น้ำแข็งละลาย ชีวิตล่มสลาย

เรื่อง ทิม ฟอลเจอร์
ภาพถ่าย ซีริล ยัซเบ็ก

ลางดึกคืนหนึ่งของเดือนพฤศจิกายนที่หมู่บ้านเนียกอร์นัตริมฝั่งตะวันตกของกรีนแลนด์ เหนือเส้นอาร์ติกเซอร์เคิลราว 500 กิโลเมตร สุนัขลากเลื่อนเริ่มส่งเสียงเห่าหอน ไม่มีใครรู้สาเหตุแน่ชัด แต่ชาวบ้านบางคนคิดว่าพวกมันได้ยินเสียงหายใจของนาร์วาฬ  (narwhal) วาฬชนิดหนึ่งที่มีนอเป็นเกลียวเหมือนยูนิคอร์น  ซึ่งมักมาแวะที่อูมมันนักฟยอร์ดในช่วงเวลานี้ของปีระหว่างอพยพลงใต้  เช้าวันรุ่งขึ้น ผู้ชายในชุมชนส่วนใหญ่พากันลงเรือเล็กออกล่านาร์วาฬเฉกเช่นที่ชาวอินนูอิตในกรีนแลนด์ปฏิบัติกันมาหลายร้อยปี

บ่ายวันนั้น ใต้ผืนฟ้าที่เมฆสีเทาคล้อยต่ำ พรานที่กลับมาพากันลากเรือขึ้นฝั่ง ชาวบ้านเนียกอร์นัตอีกสองสามคนจากที่มีกันอยู่ทั้งหมด 50 คน ออกจากบ้านไม้สีสันสดใสมารวมตัวกันริมหาดหินด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าในเรือมีอะไร ในจำนวนนี้มีอีลันงูอัก เอเกเด ผู้จัดการโรงไฟฟ้าของหมู่บ้านวัย 41 ปีรวมอยู่ด้วย เขาย้ายมาที่นี่เมื่อเก้าปีก่อนจากทางใต้ของกรีนแลนด์ซึ่งมีคนเลี้ยงแกะมากกว่านักล่าวาฬ เพื่อจะได้ใช้ชีวิตอยู่กับหญิงสาวชาวเนียกอร์นัตที่เจอกันในเว็บไซต์หาคู่ทางอินเทอร์เน็ต

บางทีนาร์วาฬอาจเอาเถิดเจ้าล่อกับเหล่าพราน  หรือบางทีพวกมันอาจยังมาไม่ถึงและยังอ้อยอิ่งอยู่ในถิ่นอาศัยช่วงฤดูร้อนทางเหนือ เพราะยังไม่ถูกน้ำแข็งทะเลที่ขยายตัวบังคับให้ต้องอพยพลงใต้  ไม่ว่าสาเหตุคืออะไร พรานแห่งเนียกอร์นัตก็กลับบ้านพร้อมเหยื่อขนาดย่อมกว่า นั่นคืออาหารหลักอย่างแมวน้ำริงด์  และภายในไม่กี่นาที มันก็ถูกถลกหนังแล้วแล่เนื้อใส่ถุงพลาสติกสำหรับแจกจ่าย นอกจากหินเปื้อนเลือดและเศษครีบที่ไม่กี่ครีบแล้ว ร่องรอยของแมวน้ำก็หายวับไปสิ้น

ยังมีสิ่งอื่นหายไปจากที่นี่เช่นกัน นั่นคือวิถีชีวิต คนหนุ่มสาวพากันหลีกหนีไปจากชุมชนล่าวาฬเล็กๆอย่างเนียกอร์นัต บางหมู่บ้านต้องดิ้นรนให้อยู่ได้ และวัฒนธรรมซึ่งก่อรูปขึ้นที่นี่ในช่วงเวลาหลายร้อยปี พร้อมทั้งค่อยๆปรับตัวให้เข้ากับการรุกคืบและการหดหายตามฤดูกาลของน้ำแข็งทะเล  มาบัดนี้กำลังเผชิญความเป็นไปได้ที่ว่า น้ำแข็งทะเลจะหดหายไปอย่างถาวร วัฒนธรรมเช่นนี้จะอยู่รอดหรือไม่ หากคำตอบคือไม่แล้ว จะสูญเสียอะไรไปบ้าง

เมื่อน้ำทะเลแข็งตัว โลกแห่งแดนเหนือพลันกว้างใหญ่ขึ้น เส้นขอบฟ้าแผ่กว้างแม้ยามที่กลางวันหดสั้นลง ชาวกรีนแลนด์ทั้ง 56,000 คน ใช้ชีวิตด้วยการหันหน้าออกสู่ทะเลและหันหลังให้ผืนแผ่นดินกว้างใหญ่ที่ไม่เหมาะต่อการดำรงชีวิต ไม่มีถนนตัดผ่านธารน้ำแข็งและหุบฟยอร์ดซึ่งตัดขาดเมืองชายฝั่งที่ตั้งอยู่อย่างกระจัดกระจายออกจากกัน ทุกวันนี้ พวกเขาอาศัยเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ และเรือเร็วในการเดินทาง แต่ตามวิถีดั้งเดิมแล้ว อย่างน้อยก็ในพื้นที่ทางเหนืออย่างอูมมันนัก น้ำแข็งทะเลคือสิ่งที่ช่วยยุติความโดดเดี่ยวและความเศร้าหมองที่ต้องติดอยู่ในเมืองเล็กๆในฤดูใบไม้ร่วงเช่นนี้ ในฤดูหนาว ทั้งเลื่อนเทียมสุนัขรถหิมะ และแม้แต่แท็กซี่หรือรถบรรทุกน้ำมันสามารถแล่นไปทั่วบริเวณที่เคยเป็นน่านน้ำเปิด

เสื้อผ้าตากอยู่ท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บบนราวกลางแจ้งในหมู่บ้านนูกาตเซียก ประชากรราว 80 คนของหมู่บ้านแห่งนี้ดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์และจับปลา บ้านหลายหลังว่างเปล่า หมู่บ้านเล็กๆของกรีนแลนด์กำลังอ่อนแอลงทุกที เมื่อผู้คนละทิ้งวิถีเก่าแก่ไปแสวงหาโอกาสใหม่ๆในเมืองใหญ่

กว่าครึ่งของประชากร 2,200 คนในชุมชนริมอูมมันนักฟยอร์ดอาศัยอยู่บนเกาะชื่อเดียวกัน บนลาดเนินของยอดเขาสูงราว 1,170 เมตรชื่อภูเขารูปหัวใจ (อูมมันนักในภาษากรีนแลนด์) ที่นี่คือศูนย์กลางทางสังคมและการค้าของภูมิภาค สถานที่ที่คนในชุมชนรอบนอกเจ็ดแห่ง ซึ่งรวมทั้งเนียกอร์นัต ส่งลูกไปเรียนมัธยมและมาจับจ่ายซื้อของ ที่อูมมันนัก คุณอาจทำงานเป็นช่างเครื่องยนต์ นักสังคมสงเคราะห์ หรือครูก็ได้

เมื่อน้ำทะเลแข็งตัว โลกแห่งแดนเหนือพลันกว้างใหญ่ขึ้น เส้นขอบฟ้าแผ่กว้างแม้ยามที่กลางวันหดสั้นลง ชาวกรีนแลนด์ทั้ง 56,000 คน ใช้ชีวิตด้วยการหันหน้าออกสู่ทะเลและหันหลังให้ผืนแผ่นดินกว้างใหญ่ที่ไม่เหมาะต่อการดำรงชีวิต ไม่มีถนนตัดผ่านธารน้ำแข็งและหุบฟยอร์ดซึ่งตัดขาดเมืองชายฝั่งที่ตั้งอยู่อย่างกระจัดกระจายออกจากกัน ทุกวันนี้ พวกเขาอาศัยเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ และเรือเร็วในการเดินทาง แต่ตามวิถีดั้งเดิมแล้ว อย่างน้อยก็ในพื้นที่ทางเหนืออย่างอูมมันนัก น้ำแข็งทะเลคือสิ่งที่ช่วยยุติความโดดเดี่ยวและความเศร้าหมองที่ต้องติดอยู่ในเมืองเล็กๆในฤดูใบไม้ร่วงเช่นนี้ ในฤดูหนาว ทั้งเลื่อนเทียมสุนัขรถหิมะ และแม้แต่แท็กซี่หรือรถบรรทุกน้ำมันสามารถแล่นไปทั่วบริเวณที่เคยเป็นน่านน้ำเปิด

กว่าครึ่งของประชากร 2,200 คนในชุมชนริมอูมมันนักฟยอร์ดอาศัยอยู่บนเกาะชื่อเดียวกัน บนลาดเนินของยอดเขาสูงราว 1,170 เมตรชื่อภูเขารูปหัวใจ (อูมมันนักในภาษากรีนแลนด์) ที่นี่คือศูนย์กลางทางสังคมและการค้าของภูมิภาค สถานที่ที่คนในชุมชนรอบนอกเจ็ดแห่ง ซึ่งรวมทั้งเนียกอร์นัต ส่งลูกไปเรียนมัธยมและมาจับจ่ายซื้อของ ที่อูมมันนัก คุณอาจทำงานเป็นช่างเครื่องยนต์ นักสังคมสงเคราะห์ หรือครูก็ได้

ในชุมชนต่างๆ ผู้คนดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์และจับปลา เนื้อวาฬและแมวน้ำเป็นอาหารสำคัญ แต่การส่งออกเนื้อสัตว์เหล่านั้นถูกห้ามเป็นส่วนใหญ่ สิ่งที่ทำเงินได้จริงคือปลาฮาลิบัต ชุมชนหลายแห่งมีโรงงานแปรรูปปลาซึ่งดำเนินกิจการโดยรอยัลกรีนแลนด์ บริษัทของรัฐบาลซึ่งแปรรูปและบรรจุปลาฮาลิบัตเพื่อส่งออก

น้ำแข็งทะเลช่วยปิดฉากความโดดเดี่ยวในช่วงฤดูหนาวของหมู่บ้านบนเกาะอย่างซาตตุต ซึ่งมีประชากร 200 คนและสุนัขลากเลื่อน 500 ตัว เมื่อไม่ต้องพึ่งเรือหรือเครื่องบินราคาแพง ชาวเกาะก็ใช้เลื่อนและรถหิมะออกล่าสัตว์และเดินทางไปเยี่ยมญาติ พี่น้อง กรีนแลนด์ไม่มีถนนเชื่อมระหว่างเมือง แม้กระทั่งบนแผ่นดินใหญ่

แม้อาชีพประมงจะทำรายได้งามให้หลายครอบครัว แต่ชุมชนเล็กที่สุดก็อยู่ไม่ได้ถ้าขาดเงินช่วยเหลือก้อนใหญ่จากรัฐบาล กระทั่งชุมชนห่างไกลที่สุดยังมีท่าจอดเฮลิคอปเตอร์ หอส่งสัญญาณโทรศัพท์ ร้านขายของชำ คลินิก และโรงเรียนอนุบาล ทั้งหมดนี้ล้วนได้รับเงินอุดหนุนจากงบประมาณประจำปีของเดนมาร์ก ซึ่งคิดเป็นเงิน 580 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหนึ่งในสี่ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของกรีนแลนด์  ชาวกรีนแลนด์ผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นเอกราชเต็มรูปแบบจากอดีตเจ้าอาณานิคมจึงฝากความหวังไว้กับทรัพยากรแร่และน้ำมันนอกชายฝั่ง แต่บ่อน้ำมันยังไม่ได้รับการพัฒนา และผลการศึกษาเมื่อไม่นานนี้ก็ระบุว่า การทำเหมืองต้องอาศัยแรงงานอพยพจำนวนมากจนอาจทำให้ชาวกรีนแลนด์กลายเป็นชนกลุ่มน้อยในแผ่นดินของตนเอง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้เศรษฐกิจของชุมชนเหล่านี้ตกอยู่ในความเสี่ยงยิ่งขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้ฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิยาวนานขึ้น ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่น้ำแข็งหนาจนเรือไม่อาจออกจากฝั่ง แต่ก็ไม่หนาพอให้เลื่อนหรือรถหิมะแล่นไปได้ น้ำแข็งที่ไม่ปลอดภัยส่งผลกระทบต่อการประมงก็จริง แต่ส่งผลร้ายต่อนักล่าในภูมิภาคยิ่งกว่า

“ในช่วงทศวรรษ 1980 ฤดูหนาวอากาศหนาวมากครับ” อูนาร์ตอก เลิฟสเตริม นักล่ารูปร่างเพรียววัย 72 ปี หนึ่งในผู้อาศัยจำนวน 200 คนบนเกาะซาตตุต เกาะเล็กๆใกล้ยอดอูมมันนักฟยอร์ด บอก “น้ำแข็งหนาเท่านี้เลยละ” เขาบอกพลางลุกขึ้นจากโซฟาแล้วทาบมือเข้ากับสะโพก

ฤดูที่น้ำทะเลแข็งจัดยังอยู่ห่างออกไปอีกอย่างน้อยก็สามเดือน ในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสของเดือนตุลาคม ผมตามน้องชายวัย 66 ปีของเลิฟสเตริมชื่อทอมัสออกไปให้อาหารสุนัขลากเลื่อนฝูงใหญ่ของเขา เราลงเรือเปิดประทุนยาว 4 เมตรกันไป พอพ้นภูเขาน้ำแข็งเล็กๆในอ่าวซาตตุตแล้ว เขาก็ติดเครื่องยนต์เรือ

แม้ว่าคนุด เยนเซน (สวมหนังแมวน้ำ) และอาพุลลู มาเทียสเซน จะเหนื่อยอ่อนและอารมณ์ขุ่นมัวหลังคว้าน้ำเหลวจากการล่าแมวน้ำติดต่อกันสี่วัน แต่พวกเขายังคงออกล่าเหยื่อตามแผ่นน้ำแข็งแตกๆของอุมมันนักฟยอร์ด เจนเซน หนุ่มน้อยวัย 15 ปี คิดไม่เหมือนเพื่อนรุ่นเดียวกัน เขาอยากยึดอาชีพพรานและไม่คิดจะทิ้งชุมชนไปหางานในเมืองใหญ่ของกรีนแลนด์

ทางตะวันออก เราพอจะมองเห็นกำแพงสีขาวซึ่งแท้จริงแล้วคือธารน้ำแข็งสูง 60 เมตรที่ไหลมาจากพืดน้ำแข็งในแผ่นดิน เลิฟสเตริมเล่าว่า พืดน้ำแข็งดังกล่าวละลายหายไปร่วมหนึ่งกิโลเมตรในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ไม่ช้าเราก็เข้าไปจอดในทางน้ำเข้าสายหนึ่งซึ่งมีอยู่นับไม่ถ้วนในบริเวณนี้ ขณะที่สุนัขของเลิฟสเตริมมองเราไม่วางตามาจากหินโผล่ที่ไม่มีพืชพรรณใดๆขึ้นปกคลุม

สุนัขของกรีนแลนด์เป็นสายพันธุ์หนึ่งที่เก่าแก่ที่สุดในโลก สืบเชื้อสายจากสุนัขที่ติดสอยห้อยตามชาวอินนูอิตจาก ไซบีเรียมายังกรีนแลนด์เมื่อหนึ่งพันปีก่อน เกือบทั้งหมดถูกล่ามโซ่เมื่อโตเต็มวัย และจะปล่อยให้เป็นอิสระเฉพาะตอนเป็นลูกสุนัขเท่านั้น พวกมันเป็นสุนัขทำงาน ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง  น้อยคนนักจะรู้ว่าสุนัขกรีนแลนด์เป็นหนึ่งในผู้เคราะห์ร้ายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเมื่อฤดูน้ำแข็งสั้นลง นักล่าก็ไม่อาจเลี้ยงสุนัขไว้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรถหิมะหาซื้อได้ง่าย แถมยังไม่ต้องให้อาหารในช่วงนอกฤดูการล่า นักล่าบางคนถูกความจำเป็นบังคับให้ถึงกับต้องลงมือฆ่าสุนัขของตัวเองเลยทีเดียว

เมื่อกลับถึงบ้านตอนบ่ายวันเดียวกัน ในห้องนั่งเล่นที่ภาพถ่ายครอบครัวแขวนอยู่ข้างเครื่องมือทำจากกระดูกวาฬบนผนัง ทูมัสเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของกรีนแลนด์นับจากสมัยที่เขายังเด็กว่า “ก่อนหน้าปี 1965 ครอบครัวของผมมีแต่เรือพาย ไม่มีเรือยนต์หรอกครับ พ่อเป็นนักล่าที่เก่งมาก ตอนอายุ 75  ปี พ่อยังพายเรือคายักออกล่านาร์วาฬอยู่เลย ทุกอย่างที่ใช้ในการล่า ไม่ว่าจะเป็นเรือคายัก เครื่องมือ หรือฉมวก พ่อทำเองทั้งนั้นละครับ”

เขามองดูหลานๆที่นอนแผ่หลาอยู่บนพื้นพลางจ้องหน้าจอเล็กๆไม่วางตา แล้วบอก “เด็กพวกนี้สนใจไอแพดกับคอมพิวเตอร์มากกว่าแล้วครับ”

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.