ชม ปะการังออกไข่ ความสวยงามของท้องทะเลไทยในช่วงเวลาสั้นๆ

เมื่อดวงอาทิตย์เริ่มลับขอบฟ้า ทีมนักวิจัยก็ดำดิ่งลงไปใต้ทะเลที่มืดมิดเพื่อเฝ้ารอ ปะการังออกไข่

ปะการังออกไข่ ปรากฏการณ์ที่พบดูได้ยากซึ่งเกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้นๆไม่กี่ครั้งต่อปี เมื่อปัจจัยสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่นอุณหภูมิ แสงจันทร์ การไหลของกระแสน้ำ เป็นใจและส่งสัญญาณแก่ปะการังให้ปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ออกมาในมวลน้ำพร้อมๆกันเพื่อผสมพันธุ์และให้กระแสน้ำพัดนำพาตัวอ่อนแพลงค์ตอนเล็กๆลอยออกไป

โอกาสรอดชีวิตของแพลงก์ตอนนั้นไม่ได้มีเยอะในธรรมชาติจากสัตว์นักล่าเล็กใหญ่ที่มาเข้าร่วมงานเลี้ยงบุฟเฟ่ต์ประจำปี ก้อนเซลล์สืบพันธุ์สีชมพูขนาดจิ๋วนับไม่ถ้วนที่ผุดลอยช้าๆ ตามมวลน้ำบางส่วนจึงถูกเก็บไปใช้ในโครงการวิจัยการเพาะพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศ ที่นำโดย ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ

ก่อนที่จะถูกรีบนำส่งมาที่โรงเพาะปะการังบนเกาะแสมสารเพื่อทำการผสมในบ่อเพาะเลี้ยงตัวอ่อน เพื่อดูแลให้เติบโตและนำคืนสู่ท้องทะเลเพื่อฟื้นฟูแนวปะการังธรรมชาติเมื่อถึงวัย

หลายคนอาจคุ้นเคยกับภาพของงานเพาะพันธุ์ปะการังด้วยการหักกิ่งที่มักออกตามสื่อต่างๆ แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือการหักกิ่งเพาะชำที่สามารถสร้างปริมาณชิ้นปะการังได้เป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีการเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมเนื่องจากชิ้นปะการังเหล่านี้ก็ล้วนต่างเหมือนร่างโคลนจากโคโลนี่ที่ถูกนำมาหักกิ่ง

แต่การเพาะพันธุ์แบบอาศัยเพศเช่นการออกไข่นี้ จะเสริมสร้างความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังได้มากกว่าซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัว (Resilience) ของแนวปะการังในธรรมชาติจากภัยคุกคามต่างๆ

การเลือกใช้แต่ละเทคนิคก็ควรถูกพิจารณาจากลักษณะพื้นที่ ภัยคุกคาม และงบประมาณ แต่จากสภาพแวดล้อมของมหาสมุทรภายใต้สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่สภาวะท้องทะเลเป็นกรด การระบาดของโรคปะการัง และความถี่ของการฟอกขาวรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

การเสริมสร้างความหลากหลายทางพันธุกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวก็เป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้ระบบนิเวศที่สำคัญแต่เปราะบางของท้องทะเลอย่างแนวปะการังสามารถปรับตัวอยู่รอดต่อไปได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของยุคปัจจุบัน

เรื่องและภาพ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

ติดตามผลงานเพิ่มเติมของศิรชัยที่ https://www.instagram.com/shinalodon/

Curated by เอกรัตน์ ปัญญะธารา

ก้อนเซลล์สืบพันธุ์สีชมพูนับหมื่นนับแสนของปะการังเขากวางถูกปล่อยออกมาให้ล่องลอยไปในกระแสน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นในระยะเวลาราว 10 นาทีตั้งแต่เริ่มจนจบ และเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวต่อปีเท่านั้นต่อปะการังหนึ่งโคโลนีในอ่าวแสมสาร
ขวดบรรจุก้อนเซลล์สืบพันธุ์ของปะการังถูกนำขึ้นสู่ผิวน้ำจากใต้ทะเลก่อนที่จะถูกรีบนำส่งเข้าไปที่โรงเพาะพันธุ์ปะการังบนเกาะแสมสาร เพื่อให้ทันช่วงเวลาที่ไข่สามารถทำการปฏิสนธิกับสเปิร์มหลังจากแตกตัวได้
ทีมวิจัยเดินทางด้วยเรือยางขนาดเล็กออกจากฐานของหน่วยสงครามพิเศษทางเรือในช่วงดวงอาทิตย์ตก โครงการวิจัยปะการังในอ่าวแสมสารของภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการร่วมมือจากกองทัพเรือในการทำงาน
นักวิจัยติดตั้งตาข่ายจับแพลงก์ตอนและขวดเก็บก้อนเซลล์สืบพันธุลงบนโคโลนีปะการังเขากวางที่มีลักษณะบ่งชี้ว่าจะทำการปล่อยไข่ในตอนกลางคืน
ภายใต้แสงสลัวใต้ทะเลในยามโพล้เพล้ ทีมวิจัยออกตรวจเช็คโคโลนีปะการังที่คาดการณ์ว่าจะทำการปล่อยไข่ออกมาในคืนนั้นจากข้อมูลการติดตามที่ดำเนินมาเป็นเวลาหลายปี
ก้อนเซลล์สืบพันธุ์ที่ผุดออกมาจากโพลิปซึ่งคือตัวของปะการังหนึ่งตัวที่อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นโคโลนี ก้อนเซลล์สืบพันธุ์เหล่านี้มีทั้งไข่และเสปิร์มบรรจุอยู่และลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยไขมันก่อนที่จะแตกตัวเพื่อการปฏิสนธิบนผิวน้ำและถูกกระแสน้ำพัดออกไปเติบโตในพื้นที่ห่างไกล
ก้อนเซลล์สืบพันธุ์จำนวนมากติดอยู่ภายในตาข่ายดักจับแพลงค์ตอนที่ถูกติดตั้งเพื่อใช้สำหรับงานวิจัยและการเพาะพันธุ์ ก้อนเซลล์สืบพันธุ์ของปะการังเขากวางที่ถูกปล่อยในคืนนี้ Acropora humilis มีขนาดอยู่ที่ประมาณ 2 มิลลิเมตร เท่านั้น
ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ ทำการผสมไข่และเสปิร์มจากปะการังหลายๆโคโลนี่รวมกันในถังเพาะที่โรงเพาะพันธุ์ปะการังบนเกาะแสมสาร
ก้อนเซลล์สืบพันธุ์ของปะการังเขากวางถูกบรรจุอยู่ในขวดระหว่างการนำขึ้นจากใต้ทะเลของอ่าวแสมสารโดยนักวิจัยจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตัวอย่างชิ้นปะการังที่มีอายุราว 3 ปีของโครงการเพาะพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศ ซึ่งชิ้นปะการังจะถูกนำกลับคืนลงสู่ทะเลต่อไปเมื่อได้ขนาดเพื่อการฟื้นฟูแนวปะการังของพื้นที่แสมสาร

อ่านเพิ่มเติม ชมหิมะใต้ท้องทะเล เมื่อปะการังผสมพันธุ์

ที่แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ในออสเตรเลีย สเปิร์มและไข่นับล้านใบถูกปลดปล่อยออกมา
© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.