เป็นระยะเวลาอันยาวนานที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอุทกภัย ภัยแล้ง ไฟป่า และภัยหนาว ที่เราอาจกล่าวได้ว่าเกิดขึ้นอยู่ทุกปี โดยภัยธรรมชาติเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้โดยสิ้นเชิง เมื่อเกิดขึ้นแต่ละครั้งก็ย่อมสร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน และหน่วยงานห้างร้านต่างๆ เป็นจำนวนมาก ภัยธรรมชาติเหล่านี้อาจเกิดจากธรรมชาติ หรือมนุษย์มีส่วนทำให้เกิดขึ้นก็ได้ และเกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย พบภัยพิบัติต่างๆ ได้แก่ พายุหมุนเขตร้อน (Tropical cyclones) , อุทกภัย (Floods) , พายุฝนฟ้าคะนอง (Thunderstorms) , คลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm Surges) , แผ่นดินถล่ม (Land Slides) , แผ่นดินไหว (Earthquake) . คลื่นสึนามิ (Tsunami) , ภัยแล้ง (Droughts) และ ไฟป่า (Forest Fire)
ภัยธรรมชาติเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย แต่ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากที่สุดคือเรื่องของอุทกภัย เพราะประเทศไทยซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในเขตร้อน จึงต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของพายุหมุนเขตร้อน และลมมรสุมประจำฤดูกาล รวมถึงความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองจนทำให้เกิดฝนตกหนัก จนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายภูมิภาคและหลายช่วงเวลาเกือบตลอดทั้งปี ส่งผลให้เกิดความเสียหายของทรัพย์สินและชีวิตผู้คนจำนวนมาก
ภัยหนาว ซึ่งเป็นภัยที่เกิดขึ้นจากสภาพอากาศที่หนาวจัดและลดลงอย่างต่อเนื่องจนประชาชนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในทุกปีและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะพื้นที่ในทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจนต้องมีการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ
ภัยแล้ง เป็นอีกภัยธรรมชาติหนึ่งที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ภัยแล้งเกิดจากความแห้งแล้งของลมฟ้าอากาศซึ่งก่อให้เกิดฝนตกน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเกิดความเสียหาย ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน มักเกิดขึ้นบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ไฟป่า ภัยธรรมชาติประจำปีของไทย ที่ร้ายแรงขึ้นได้จากฝีมือของมนุษย์
ในช่วงต้นปีอย่างเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศไทยจะพบกับภัยพิบัติ ‘ไฟป่า’ ซึ่งเกิดขึ้นในทุกปี โดยไฟป่า เป็นไฟที่ที่เกิดขึ้นแล้วลุกลามไปได้โดยปราศจากการควบคุม ไฟป่าอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุ ธรรมชาติหรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ไฟป่านั้นอาจเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ อันเกิดจากการเสียดสีของต้นไม้แห้ง ใบไม้ที่ถับถมในเบื้องล่าง จนเกิดเป็นประกายไฟลุกลามไปทั่วทั้งป่า แต่ส่วนมากแล้วในความเป็นจริง ไฟป่าถือเป็นภัยธรรมชาติซึ่งเกิดจากมนุษย์เป็นส่วนมาก เช่นเกิดจากการเผาหาของป่า เผาทำไร่เลื่อนลอย เผากำจัดวัชพืชหรือเศษไม้ เป็นต้น โดยไฟที่เกิดขึ้นแล้วสามารถลุกลามไปได้โดยปราศจากการควบคุมไฟป่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งไฟป่าที่เกิดขึ้นบริเวณภูขาจะมีความรุนแรงและขยายพื้นที่ได้เร็วกว่าพื้นราบ
ไฟป่าทำให้เกิดมลพิษในอากาศมากขึ้น ผงฝุ่น ควันไฟกระจายในอากาศทั่วไป และไม่สามารถลอยขึ้นเบื้องบนได้ ทำให้เกิดทัศนียภาพของเมืองที่มืดมัว และเกิดมลพิษที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 ทำให้มีผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับโรคทางเดินหายใจเป็นจำนวนมาก ทั้งผู้ป่วยที่แสดงอาการทันที หรือสะสมในร่างกายจนส่งผลเสียในระยะยาว
ชลิต ฝ่ายนิมิตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 บ้านห้วยปลากั้ง และ เพทาย คงส่องแสง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บ้านแม่จ๊าง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งประชากรส่วนเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและเผ่าปกาเกอะญอ ได้บอกเล่าปัญหาไฟป่าในภาคเหนือจากมุมมองของชาวบ้านที่อยู่กับป่าเช่นพวกเขาว่า
“ชาวเขาในภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่อาศัยกับป่า มีวิถีชีวิตที่ผูกติดกับป่า จึงมีอาชีพหลักคือเกษตรกร เมื่อถึงฤดูกาลทำไร่หมุนเวียน ต้องมีการตัดไม้ที่อยู่ในบริเวณป่าของชุมชนเพื่อทำพื้นที่ไร่สำหรับการเกษตร ไม้ที่ถูกตัดเหล่านั้นจำเป็นต้องกำจัดด้วยการเผา ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของเราที่ดำเนินมาเป็นเวลานับร้อยๆ ปี”
“เมื่อก่อน ปัญหาไฟป่าและมลพิษไม่ได้เกิดขึ้นรุนแรงมากนัก จนเมื่อ 10-20 ปีมานี้ ประชากรมากขึ้น มีการตัดไม้ในป่าเพื่อทำพื้นที่ทางการเกษตรมากขึ้น ก็ต้องมีการเผาไม้มากขึ้น และพื้นที่ภาคเหนือที่เป็นภูเขาสูงชัน เมื่อเกิดไฟป่าก็จะลามขึ้นที่สูง และไม่มีใครตามขึ้นไปดับไฟ”
“นอกจากการตัดไม้เพื่อพื้นที่ทางการเกษตร อีกสาเหตุหนึ่งคือชาวบ้านต้องใช้ไฟเพื่อการหาของป่า เช่นการหาเห็ดฟาง และที่สำคัญคือชาวบ้านต้องเผาไม้เพื่อทำเป็นถ่านใช้สำหรับหุงหาอาหาร และใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อการดำรงชีวิต เพราะชาวเขาอย่างพวกเราไม่มีไฟฟ้าใช้กันอย่างทั่วถึง”
“แต่ในเบื้องต้น ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาไฟป่านี้ด้วยการพยายามทำไร่หมุนเวียนให้มีพื้นที่ใกล้เคียงกัน เมื่อจะเผาไร่ก็จะสามารถเผาพร้อมกันได้ทีเดียว หรือถ้าพื้นใดห่างกันมาก ก็จะมีการจัดให้มีการเผาแบบเว้นระยะเวลาไม่ให้ติดกันเกินไป เพื่อไม่ให้เกิดการเผาหลายรอบจนเกิดฝุ่นควันมากมาย และในการเผาเราจะมีการเตรียมพร้อมอุปกรณ์และชาวบ้านเพื่อทำแนวกันไฟ จะทำให้ไฟป่าไม่ลุกลาม ซึ่งพอบรรเทาเรื่องมลพิษที่เกิดจากการเผาได้บ้าง”
“สำหรับกิจกรรมจากหน่วยงานเอกชนอย่าง โครงการสิงห์อาสาสู้ไฟป่า ถือว่ามีประโยชน์ต่อชุมชนอย่างยิ่ง โดยสิงห์อาสาได้นำความรู้ในด้านต่างๆ ของไฟป่า มาถ่ายทอดให้แก่ชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านเกิดความตระหนักและอยากช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลที่ดีต่อสุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่ด้วย รวมไปถึงอุปกรณ์ในการดับไฟป่าที่ได้มอบให้กับชุมชนถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก”
ทวี ญาติมาก หัวหน้างานควบคุมไฟป่า สถานีควบคุมไฟป่าแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวถึงปัญหาไฟป่าภาคเหนือในมุมมองของหน่วยงานราชการว่า “ช่วง 10-20 ที่ผ่านมา ปัญหาไฟป่าในภาคเหนือมีความรุนแรงมาก แต่ในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ สถานการณ์ดีขึ้นมาก สังเกตจากการรายงานจุดความร้อน (Hot Spot) และปริมาณค่าฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ที่แนวโน้มลดลง”
“หน่วยงานของเรามีความเข้าใจถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านที่จำเป็นต้องใช้การเผาป่าเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต เราในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบก็มีหน้าที่ในการทำแนวกันไฟ รับทราบรายงานเวลาชาวบ้านแจ้งมาว่าจะมีการเผาป่า เราก็จะมีส่วนช่วยไม่ให้ไฟลุกลามมากขึ้น และเราก็ได้ประชาสัมพันธ์โทษของไฟป่า จนชาวบ้านก็เริ่มเข้าใจ แนวจำกัดแนวเผาป่าไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้างมากขึ้น”
หนทางสู่การบรรเทาปัญหาไฟป่าในภาคเหนือเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้น เมื่อเริ่มมีหน่วยงานเอกชนที่เห็นถึงความสำคัญในการช่วยเหลือชาวบ้านและหน่วยงานในราชการในพื้นที่ไม่ต้องรับมือกับปัญหาอย่างโดดเดี่ยว ดังเช่นกลุ่ม สิงห์อาสา โดยมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด อันเป็นเครือข่ายอาสาสมัครที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งได้ทำกิจกรรมดูแลสังคมที่ครอบคลุมทั่วประเทศนับตั้งแต่มีการก่อตั้งหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 เป็นต้นมา ทีมงานกลุ่มสิงห์อาสาเล็งเห็นว่าไฟป่าเป็นอีกหนึ่งในภัยพิบัติในที่สามารถเข้าไปทำงานอาสาเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ และได้เริ่มทำงานอาสาเรื่องไฟป่าในภาคเหนือติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปีแล้ว
เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตัวแทนกลุ่มสิงห์อาสาพร้อมด้วยเครือข่ายอาสาสมัครในภาคเหนือได้ลงพื้นที่ในตำบลแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อจัดกิจกรรมอบรมความรู้เรื่องไฟป่าให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับไฟป่า ผลกระทบที่เกิดจากไฟป่า กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การปฐมพยาบาล การอบรมและทำแนวกันไฟป่าที่ถูกต้องโดยหน่วยงานควบคุมไฟป่าในพื้นที่ ซึ่งในปีนี้ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้มอบอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างรองเท้ากันไฟ เพื่อสนับสนุนการทำงานดับไฟป่าของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครมากกว่า 500 คู่จากทุกโรงงานในเครือฯ ทั่วประเทศ นำมาแจกจ่ายให้กับอาสาสมัครใน 124 จุด ซึ่งถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการทำหน้าที่ดับไฟป่า แต่มีราคาค่อนข้างสูง และมอบถังฉีดน้ำ คราด และที่ตบไฟ ให้กับชาวบ้านเพื่อการทำแนวกันไฟ เตรียมพร้อมกับมือสถานการณ์ไฟป่าที่จะเกิดขึ้นต่อไป
คุณรังสฤษดิ์ ลักษิตานนท์ ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวในการลงพื้นที่เพื่อทำงานอาสาด้านไฟป่าในครั้งนี้ว่า “พื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกพบปัญหาไฟป่าและวิกฤติฝุ่นควันเป็นประจำทุกปี ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและการทำลายป่าต้นน้ำ สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าอยู่เสมอ อีกทั้งปัญหาฝุ่นควันยังส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่”
“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สิงห์อาสา ได้ร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ ดำเนินการเฝ้าระวังในพื้นที่จุดเสี่ยงไฟป่าอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถจัดการแก้ปัญหาดับไฟป่าได้อย่างทันท่วงทีและมีความปลอดภัยหากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าขึ้น โดยมีการมอบอุปกรณ์ที่ใช้ในการดับไฟ มอบเสบียงอาหาร น้ำดื่มไว้เติมพลังให้เจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร เพื่อให้แต่ละชุมชนมีความพร้อมในการดูแลพื้นที่ของตนเองอย่างเต็มที่ และดูแลสิ่งแวดล้อมรอบๆ ชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน“
นอกจากนี้ ทางสิงห์อาสาได้สร้างห้องเรียนปลอดฝุ่น PM 2.5 ให้กับโรงเรียนบ้านห้วยปลากั้ง ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ทางสิงห์อาสาได้ร่วมมือกับ ดร.ว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สร้างขึ้นเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมอากาศบริสุทธิ์ในการเรียนให้กับเด็กๆ ในพื้นที่ เพื่อสร้างอากาศที่ดี ลดปัญหาสุขภาพที่เกิดจากมลพิษอย่างยั่งยืน โดยในปีนี้จะจัดทำจำนวน 5 ห้องกระจายไปยังโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดภาคเหนือที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงจากปัญหาไฟป่าและหมอกควันเพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ตนเองต่อไป
เรื่องไฟป่าในภาคเหนือถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นกิจกรรมช่วยเหลือเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติโดยสิงห์อาสาเท่านั้น โดยตลอดทั้งปีนี้ สิงห์อาสา พร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาทั่วประเทศ และหน่วยงานภาครัฐ-เอกชนต่างๆ ก็จะเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องภัยพิบัติอื่นๆ เช่น ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยหนาว ซึ่งเราจะได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม และถ่ายทอดเรื่องราวของกิจกรรมอาสาดีๆ เช่นนี้ให้สังคมได้รับรู้ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสังคมไทยให้ดีขึ้นต่อไป