บางครั้ง ภาพถ่ายเพียงภาพเดียวก็สามารถจุดประกายความหวังเหล่านั้นได้ บางครั้ง ภาพถ่ายอาจเป็นสื่อกลางบอกเล่าให้เห็นภาพความเสี่ยงที่กำลังเกิดขึ้น และที่สำคัญ ภาพถ่ายยังจุดประกายแนวคิดที่ว่า เราจะมีส่วนร่วมลงมือทำอะไรได้บ้าง หรือจะว่าง่าย ๆ ก็คือ ภาพถ่ายสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ และในขณะที่โลกของเรากำลังเผชิญกับความจริงในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ก็ไม่มีเรื่องไหนใหญ่เท่านี้อีกแล้ว
บางภาพ ราวกับฉุดกระชากใจตั้งแต่แรกเห็น อย่างภาพแนวปะการังที่กำลังตายบน Great Barrier Reef วางคู่กันกับภาพเก่าที่เคยบอกเล่าว่าปะการังเคยมีชีวิตชีวามากมายเพียงใด บางภาพ สร้างแรงบันดาลใจในการแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงไม่เพียงแต่เป็นไปได้เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นได้จริง และพวกเราก็เฉลียวฉลาดและทักษะมากพอที่จะสร้างความแตกต่างได้อย่างเห็นได้ชัด
แต่ท่ามกลางความผิดปกติแหล่านี้ยังมีความหวัง ธรรมชาติคือความยืดหยุ่น และมอบโอกาสแห่งความเปลี่ยนแปลงให้สามารถฟื้นฟูกลับคืนมาได้เสมอ หากเพียงเรามีความกล้าที่จะทำให้มันเกิดขึ้น
สถูปกรวยน้ำแข็งขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านอยู่เหนือชายคนหนึ่งในดินแดนทางตอนเหนือของลาดักห์ เมื่อหิมะและธารน้ำแข็งลดน้อยลง เจดีย์จะถูกสร้างขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำในรูปแบบน้ำแข็ง โครงสร้างซึ่งชนะการประกวดสถูปน้ำแข็งขนาด 110 ฟุต (33.5 เมตร) นี้ ตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้าน Shara Phuktsey มีหน้าที่เก็บกักน้ำเกือบสองล้านแกลลอนซึ่งจะช่วยทดน้ำสำหรับทุ่งนาในสี่หมู่บ้าน
ในเคอเรลยา รัสเซีย อาสาสมัครนักดับเพลิงวัย 37 ปีชื่อว่า Oleg Shcherbakov กำลังขับรถมอเตอร์ไซค์ฝ่ากลุ่มควันหนาทึบ ในขณะที่ออกเดินทางไปดับเพลิงยังพื้นที่ที่อยู่ห่างออกไปไม่ถึง 400 เมต
หญิงคนหนึ่งเป็นลมจากความร้อนในระหว่างพิธี Hinglaj การแสวงบุญของชาวฮินดูผ่านทะเลทรายทางตะวันตกของปากีสถาน ความร้อนจัดนำไปสู่สถิติการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก ยิ่งเป็นเหมือนการย้ำให้เห็นความต่างระหว่างคนที่สามารถปรับตัวได้กับคนที่ปรับไม่ไหว บางคนถึงกับหนีออกมาจากพื้นที่ที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจนทนไม่ไหว
แม่วาฬหลังค่อมและลูกของเธอว่ายน้ำผ่านเกาะ Reunion ในมหาสมุทรอินเดีย ประชากรวาฬหลังค่อมถูกทำลายโดยการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ในครึ่งแรกของทศวรรษที่ 20 การล่าวาฬเชิงพาณิชย์สิ้นสุดลงในช่วงต้นศตวรรษที่ 1970 และจำนวนประชากรวาฬหลังค่อมกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ในบางพื้นที่ เกือบเท่ากับจำนวนก่อนการล่าวาฬเกิดขึ้น
น้ำที่ละลายกัดเซาะให้เกิดร่องบนภูเขาน้ำแข็งในแอนตาร์กติกา ภูเขาน้ำแข็งมักละลายอยู่เสมอ แต่คาบสมุทรแอนตาร์กติกเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่อุ่นเร็วที่สุดในโลก ภูมิภาคนี้คาดว่าจะอบอุ่นขึ้นอีก 2 องศาฟาเรนไฮต์ (1.1 องศาเซลเซียส) ในอีก 20 ปีข้างหน้า
ในไนโรบี เคนยา John Chege และ Amos Kimani ออกลาดตระเวนป่า Karura ซึ่งเป็นป่าขนาดใหญ่ของเมือง พวกเขาขี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่พึ่งเปิดตัวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องเพื่อลดมลพิษทางอากาศ ปรับปรุงความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และสร้างงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เสียงเครื่องยนต์เดินเงียบคือความเปลี่ยนแปลงที่น่ายินดีสำหรับผู้มาเยือนป่า ซึ่งครั้งหนึ่งการเดินอย่างสงบสุขถูกรบกวนด้วยเสียงเครื่องยนต์เสียงดังและควันพิษจากเครื่องยนต์ดีเซล
คนงานพ่นควันกำจัดยุงบนถนนในกรุงนิวเดลี อินเดีย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย และชิคุนกุนยา เมื่ออุณหภูมิอากาศสูงขึ้น ความเสี่ยงที่ผู้คนจะติดโรคที่มียุงเป็นพาหะจะเพิ่มขึ้น บทบรรณาธิการซึ่งตีพิมพ์โดยนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังในวารสารการแพทย์หลายร้อยฉบับเรียกร้องให้มีการดำเนินการด้านสภาพอากาศอย่างรวดเร็ว เพื่อปกป้องสุขภาพมนุษย์
แท่น BorWin beta เป็นส่วนหนึ่งของฟาร์มกังหันลม Veja Mate ในทะเลเหนือ แท่นดังกล่าวจะถ่ายโอนพลังงานไปยังโครงข่ายพลังงานในเยอรมนีซึ่งอยู่ห่างออกไป 70 ไมล์
ครอบครัว Carlen ดูแลถ้ำในธารน้ำแข็ง Rhône Glacier ในสวิตเซอร์แลนด์มาตั้งแต่ปี 1988 แต่เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นเริ่มทำให้น้ำแข็งละลาย พวกเราก็เกิดไอเดียใหม่ขึ้นมา เป็นเวลาแปดปีที่พวกเขาได้ห่มผ้าให้กับธารน้ำแข็งด้วยผ้าห่มขนแกะสะท้อนแสงอาทิตย์ ด้วยความหวังที่จะปกป้องธารน้ำแข็งซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งนี้ไว้ให้ได้
ในเดือนสิงหาคม เปลวเพลิง Caldor ลุกโชนไปยังแอ่งทะเลสาบ Tahoe ในแคลิฟอร์เนีย นักผจญเพลิงกับ CAL FIRE และแผนกดับเพลิงอื่น ๆ พยายามปกป้องบ้านและที่พักพิง สุดท้ายแล้วโครงสร้างราว 1,000 หลัง ซึ่งมากกว่า 700 หลังเป็นบ้าน ถูกทำลายลง
อุทกภัยรุนแรงที่เกิดขึ้นจากน้ำฝนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในเยอรมนีช่วงเดือนกรกฎาคม ภาพนี้ถูกแชร์บนทวิตเตอร์โดยเจ้าหน้าที่ในโคโลญ แสดงให้เห็นภาพน้ำท่วมใน Erftstadt-Blessem น้ำฝนที่ตกภายในวันเดียวทั่วทั้งภูมิภาคมีปริมาณเทียบเท่ากับน้ำฝนที่ตกในเวลาเกือบ 2 เดือน บ้านเรือนหลายหลังถูกกวาดล้าง และผู้คน 170 คนเสียชีวิต
งานวิจัยที่น่าตกใจชี้ให้เห็นว่า ภายในปี 2040 นี้ แนวปะการัง 70-90% กำลังจะตายลง เป็นความผิดของใคร? อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นทำให้ปะการังอยู่รอดได้ยาก แนวปะการังอาศัยในภาวะพึ่งพิงอย่างซับซ้อนกับสาหร่าย ในฐานะผู้ให้สารอาหารกับปะการัง ในน้ำอุ่น ปะการังจะขับสาหร่ายทิ้งแล้วเปลี่ยนเป็นสีขาว นั่นคือกระบวนการที่รู้จักกันดีในชื่อปะการังฟอกขาว
ภาพถ่ายนี้ในปี 2010 มาจากแนวปะการัง Great Barrier Reef ในออสเตรเลียถูกวางเคียงข้างกับแนวปะการังจุดเดียวกันในปี 2019 ซึ่งอุณหภูมิของมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นในปี 2016 น่าจะเป็นสาเหตุของเหตุการณ์นี้
ช่วงกันยายน เรือนแพตั้งอยู่บนผืนน้ำแคบๆ ในทะเลสาบ Oroville ในแคลิฟอร์เนีย ในขณะนั้น ทะเลสาบมีปริมาณเพียง 23% ของความจุเต็มที่อันเนื่องมาจากภัยแล้งรุนแรงในภูมิภาค ในช่วงฤดูร้อน ฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกต้องเผชิญกับภาวะอากาศร้อนจัด ความแห้งแล้งรุนแรง และไฟป่ามหึมา
ครอบครัวล้อมวงนั่งรับประทานอาหารเย็นในบ้านที่ถูกน้ำท่วมในชวากลาง อินโดนีเซีย เป็นเวลากว่า 40 ปีที่พวกเขาเฝ้าดูพื้นที่การเกษตรอันอุดมสมบูรณ์ค่อยๆ จมหายไปใต้ผืนทะเล พวกเขาลงมือยกทุกอย่างในบ้านขึ้นเรียบร้อยแล้วเพื่อรับมือกับเหตุการณ์
ศูนย์เพาะเลี้ยงสาหร่าย อาคารขนาด 1,600 ตารางฟุตภายในมหาวิทยาลัยเทคนิคมิวนิค มุ่งเน้นที่การใช้สาหร่ายเพื่อผลิต Biokerosene และสารประกอบเคมีอื่นๆ ด้วยไฟ LED ประสิทธิภาพสูงร่วมกับกระจกใส นักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างสรรค์สภาวะภูมิอากาศที่ใดก็ได้บนโลก สำหรับจำลองวงจรการเจริญเติบโตของสาหร่าย ผลลัพธ์จากที่นี่จะถูกใช้เพื่อผลิตเชื้อเพลิงที่เบากว่า รวมทั้งวัสดุก่อสร้างสำหรับอุตสาหกรรมการบิน
ในซูริก สวิตเซอร์แลนด์ เครื่องจักรที่ผลิตโดยบริษัท Climeworks กำลังทำการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ ซึ่งเป็นควาพยายามที่จะบรรเทาสภาวะการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ขั้นแรก อากาศจะถูกดูดเข้าไปยังตัวสะสมด้วยพัดลมผ่านตัวกรองสำหรับดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ จากนั้น ก๊าซจะถูกให้ความร้อนสูง แล้วจึงค่อยรวบรวมและนำกลับมาใช้ใหม่หรือกักเก็บเอาไว้
พ่อค้าขุดถ่านหินดิบพบเห็นได้ทั่วไปตามท้องถนนในอูลานบาตอร์ เมืองหลวงของมองโกเลีย ครอบครัวเดียวอาจเผาผลาญเชื้อเพลิงถึง 3 ตันในแต่ละฤดูหนาว รัฐบาลได้สั่งห้ามการใช้ถ่านหินดิบ ด้วยการใช้ถ่านอัดแท่ง ซึ่งเป็นบล็อกอัดทำจากฝุ่นถ่านหินหรือชีวมวล หากแต่มลพิษทางอากาศยังคงสูงถึงขั้นอันตราย
การเคลื่อนย้ายผู้โดยสารบนท้องฟ้าโดยไม่ใช้เชื้อเพลิงถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับเที่ยวบินระยะไกล ส่วนเที่ยวบินระยะสั้นกว่า หลายบริษัท รวมถึง Wisk สตาร์ทอัพในแคลิฟอร์เนีย กำลังออกแบบเครื่องบินไฟฟ้า โดยเครื่องบินไร้คนขับของ Wisk สามารถบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่งโดยไม่ต้องใช้รันเวย์
ที่ Ford Ion Park ใน Allen Park รัฐมิชิแกน แบตเตอรี่ได้รับการวิจัยและทดสอบ โดยแบตเตอรี่เหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญของยานพาหนะไฟฟ้า และผู้ผลิตยานยนต์พยายามทำให้น้ำหนักเบาลง ชาร์จเร็วขึ้น และใช้งานได้ยาวนานกว่า
สวนปาล์มน้ำมันบริเวณลุ่มน้ำ Caimpugan ในฟิลิปปินส์ โดยทั่วโลกมีความต้องการปริมาณน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นผลิตผลจากต้นปาล์มน้ำมัน น้ำมันอเนกประสงค์นี้สามารถใช้งานได้กับทุกอย่างตั้งแต่ทำอาหารไปจนถึงเป็นแชมพู แต่อีกทางหนึ่งก็เป็นสาเหตุสำคัญในการตัดไม้ทำลายป่าด้วย
เรือกู้ภัยแล่นกลางลำน้ำท่วมใน Barataria รัฐลุยเซียนา พายุเฮอริเคนไอดา ความรุนแรงระดับ 4 พัดถล่มทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐลุยเซียนาในช่วงเดือนสิงหาคม พายุพัดทำลายบ้านเรือนและร้านค้าจนเสียหาย ทำให้ไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง และนำไปสู่น้ำท่วมในบางพื้นที่รอบเมืองนิวออร์ลีนส์
นักชีววิทยาผู้โศกเศร้ากับนากทะเลที่ตายจากเหตุการณ์สาหร่ายพิษเบ่งบานบริเวณหาดกรวดในโฮเมอร์ รัฐอะแลสกา
เช่นเดียวกันกับพื้นที่ตอนเหนือหลายแห่ง มลรัฐอะแลสกามีอากาศอุ่นขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นสองเท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งทำให้ทะเลเข้าสู่สภาวะเหมาะสมสำหรับการขยายตัวของสาหร่ายพิษ ผลกระทบดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับห่วงโซ่อาหาร ทำให้หอยมีพิษ และคร่าชีวิตวาฬ วอลรัส นก และสัตว์ทะเลอื่นๆ ที่กินมันเข้าไป
Global Himalayan Expedition เป็นโครงการที่จะนำพลังงานแสงอาทิตย์กระจายออกไปยังหมู่บ้านห่างไกลทั่วโลก ที่นี่ สมาชิกทีมสำรวจและชาวบ้านในหมู่บ้าน Yal กำลังเดินทางพร้อมกับแผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ และอุปกรณ์ติดตั้งอื่นๆ การเดินทางนี้ใช้เวลาสองวันในการขับรถ และจบลงด้วยการเดินเท้า
ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กับแผงเคลือบฟิล์มโพลิเมอร์ชนิดใหม่จะช่วยแผ่กระจายความร้อนผ่านชั้นบรรยากาศออกสู่อวกาศ ซึ่งช่วยให้อากาศบริเวณนั้นเย็นลงกว่าโดยรอบ แผงเหล่านี้ช่วยลดความต้องการใช้งานเครื่องปรับอากาศลงได้
น้ำท่วมล้นทางเดินที่หาด Montrose ใกล้เขตเมืองของชิคาโก เหตุการณ์ฝนตกหนักในปี 2019 หนุนให้น้ำในทะเลสาบมิชิแกน ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าของทะเลสาบเกรตเลกส์ของอเมริกา มีระดับสูงขึ้นเกือบ 2 ฟุต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลภาวะ และสิ่งมีชีวิตแปลกหน้ากำลังคุกคามระบบนิเวศที่ซับซ้อนนี้
หญิงสาวเผชิญกับลมแรงท่ามกลางพายุทรายตามฤดูกาลในปักกิ่ง ประเทศจีน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการแปรสภาพเป็นทะเลทรายและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงยิ่งขึ้น การปลดปล่อยมลพิษจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิ และผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นตัวสร้างให้เกิดมลพิษทางอากาศ
เรื่อง Simon Ingram และ Sarah Gibbens