตมากมายที่กิน Larvaceans เข้าไป จริงๆ แล้วมีวิธีมากมายที่พลาสติกและสารพิษจะเข้าสู่สัตว์ทะเล และลงท้ายที่บนโต๊ะอาหารของเรา”
โดย ลอร่า ปาร์คเกอร์
อ่านเพิ่มเติม