ยางพารา : พืชเศรษฐกิจหรือหายนะระบบนิเวศ

ยางพารา : พืชเศรษฐกิจหรือหายนะระบบนิเวศ

อากาศวันนั้นแจ่มใส ภาคเหนือของประเทศไทยดูมีชีวิตชีวาอยู่กลางแสงอาทิตย์เดือนพฤษภาคม ชายหนุ่มจึงขับรถปิกอัปคันใหม่เอี่ยมลุยลงไปในลำธารที่ไหลผ่านหมู่บ้านทุ่งนาน้อยของเขา ฝูงวัวกับชาวบ้านเดินผ่านไปขณะที่เขายืนอยู่ในน้ำ หนุ่มวัย 21 ปีกับรถคันโก้ที่เขาล้างและขัดสีฉวีวรรณจนเงาวับ

ก่อนหน้านี้ไม่นาน โอกาสที่ใครสักคนอย่างปิยวุฒิ อนุรักษ์บรรพต หรือที่เพื่อนๆเรียกว่า “ชิน” จะมีรถปิกอัปคันงามในวัยหนุ่มเช่นนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้ ชาวบ้านในหมู่บ้านห่างไกลอย่างทุ่งนาน้อยนั้นยากจน แต่ไม่นานมานี้ครอบครัวอย่างบ้านของชินร่ำรวยขึ้นมาก  เหตุผลเห็นได้จากเนินเขาด้านหลังของเขา ย้อนหลังไปเพียงสิบปีก่อน เนินเหล่านี้ปกคลุมไปด้วยป่าดิบชื้นรกชัฏ  มีพืชพรรณพื้นเมืองขึ้นรกเรื้อแน่นขนัด ทว่าปัจจุบัน ลาดเขาส่วนใหญ่ถูกแผ้วถางจนเตียนโล่งแล้วปลูกพืชชนิดเดียวคือยางพารา  คืนแล้วคืนเล่าที่ครอบครัวของชินกับอีกหลายหมื่นครอบครัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าสวนไปกรีดและรองน้ำยางในลักษณะเดียวกับการรองน้ำหวานจากต้นเมเปิล น้ำยางข้นสีขาวที่หยดลงสู่ถ้วยรองจะผ่านการทำให้แข็งตัว  รีดเป็นแผ่น แล้วขนส่งไปยังโรงงาน เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นแหวนยางรูปวงกลม สายพาน แผ่นปะเก็น ฉนวน และยางรถยนต์จำนวนมหาศาล น้ำยางที่รวบรวมได้ราวสามในสี่ของโลกใช้ผลิตยางสำหรับรถยนต์ รถบรรทุก และเครื่องบินรวมแล้วปีละเกือบสองพันล้านเส้น

ยางมีบทบาทสำคัญอย่างเงียบๆในประวัติศาสตร์การเมืองและสิ่งแวดล้อมของโลกมากว่า 150 ปีแล้ว ถ้าคุณอยากให้มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมก็ต้องมีวัตถุดิบสามชนิด ได้แก่เหล็กเพื่อทำส่วนที่เป็นเหล็กกล้าของเครื่องจักร เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อให้พลังงานขับเคลื่อนเครื่องจักรเหล่านั้น และยางเพื่อเชื่อมต่อและปกป้องชิ้นส่วนที่มีการเคลื่อนไหว

ปิยวุฒิ หรือ “ชิน” อนุรักษ์บรรพต ลงไปล้างรถปิกอัปคันใหม่ในลำธารของหมู่บ้าน รถของเขาคือสัญลักษณ์ของความร่ำรวยและวัฒนธรรมการบริโภคที่ยางพารานำมาสู่หลายพื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อนึกถึงยาง คนส่วนใหญ่มักนึกภาพผลิตภัณฑ์จากสารเคมีสังเคราะห์ ความจริงแล้ว ยางในโลกกว่าร้อยละ 40 มาจากต้นไม้ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นต้นยางพารา ทุกวันนี้ ยางพาราแทบจะปลูกกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงแห่งเดียว เนื่องจากภูมิภาคนี้มีทั้งสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยและโครงสร้างพื้นฐานประกอบกันซึ่งไม่ปรากฏในภูมิภาคอื่นๆ แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจโลกจะผันผวน แต่ความต้องการยางรถยนต์ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดสภาพคล้ายกระแสตื่นทองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  สำหรับผู้คนหลายล้านคนในภูมิภาคยากจนของโลกแห่งนี้ ความต้องการยางที่พุ่งสูงลิ่วช่วยบันดาลความร่ำรวยให้  ทั้งยังช่วยขจัดความโดดเดี่ยวห่างไกล  ปัจจุบัน “ทางหลวงสายยางพารา”ใหม่เอี่ยมเชื่อมสวนยางที่เคยอยู่ไกลสุดกู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ากับโรงงานผลิตยางรถยนต์ในภาคเหนือของจีน

ทว่าผลที่ตามมาจากการค้ายางไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น ชาวบ้านแบบเดียวกับชินจำนวนมากในภูมิภาค    เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อให้เกิดสิ่งที่เจฟเฟอร์สัน ฟอกซ์ จากศูนย์ตะวันออก-ตะวันตก (East-West Center) ในฮาวาย เรียกว่า “การเปลี่ยนโฉมทางนิเวศวิทยาที่ใหญ่ที่สุดและรวดเร็วที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ” ชาวสวนในจีน เวียดนาม ลาว ไทย กัมพูชา และเมียนมาร์ แผ้วถางหรือเผาป่า แล้วปลูกต้นยางพาราแถวแล้วแถวเล่า การกระทำเช่นนี้เป็นการเปลี่ยนระบบนิเวศซึ่งมีความหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกไปสู่การปลูกพืชชนิดเดียวหรือพืชเชิงเดี่ยว (monoculture) นั่นอาจส่งผลร้ายต่อการทำหน้าที่ทางนิเวศวิทยาระดับพื้นฐานของภูมิภาคซึ่งรองรับผู้คนหลายสิบล้านคน

การปลูกพืชชนิดเดียวให้ผลผลิตสูงมาก ขณะเดียวกันก็เสี่ยงต่อความเสียหายอย่างมากเช่นกัน เรื่องราวของเฮนรี ฟอร์ด พิสูจน์ความจริงข้อนี้ได้ดี ฟอร์ดมีเหมืองเหล็กและเหมืองถ่านหินของตนเอง สร้างโรงไฟฟ้าเอง ทำป่าไม้เองกลุ่มโรงงานริเวอร์รูจของเขาในเมืองเดียร์บอร์น รัฐมิชิแกน มีท่าเรือน้ำลึก โรงหล่อเหล็กกล้า (ใหญ่ที่สุดในโลกในสมัยนั้น) และมีเส้นทางรถไฟภายในยาวกว่า 150 กิโลเมตร วัตถุดิบทุกชนิดที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ผลิตขึ้นที่ริเวอร์รูจ ยกเว้นเพียงอย่างเดียว นั่นคือยาง เมื่อปี 1927 ฟอร์ดซื้อที่ดินเกือบ 10,400 ตารางกิโลเมตรในบริเวณลุ่มน้ำแอมะซอน อันเป็นถิ่นกำเนิดของยางพารา

เนื่องจากน้ำยางไหลได้ดีที่สุดในเวลากลางคืน คนกรีดยางในเขตสิบสองปันนาจึงใช้ไฟฉายคาดศีรษะส่องต้นยางขณะทำงาน เฉลี่ยแล้วต้นยางหนึ่งต้นจะให้น้ำยางเดือนละประมาณสองกิโลกรัม

โครงการนี้เป็นหายนะอย่างสมบูรณ์แบบ ช่างเหลือเชื่อที่บริษัทเนรมิตสวนยางขึ้นในพื้นที่ขนาดครึ่งหนึ่งของรัฐนิวเจอร์ซีย์โดยไม่ปรึกษาผู้รู้เรื่องการปลูกยางพาราแม้แต่คนเดียว ข้อแรก ผืนดินแห่งนี้ไม่เหมาะกับการทำสวนยางขนาดใหญ่เลย ดินมีสภาพเป็นทรายมากเกินไป และฝนตกตามฤดูกาลเกินไป ถ้ามีนักพฤกษศาสตร์สักคนอยู่ตรงนั้นฟอร์ดคงได้รู้ว่า สาเหตุที่ไม่เคยพบยางพาราขึ้นเป็นกระจุกในป่านั้นเป็นเพราะมีความเสี่ยงต่อโรคใบไหม้ละตินอเมริกาสูงเกินไปนั่นเอง

ไมโครไซคลัส ยูลีไอ (Microcyclus ulei) ซึ่งเป็นชื่อที่นักชีววิทยาเรียกเชื้อราชนิดนี้ มองต้นยางพาราเหมือนกองทัพมดมองกบสักตัวเป็นมื้อเที่ยงอันโอชะ เชื้อราชนิดนี้ “ไม่ได้ฆ่าต้นยางทันที” เกรก แกรนดิน นักประวัติศาสตร์เขียนอธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง ฟอร์ดแลนเดีย (Fordlandia) ของเขา แต่สปอร์ของมันจะเจาะเข้าไปในใบ แล้วดูดกินสารอาหารจนใบร่วง พอแตกใบใหม่ มันก็เข้าโจมตีอีก แกรนดินเขียนไว้ว่า ต้นยาง “จะอ่อนแอลงเรื่อยๆ อาจแตกหน่อที่แคระแกร็น หรือไม่ก็ตายไปเลย”

สงครามนี้ดำเนินไปอย่างเงียบเชียบและยืดเยื้อ และสำหรับต้นยางแล้วแทบไม่มีทางรอด สำหรับยางที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ สปอร์ของเชื้อรา ไมโครไซคลัส ยูลีไอ จะแพร่จากยางต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่งไม่ได้ง่ายๆ เพราะแต่ละต้นขึ้นอยู่กระจัดกระจายกันในป่า ขณะที่ในสวน ต้นยางขึ้นอยู่ใกล้ๆกันเหมือนจานอาหารบนโต๊ะบุฟเฟต์ ทำให้เชื้อรากระโดดข้ามต้นได้ง่าย การสร้างสวนยางขนาดมโหฬารของฟอร์ดจึงเป็นการทุ่มเงินก้อนใหญ่สร้างโรงเพาะเชื้อราขนาดยักษ์ดีๆนี่เอง  และพอถึงปี 1935 เหตุการณ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงก็เกิดขึ้น ต้นยางในฟอร์ดแลนเดียตายหมดภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือน นับเป็นหายนะทางนิเวศวิทยาและความพินาศทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง

ชาวสวนในลาวเผาป่าเพื่อปลูกยางพาราบนที่ดินที่มีถนนสายใหม่ตัดผ่าน นักนิเวศวิทยาเกรงว่า การตัดไม้ทำลายป่า และความต้องการน้ำปริมาณมากของพืชชนิดนี้จะทำให้ระบบนิเวศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว

พอถึงทศวรรษ 1980 นักวิทยาศาสตร์ออกมาเตือนว่า สปอร์ของเชื้อราโรคใบไหม้ละตินอเมริกาเพียงสปอร์เดียวที่เล็ดลอดมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจทำให้ยุคยางพาราเฟื่องฟูหยุดชะงักได้เลยทีเดียว “โอกาสเกิดหายนะทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากทุกเที่ยวบินข้ามทวีปที่ลงจอดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นักวิจัยสองคนจากมหาวิทยาลัยฟลอริดาเอแอนด์เอ็มกล่าวเตือนไว้เมื่อปี 2012 หนึ่งปีก่อนหน้านั้นมีรายงานฉบับหนึ่งจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติเสนอว่า ควรตรวจสอบผู้โดยสารเครื่องบินมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกคนที่เคยอยู่ในเขตแพร่กระจายของโรคใบไหม้ละตินอเมริกาในช่วงสามสัปดาห์ก่อนการเดินทาง แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ แม้นักวิทยาศาสตร์ ชาวบราซิลจะค้นพบและเริ่มทดลองปลูกต้นยางพาราพันธุ์ที่ต้านทานโรคใบไหม้ได้ แต่ในเอเชียยังไม่มีโครงการเพาะพันธุ์ยางที่ต้านทานโรคนี้ เท่าที่ไปเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาสี่ครั้ง ผมยังเคยไม่เห็นชาวสวนยางที่คิดจะปลูกยางพันธุ์ที่ต้านทานโรคเลยสักคน

 

เรื่อง ชาร์ลส์ ซี. แมนน์
ภาพถ่าย ริชาร์ด บาร์นส์

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.