ต้นไม้อายุมากสุดในโลก 5,000 ปี จะรอดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่

ต้นไม้อายุมากสุดในโลก เหล่าสนบริสเทิลโคน (Bristlecone pines) ในภาคตะวันตกของสหรัฐมีอายุยืนยาวมาเกือบ 5,000 ปี แต่สนไซเปรสปาตาโกเนีย (Patagonian cypress) ที่เพิ่งถูกค้นพบได้ท้าทายสถิติความเก่าแก่ของมัน

อุทยานแห่งชาติเกรตเบซิน – หลายพันเมตรเหนือทะเลทรายเนวาดา ในมุมหนึ่งที่นักท่องเที่ยวไม่ได้มาเห็นบ่อยนัก เกรตเชน เบเคอร์ นักนิเวศวิทยาประจำอุทยานขึ้นไปเกือบถึงยอดของเมาต์วอชิงตันและยกกล้องส่องทางไกลขึ้นมาดู ใกล้ๆ ที่ด้านล่างนั้นเอง หนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่มีอายุยาวนานที่สุดในโลกงอกขึ้นมาจากหินปูน

สาเหตุหนึ่งที่สนบริสเทิลโคนที่เกรตเบซินซึ่งมีลำต้นสีซีดและบิดเบี้ยวดั่งเชือกจากการเผชิญลมและฝนกรรโชกมานานหลายศตวรรษเหล่านี้เจริญงอกงามในบริเวณแห่งนี้ได้ คือการที่แทบไม่มีสิ่งอื่นที่ทำสิ่งเดียวกันนี้ได้ที่ระดับความสูงเกือบ 3,353 เมตรตามแนวทิวเขาสเนคอันขรุขระในมลรัฐเนวาดา ที่ตรงนี้ไม่มีหญ้า ไม่มีพุ่มไม้ มีศัตรูพืชเพียงน้อยนิด ไม่มีการแข่งขัน ไม่มีผู้คนก่อไฟป่า และไม่มีต้นไม้ใกล้ๆ มาแพร่จุลชีพก่อโรค

เมื่อไม่มีสิ่งใดมาฆ่าพวกมัน อสูรกายยุคดึกดำบรรพ์เหล่านี้จึงอยู่ตามลำพังมาเนิ่นนาน และทำในสิ่งที่ทำเรื่อยมา คือการกับเก็บน้ำในใบรูปหนามที่มีชีวิตได้นานหลายทศวรรษและเพิ่มความหนาให้ลำต้นไปทีละเล็กละน้อย ต้นไม้เหล่านี้เติบโตอย่างเชื่องช้าจนมีความหนาเกินกว่าที่ด้วงและโรคต่างๆ จะทำอันตรายได้

อีกหนึ่งกลเม็ดที่ช่วยให้สนบริสเทิลโคนมีชีวิตยืนยาวได้คือ “การลอกเปลือก (strip barking)” นั่นคือ แม้จะมีส่วนอื่นของต้นที่ตาย แต่ส่วนที่เหลือยังมีชีวิตอยู่ได้โดยแผ่นแคบๆ ของเปลือกและเนื้อเยื่อที่ยังมีชีวิตซึ่งเชื่อมรากกับกิ่งที่อยู่สูงขึ้นไป ในบางกรณี ร้อยละ 95 ของต้นไม้อาจตายไปแล้ว แต่ยังมีส่วนเล็กๆ เหล่านี้ที่ยังมีชีวิตรอดต่อไปได้

สนบริสเทิลโคนบางต้นอยู่รอดโดยวิธีดังกล่าวตั้งแต่ก่อนมีการสร้างพีรามิดที่กีซาเสียอีก นั่นรวมถึงเมธูเสลาห์ ต้นบริสเทิลโคนซึ่งเก่าแก่ที่สุดในโลกเท่าที่มีการบันทึกไว้  ในทิวเขาไวท์เมาน์เทนส์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย หากอิงจากข้อมูลของวงปี สนต้นนี้มีอายุถึง 4,853 ปี

เหล่านักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ด้วยวิธีนี้ทำให้มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอายุมากที่สุดในโลก แต่ข้อถกเถียงดังกล่าวซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นักวิจัยชาวชิลีผู้หนึ่งใช้วิธีการที่ใช้กันไม่บ่อยนักในการคำนวณอายุต้นไม้อีกสายพันธุ์หนึ่ง คือต้นไซเปรสปาตาโกเนีย (Patagonian cypress) หากการคำนวณถูกต้อง งานวิจัยของเขาจะทำให้ต้นสนจากอเมริกาใต้ต้นนี้เป็นสิ่งมีชีวิตอายุมากที่ใหม่เอี่ยมที่สุด

การประกาศครั้งนี้ทำให้เหล่านักวิจัยฮือฮาแต่ยังมีข้อสงสัย สาเหตุอย่างน้อยส่วนหนึ่งคือสนไซเปรสต้นนี้ซึ่งเติบโตในป่าไม้อบอุ่นไม่ผลัดใบ (temperate rainforest) มีวงจรชีวิตต่างจากต้นสนบริสเทิลโคนมาก อย่างไรก็ตาม แม้ต้นไม้ทั้งสองจะมีอายุยืนยาว ทั้งคู่ต่างกำลังเผชิญคำถามว่าพวกมันจะอยู่รอดในอีกหลายทศวรรษข้างหน้าหรือไม่

คู่แข่งรุ่นโบราณ

สนไซเปรสปาตาโกเนีย หรืออีกชื่อคือ Alerce มีถิ่นกำเนิดในชิลีและอาร์เจนตินา ได้รับการยอมรับว่าเป็นพันธุ์ไม้ที่อายุยืนที่สุดเป็นอันดับสองของโลกมาอย่างยาวนาน สนพันธุ์นี้เคยถูกบันทึกเป็นสถิติในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ด้วยการนับวงปีจากส่วนที่ถูกตัด โดยมันมีอายุถึงกว่า 3,600 ปี (ส่วนสนซีคัวยายักษ์ซึ่งอายุมากที่สุดที่เคยรู้จัก และเป็นไม้พันธุ์ที่อายุยืนที่สุดเป็นอันดับสาม ถูกค้นพบด้วยวิธีเดียวกันและตายเมื่ออายุ 3,266 ปี)

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บทความโดยเกเบรียล พอพคิน ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Science เปิดเผยว่าโจนาธาน แบริชิวิช นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และนักวิจัยซึ่งค้นพบสนไซเปรสปาตาโกเนียเก่าแก่ต้นดังกล่าวกำลังศึกษาต้นไม้อีกต้นในอุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่งในชิลี เหล่านักวิจัยใช้สว่านเจาะวัดความเพิ่มพูน (increment borer) รูปตัวทีเจาะลำต้นและหาตัวอย่างจากใจกลางจากต้นไซเปรสซึ่งปกคลุมไปด้วยตะไคร่น้ำต้นดังกล่าว ตัวสว่านเองไม่สามารถเจาะถึงแกนกลางของลำต้นซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางกว่า 3.66 เมตรได้ แต่การนำตัวอย่างใจกลางไปผสมกับข้อมูลวงปีจากต้นไม้พันธุ์เดียวกันต้นอื่นๆ และจำลองแบบด้วยคอมพิวเตอร์ ทั้งสองประมาณการว่าต้นไม้ต้นดังกล่าวมีอายุราว 5,400 ปี โดยมีโอกาสร้อยละ 80 ที่มันจะมีอายุมากกว่า 5,000 ปี

ด้วยการนำตัวอย่างใจกลางจำนวนเล็กน้อยมาผสมกับแบบจำลองคอมพิวเตอร์ เหล่านักวิจัยในอเมริกาใต้เชื่อว่าพวกเขาแสดงให้เห็นได้ว่าต้นสนไซเปรสปาตาโกเนีย (หรือ Alerce) ซึ่งเติบโตสูงตระหง่านอยู่เหนือลำธารแห่งหนึ่งในชิลีนี้มีอายุอย่างน้อย 5,500 ปี ซึ่งจะทำให้มันกลายเป็นต้นไม้ที่มีอายุมากที่สุดในโลก แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังคลางแคลงใจ ภาพถ่ายโดย JONATHAN BARICHIVICH

ยังไม่มีการตรวจสอบงานวิจัยนี้โดยผู้เชี่ยวชาญท่านอื่น แต่แบริชิวิชได้นำผลการวิจัยไปให้ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ในงานประชุมต่างๆ เนท สตีเฟนสัน นักวิทยาศาสตร์กิตติคุณประจำหน่วยงานสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐฯ ซึ่งศึกษาสนซีคัวยายักษ์มากว่าสี่สิบปีคิดว่าผลลัพธ์นี้น่าสนใจ แต่ยังคงไม่ให้คำตัดสินจนกว่าแบริชิวิชจะตีพิมพ์งานวิจัยซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการทดลองของเขา กระนั้น “ผลที่จะได้มันน่าสนใจแน่นอนครับ” สตีเฟนสันกล่าวกับพอพคิน

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังขาจากผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ พอสมควร ปีเตอร์ บราวน์ ผู้ก่อตั้งสำนักวิจัยวงปีต้นไม้ร็อกกีเมาน์เทน (Rocky Mountain Tree Ring Research) ซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบรรดาต้นไม้ที่อายุมากที่สุดในโลก กล่าวว่าวิธีการของแบริชิวิชนั้นยังแปลกใหม่เกินกว่าที่จะกล่าวอ้างอย่างมั่นใจก่อนตีพิมพ์ผลงาน “มันมีข้อสันนิษฐานอีกมากมายที่จำเป็นสำหรับการประมาณอายุต้นไม้ด้วยวิธีการดังกล่าวครับ” บราวน์กล่าว

เขาไม่สงสัยเลยว่าต้นไม้ต้นนี้มีความสำคัญยิ่ง แค่จากส่วนใจกลางในจำนวนเพียงเล็กน้อยก็ดูเหมือนว่ามันมีอายุอย่างน้อย 2,400 ปีแล้ว นั่นหมายถึงหนึ่งในสิบอันดับต้นไม้ที่แก่ที่สุดบนโลกในรายชื่อของบราวน์ กระนั้นเขาก็ยังมีเหตุผลข้ออื่นให้คลางแคลงใจ เช่น “อายุที่ประมาณใหม่นี้มันมากกว่าสนพันธุ์เดียวกันที่แก่ที่สุดเท่าที่รู้จักในปัจจุบันกว่า 1,500 ปีเลยครับ

และบราวน์ยังเห็นข้อแตกต่างใหญ่หลวงของสภาพแวดล้อมประเภทต่างๆ ซึ่งมีแนวโน้มจุนเจือเหล่าต้นไม้ที่อายุมากที่สุดและสิ่งแวดล้อมของสนไซเปรสปาตาโกเนีย ในภูมิประเทศโดดเดี่ยวและกันดาร เช่นถิ่นที่อยู่ซึ่งเต็มไปด้วยหิมะและหินของสนบริสเทิลโคนที่เจริญเติบโตอย่างเชื่องช้า เหล่าต้นไม้สามารถเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ แต่สำหรับป่าฝนซึ่งเต็มไปด้วยสาหร่าย สภาพแวดล้อมประเภทนี้นั้นเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิต และภัยคุกคาม

เหล่านักวิทยาศาสตร์ยังคงถกเถียงกันว่าเหตุใดต้นไม้บางต้นจึงสามารถมีชีวิตยืนยาวได้เพียงนั้น “ข้อถกเถียงของผมคือ ต้นไม้ไม่จำเป็นต้องตายเพราะหมดอายุขัยเหมือนสัตว์ครับ” เขากล่าว “มันต้องมีอะไรบางอย่างโผล่มาแล้วก็ฆ่าพวกมัน”

แบริชิวิชเข้าใจความคลางแคลงใจนี้ เขากล่าวว่ามีเพื่อนร่วมงานพบต้น Alerce อีกต้นซึ่งสามารถนับวงปีได้ทั้งหมด โดยประมาณจากการนับได้ว่ามันอาจมีอายุราว 4,100 ปี (ข้อมูลดังกล่าวยังไม่ถูกตีพิมพ์เช่นกัน) เขายังโต้แย้งว่าข้อมูลจากวงปีบ่งชี้ว่าต้นสนพันธุ์ดังกล่าวเติบโตช้ากว่าสนบริสเทิลโคน ซึ่งหมายความว่าไม้ของพวกมันหนามากเช่นกัน

และในฐานะส่วนหนึ่งของทีมงานวิจัยที่วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างต้นไม้ซึ่งมีอายุยืนยาวที่สุดในโลกกับสภาพอากาศ เขากล่าวว่าสภาพแวดล้อมของสนทั้งสองพันธุ์นี้มีองค์ประกอบสำคัญที่เหมือนกัน ทิวเขาบนชายฝั่งของชิลีนั้นไม่มีสิ่งใดเหมือนกันภาคตะวันตกของสหรัฐฯ เขากล่าว “แต่ว่าที่นี่มันมีปัจจัยแวดล้อมที่พิเศษเช่นกันครับ”

ต้นสนโบราณของเขาเจริญเติบโตบนทางลาดชันซึ่งมีเมฆหมอกปกคลุมและหันไปทางทิศใต้ มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีที่ 7.22 องศาเซลเซียส ถูกพบในลำธารและถูกปกป้องจากเปลวไฟ จนเมื่อไม่นานมานี้ แบริชิวิชกล่าวว่าคุณปู่ชาวชิลีของเขา ซึ่งทำงานเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในอุทยานแห่งนี้ค้นพบมันเมื่อต้นทศวรรษที่ 1970 และอาจเป็นคนแรกที่ได้สัมผัสมัน

สนบริสเทิลโคนอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย บ่อยครั้งที่พวกมันงอกขึ้นจากพื้นดินที่แห้งและขรุขระที่ความสูงเกิน 3,353 เมตร ซึ่งแทบไม่มีสิ่งมีชีวิตอื่นอาศัยอยู่ได้ ต้นไม้ซึ่งถูกกระหน่ำด้วยสายลมฉกรรจ์เหล่านี้ม้วนและงอตัวและไม่เติบโตสูงมากนัก แต่เส้นผ่านศูนย์กลางของพวกมันอาจขยายได้นับหลายศตวรรษ

ภยันตรายร่วม

ไม่ว่าต้นไม้สายพันธุ์ใดจะได้ครองตำแหน่งด้านความยืนยง เหล่าผู้ศึกษาต้นไม้ที่อายุยืนที่สุดในโลกต่างกังวลในสิ่งเดียวกัน นั่นคือต้นไม้สายพันธุ์โปรดของพวกเขาจะผ่านช่วงเวลาเลวร้ายข้างหน้าได้หรือไม่

ในช่วงเพียงสองปีที่ผ่านมา ไฟป่าที่รุนแรงมากขึ้นเนื่องจากการปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิลของมนุษย์ อาจทำลายล้างซีคัวยายักษ์ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียไปมากถึงร้อยละ 19

ในขณะที่ตำแหน่งของเหล่าสนบริสเทิลโคนที่เก่าที่สุดถูกเก็บเป็นความลับ สนไซเปรสซึ่งแบริชิวิชพบในชิลีกำลังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวจำนวนมากซึ่งย่ำไปรอบๆ ฐานของมันและอาจก่อความเสียหายต่อรากได้ และการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศยังส่งผลให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวแห้งลง ซึ่งอาจก่อปัญหาการดูดซึมน้ำของสนต้นดังกล่าว

เหล่าบริสเทิลโคนกำลังเผชิญโลกที่กำลังเปลี่ยนไปเช่นกัน ในวันฟ้าโปร่งวันหนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคมของปีที่แล้ว รถกระบะของเกรทเชน เบเคอร์แล่นไปบนถนนกรวดลาดชันชัน แอนนา เชิทเทิล นักนิเวศสรีรวิทยาของพืชประจำกรมป่าไม้สหรัฐฯ กระเด้งกระดอนอยู่บนเบาะหลัง พวกเธออยู่ที่นี่เพื่ออธิบายว่าสนโบราณเหล่านี้อาจต่อกรกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้อย่างไร

เหล่าสนซีคัวยาที่อายุมากที่สุดในทุกวันนี้ยังเป็นต้นกล้าเมื่อ 3,200 ปีก่อน หรือราวช่วงสงครามกรุงทรอย ในตอนนั้น เหล่าบริสเทิลโคนซึ่งมีอายุยืนยาวที่สุดที่ยังมีชีวิตถึงทุกวันนี้ได้เติบโตมากว่า 1,600 ปีแล้ว

หนึ่งในสาเหตุที่พวกมันมีสามารถมีอายุยาวนานคือความสามารถในการต่อกรกับความเครียด เมื่อการกร่อนของดินหรือการเน่าของรากและอายุที่มากขึ้นทำให้ลำต้นหรือกิ่งของบริสเทิลโคนอ่อนแอลง จะมีเพียงส่วนที่อยู่ใต้ความเครียดโดยตรงเท่านั้นที่ตาย มิใช่ต้นไม้ทั้งต้น โดยสิ่งมีชีวิตแสนยิ่งใหญ่เหล่านี้จะใช้วิธี “ลอกเปลือก (strip barking)” เพื่อให้เนื้อเยื่อส่วนที่ยังมีชีวิตภายใต้เปลือกงอตัวกลับขึ้นไปบนต้นและลำเลียงน้ำจากรากที่ยังแข็งแรง อันที่จริงแล้ว สนบริสเทิลโคนบางต้นอาจมีส่วนที่ยังมีชีวิตเหลืออยู่เพียงร้อยละ 5 เท่านั้น

“คุณจะไม่ค่อยเห็นต้นไม้ที่เก่าแก่มากๆ มีเปลือกรอบลำต้นค่ะ” เบเคอร์กล่าว “มันมีแค่ส่วนที่ยังมีชีวิตเพียงแค่นิดเดียว ส่วนที่เหลือคือซากไม้ที่ดูเหมือนงานศิลปะ”

สนบริสเทิลโคนอายุ 1,400 ปีที่เมาต์วอชิงตัน ในอุทยานแห่งชาติเกรตเบซิน ในรัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกานั้นโด่งดังถึงขั้นทำให้ภาพของมันถูกประทับลงบนด้านหลังของเหรียญ 25 เซนต์บางเหรียญ เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ผู้คนคิดว่าสนบริสเทิลโคนซึ่งอาจมีชีวิตยืนยาวได้ถึง 5,000 ปีคือสิ่งมีชีวิตที่แก่ที่สุดบนโลก แต่ในขณะนี้ ต้นไม้ต้นหนึ่งในชิลีกำลังท้าทายตำแหน่งของพวกมัน

บริสเทิลโคนใช้ชีวิตในหลายระดับความสูง ตั้งแต่ราว 1,981 เมตรจนถึงกว่า 3,383 เมตร พวกมันอยู่รอดในทุกสภาวะ และโดยปกติแล้วต้นไม้เหล่านี้อยู่ห่างจากต้นอื่นมากพอที่จะไม่ทำให้เปลวเพลิงลุกลามมากนักในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้จากฟ้าผ่า ซึ่งเกิดได้เป็นครั้งคราว.

แต่เมื่อเราเลี้ยวรถในมุมหนึ่ง ภาพความจริงครั้งใหม่ของโลกกลายเป็นจุดสนใจ เราแล่นรถผ่านตอไม้ดำเกรียมไปหลายต่อหลายเมตร เพลิงซึ่งร้อนแรงกว่า ใหญ่กว่า และรุนแรงกว่าเก่าซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปได้ลุกลามในไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาและเผาผลาญบริสเทิลโคนไปเป็นจำนวนมาก

อุณหภูมิที่สูงขึ้น ภัยแล้ง และเปลวไฟที่เกรี้ยวกราดขึ้นคือภยันตรายครั้งใหม่ของต้นไม้โบราณเหล่านี้ แม้ส่วนใหญ่มันจะเกิดขึ้นกับต้นซึ่งอยู่ที่ด้านล่างลงไปก็ตาม บริสเทิลโคนยังเสี่ยงต่อราสนิม (blister rust) ราต่างถิ่นซึ่งฆ่าต้นสนสายพันธุ์อื่นๆ ไปนับล้านต้น รวมถึงสนเปลือกขาวในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน ในปัจจุบันยังไม่มีการพบเชื้อราชนิดดังกล่าวบนบริสเทิลโคนที่เกรตเบซิน

“แน่นอนที่สุดครับว่าราสนิมคือภัยคุกคาม” สแตนลีย์ คิตเชน นักวิทยาศาสตร์วิจัยกิตติคุณประจำกรมป่าไม้ฯ กล่าว “แต่ผมไม่ทราบว่ามันเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ขนาดไหน นั่นคือคำถามใหญ่สำหรับผม”

เบเคอร์ เชิทเทล และคิตเชนกังวลว่ามีแนวโน้มที่บริสเทลโคนซึ่งเติบโตอยู่ด้านล่างลงไปจะเผชิญช่วงเวลาโหดร้ายในอีกหลายปีที่กำลังมาถึง

แต่ “ผมไม่กังวลเกี่ยวกับผลกระทบโดยตรงของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อต้นไม้ที่อยู่สูงขึ้นไป ซึ่งเป็นระดับความสูงที่พวกมันคุ้นชินครับ” คิตเชนกล่าว “ผมคิดว่ามันต้องมีการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศมากกว่าที่ทำนายกันไว้เสียอีกจึงจะทำให้พวกมันหายไปได้”

เรื่อง CRAIG WELCH

ภาพถ่าย BYKEITH LADZINSKI

แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน


อ่านเพิ่มเติม World Update: รู้จัก ‘ไฮเปอร์เรียน’ ต้นไม้ที่สูงที่สุดในโลก

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.