เกาะชวา อินโดนีเซีย กับชะตากรรมแผ่นดินจมทะเล

ขณะที่ชายฝั่งทางเหนือของ เกาะชวา ในอินโดนีเซีย ค่อยๆ จมหาย ผู้คนต้องดิ้นรนเพื่อปกป้องบ้านเรือนและประวัติศาสตร์ของตนจากชะตากรรมเดียวกัน

เกาะชวา – เพื่อฝังศพให้แม่เฒ่ามุกมีนาห์ เมื่อปีที่แล้ว พวกเขาต้องใช้เรือพายขนดินเข้ามา สุสานจมอยู่ใต้นํ้าในหมู่บ้านติมบุลสโลโก  ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงจาการ์ตา  เมืองหลวงของอินโดนีเซีย  ไปทางตะวันออก ราว 400 กิโลเมตร  ในแผนที่ หมู่บ้านยังดูเหมือนอยู่บน ชายฝั่งทางเหนือของจังหวัดชวากลาง  แต่ในระยะหลัง  ผืนดินโดยรอบถูกทะเลชวากลืนกินไปแล้ว  และสุสานซึ่งอยู่นอกหมู่บ้านเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ก็จมอยู่ใต้นํ้า

นํ้าขึ้นพรวดๆ ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมานี่เอง ชายฝั่งทางเหนือของเกาะชวากำลังจมลง  ขณะที่ระดับทะเลสูงขึ้น  ในจาการ์ตา  ที่ดินมากถึงร้อยละ 40  อยู่ตํ่ากว่าระดับทะเล  แต่เดอมักรีเจนซี  หรืออำเภอเดอมัก ที่หมู่บ้านติมบุลสโลโกตั้งอยู่  เป็นพื้นที่หนึ่งที่เผชิญปัญหาหนักหนาที่สุด

ขณะที่ภาวะโลกร้อนทำให้ระดับทะเลทั่วโลก สูงขึ้นปีละประมาณ 3.5 มิลลิเมตร  ผืนดินที่นี่จมลงมากถึง 10 เซนติเมตร  ในแต่ละปี  เดอมักสูญเสียที่ดินกว่า 2,500 ไร่  หรือราวร้อยละ 0.5 ของที่ดินทั้งหมด

หลังนํ้าขึ้นเต็มที่เอ่อท่วม หมู่บ้านปูรโวซารีตีมูร์ เมื่อปี 2020  ตูราดี  วัย 54 ปี  ก็ถมดินเพื่อยกพื้นบ้านขึ้นสูง
ในหมู่บ้านเกษตรกรรมอย่างติมบุลสโลโกที่เคยมีทุ่งนาล้อมรอบ ชาวบ้านสร้างทางเดินไม้ยกพื้นไว้เดินตอนนํ้าขึ้น “เราไม่รู้ว่ามันจะอยู่ได้นานเท่าไรครับ”  อาชาร์ ผู้นำหมู่บ้าน  บอก  “ปีหน้ามันอาจพังก็ได้” ชายฝั่งแถบนี้ทรุดตัวลงถึงปีละ 10 เซนติเมตร  ส่วนหนึ่งเพราะการสูบนํ้าบาดาลขึ้นมาใช้

ตอนนี้ “แผ่นดินใหญ่” อยู่ห่างออกไปกว่า 1.5 กิโลเมตรและต้องพายเรือไป  ส่วนในบ้าน  พวกเขาต้องถมหรือยกพื้นสูงขึ้นมาถึง 180 เซนติเมตร  และเดินค้อมตัว ไปมาใต้เพดานที่ตํ่ากว่าปกติใน “บ้านคนแคระ”  ตามที่พวกเขาเรียก  ชาวบ้านราว 170 ครอบครัวจากทั้งหมดกว่า 400 ครอบครัวที่เคยอาศัยอยู่ที่นี่พากันย้ายออกไปแล้ว สุสานเป็นหนึ่งในสิ่งท้ายๆ ที่เชื่อมโยงชาวบ้านเหล่านี้กับประวัติศาสตร์ของตน

ทุกวันนี้ เดอมักรีเจนซีมีผู้อยู่อาศัยราว 1.2 ล้านคน คิดเป็นเศษเสี้ยวของประชากรในจาการ์ตา  แต่ในช่วงปลายศตวรรษที่สิบห้า  ที่นี่เป็นรัฐสุลต่านอิสระหรือรัฐอิสลามแห่งแรกบนเกาะชวา  และครองอำนาจแถบชายฝั่งทางเหนือ

ถนนนอร์ทโคสต์  ซึ่งรัฐบาลอาณานิคมดัตช์สร้างขึ้นในศตวรรษที่สิบเก้าตามความยาวของเกาะชวา  ตัดผ่านเดอมัก และยังคงเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่มีรถบรรทุกแล่นผ่านชั่วโมงละ 400 คัน  แต่นํ้าที่เอ่อท่วมตามนํ้าขึ้นลงทำให้เกิดนํ้าท่วม ซํ้าซาก  สร้างความเสียหายมหาศาล

นํ้าท่วมมีสาเหตุหลายประการ  และข้อมูลดาวเทียมก็ชี้ว่า  ชวากลางสูญเสียที่ดินไปแล้วร่วม 50,000 ไร่  ในจำนวน นี้ 13,750 ไร่อยู่ในเดอมัก  ระดับทะเลสูงขึ้นเนื่องจากภาวะโลกร้อนคือปัจจัยหนึ่ง  แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือแผ่นดินทรุด

สำหรับคนที่ไม่มีเงินสร้างบ้านใหม่  การยกของขึ้นสูงคืออีกทางหนึ่งในการอยู่กับนํ้าท่วมซํ้าซาก มาชูรี  วัย 52 ปี  เป็นคนรักดนตรีในติมบุลสโลโก ที่บางครั้งก็ช่วยสร้างความบันเทิงในงานฉลองของหมู่บ้าน
ถนนหลักนอกหมู่บ้าน เบอโดโนในเดอมักรีเจนซี มีนํ้าท่วมขังเวลานํ้าขึ้นเต็มที่  เด็กๆ ในหมู่บ้านจึงนั่งแพไปโรงเรียนบน แผ่นดินใหญ่  ชาวบ้านเบอโดโนกว่าครึ่งละทิ้งบ้านเกิดและย้ายไปอยู่ในพื้นที่สูงกว่านี้

แอรอน  เมลต์ซเนอร์  นักธรณีวิทยา  อธิบายว่า  ที่ราบชายฝั่งทางเหนือของชวาประกอบด้วยตะกอนนํ้าพาหนาหลายสิบเมตรที่สะสมตัวตลอดหลายพันปีจากแม่นํ้าที่ไหลมาจากเทือกเขาบนเกาะ  ตะกอนเหล่านี้ถูกนํ้าหนักของตัวมันเองกดทับจนจมลง

“นี่เป็นกระบวนการธรรมชาติมากๆครับ”  เมลต์ซเนอร์ บอกและเสริมว่า  “แต่เพราะแม่นํ้าพัดพาตะกอนมามากขึ้นเรื่อยๆ  ขณะตะกอนที่มีอยู่เดิมอัดตัวลง  โคลนเลนก็ทับถมด้านบนมากขึ้น  ทำให้ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่นํ้าสูงพ้นนํ้า” อย่างน้อยที่สุดนั่นคือสิ่งที่เคยเกิดขึ้น  และขณะที่แม่นํ้าต่างๆ เอ่อล้นตลิ่งในฤดูนํ้าหลากประจำปีและร่องนํ้าแปรเปลี่ยนไปมาบนเลนนุ่มๆ  ตะกอนเหล่านี้ก็แผ่ไปทั่วที่ราบแห่งนี้

อย่างไรก็ตาม  นํ้าท่วมคุกคามเมืองยุคใหม่ๆ  ในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้า  ชาวดัตช์สร้างคลอง  คันกั้นนํ้าและประตูนํ้า  เพื่อป้องกันนํ้าท่วมในเมืองสำคัญหลายแห่ง โดยเฉพาะจาการ์ตาและซมารัง  เมืองหลวงของชวากลาง ทุกวันนี้  คันกั้นนํ้าและตลิ่งคอนกรีตป้องกันแม่นํ้าเอ่อท่วมได้ก็จริง  แต่ขณะเดียวกันก็กีดขวางไม่ให้แม่นํ้านำพาตะกอนมาเติมในที่ราบด้วย  ตะกอนจึงสะสมตัวอยู่ตามก้นแม่นํ้าหรือไม่ก็ไหลออกสู่ทะเลโดยตรง  นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชายฝั่งทางเหนือกำลังจมลง

“ถึงระดับทะเลจะไม่สูงขึ้น  แต่ลำพังข้อเท็จจริงที่ว่าเราบังคับทิศทางไหลของแม่นํ้าต่างๆ  และกันไม่ให้มันเปลี่ยนทางได้  ก็เท่ากับแทรกแซงกระบวนการธรรมชาติแล้วครับ”  เมลต์ซเนอร์บอก

เฮรี อันเดรียส นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีบันดุง ผู้ศึกษาชายฝั่งที่กำลังจมตัว  บอกว่า  ปัจจัยอีกประการที่เกิดขึ้นคือ  การสูบนํ้าบาดาลขนานใหญ่  ซึ่งส่งผลให้ตะกอนอัดตัวเร็วขึ้น

รถบรรทุกราวชั่วโมงละ 400 คันแล่นผ่านเดอมัก บนจาลูร์ปันตูรา  หรือถนนนอร์ทโคสต์  เส้นเลือดหลักที่รัฐบาลอาณานิคมดัตช์ สร้างขึ้นในศตวรรษที่สิบเก้า  ทุกวันนี้  ถนนสายนี้ถูกนํ้าท่วมเป็นประจำ ทางการจังหวัดชวากลางมีแผนสร้างทางยกระดับยาว 27 กิโลเมตร  เพื่อเป็นกำแพงกันคลื่นที่จะปกป้องแผ่นดินด้านหลังได้  แต่ไม่รวมหมู่บ้านริมทะเลจำนวนมาก
17 สิงหาคม ปี 2021 เป็นวันครบรอบ 76 ปีที่อินโดนีเซียประกาศเอกราชจากเนเธอร์แลนด์ เด็กๆ ในติมบุลสโลโกแข่งกันปีนเสาลื่นๆ ที่เรียกว่า ปันยัตปีนัง โดยทีมที่แตะธงบนยอดเสาก่อนจะได้รางวัลก่อนนํ้าท่วม  เสาต้นนี้เคยตั้งตรงบนพื้นดินแห้งๆ

รัฐบาลท้องถิ่นของจังหวัดชวากลางและองค์กรเอกชนต่างๆ พยายามป้องกันชายฝั่งกัดเซาะมาตลอดสิบปี  โดยอ้างว่าได้ปลูกพรรณไม้ป่าชายเลนกว่าสามล้านต้นบนพื้นที่กว่า 2,250 ไร่มาตั้งแต่ปี 2011  เพื่อกันคลื่นและกระแสนํ้า  โดยมีแผนปลูกป่าครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 4,600 ไร่ ภายในปี2023

ขณะเดียวกัน องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำงานกับชาวประมงท้องถิ่นในเขตซายุงก็ปักรั้วไม้ไผ่ยาวหลายกิโลเมตรนอกชายฝั่งเป็นกำแพงกันคลื่นให้นํ้าผ่านได้ เพื่อดักตะกอนที่คลื่นพัดขึ้นมา โดยเฉพาะในช่วงพายุมรสุม กำแพงกันคลื่นนี้มีราคาถูกและมุ่งใช้งานชั่วคราว คือ ดักตะกอนไว้พอให้พรรณไม้ป่าชายเลนได้หยั่งรากเท่านั้น แต่กลับพังง่ายและมักต้องซ่อมแซมบ่อยครั้ง“

เรายังไม่เห็นผลของวิศวกรรมชายฝั่งนี้เลยครับ” ฟาโดลี ชาวประมงวัย 36 ปีที่องค์กรเอกชนแห่งหนึ่งจ้างให้ดูแลรักษากำแพงกันคลื่นในหมู่บ้านเบอโดโน บอก “เรายัง ไม่เห็นตะกอนสะสมตัวที่นี่ เพราะกระแสนํ้าซัดอยู่ตลอด”

เพื่อนบ้านช่วยครอบครัว ไกลานีในหมู่บ้านติมบุลสโลโกขนเครื่องเรือนขึ้นเรือ  เพื่อย้ายไปยังบ้านใหม่ที่อยู่สูงขึ้น ครอบครัวซึ่งย้ายมาที่นี่เมื่อปี1983  เสียที่ดินเพาะปลูกไปแล้ว  ทุกวันนี้พวกเขาหาเลี้ยงชีพด้วยการขายผลไม้บนแผ่นดินใหญ่
เดือนพฤษภาคม ปี 2021 หนึ่งวันก่อนวันหยุดอีดิลฟิฏรี  หรือวันออกศีลอด ชาวบ้านติมบุลสโลโกไปเยี่ยมสุสานบรรพบุรุษที่ถูก นํ้าท่วม  การสูญเสียที่ดินคุกคามบ้านเรือนและการดำรงชีวิตของพวกเขา รวมถึงความผูกพันกับผู้คนที่พวกเขารักใคร

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยดีโปเนอโกโรในซมารังทดสอบ วิธีป้องกันชายฝั่งอื่นๆ เมื่อปี 2012 ชาวบ้านติมบุลสโลโกสร้างกำแพงกันคลื่นด้วยกรวยคอนกรีตตลอดแนวชายฝั่งเดิม 150 เมตร ภายในสองปี มีตะกอนสะสมตัวหลังกำแพงมาก พอให้พรรณไม้ป่าชายเลนเติบโต โดยปัจจุบันสูงถึงสามเมตร

แต่คอนกรีตแพงเกินกว่าจะใช้แก้ปัญหาระดับใหญ่ได้ เดนนี นูโกรโฮ ซูเกียนโต ศาสตราจารย์ด้านสมุทรศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยดีโปเนอโกโร บอก ในบริเวณที่คลื่นตํ่าพอ เขาสนับสนุนให้ใช้กำแพงกันคลื่นแบบนํ้าไหลผ่านได้ ซึ่งทำจากไม้ไผ่และท่อพีวีซีที่ทนกว่าไม้ไผ่และต้นทุนไม่สูงนัก

แต่เขาเสริมว่า “เราไม่ได้แก้ปัญหาแผ่นดินทรุด ฉะนั้น ต่อให้ทำกำแพงกันคลื่นมากแค่ไหน ก็แก้ปัญหาไม่สำเร็จหรอกครับ”

รัฐบาลกลางกำลังสร้างทางหลวงกึ่งกำแพงกันคลื่นจาก ซมารังถึงเดอมัก ระยะทาง 27 กิโลเมตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเชิงกลยุทธ์ที่จะรักษาทรัพย์สินและเขตอุตสาหกรรมสำคัญ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2024 แต่นั่นจะปกป้องได้แค่บางส่วนของสองหมู่บ้านเท่านั้น และสร้างความคับแค้นใจให้ชาวบ้านในหมู่บ้านนอกกำแพงกันคลื่นอย่างติมบุลสโลโกและซายุงที่รู้สึกว่าชุมชนของตนถูกทิ้งให้จมหายไป

ฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว ทางการเดอมักจัดสรรงบประมาณให้ติมบุลสโลโกจ้างรถขุดตักดินเลนจากก้นทะเลมาถมสุสานให้สูงขึ้น 1.5 เมตร  ทำให้ตอนนี้เดินถึงได้แม้ยามนํ้าขึ้นเต็มที่  ในภาพนี้  ซุนดารี วัย 48 ปี  กำลังสวดภาวนาหน้าหลุมศพสามี

ผู้ว่าราชการจังหวัดชวากลาง กันยาร์ ปราโนโว ชาย วัย 53 ปี ผู้มีรูปร่างสูง ผมสีดอกเลา และรอยยิ้มแบบเด็กๆ ยอมรับว่าแผนการดังกล่าวมีข้อจำกัด เขาบอกว่า รัฐบาลก็แค่ไม่มีเงินพอจะสร้างกำแพงกันคลื่นใหญ่กว่านี้แบบที่เนเธอร์แลนด์ทำเพื่อปกป้องชายฝั่งให้ได้มากกว่านี้ จะต้องมีสถานีสูบนํ้าขนาดใหญ่เพื่อสูบนํ้าท่วมขังหลังกำแพงออกไป ระบบดังกล่าวจะต้องมีการซ่อมบำรุงอย่างต่อเนื่อง เขาบอกว่า รัฐบาลไม่มีเงินทำเช่นนั้น

แล้วคนในหมู่บ้านที่ถูกนํ้าท่วมหมู่บ้านที่ตอนนี้เข้าถึงได้ เฉพาะช่วงเวลานํ้าลงเต็มที่ด้วยทางเดินไม้ยกพื้นแคบๆ หมู่บ้านที่ชาวบ้านต้องนั่งเอาเท้าแช่นํ้าอยู่ในบ้านของตัวเอง ควรทำอย่างไร

“วิธีสุดท้ายคือโยกย้ายไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัยกว่าครับ” ปราโนโว ผู้คาดว่าจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียในปี2024 บอก “หรือถ้าพวกเขายืนยันจะอยู่ที่นั่น ก็ต้องปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม เช่น สร้างบ้านใต้ถุนสูง แต่ถ้าอยากได้ที่ดินคืนมาเหมือนในอดีต นั่นเป็นไปไม่ได้ครับ ตอนนี้มันจมไปแล้ว”

เรื่อง อาดี เรนัลดี
ภาพถ่าย อาจิ สตยาวัน

ติดตามสารคดี รอวันแผ่นดินกลืนหาย ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกรกฎาคม 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/549797


อ่านเพิ่มเติม น้ำท่วม 2554 บทเรียน วิกฤต และทางออก

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.