When the Giant Falls: เมื่อเจ้ายักษ์ล้มลง ดูการตัดไม้เพื่ออนุรักษ์ป่า

ตามช่างภาพไปดูการ ตัดไม้ “เจ้ายักษ์” ชื่อที่เขาเรียกแทนไม้ใหญ่ในเขตสัมปทานป่าไม้มาเลเซีย

ตามช่างภาพไปดูการ ตัดไม้ “เจ้ายักษ์” ชื่อที่เขาเรียกแทนไม้ใหญ่ในเขตสัมปทานป่าไม้มาเลเซีย ประเทศที่ทำอุตสาหกรรมป่าไม้มากว่าร้อยปี เจ้าของสัมปทานยืนยัน การตัดและปลูกทดแทน คือการอนุรักษ์ป่าที่ดีกว่าการปล่อยให้ไม้ใหญ่ยืนต้นตายไปตามธรรมชาติเฉยๆ

นึกย้อนถึงวันแรกที่เจอกับผู้ว่าจ้างให้มาถ่ายภาพการตัดไม้ในรัฐกลันตัน ฝั่งมาเลเซีย พรมแดนติดกับอำเภอสุไหงโกลก นราธิวาส พ่อค้าไม้แปรรูปฝั่งไทย ผู้รับซื้อสินค้าต้นทางฝั่งมาเลย์

บรีฟที่ได้รับคือ “ถ่ายให้สมจริงที่สุด ให้คนดูรูปรู้สึกเหมือนกำลังยืนดูสดๆ อยู่ตรงนั้นด้วยตาตัวเอง

ผมทักด้วยความเป็นห่วง เพราะจินตนาการไปเห็นแต่ภาพลบของกิจกรรมอันป่าเถื่อนโหดร้ายของมนุษย์ที่กำลังประหัตประหารเจ้ายักษ์ใหญ่อายุยืนผู้ไม่มีทางขัดขืน ไม่น่าจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์องค์กร

เราใช้เวลาทำความเข้าใจกันร่วม 5 ชั่วโมง สรุปความได้ว่า การตัดไม้โดยตัวมันเองไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องติดลบเสมอไปตามชุดความคิดที่คนฝั่งเราเชื่อฝังหัวกันมา

ทางดินชันๆ แคบๆ คดเคี้ยว เลาะขอบหน้าผา จะอันตรายขึ้นอีกหลายเท่าทวีคูณเมื่อฝนตก ดินแฉะ ถนนลื่นราวพื้นน้ำแข็ง

มาเลเซียทำอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นล่ำเป็นสันมากว่าร้อยปี วางรากฐานโดยรัฐบาลอังกฤษ อดีตเจ้าอาณานิคม สถาปนากรมป่าไม้มาเลเซียขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1901 ถือเป็นหมุดหมายเริ่มต้นของการทำอุตสาหกรรมป่าไม้อย่างเป็นระบบ มีเอกสารชัดเจน ตรวจสอบได้ตลอดเวลา ทุกขั้นตอน กฎหมายละเอียดถี่ถ้วน บังคับใช้จริงจังอย่างเสมอหน้ากัน บริหารจัดการอย่างรัดกุม ครบวงจรตั้งแต่นั้นมา

ตัดต้นไม้เพื่ออนุรักษ์ป่าไม้

การตัดและปลูกทดแทนคือการอนุรักษ์ป่าที่ดีกว่าการปล่อยให้ไม้ใหญ่ยืนต้นตายไปตามธรรมชาติเฉยๆ

อันดับแรกคือมนุษย์ได้ไม้มาเป็นวัสดุในการก่อสร้าง ผลิตเครื่องใช้สำหรับชีวิตประจำวัน ไม้คือวัสดุที่ยั่งยืนที่สุด ก่อมลพิษน้อยที่สุด และแทบไม่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงใดๆ ในการผลิต เมื่อเทียบกับวัสดุอื่น อาทิ เหล็ก หรือปูนซีเมนต์ ฯลฯ ไม้คือวัสดุทดแทนได้ด้วยการสร้างตัวเองโดยธรรมชาติ

ไม้ใหญ่กักเก็บคาร์บอนและปล่อยอ็อกซิเจนสู่โลก จนกระทั่งถึงช่วงอายุหนึ่งจะหยุดดูดซับคาร์บอนจากบรรยากาศ เมื่อล้มลงกลายเป็นซากเน่าเปื่อยก็จะคายคาร์บอนกลับสู่โลกอีกครั้ง การตัดเมื่อถึงอายุที่พอเหมาะย่อมก่อให้เกิดวงจรอันเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับต้นไม้หนึ่งต้น

การปลูกป่าทดแทนให้เพียงพอ เป็นไปโดยทั้งถูกบังคับด้วยข้อกฏหมาย และทั้งการเล็งผลประโยชน์ระยะยาวของตัวผู้ประกอบการเอง เพราะมันคือทรัพยากรล้ำค่าที่จะคืนกำไรมหาศาลในวันข้างหน้า ไม้ใหญ่ที่หมดอายุขัย เมื่อถูกตัดไปจะทำให้ไม้เล็ก ๆ ที่อยู่เบื้องล่างมีโอกาสเติบโตได้เร็วขึ้น ทำให้ผืนป่าหมุนเวียนเป็นวงจรได้สมบูรณ์ขึ้น ฯลฯ

“ตัดต้นไม้เพื่ออนุรักษ์ป่าไม้” ฟังไม่คุ้นหูเอาซะเลย ผมถามย้ำแล้วย้ำอีก สิ่งที่เพิ่งได้ฟัง มันช่างผิดแผกจากชุดความเชื่อเรื่องการอนุรักษ์ป่าไม้ที่ได้ยินมาตั้งแต่จำความได้

“เดี๋ยวเห็นกับตาตัวเองแล้วจะเข้าใจ” ผู้จ้างยืนยันกับผมอย่างนั้น

ลุยป่าดงดิบ ฟังเสียง “เจ้ายักษ์” ล้ม

รถกระบะโฟร์วีล 2 คัน พวกเราค่อย ๆ ไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ผ่านป่ายาง ป่าที่เพิ่งถูกตัด ป่าปลูกทดแทน เข้าสู่เขตป่าดงดิบ เขียวขจีมาตลอดทางตั้งแต่ข้ามด่านชายแดนเข้ามาเมื่อวาน ไม่มีที่ว่างเข้าหัวโล้นให้เห็นแม้แต่หย่อมเดียว นั่งรถโขยกโยกเยกอยู่นานพอสมควร พวกเรามาถึงลานเล็กๆ ที่เหมือนเป็นจุดรวมพล ก่อนหักหัวเชิดขึ้นไปอีกสู่ที่หมาย

คลานช้า ๆ ไต่ระดับความชัน ผ่าเข้าสู่ใจกลางป่าดิบฝนขนานแท้ ไม้ยักษ์ใหญ่สูงเสียดฟ้าจำนวนมหาศาล ยืนตระหง่านเหนือกลุ่มพุ่มไม้รกทึบนานาพรรณปกคลุมพื้นที่อยู่เบื้องล่าง

ขบวนรถหยุดอีกครั้ง “เจ็กไช้” เจ้าของสัมปทานพื้นที่ตัดไม้เอาแผนที่มากาง ปรึกษากับลูกน้องเป็นภาษาท้องถิ่น ก่อนจะโบกไม้โบกมือ ส่งสัญญาณให้พวกเรากลับขึ้นรถเพื่อไต่ระดับขึ้นไปต่อ

แผนที่สัมปทานระบุล่วงหน้าไว้ชัดเจน มีลายเซ็นต์รับรองของกรมป่าไม้ ต้นไหนตัดได้ ถึงเกณฑ์ตัด ต้นไหนต้องอนุรักษ์เอาไว้ อัตราโทษล่าสุดของการลักลอบตัดไม้ในมาเลย์คือจำคุก 5 ถึง 20 ปี ปรับสูงสุด 1 ล้านริงกิต (ราว 8 ล้านบาท)

ผมถามกิต โชเฟอร์หนุ่มน้อยซึ่งเป็นคนพื้นที่คนเดียวที่พูดภาษาไทยได้ ว่าเกิดอะไรขึ้น กิตบอกว่าเจ้ายักษ์ต้นที่ทางทีมงานล็อคเอาไว้ว่าจะตัดโชว์ให้พวกเราถ่ายทำ เมื่อตรวจเช็คจากแผนที่อีกครั้ง พบว่าอายุ และขนาดยังไม่ถึงเกณฑ์ตามกฎหมายที่จะตัดได้ นั่นน่าจะยืนยันความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายป่าไม้ที่นี่ได้ชัดเจนในระดับหนึ่ง

หลังจากได้แผนที่ที่ลงรายละเอียดชัดเจน เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะคอยควบคุมผู้รับสัมปทานให้ปฏิบัติตามกฎอย่างใกล้ชิดระหว่างการตัด ต้องล้มไม้ให้ถูกทิศทาง สร้างความเสียหายให้น้อยที่สุดต่อพืชพรรณที่อยู่ด้านล่าง การตัดถนนในป่า ทางลากจูงไม้ และลานพักไม้ต้องเหมาะสม ต้องเว้นพื้นที่ฉนวนให้เพียงพอตามแนวแม่น้ำ เพื่อป้องกันดินเสื่อม

หลังตัด เจ้าของสัมปทานต้องปลูกป่าทดแทนอย่างเพียงพอตามกำหนด ซุงจะถูกนำไปจุดตรวจของกรมป่าไม้ เพื่อตีทะเบียนและชำระภาษี ออกใบอนุญาตเคลื่อนย้าย เก็บข้อมูลผลกระทบการทำป่าไม้จากชุมชนรอบๆ พื้นที่

คนตัดไม้ถือเลื่อยไฟฟ้ายืนรอท่าอยู่ก่อนแล้วเมื่อเราถึงที่หมาย เจ้ายักษ์ยืนตระหง่านทะลุพงไม้เบื้องล่างขึ้นไปจนมองไม่เห็นยอด มือเลื่อยเดินสำรวจรอบ ๆ โคนต้น ก่อนจะเข้าไปลูบๆ คลำๆ แหงนหน้า เพ่งมองไปเบื้องบนอย่างใช้ความคิด ผมถามเขาเป็นภาษาอังกฤษผสมภาษามือว่าเจ้ายักษ์จะล้มไปทางไหน? เขาตอบเป็นภาษาไทยเสียงดังฟังชัดโดยไม่ละสายตาจากยอดไม้ “ไม่รู้!”

“มีตายกันทุกปีแหละ โดนต้นไม้ล้มทับ” เจ็กไช้เล่าให้ฟังเมื่อคืน ผมกับผู้ช่วยเตรียมหาทางหนีทีไล่ ตัวใครตัวมัน

ระหว่างตัด เจ้าหน้าที่ป่าไม้คอยควบคุมผู้ได้สัมปทานให้ปฏิบัติตามกฎอย่างใกล้ชิด ต้องล้มไม้ให้ถูกทิศทาง สร้างความเสียหายให้น้อยที่สุดต่อพืชพรรณที่อยู่ด้านล่าง การตัดถนนในป่า ทางลากจูงไม้ และลานพักไม้ต้องเหมาะสม ต้องเว้นพื้นที่ฉนวนให้เพียงพอตามแนวแม่น้ำ เพื่อป้องกันดินเสื่อม หลังตัด ต้องควบคุมดูแลให้ปลูกป่าทดแทนอย่างเพียงพอ ซุงจะถูกนำไปจุดตรวจของกรมป่าไม้เพื่อตีทะเบียนและชำระภาษี ออกใบอนุญาตเคลื่อนย้าย เก็บข้อมูลผลกระทบการทำป่าไม้จากชุมชนรอบ ๆ พื้นที่

มือเลื่อยเริ่มลงดาบแรก ใบเลื่อยกรีดเข้าไปอย่างง่ายดาย บากเนื้อไม้ออกมาเป็นชิ้นรูปทรงเหมือนเนยแข็ง หรือไม่ก็แตงโมผ่าซีก เขาอ้อมไปด้านตรงข้าม โบกไม้โบกมือให้พวกเราอ้อมไปอยู่ข้างหลัง ถึงตอนนี้เราพอเดาได้แล้วว่าเจ้ายักษ์จะล้มไปทางไหน

เขาผ่าตรงๆ เป็นแนวนอน จนกินเนื้อไม้เข้าไปใกล้ร่องเนยแข็งที่บากรอไว้ หยุดประเมินสถานการณ์ แหงนหน้ามองไปบนยอด แล้วกรีดซ้ำลึกเข้าไปอีกนิดก่อนจะชักใบเลื่อยออก เพียงชั่วอึดใจ พวกเราได้ยินเสียง แกร๊ก! เหมือนตอนเราหักกิ่งไม้เล็กๆ ด้วยมือ เพียงแต่ครั้งนี้ดังกว่านั้นเป็นร้อยเท่าพันเท่า เสียงแกร๊ก! ดังสนั่นรัวๆ ขณะเจ้ายักษ์แหวกอากาศลงสู่พื้นโดยแรงโน้มถ่วงของโลก ตามด้วยเสียง ซวบๆๆ แหวกพงไม้ทึบลงสู่เบื้องล่าง จบลงด้วยเสียง ตึ้มมมมมมม!!!!! ดังสนั่นหวั่นไหวเมื่อเจ้ายักษ์กระทบพื้นดิน แรงสั่นสะเทือนหลายริกเตอร์รู้สึกได้ชัดเจนที่ใต้สองฝ่าเท้าของผม เศษกิ่งไม้ ใบไม้ ละอองฝุ่นดิน ปลิวว่อนคละคลุ้ง ตลบอบอวลไปทั่วบริเวณ

กระบวนการโค่นต้นไม้ใหญ่ขนาด 2 – 3 คนโอบ อายุ 4 – 50 ปี เอาเข้าจริงใช้เวลาอย่างมากไม่เกินสองสามนาที กับเลื่อยยนต์หนึ่งตัว เริ่มจากกำหนดทิศทางให้ไม้ล้ม บากร่องแตงโมผ่าซีกรอไว้ กรีดเลื่อยจากฝั่งตรงกันข้ามเหนือรอยบากเล็กน้อย แรงโน้มถ่วงของโลกรับหน้าที่ที่เหลือต่อจากนั้น
มือเลื่อยรับค่าแรงตามจำนวนต้นที่โค่นได้ พี่คนในรูปไม่ยอมบอกว่าต้นละเท่าไหร่ ว่ากันว่ามากพอคุ้มค่ากับความเสี่ยง

หลังทุกอย่างสงบลง มือเลื่อยพยักหน้าส่งสัญญาณให้พวกผมตามลึกเข้าไปด้านในทางฝั่งยอดไม้ เขาตัดส่วนปลายสุดที่มีกิ่งก้านเกะกะออก เพื่อง่ายต่อการชักลากออกจากป่า พ่อหนุ่มเสื้อแดงมือคล้องบ่วงทำหน้าที่อย่างทะมัดทะแมง รถตักที่รอท่าอยู่ด้านบนลากร่างเจ้ายักษ์ขึ้นไปบนถนนดินนุ่มได้ไม่ยากเย็นนัก

ที่ลานโล่งกว้างตรงกลางทางขาลง ขบวนรถบรรทุกไม้จากสมัยสงครามโลกพากันมาโหลดไม้ซุงขนาดมหึมาที่ขนออกมาจากป่า แน่นขนัดจนกระบะแทบปริ

คนขับรถบรรทุกซุงจะทำงานคนเดียว คอยควบคุม จัดระเบียบ ตอนรถตักก้ามปูทะยอยคีบลำเลียงซุงขึ้นบนหลังรถ ผูก มัดซุงกับรถให้แน่นหนา ก่อนประคองรถฝ่าเส้นทางแสนทารุณลงสู่ลานพักซุงด้านล่าง ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยอาจส่งผลหายนะถึงชีวิต

ผมขออนุญาตคนขับรถบรรทุกปีนขึ้นไปบนหลังคาเพื่อเก็บภาพโคลสอัพแอคชั่นของรถตักกำลังคีบท่อนซุงยักษ์ลงจากท้ายกระบะ แรงกระแทกมหาศาลที่ดูทีแรกเหมือนจะไม่เท่าไหร่นักเมื่อตอนที่มองจากข้างล่าง แขนซ้ายต้องคอยคล้องกับราวเหล็กอะไรก็ตามทีที่คว้าได้ไว้ให้มั่น ขณะที่มือขวาคอย snap ภาพไปเรื่อยๆ

อุตสาหกรรมป่าไม้ สร้างรายได้ให้มาเลเซีย 181 พันล้านบาทเมื่อปี 2021

การวัดขนาดกว้างยาวของซุงแต่ละท่อนเป็นไปอย่างละเอียด รอให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้มาตรวจเช็คความถูกต้องอีกรอบ ก่อนลูกค้าโรงเลื่อยทั้งหลายจะมาเลือกซื้อตามใจชอบจากลานโล่งตรงนี้

ขณะที่โรงเลื่อยฝั่งประเทศตะวันตกใช้เครื่องจักรเทคโนโลยีทันสมัย ควบคุมขนาด องศาการตัดอย่างแม่นยำด้วยระบบดิจิตอล โรงเลื่อยในรัฐกลันตันที่เราไปถ่ายทำยังคงใช้เครื่องจักรอานาล็อกจากสมัยสงครามโลก ที่ยังวัดทุกอย่างด้วยไม้บรรทัด

ไม้ซุงจะถูกแปรรูปในโรงเลื่อยฝั่งมาเลย์ ก่อนลำเลียงเข้าสุไหงโกลก เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้จำหน่ายซุงเป็นท่อนๆ ข้ามเขตแดนได้

ทีมงานตัดไม้ที่เราไปถ่ายทำ ประกอบด้วยบุคคลากรไม่ถึงสิบคน มีมือเลื่อยหนึ่ง แผนกคล้องบ่วงสำหรับการชักลาก 2 คนขับรถตักฟังก์ชั่นต่าง ๆ อีก 4 คนสำหรับ 4 คัน

รักษาสมดุลพื้นที่สีเขียว ด้วยเขตปลูกป่าเพื่อการทำไม้

ไม้เป็นวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุด แต่เสื่อมความนิยมไปเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 ต่อเนื่องต้น 20 สาเหตุเพราะเกิดเพลิงไหม้บ่อย ผู้รับเหมาหันไปใช้เหล็กและปูนซีเมนต์สำหรับอาคารสูงทั่วโลก

สภาวะโลกร้อน และการรักษาสภาพภูมิอากาศทำให้การก่อสร้างด้วยไม้กลับมาตื่นตัวอีกครั้ง เพราะไม้เป็นวัสดุที่ renewable ผลิตซ้ำได้ใหม่ตามธรรมชาติ ไม่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงในการผลิต ไม่เพิ่มมลภาวะแก่โลก ส่งผลให้ Mass Timber หรือโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก กำลังเป็นกระแสนิยมที่โตวันโตคืนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อเมริกาเหนือ ยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฯ

กฎหมายมาเลย์ห้ามนำไม้ซุงผ่านด่านชายแดนเข้าไทย โรงเลื่อยจะแปรรูปซุงเป็นไม้ซีก และไม้แผ่นเสียก่อน ขณะที่โรงเลื่อยฝั่งประเทศตะวันตกใช้เครื่องจักรเทคโนโลยีทันสมัย ควบคุมขนาด องศาการตัดอย่างแม่นยำด้วยระบบดิจิตอล โรงเลื่อยในรัฐกลันตันที่เราไปถ่ายทำยังคงใช้เครื่องจักรแอนะล็อกจากสมัยสงครามโลก ที่ยังวัดทุกอย่างด้วยไม้บรรทัด

ด้วยเทคโนโลยีก่อสร้างปัจจุบัน สามารถสร้างตึกด้วยโครงสร้างไม้ได้สูงเกิน 80 เมตร ใช้ไม้สร้างสนามบิน สถานีรถไฟ สะพาน ที่อังกฤษกำลังจะสร้างสเตเดียมสนามกีฬาทั้งหลังด้วยไม้ ขณะที่ญี่ปุ่นเสนอโครงการตึก 70 ชั้น สร้างจากไม้ 90% สูง 350 เมตร มูลค่าก่อสร้าง 4.2 พันล้านบาท

สิ่งปลูกสร้างบนโลกมีส่วนรับผิดชอบราว 40% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ การใช้ไม้ในการก่อสร้างจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 60% คาร์บอนจะถูกเก็บสะสมไว้ในตึกที่สร้างด้วยไม้ได้มากกว่าอาคารคอนกรีตถึง 400%

เป็นความจริงที่ว่าการทำลายพื้นที่ป่าคือการลดพื้นที่ดูดซับคาร์บอน แต่หากมีการควบคุมดูแลปลูกป่าเพื่อการค้าไม้อย่างถูกต้อง แบ่งแยกสัดส่วนพื้นที่ป่าธรรมชาติ พื้นที่เกษตรกรรมออกจากกัน จะสามารถบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวได้อย่างยั่งยืน เป็นนโยบายที่ประเทศนั้นๆ ต้องหาจุดสมดุล ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อประเทศ และต่อโลกโดยรวมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

มาเลเซียมีพื้นที่ป่าปกคลุมทั้งประเทศราว 55% รัฐบาลมาเลย์ประกาศเป็นสัตยาบันในการประชุม Earth Summit ตั้งแต่ปี 1992 ว่าจะคงปริมาณพื้นที่ป่าไว้ให้ได้เกิน 50% และยังรักษาสัญญาที่ให้ไว้ได้เสมอมา

มาเลเซียเป็น 1 ใน 17 ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งความหลากหลายทางพันธุกรรม และป่าไม้นานาพันธุ์ ป่ามาเลย์แบ่งเป็น 3 ประเภท

  1. ป่าธรรมชาติ :รัฐเป็นเจ้าของ ส่วนใหญ่เป็นป่าอนุรักษ์ถาวร Permanent Reserved Forests (PRF) ครอบคลุมพื้นที่ป่าเพื่อการทำไม้ ป่าอนุรักษ์ และป่าชุมชน กินพื้นที่ทั้งหมดราว 83 ล้านไร่
  2. เขตปลูกป่าเพื่อการทำไม้ :อยู่ในพื้นที่เดียวกับ PRF จัดการโดยระบบสัมปทาน กินพื้นที่ราว 4.5 ล้านไร่ จากพื้นที่อนุญาตปลูกป่าทั้งหมด 15 ล้านไร่ การทำไม้ไม่เป็นที่นิยมบนพื้นที่ของเอกชน เพราะเห็นว่าพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เช่นปาล์ม และยางพาราสร้างรายได้ดีกว่า รวดเร็วกว่า
  3. เขตพื้นที่เกษตรกรรม :ไม้ที่ได้จากการโค่นต้นยางเมื่อหมดอายุราว 25 ปี เพื่อเอาเนื้อไม้ไปใช้ มาเลย์มีพื้นที่สวนยางราว 6.75 ล้านไร่

มาเลเซียมีป่าปกคลุมราว 55% ของพื้นที่ ที่การประชุม Earth Summit เมื่อปี 1992 รัฐบาลมาเลเซียประกาศเจตนารมณ์จะคงปริมาณพื้นที่ป่าไว้ให้ได้มากเกินกว่า 50% เสมอ

สำหรับการรักษาสัดส่วนพื้นที่ป่าอย่างมีประสิทธิภาพ มาเลเซียใช้ Sustainable Forest Management (SFM) ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกรมป่าไม้เมื่อปี 1901 แต่ละรัฐจะกำหนดโควต้าประจำปีสำหรับสัมปทานป่าไม้ ควบคุมดูแลทุกกระบวนการตั้งแต่ก่อนตัด ระหว่างตัด และหลังตัด

ปี 2021 การส่งออกไม้แปรรูปของมาเลเซียเติบโตขึ้น 3.1% สวนกระแสการระบาดของไวรัส Covid-19 สร้างรายได้ทั้งสิ้น 181 พันล้านบาท

การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การห้ามแตะต้อง ไม่ให้ใช้ทรัพยากร ประเด็นคือจะใช้อย่างไร มนุษย์และธรรมชาติจึงจะได้ประโยชน์สูงสุดควบคู่ไปด้วยกัน นั่นน่าจะเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง

บางที การปลูกป่าอย่างผิดวิธี อาจส่งผลเสียร้ายแรงกว่าการตัดป่าอย่างถูกวิธีก็เป็นได้

เรื่องและภาพ UNDERDOG.bkk


อ่านเพิ่มเติม ป่าไม้ไทย มีความเปลี่ยนแปลง ดีขึ้นหรือแย่ลงในแง่มุมใดบ้าง

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.