ประสาท มีแต้ม กรรมการกองทุนแสงอาทิตย์ ลดความเหลื่อมล้ำด้วยหลังคาโซลาร์

รู้จักกองทุนแสงอาทิตย์ ที่ทำให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์ เข้าถึงกลุ่มประชาชนมากขึ้น

หลายปีที่ผ่านมา เรามักได้ยินคำว่า พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว และอีกสารพัดคำเรียกที่สื่อสารถึง พลังงานซึ่งไม่ปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก แต่ถึงเช่นนั้นจะมีสักกี่คนจริงๆ ที่ได้ตัดสินใจเลือกใช้พลังงานอย่างที่ตัวเองเชื่อมั่นจริงๆ

“ตื่นมาเติมน้ำมันไปทำงาน เพื่อหาเงินมาเติมน้ำมันไปทำงาน” ใครสักคนพูดเอาไว้ในช่วงวิกฤตราคาน้ำมันสูงเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับความเห็นที่ว่า “การเข้าถึงพลังงานสะอาด มีต้นทุนสูง

ไม่มีใครปฏิเสธว่าทุกอย่างมีต้นทุนของมัน และไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่มองว่า การเข้าถึงพลังงานหมุนเวียน เช่นการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้ามีต้นทุนสูงลิบ แถมยังต้องใช้พื้นที่ในระดับหนึ่ง ซึ่งทำให้โอกาสในการเข้าถึงพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของคนธรรมดาๆ เข้าถึงยากไปทุกที

จนกระทั่งช่วงปลายปี 2561 มีกลุ่มภาคประชาชนเครือข่ายภาคประชาสังคม ทั้งด้านผู้บริโภค ด้านศาสนา ด้านการพัฒนาเด็ก ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน จัดตั้งกองทุนแสงอาทิตย์ (Thailand Solar Fund) เพื่อประสานความร่วมมือและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านพลังงานหมุนเวียนให้ประชาชน เวลาเดียวกันนี้ความฝันที่คนธรรมดาจะเข้าถึงพลังงานสะอาดจึงเป็นรูปเป็นร่างขึ้น

เราทำให้แสงอาทิตย์จับต้องได้ ทำให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์ เข้าถึงกลุ่มประชาชนมากขึ้น ด้วยการมีกองทุนหนึ่งที่มาจากเงินบริจาคของประชาชน คนละนิด คนละหน่อย แล้วนำเงินนั้นไปติดตั้งในสถานที่ที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการนโยบายด้านบริการสาธารณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค หนึ่งในคณะกรรมการกองทุนแสงอาทิตย์ อธิบาย

การระดมทุนและเปิดรับบริจาคเพื่อนำไปจัดซื้อโซลาร์เซลล์จึงเริ่มขึ้น ในนามของ กองทุนแสงอาทิตย์ (Thailand Solar Fund) โดยมีเป้าหมายในปีแรกคือการติดตั้งแผงจงจรโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาล ซึ่งเป็นสถานที่ที่ให้บริการประชาชน มีการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก แต่สวนทางกับรายได้ที่ไม่เพียงพอจ่ายค่าไฟฟ้า

“เราทำวิจัยมาก่อนเพื่อมองว่าพื้นที่ไหนจะเกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อมีการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งค้นพบว่าคือโรงพยาบาลและยังพบว่าการสนับสนุนให้โรงพยาบาลใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผ่านโซลาร์เซลล์มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะโรงพยาบาลใช้ไฟมากจากจำนวนผู้ใช้บริการในตอนกลางวัน ขณะเดียวกันการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในโรงพยาบาลสามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาประมาณ 5 ปี และในช่วงแรกที่ต้องใช้เงินลงทุน กองทุนแสงอาทิตย์จะช่วยตรงนั้น”

ความเท่าเทียมผ่านแผงโซลาร์

ความเหลื่อมล้ำทางสังคมทำให้วิถีชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกัน ทำให้คนหนึ่งได้เรียนในระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ขณะที่อีกคนสวนทาง ต้องดิ้นรนเพื่อเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน

“หากจะหาความเท่าเทียมบนโลกใบนี้ ก็น่าจะเป็น แสงอาทิตย์ เพราะดวงอาทิตย์ส่งผ่านความร้อนมาให้ทุกคน ขอเพียงอย่าให้ใครยืนบัง”

วิธีการของตั้งกองทุนแสงอาทิตย์คือการพยายามให้ชุมชน ภาคประชาสังคม มีอิสระที่จะใช้ประโยชน์จากแสงแดดให้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด

การติดตั้งหลังคาโซลาร์ ดซลล์ โดยกองทุนแสงอาทิตย์

โครงการระยะแรกของกองทุนแสงอาทิตย์ จึงระดมทุนจากภาคประชาชนรวม เพื่อดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลของรัฐ 7 แห่งกระจายไปทั่วประเทศ เช่น โรงพยาบาลแก่งคอย จังหวัดสระบุรี  โรงพยาบาลหลังสวน จังหวัดชุมพร โรงพยาบาลภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ  โดยทุกโรงพยาบาลมีกำลังผลิตติดตั้งเริ่มต้นที่แห่งละ 30 กิโลวัตต์ ในระบบออนกริดหรือระบบที่เชื่อมต่อกับระบบสายส่งของการไฟฟ้า

“เมื่อศึกษาวิจัยแล้ว เราพบว่ากำลังการผลิตที่กองทุนส่งเสริมจะช่วยโรงพยาบาลลดภาระค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 200,000 บาทต่อปี และโซลาร์เซลล์จะมีอายุใช้งานยาวนานประมาณ ถึง 25 ปี นั่นหมายความว่าเราคืนทุนได้ตั้งแต่ 5 ปีแรก จากนั้นเป็นกำไรซึ่งหลังการติดตั้งแล้ว แผงโซลาร์ทั้งหมดและการบำรุงรักษาจะเป็นสิทธิ์ของโรงพยาบาล กองทุนเพียงเซ็ทระบบให้ในตอนแรก”

ผศ.ประสาท บอกว่า หลังจากโครงการในระยะแรกจบไปในช่วงปี 62-63  ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการในระยะที่ 2 เพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้สถาบันการศึกษาสายอาชีพ 7 แห่ง เช่น โครงการโซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์” (Solar Generation) วิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี โครงการวิทยาลัยแสงอาทิตย์แห่งแรกของภาคอีสาน ที่ติดตั้ง โซลาร์รูฟท็อป นั่นคือ วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร ทั้งนี้เพื่อให้เป็นสถานเรียนรู้พลังงานหมุนเวียนให้กับนักเรียน นักศึกษา และลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับหน่วยงาน

“เรามองที่วิทยาลัยเทคนิคเพราะมองว่าการติดตั้งแผงวงจรต้องใช้ทักษะในวิชาช่าง เป็นการเสริมทักษะให้กับนักเรียนไปในตัว และเมื่อผู้พบเห็นได้รับแรงบันดาลใจอยากติดตั้งบ้าง ก็จะเป็นนักเรียนจากสถาบันเหล่านั้นมาช่วยติดตั้งให้ ถือเป็นการ สร้างโอกาสในการจ้างงานจากการมีกองทุนแสงอาทิตย์”

ความยั่งยืนของแสงอาทิตย์ชุมชน

ถ้าคุณติดตามข่าวว่าด้วยประเด็นสิ่งแวดล้อม หัวข้อข่าวที่ได้ยินบ่อยที่สุดในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้คือ การเสียชีวิตของผู้คนจากคลื่นความร้อน นั่นเพราะเมื่อสภาพอากาศร้อนขึ้น อุณหภูมิแกนกลางของร่างกายจะสูงขึ้นตาม และหากร้อนเกินไปทุกอย่างก็จะเริ่มพังทลาย โดยเฉพาะกลุ่มสูงอายุ ที่ระบบหัวใจและหลอดเลือด มีความยืดหยุ่นน้อยกว่าคนหนุ่มสาว

ผศ.ประสาท มองว่า ข่าวร้ายที่ได้ยินบ่อยขึ้นๆ เปรียบเสมือนสัญญาณเตือนที่บอกเราว่า สภาวะโลกร้อนทำให้ผู้คนล้มตายได้จริงๆ

“เราต้องทำอะไรสักอย่าง ที่ดีกว่าการนั่งเฉยๆ และรอฟังข่าวร้าย สำหรับผม สำหรับพวกเรา (ทีมงานกองทุน) เรามองว่า กองทุนคือจุดเริ่มต้นที่จะกระจายความพร้อม กระจายความเท่าเทียมของแสงแดดให้กับทุกคน”

“หลังจากการบริจาคใน 2 เฟสแรก ถ้าถามว่าสเต็ปต่อไปคืออะไร สภาองค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายกำลังทำวิจัยเพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุด และหนึ่งในไอเดียที่เรามองเห็นคือการตั้ง วิสาหกิจชุมชน ที่จะเชื่อมเจ้าของหลังคา เจ้าของเงิน ผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ด้วยกัน”

“ยกตัวอย่างง่ายๆว่า สมมติว่าองค์กรใดองค์กรหนึ่งหนึ่งใช้ไฟเยอะมาก อยากติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ แต่เงินทุนไม่พอ วิสาหกิจชุมชนจะช่วยหานักลงทุนให้ โดยมีอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากสถาบันการเงิน และมีระยะเวลาการชำระเงินคืนให้กับผู้ลงทุน และถ้าสามารถขายไฟได้ ก็จะเป็นปันผลระหว่างผู้ลงทุนกับองค์กรที่จะติดตั้ง ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยได้ในระยาวที่จะได้ประโยชน์ทั้งเจ้าของเงิน และเจ้าของไฟฟ้า”

ไฟฟ้าและตัวเลขค่าไฟคือผลลัพธ์ส่วนหนึ่ง หากเนื้อแท้ของไอเดียนี้คือวิถีการพึ่งตัวเอง สร้างสำนึกการประหยัดพลังงาน และมากกว่านั้นยังคืนความเป็นธรรมให้กับอีกหลากหลายชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้าง “ความเท่าเทียม” จากแสงแดดที่ดวงอาทิตย์มอบให้

เรื่อง อรรถภูมิ อองกุลนะ

ภาพ (พอร์เทรต) เอกรัตน์ ปัญญะธารา

ข้อมูลเพิ่มเติม

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.