ไทยพร้อมรับมือ ภาวะลมฟ้าอากาศสุดขั้ว ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกแล้วหรือไม่

โคฟี อันนัน ตั้งคำถามเมื่อครั้งเป็นประธานคณะทำงานโกลบอลฮิวแมนิแทเรียนฟอรัมและตีพิมพ์รายงาน Climate Change – The Anatomy of A Silent Crisis ว่า “ชาวประมงจะไปอยู่ไหนเมื่ออุณหภูมิของท้องทะเลอุ่นขึ้นจนปะการังและปลาหมดไป ชาวนารายย่อยจะทำอย่างไรไรกับปศุสัตว์และพืชผลเมื่อน้ำแห้งเหือด ครอบครัวทั้งหลายจะเหลืออะไร เมื่อผืนดินที่เคยอุดมและแหล่งนํ้าจืดปนเปื้อนเกลือจากนํ้าทะเลหนุน”

คำถามเหล่านี้อาจไม่มีใครอยากตอบจริงจัง เพราะร้อยละ 99 ของผู้เสียชีวิตจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาที่ทั้งยากจนและห่างไกล กล่าวได้ว่าเป็น “กายวิภาคของวิกฤติอันเงียบงัน”

นับตั้งแต่ปี 2558 จิตรภณ ไข่คำออกเดินทางบันทึกภาพภัยแล้งที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ภูผาม่าน และที่อื่น ๆ ในภาคอีสาน ในช่วงเวลานั้น กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนประชาชนว่า อุณหภูมิอาจสูงถึง 44 องศาเซลเซียส ทำสถิติสูงสุดในรอบ 55 ปี

ปีนั้นสำนักงานบริหารมหาสมทุรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือโนอา (NOAA) ก็บันทึกความผิดปกติของสภาพอากาศทั่วโลก ทั้งร้อนสุด ร้อนเกือบสุด แห้งแล้งที่สุด รวมทั้งคลื่นความร้อน ฝนตกหนักผิดปกติด้วยเช่นกัน แต่การประกาศว่าปี 2558 เป็นปีที่ร้อนที่สุดทั่วโลกนั้นไม่ยืดยาว เพราะทั้งโนอาและนาซาเพิ่งประกาศเมื่อเดือนมกราคม 2560 ว่า ปี 2559 เป็นปีที่อุณหภูมิพื้นผิวโลกร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์เท่าที่เคยจดบันทึกกันมาตั้งแต่ 137 ปีก่อน

ส่วนในเมืองไทยเอง วันที่ร้อนที่สุดในเดือนเมษายน ปี 2559 วัดได้ 44.6 องศาเซลเซียสที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และบางท้องถิ่นว่ากันว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุดในรอบร้อยปี ล่าสุดเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2560 เว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า “ในช่วง 3 เดือนนี้ ประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยคาดว่าอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยจะสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย ตลอดช่วงเดือนเมษายนจะเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนที่สุด อุณหภูมิสูงที่สุด 42 – 43 องศาเซลเซียส” และถ้าหากเปิดแผนที่ดูด้วยจะพบว่าพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดอากาศร้อนจัดตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไปนั้นครอบคลุมเกือบทั้งประเทศ จะยกเว้นก็แต่ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคเหนือเพียงสามจังหวัดเท่านั้น

ก็เหมือนปี 2559 และก่อนหน้านั้นแล้วที่คาดการณ์อุณหภูมิสูงสุดไว้ราว ๆ นี้ แต่เมื่อไหร่กันที่เราคุ้นเคยกับอากาศร้อนระดับ 40 องศาเซลเซียส

ไม่ใช่ตอนที่เราเป็นเด็กแน่ ๆ

กลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2560 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้คนทยอยเก็บกวาดและสำรวจความเสียหายจากนํ้าท่วมฉับพลันสืบเนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่องกันถึงสามระลอกภายในเดือนเดียว

ภาวะอากาศรุนแรงสุดขั้ว

ต้นปีที่ผ่านมา ภาคใต้ของประเทศไทยประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่และนานกว่าที่เคยเป็นมา ถึงแม้ว่านํ้าท่วมครั้งล่าสุดจะมีเหตุปัจจัยหลายประการที่มาจากมนุษย์ เช่น การวางผังเมือง การใช้ที่ดินและโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ได้มองเรื่องระบบนิเวศและภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้น แม่นํ้าลำคลองและแหล่งนํ้าตามธรรมชาติที่ถูกรุกลํ้าจนตื้นเขิน ตลอดจนป่าต้นนํ้าถูกทำลาย แต่ปริมาณนํ้าฝนที่มากกว่าปกติ ก็ทำให้นํ้าท่วมรุนแรงยาวนานกว่าที่เคย

ปริมาณนํ้าฝนรายปีที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่ฤดูฝนจะยังคงมีระยะเวลาเท่าเดิม เป็นการคาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในอนาคตที่เว็บไซต์ thailandadaptation.net ระบุไว้ นอกเหนือ จาก “อุณหภูมิเฉลี่ยโดยทั่วไปจะสูงขึ้นเล็กน้อยทั้งกลางวันและกลางคืน” “วันที่ร้อนที่สุดในรอบปีจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นมาก” “อาจมีการขยับเลื่อนของฤดูกาล” “ช่วงเวลาอากาศร้อนที่ยาวนานขึ้น ฤดูหนาวที่สั้นลง” “ฤดูแล้งอาจแล้งจัดเนื่องจากระยะเวลาที่มีอากาศร้อนในรอบปีมีแนวโน้มร้อนมากขึ้นและนานขึ้น” “มีพื้นที่ที่มีอากาศร้อนจัดมากขึ้น” “ความแปรปรวนระหว่างฤดูและระหว่างปีจะเพิ่มสูงขึ้น”โดยคาดว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในช่วง 30 ปีข้างหน้าเป็นต้นไป

ในบรรดาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่จะค่อย ๆ ทวีความรุนแรงขึ้น การเกิดลมฟ้าอากาศสุดขั้ว (climate extreme หรือ extreme weather) ที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไอพีซีซี (IPCC) ใช้เรียกด้วยความหมายเดียวกัน จะเริ่มเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นชนิดไม่ต้องถึงหนึ่งองศาเซลเซียสด้วยซํ้า ในช่วง 10 – 20 ปีที่ผ่านมา ชาวโลกประสบกับคลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง ไฟป่า นํ้าท่วมใหญ่ และพายุหมุนเขตร้อนบ่อยขึ้น รุนแรงขึ้น ผิดปกติขึ้น ไม่เป็นไปตามฤดูกาล และคาดการณ์ได้ยากขึ้นทุกที และที่แย่ไปกว่านั้นคือ สภาพภูมิอากาศจะเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ชนิดที่ไม่อาจหวนกลับคืนมาสู่สภาพเดิมที่เราเคยอยู่กันมาได้อีกต่อไป

“อากาศที่ร้อนขึ้นเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ในโลกนี้มีไม่กี่แห่งที่จะรอดพ้นจากภัยของสภาพอากาศสุดขั้วได้ เราสามารถพูดได้อย่างมั่นใจพอสมควรว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือโลกร้อนที่เกิดจากนํ้ามือมนุษย์นี้ กำลังส่งผลต่อความถี่และความรุนแรงของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว” ปิแอร์ เวลลิงกา ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศของเนเธอร์แลนด์ เคยพูดเอาไว้นานแล้ว

พายุฤดูร้อนและฟ้าผ่าช่วงปลายฤดูร้อนที่แล้งจัดมักเกิดพร้อมพายุลูกเห็บรุนแรงในหลายพื้นที่ของประเทศไทย

ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค กล่าวว่า “โดยปกติเหตุการณ์ภูมิอากาศสุดขั้วมีโอกาสเกิดน้อย แต่ปัจจุบันกลายเป็นว่ามีโอกาสเกิดสูงมาก สำหรับประเทศไทย เราดูค่าเฉลี่ยที่เกิดขึ้นทุก 30 ปี และเห็นภาพว่า มีแนวโน้มฝนเพิ่มขึ้น ประเทศไทยในอนาคตจะมีฝนตกหนักขึ้น ส่วนหน้าแล้งก็รุนแรงมากขึ้นด้วย

“ถึงจะเจอแล้งบ่อย ก็ไม่ได้หมายความว่านํ้าจะไม่ท่วมเลย อนาคตอีก 100 ปีข้างหน้า ก็จะมีโอกาสท่วมมากขึ้น ลมฟ้าอากาศสุดขั้วเกิดขึ้นแน่ สมมุติว่ามีฝนตกหนักที่เคยเกิดขึ้นในรอบ 100 ปีในอนาคต ฝนตกหนักนี้จะเกิดบ่อยขึ้นจนเป็นรอบ 10 ปี สำหรับกรุงเทพฯ อย่างนํ้าท่วมใหญ่อาจเกิดบ่อยเป็นทุก 10 ปีด้วย… ถ้าภูมิอากาศเปลี่ยนไปอย่างถาวร นั่นคือ ‘New Normal’ ”

สอดคล้องกับการศึกษาของโซฟี เลวิส จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียที่พบว่า หากเรายังปล่อยคาร์บอนในอัตราที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ฤดูกาลที่สุดขั้วจะกลายเป็นเรื่องปกติในชั่วเวลาเพียงทศวรรษเดียว และต่อให้เราพยายามลดคาร์บอนที่ปล่อยสู่บรรยากาศ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด อากาศร้อนจัดอย่างที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2558 – 2560 ก็จะกลายเป็น “ความปกติใหม่” ภายในปี พ.ศ. 2583 อยู่ดี

เพชร มโนปวิตร รองหัวหน้าองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติหรือไอยูซีเอ็น (IUCN) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “คนอาจมองสภาพอากาศสุดขั้วว่าเป็นเรื่องของภัยแล้ง นํ้าท่วม และคลื่นความร้อน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นใต้ทะเลไม่ได้แตกต่างกันเลย เมื่อปี 2541 เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวระดับโลกครั้งแรกทำให้สูญเสียปะการังไปเกือบร้อยละ 20 ซึ่งถือว่ารุนแรงมาก หลังจากนั้นก็เริ่มเกิดบ่อยขึ้นมาก

สมัยก่อนปรากฏการณ์นี้อาจจะเกิด 10 – 20 ปีครั้ง แต่เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นภาวะอากาศสุดขั้วใต้ทะเลก็เกิดบ่อยขึ้นตามไปด้วย ต่อมาในปี 2553 ทางฝั่งอันดามันก็เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวรุนแรงจนนักดำนํ้ารู้สึกได้ว่า นํ้าทะเลอุ่นกว่าปกติซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิใต้นํ้าแค่ 1 – 2 องศาเซลเซียสก็นับว่ามีผลมากแล้ว แต่นี่อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียส

“ทะเลเป็นระบบนิเวศที่คาดหมายว่าจะล่มสลายไปก่อนเพื่อน ถ้าอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นตามที่คาดการณ์กัน ทะเลช่วยดูดซับคาร์บอนเกือบหนึ่งในสาม ซึ่งถ้าดูดซับเกินกว่าระดับปกติ ก็จะทำให้นํ้าทะเลมีความเป็นกรดมากขึ้น ส่งผลต่อสัตว์ที่สร้างกระดองอย่างกุ้ง หอย ปู ที่อาจสร้างกระดองไม่ได้อีกต่อไป”

ทางภาคใต้ ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักเมื่อช่วงต้นปี ทำให้เกิดนํ้าท่วมขังเป็นบริเวณกว้างเช่นที่อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

อันที่จริงเพียงแค่กระแสนํ้าในมหาสมุทรผันผวน ก็ส่งผลโดยตรงต่อระบบลมฟ้าอากาศทั้งหมด รวมทั้งวัฏจักรนํ้าที่จะหมุนเร็วขึ้นและตึงเครียดขึ้นด้วย

เรื่องที่ว่าโลกกำลังอยู่ในยุคของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 ถัดจากยุคไดโนเสาร์ ที่เริ่มพูดกันมาหลายปีแล้วนั้น จริงและเร็วขึ้นกว่าที่คาดคิด กลางศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด สิ่งมีชีวิตร้อยละ 30 – 50 อาจสูญพันธุ์ไป นักวิทยาศาสตร์คาดว่า เรากำลังสูญเสียชนิดพันธุ์ต่าง ๆ ไป 1,000 – 10,000 เท่าจากอัตราการสูญพันธุ์ตามธรรมชาติ

ล่าสุดในปีนี้เกรตแบริเออร์รีฟก็กำลังเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวขนานใหญ่ต่อเนื่องจากปีก่อนไม่มีสิ่งใดในโลกไม่เกี่ยวข้องกัน มนุษย์ในฐานะสิ่งมีชีวิตในห่วงโซ่อาหาร และอาศัยอยู่ในโลก ย่อมกำลังเผชิญวิกฤติที่ยังไม่เคยรู้จักหรือพานพบมาก่อน พร้อมกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ

ความเสี่ยงและผลกระทบ

“ภัยที่เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงของประเทศไทยเป็นภัยที่เกี่ยวกับนํ้า ไม่ว่าจะแล้งหรือท่วม แผ่นดินไหวนาน ๆ มาที แต่มาทีก็แรง แต่เรื่องนํ้า ต้องบอกว่าหนักที่สุดแล้วและส่งผลกระทบต่อชีวิตคนไทยมากที่สุด” ดาริน คล่องอักขระ ผู้ประกาศข่าวของไทยพีบีเอส กล่าว ตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ 2554 เป็นต้นมา ดารินมีตำแหน่งเป็นบรรณาธิการข่าวอากาศและผู้ดำเนินรายการ “รู้สู้ภัยพิบัติ” โต๊ะข่าวที่ตั้งขึ้นเพื่อติดตามเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติโดยเฉพาะ

แม้เหตุการณ์นํ้าท่วมใหญ่ที่ส่งผลกระทบถึงคนทั่วประเทศเมื่อ 6 ปีก่อน ไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรง แต่มาจากความแปรปรวนของภูมิอากาศ (climate variability) เนื่องจากเป็นช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ลานีญาบวกกับปัญหาการบริหารจัดการนํ้าและผังเมืองที่ขาดการวางแผน แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้คนไทยจำนวนมากรู้จักกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและเริ่มตระหนักถึงความไม่แน่นอนของลมฟ้าอากาศ

จากประสบการณ์การทำข่าวของดาริน เธอพบว่าชาวบ้านมีความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับภาวะอากาศสุดขั้วมาก “ชาวนาเข้าใจเรื่องลานีญา – เอลนีโญ แม้บางทีเขาใช้คำไม่ถูก แต่เขาก็รู้ว่าปีนี้นํ้ามากหรือแล้งเพราะอะไร”

เดือนมกราคม พ.ศ. 2560 หลายจังหวัดในภาคใต้ประสบปัญหานํ้าท่วมฉับพลันเพราะฝนนอกฤดูซึ่งมีปริมาณมากผิดปกติ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นหนึ่งในพื้นที่ท้ายๆ ที่นํ้าในแม่นํ้าหลายสายไหลมารวมกัน แต่เมื่อนํ้าทะเลหนุนจึงทำให้นํ้าท่วมขังเป็นเวลานาน

ภัยพิบัติจากลมฟ้าอากาศสุดขั้วไม่ว่าจะเป็นแล้งจัดนํ้าท่วม หรือวาตภัย เป็นรูปธรรมหรืออาการที่ปรากฏของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเมื่อเป็นภัยพิบัติย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม หากไม่ได้เกิดผลกระทบต่อสิ่งใด เช่น หากทอร์นาโดพัดผ่านเกาะร้างแห้งแล้งที่ไม่มีคนอาศัยอยู่และไม่มีสิ่งปลูกสร้างเลย ก็ไม่นับว่าเป็นภัยพิบัติ

ดังนั้น เมื่อเกิดภาวะลมฟ้าอากาศสุดขั้ว จึงไม่ได้หมายความว่าจะเกิดภัยพิบัติรุนแรงเหมือนกันทุกครั้งหรือทุกสถานที่ เนื่องจากชุมชนแต่ละแห่งหรือประเทศแต่ละประเทศมีปฏิสัมพันธ์กับปัจจัยทางภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมและผู้คนที่จะพาไปสู่ผลกระทบและภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นไม่เหมือนกัน รวมทั้งทางเลือกในการจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดจากผลกระทบและภัยพิบัติก็แตกต่างกันไปด้วย

ไอพีซีซีจึงมองว่า ลักษณะและความรุนแรงของผลกระทบจากภาวะอากาศสุดขั้ว ไม่ใช่แค่ขึ้นอยู่กับภาวะสุดขั้วในตัวของมันเองเท่านั้น แต่ยังขึ้นกับความล่อแหลม (exposure) และความเปราะบาง (vulnerability) ด้วย แม้หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องดราม่า แต่อยากให้ลองนึกถึงการรับมือ ความเสี่ยง ความล่อแหลม และความเปราะบางต่อการเกิดภัยพิบัติระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทยดูสิว่าใครพร้อมกว่า รับมือได้ดีกว่า สูญเสียน้อยกว่า จัดการความเสียหายและฟื้นฟูตัวเองได้เร็วกว่ากัน

นั่นคือหากเกิดเหตุการณ์เช่นนํ้าท่วมภาคใต้ที่เพิ่งผ่านมาในญี่ปุ่น ตัวเลขต่าง ๆ เหล่านี้อาจเปลี่ยนไป: ผู้เสียชีวิต 80 คน สูญหาย 4 คน ความเสียหายทางเศรษฐกิจ 85,000ถึง 123,841 ล้านบาท ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ 5.6 แสนครัวเรือน 1.7 ล้านคน ปศุสัตว์ 5.7 ล้านตัว สัตว์ตายและสูญหาย 52,958 ตัว สถานที่ราชการและโรงเรียนเสียหาย 2,361 แห่ง

ชาวบ้านที่อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งซุ้มไฟดักจับแมลง เป็นวิธีหนึ่งในการดิ้นรนเพื่อทำมาหากินในช่วงที่ประสบกับภัยแล้งจนไม่สามารถประกอบอาชีพหลักได้

นอกเหนือจากนํ้าท่วมและภัยแล้งที่มาเยือนเมืองไทยบ่อยขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ แล้ว สำหรับกรุงเทพมหานคร ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติและนํ้าอย่าง ดร.เสรีศึกษาเรื่องนํ้าทะเลที่สูงขึ้น 1.3 เซนติเมตรต่อปี “ประมาณปี 2009 สหภาพยุโรปตีพิมพ์รายงานว่ามี 10 เมืองที่จะมีปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเรื่องนํ้าท่วม ซึ่งในเอเชียมีอยู่ 9 เมืองรวมทั้งกรุงเทพฯ ไอพีซีซีก็พยากรณ์ไว้ว่า อีกประมาณ 100 ปี คือปี 2100 นํ้าจะท่วมสูงขึ้นหนึ่งเมตร กรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบหนักเพราะอยู่ระดับนํ้าทะเล หรือสูงกว่าเพียง 1 – 1.5 เมตร อีก 100 ปีก็ปริ่มนํ้า เราจะปรับตัวอย่างไรถ้าปริ่มนํ้า ถ้าไม่มีระบบป้องกัน ในบางพื้นที่เราอยู่ตํ่ากว่าระดับทะเลอยู่แล้ว ก็จมแน่ ยังไม่ได้พูดถึงกรุงเทพฯ ในแง่ที่ค่อย ๆ จมลงไปด้วย”

ต้นเดือนมีนาคม 2560 เว็บไซต์ channelnewsasia.com รายงานว่า กรุงเทพฯ ที่ในอดีตเคยเป็นพื้นที่ชุ่มนํ้าต้องรองรับตึกราม 5 พันตึก ยานยนต์ 9 ล้านคัน ตลอดจนระบบถนนและรางต่าง ๆ บนโคลนอันอ่อนนุ่ม กำลังจมลงราว 1 – 2 เซนติเมตรต่อปี หรือมากกว่านั้นในบางพื้นที่ จนมีการประเมินว่า กรุงเทพฯ อาจจมนํ้าเร็วกว่าที่คิด

เรียนรู้และรับมือ

“เราห้ามภัยพิบัติไม่ให้เกิดไม่ได้ แต่เมื่อภัยมาเราจะอยู่ได้อย่างไร อยู่อย่างปลอดภัย อยู่อย่างไม่ทุกข์มาก อาจจะเดือดร้อนบ้าง แต่ต้องอยู่กับเขาให้ได้ เพราะถึงอย่างไรก็ต้องเกิด มันห้ามไม่ได้” สุปกิต โพธิ์ปภาพันธ์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าว

ไฟป่าเกิดขึ้นต่อเนื่องทุกปีจากการเผาเพื่อทำไร่ข้าวโพด ช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2558 ที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ไฟป่าเผาผลาญเป็นวงกว้างกินพื้นที่หลายแสนไร่่

ในช่วงเหตุการณ์นํ้าท่วมปี 2554 ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ และเทคนิคบรรดามี ตั้งแต่วิธีกั้นนํ้าไม่ให้เข้าบ้าน วิธีจัดเป้ยังชีพยามฉุกเฉิน รายการของยังชีพ วิธีใช้ชีวิตอยู่บนชั้นสอง วิธีทำส้วมเฉพาะกิจ ตู้เย็นไร้ไฟฟ้า วิธีปฐมพยาบาล วิธียกรถ ดีดบ้าน และอื่นๆ นอกเหนือจากข้อมูลเรื่องปริมาณและการมาถึงของนํ้าถูกผ่องถ่ายและส่งต่ออย่างคึกคักในโลกอินเทอร์เน็ต คนไทยโดยเฉพาะในเมืองหลวงเพิ่งจะทำความเข้าใจว่า ตัวเองอาจอยู่กับนํ้าได้ถ้ารู้วิธี ในขณะที่คนต่างจังหวัด รวมทั้งคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในเมืองหลวงปรับตัวได้ง่ายกว่า เพราะคุ้นเคยกับการอยู่กับนํ้าเป็นทุนอยู่แล้ว

เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป พ.ศ. 2555 เราได้เห็นความพยายามถอดบทเรียนและรวบรวมความรู้เป็น “ท่วม อยู่ ได้: ใช้ชีวิตอย่างไรบนความเปลี่ยนแปลง” เป็นนิทรรศการที่น่าสนใจและจัดแสดงอยู่นานหลายเดือนที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบหรือ TCDC

นั่นดูเหมือนจะเป็นการจัดแสดงความรู้เพื่อเผยแพร่สู่การรับรู้ของประชาชนเพียงครั้งเดียวในเมืองหลวง

ในภาครัฐ หน่วยงานหลายแห่งพยายามเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติทั้งในด้านโครงสร้างและไม่ใช่โครงสร้าง เช่น การออกให้ความรู้ด้านภัยพิบัติกับประชาชนการออกกฎระเบียบที่สนับสนุนการป้องกันภัยพิบัติ เป็นต้น

เกษตรกรที่จังหวัดอ่างทองใช้ตะกร้าคลุมต้นมะนาวเพื่อปกป้องจากแสงแดดร้อนจัดในฤดูแล้ง

อรนุช โล้อุนลุม เจ้าหน้าที่กองส่งเสริมการป้องกันสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เล่าถึงการทำงานเตรียมและสนับสนุนชุมชนว่า “กรมฯ มีโครงการสนับสนุนชุมชนที่มีความเสี่ยงแล้วแต่ภัย ใช้หลักการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐานซึ่งเป็นหลักสากลที่ใช้กันทั่วโลก สร้างให้ชุมชนรู้ว่าเมื่อภัยมาจะต้องทำอย่างไร ให้สังเกต มีการแจ้งเตือน อพยพประชาสัมพันธ์ เช็กรายชื่อของคนในชุมชนเอง” มีชุดช่วยเหลือ มีคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหมู่บ้าน จากกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนเอง อรนุชบอกว่าชุมชนบางแห่งคึกคักขยายงานไปสู่การดูแลพื้นที่ธรรมชาติใกล้เคียงด้วย

“ที่ชุมชนท่างาม จังหวัดสิงห์บุรี หลังนํ้าท่วมปี 2554 อบต. ที่นั่นให้ความสำคัญกับเรื่องนํ้าท่วมมาก เพราะตอนนั้นที่ อบต. เป็นที่เดียวที่นํ้าไม่ท่วม หลังจากนํ้าท่วมคราวนั้น มีการปรับ อบต. ใหม่เพื่อทำเป็นศูนย์อพยพเตรียมไว้ทำทางลาดสำหรับคนพิการ ถ้านํ้าท่วมอีกครั้ง ที่นี่จะพร้อมทุกอย่าง ในฐานะคนทำงาน อรนุชมุ่งหวังให้ผู้ประสบภัยสามารถเอาตัวเองให้รอด ช่วยเหลือเพื่อนบ้านและชุมชนของตัวเองได้

ที่อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ภัยแล้งและคลื่นความร้อนแผดเผาจนไม้ผลยืนต้นที่เคยทำรายได้งามให้แก่เกษตรกรในพื้นที่พากันยืนต้นตาย เช่น เจ้าของสวนลำไยรายนี้ที่ทำได้แต่เพียงเฝ้าดูต้นลำไยนับร้อยต้นแห้งตายไปต่อหน้าต่อตา

“เราหนีเหตุการณ์ไปไม่พ้น ต้องเกิดแน่ พอเรารู้ว่าต้องเกิด ขอให้รู้อย่างเดียวว่าจะเกิดเมื่อไร หลังจากนั้นก็ต้องเตรียมตัวรับมือกับมัน” ดร.เสรีพูดถึงคราวนํ้าท่วมใหญ่ปี 2554 เขาออกมาเตือนคนทั่วประเทศเรื่องนํ้ากำลังจะมาทุกวัน แต่กลับปล่อยบ้านของตัวเองในเมืองเอกจังหวัดปทุมธานี ให้จมนํ้า

“ทำไมที่บ้านผมไม่ทำกำแพง หลายคนบอกว่าอาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนํ้า แต่ทำไมนํ้าท่วมบ้าน แสดงว่าคนยังคิดว่าถ้าผมไม่ทำให้นํ้าท่วมบ้านผม ผมจะเป็นฮีโร่ แต่ถ้านํ้าไม่ท่วมบ้านผม แต่ไปท่วมบ้านข้าง ๆ เต็มหมดเลยผมไม่ได้แฮปปี้นะ นํ้าเขามาก็ปล่อยให้เขามา ไม่เป็นไร ปล่อยให้เขาอยู่ไป เราต้องไม่เป็นตัวอย่างให้ทุกคนถมดินกันหมด ถ้าทุกคนถมดินกันหมดก็นึกดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น”

มาซาชิ โซกาเบะ สถาปนิกและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยคานางาวะ ก็มีแนวคิดเช่นเดียวกับอาจารย์เสรี

“ไม่ว่าคันกั้นนํ้าจะสูงแค่ไหน ก็มีโอกาสที่ปริมาณนํ้าฝนจากฝนที่ตกหนักจะไหลทะลักจนล้นคันกั้นนํ้าได้ เราจึงไม่ควรต่อกรกับเหตุการณ์ที่อาจขึ้นได้เหล่านี้อย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง มุ่งแต่จะสร้างตึกแข็งแรงกว่าเดิมหรือคันกั้นนํ้าที่สูงกว่าเดิม ลองนึกภาพดูว่าเมืองของเราจะเป็นอย่างไรหากต้องเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างที่มากจนเกินไปเช่นนั้น

โซกาเบะยังเห็นว่าสิ่งสำคัญคือการเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติซึ่งควรเป็นเรื่องอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน “ทุกวันนี้เราไม่ค่อยได้คิดกันถึงเรื่องความพยายามรับมือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้กันสักเท่าไร… ในทางตรงกันข้าม ลึก ๆ แล้วเราต่างหวังให้ภัยพิบัติครั้งหน้าจะกลายเป็นปัญหาของคนอื่น เราจึงไม่สามารถที่จะเผชิญหน้ากับการเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติอย่างตรงไปตรงมาได้เลย”

ไปให้พ้นจากความเป็นผู้ประสบภัย

พ.ศ. 2532 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ฮันชิน – อาวาจิ ทำให้เมืองโกเบเสียหายอย่างหนักและมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 6,400 คน ในบรรยากาศสิ้นหวัง กลับมีสิ่งที่ฮิโรคะซึ นางาตะ ประธานกรรมการองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรพลัสอาร์ตเรียกว่าเป็น “ลำแสงอ่อน ๆ ที่จะนำทางไปสู่อนาคต” นั่นคือ“สายใยระหว่างผู้คนที่สะท้อนออกมาเป็นรูปธรรมผ่านการทุ่มเทอุทิศตัวของอาสาสมัครผู้รีบเร่งมายังที่เกิดเหตุ และการตั้งใจสั่งสมองค์ความรู้และทักษะการเอาตัวรอดในกรณีเกิดภัยพิบัติในทุกวิถีทาง”

พ.ศ. 2559 เกิดภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี โดยเฉพาะที่อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น บ่อนํ้าขนาดใหญ่ที่เคยเป็นแหล่งจับปลาและผันนํ้าหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรแห่งนี้ กลายสภาพเป็นผืนดินแตกระแหงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

สิบปีหลังจากเหตุการณ์นั้น พลัสอาร์ตร่วมกับเมืองโกเบและจังหวัดเฮียวโงะ พัฒนาและออกแบบโครงการการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีประสิทธิภาพเพื่อส่งผ่านองค์ความรู้และเทคนิคการเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติต่อไปยังคนรุ่นหลังโดยเริ่มต้นจากการสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยและถอดบทเรียนออกมาเป็นองค์ความรู้ที่ “เต็มไปด้วยทักษะและข้อคิดที่ผู้รอดชีวิตเคยใช้และได้ประโยชน์จริง”

“โครงการการเรียนการสอน” ว่าด้วยการรับมือภัยพิบัติ เมื่อถูกออกแบบด้วยความคิดสร้างสรรค์และเป็นขั้นตอนย่อมน่าสนุกและน่าตื่นเต้น เด็ก ๆ ไม่ต้องท่องข้อควรปฏิบัติยามภัยมา แต่จะได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ท่ากายบริหาร เกมกระดาน การประดิษฐ์สิ่งของจำเป็นจากวัสดุที่หาได้ทั่วไป ภาพยนตร์การ์ตูน นิทรรศการตลอดจนการประกวดที่พักฉุกเฉินและการออกแบบผลิตภัณฑ์พร้อมรับมือภัยพิบัตินานาชนิด

การบรรจุวิธีรับมือกับภัยพิบัติลงในหลักสูตรการเรียนการสอนเป็น 1 ใน 10 สิ่งสำคัญของการสร้างเมืองให้ “Resilience” ตามแนวทางของสำนักงานว่าด้วยกลยุทธ์ระหว่างประเทศเพื่อการลดภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (United Nations International Strategy for Disaster Reduction — UNISDR) ซึ่งประกอบไปด้วยการสร้างพลังเครือข่ายพลเมืองที่เข้าใจบทบาทในการลดความเสี่ยงและการเตรียมตัว การจัดสรรงบประมาณ การประเมินความเสี่ยง การลงทุนและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเพื่อลดความเสี่ยง ประเมินความปลอดภัยในโรงเรียนและศูนย์สุขภาพ วางแผนและออกกฎควบคุมการใช้ที่ดินป้องกันระบบนิเวศและแนวกันชนธรรมชาติ ติดตั้งระบบเตือนภัย และหลังภัยพิบัติ ให้ความช่วยเหลือประชาชนการฟื้นฟูที่อยู่อาศัย

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยบัญญัติคำว่า Resilience เป็น “ความสามารถในการฟื้นคืนสู่ปกติการรู้รับ ปรับตัว และฟื้นคืนกลับ การพร้อมรับและฟื้นเร็ว”

รีซิเลียนซ์เป็นวาระระดับโลกที่องค์กรสำคัญๆ อย่างสหประชาชาติและไอพีซีซี ถือเป็นทั้งกระบวนการและเป้าหมายที่ชุมชนและเมืองควรเพิ่มพูนให้มีพร้อม ๆ กับการลดความล่อแหลมและเปราะบาง

“ในทางนิเวศขั้นแรกคือความสามารถของระบบในการดูดซับการกระทบกระเทือน เช่น เมื่อนํ้าทะเลร้อนขึ้น อาจมีปะการังที่ไม่ฟอกขาว ทนเป็นสายพันธุ์อึด ซึ่งยังไม่ค่อยมีในโลกเพราะส่วนใหญ่จะตาย แต่มีปะการังที่ฟอกขาวไปแล้วสองสามครั้ง และบางส่วนที่เริ่มต้านทานได้ กับที่ถูกฟอกขาวตายแล้วฟื้นคืนมาภายในสองสามปี ทั้งสองส่วนรวมกันเป็นรีซิเลียนซ์ ระบบป่าก็เหมือนกัน ถ้าโดนไฟป่าหรือการรบกวนจากมนุษย์หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เสียหายหนักมากแล้วฟื้นกลับมาได้ ระบบที่มีคุณสมบัติและความสามารถในการฟื้นตัวกลับมาได้เองก็เรียกได้ว่ามีรีซีเลียนซ์” เพชร มโนปวิตร จากไอยูซีเอ็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อธิบาย

“นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อมโยงว่าถ้ามีความหลากหลายทางชีวภาพ มีภูมิคุ้มกันที่ดี เวลาเจอเหตุการณ์ร้ายแรงก็หายได้ หรือเจอฝนแล้งนํ้าท่วมเข้ามาก็ไม่เป็นไรเพราะแข็งแรง… แต่รีซิเลียนซ์ไม่ใช่กลับมาจุดเดิม ปะการังที่เคยผ่านการฟอกขาวมาแล้ว ก็จะมีการคัดสายพันธุ์ เป็นลูปที่หาจุดสมดุลใหม่ และมีความสามารถในการเรียนรู้กับสิ่งที่เคยเผชิญ ไม่ได้กลับมาหาจุดเดิมหรือใช้โครงสร้างอาคารเดิมที่เคยถูกพายุถล่มไป… ทำอย่างไรจะเพิ่มรีซิเลียนซ์ให้ระบบ ทั้งระบบนิเวศและสังคม เรียนรู้อยู่กับความไม่แน่นอน ความไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ ชุมชนเองก็ต้องติดตามสถานการณ์ คิดว่ามันจะเหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว”

เมื่อแปลงจากระบบนิเวศมาเป็นสังคมมนุษย์ การปรับตัวแบบรีซิเลียนซ์จึงประกอบไปด้วยเรื่องพื้นฐานสุด ๆอย่างการขจัดความยากจน เพราะกลุ่มคนรายได้น้อยมีความเปราะบางมากกว่า ฟื้นคืนยากกว่า ลดความเหลื่อมลํ้าการเข้าถึงทรัพยากรพื้นฐาน และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติจากลมฟ้าอากาศสุดขั้ว

ไม่นานมานี้ สถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์มจัดหมวดหมู่ความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งพิจารณาจากการที่รัฐบาลรับรู้และมองความเปราะบางของประเทศตัวเองและการจัดลำดับความสำคัญโดยผู้มีบทบาทเกี่ยวข้อง โดยแบ่งเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มริเริ่ม (adaptation pioneers) ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม กลุ่มดาวรุ่ง (emerging champions) ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย พม่า และกลุ่มนั่งรอ (wait-and-see adaptors) ได้แก่ ลาว มาเลเซีย และไทย

รายงานชิ้นนี้เอ่ยถึงโอกาสในการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสาเหตุที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์นํ้าท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 แต่ความวุ่นวายทางการเมืองทำให้เรื่องนี้ล่าช้าออกไป

ในวันนี้ เมืองใหญ่ทั่วโลกกำลังเดินหน้าด้วยกลไกทางสังคม เศรษฐกิจ และธรรมชาติ เพื่อเพิ่มรีซิเลียนซ์ให้ตัวเองอย่างขนานใหญ่

น่าจะเป็นการดีที่เราจะคิดถึงเรื่องนี้และเข้าใจว่า ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงไปและยากจะหวนคืน เราจะได้อยู่กับความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ดี

ไม่ใช่เป็นได้แค่ผู้ประสบภัย

เรื่อง นิรมล มูนจินดา

ภาพถ่าย จิตรภณ ไข่คำ

เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนเมษายน 2560


อ่านเพิ่มเติม การเมืองเรื่องน้ำ: ปัญหาการจัดการน้ำในเมืองไทย

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.