ในช่วงที่ผ่านมานี้ เราอาจเห็นคำว่า “plant blindness” หรือ “plant awareness disparity” หรือ ตาบอดพืช ปรากฏในสื่อหลายแห่ง ในบทความนี้ชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับปรากฏการณ์ที่กำลังสั่นคลอนวิถีชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ทั่วโลก ก่อนอื่นลองมาทดสอบกันดูว่าคุณกำลังประสบกับปรากฏการณ์นี้อยู่หรือไม่
สิ่งแรกที่คุณมองเห็นในภาพด้านบนนี้คืออะไร? สิ่งแรกที่ตาของเราจับภาพและรับรู้ได้ก็คือ “สัตว์” ดังเช่นเหล่าห่านที่ยืนกระจายอยู่ในภาพ แล้วจึงเริ่มสังเกตพื้นหลังและมองเห็นภาพรวมของภูมิทัศน์ แต่เราเคยสังเกตหรือไม่ว่าสิ่งที่ประกอบให้ภูมิทัศน์หรือทิวทัศน์มีความสมบูรณ์ก็คือ “พืช” หรือ “ต้นไม้” นั่นเอง หากลองมองภาพด้านล่างที่ไม่ได้โฟกัสที่ตัวสัตว์ เชื่อหรือไม่ว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถบอกได้ว่าภูมิทัศน์ในภาพนี้เองประกอบด้วยพืช และนี่เป็นสัญญาณแสดงอาการ “ตาบอดพืช (plant blindness)” ที่สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้
“ตาบอดพืช” ไม่ใช่อาการเจ็บป่วยทางกาย แต่เป็นปรากฏการณ์ที่มนุษย์มองข้ามพืชที่ปรากฏในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่สามารถรับรู้หรือตระหนักถึงการปรากฏของพืชในภูมิทัศน์ได้ ส่งผลให้เราไม่สามารถตระหนักถึงความสำคัญของพืชและมองข้ามคุณค่าของพืชไปในที่สุด แล้วเพราะอะไรเราจึงมองข้ามพืชในธรรมชาติไป?
คำว่า “plant blindness” หรือ “ตาบอดพืช” ถูกเสนอโดย J. H. Wandersee และ E. E. Schussler[1] ตั้งแต่ปีค.ศ. 1999 ในวารสารเกี่ยวกับการศึกษา The American Biological Teacher โดยพบว่านักเรียนส่วนใหญ่ในอเมริกาขณะนั้นมีความสนใจสัตว์มากกว่าพืช (อาจเรียกว่า zoocentric คือเห็นความสำคัญของสัตว์มากกว่า) อีกทั้งพวกเขาให้ความเห็นว่ามนุษย์มักให้ความสำคัญกับการสูญพันธ์ุของสัตว์มากกว่าพืช ทั้งที่พืชเป็นองค์ประกอบสำคัญของถิ่นอาศัยของสัตว์
ดังนั้นจึงเรียกอาการที่คนมองข้ามหรือละเลยพืชว่า “plant blindness” ที่แปลเป็นภาษาไทยคือ “ตาบอดพืช” เป็นการเปรียบเทียบกับอาการตาบอดที่ทำให้ไม่สามารถรับรู้สิ่งที่เห็นได้ ซึ่งเป็นคำที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดี คำนิยามดั้งเดิมของอาการตาบอดพืชที่ Wandersee และ Schussler กล่าวถึงมี 4 ประการ คือ
1) ความไม่สามารถรับรู้หรือสังเกตเห็นถึงการมีอยู่ของพืชในสภาพแวดล้อมหนึ่งๆ ได้
2) ความไม่สามารถตระหนักถึงความสำคัญของพืชต่อระบบนิเวศหรือต่อมนุษย์
3) ความไม่สามารถรับรู้ถึงความงามของพืชและลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของพืชได้
และ 4) ความหลงผิดที่คิดว่าพืชนั้นด้อยกว่าสัตว์และไม่ควรค่าแก่การตระหนักถึง[1]
เมื่อไม่นานมานี้มีการเสนอให้เรียกอาการตาบอดพืชว่า “plant awareness disparity (PAD)” หรือหากแปลเป็นภาษาไทยคือ ความเหลื่อมล้ำของการรับรู้ถึงพืช เนื่องจากคำว่า blindness หรือ ตาบอด นั้นสื่อถึงการมองไม่เห็น ขณะที่คนส่วนใหญ่สามารถมองเห็นพืชในสภาพแวดล้อม แต่มักให้ความสำคัญน้อยกว่าสัตว์หรือสิ่งอื่นๆ เมื่อปรากฏอยู่พร้อมกัน โดยเรามักเห็นพืชเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของถิ่นอาศัยหรือเป็นพื้นหลังของภูมิทัศน์เท่านั้น แต่ไม่ได้สนใจตัวพืชหรือคุณค่าของพืช ทำให้การปฏิบัติต่อพืชนั้นต่างไปจากสัตว์[2]
แล้วสาเหตุอะไรทำให้เรามีอาการตาบอดพืชหรือมองข้ามพืชไป? Parsley[2] เสนอว่าการที่คนให้คุณค่าต่อพืชน้อยกว่าสัตว์ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับรู้ องค์ความรู้เกี่ยวกับพืช และประสบการณ์ส่วนบุคคล ที่ส่งผลต่อการให้ความสนใจต่อพืชและทัศนคติต่อพืช
ตามปกติแล้วภาพของภูมิทัศน์หรือทิวทัศน์ธรรมชาติมักมีลักษณะที่เป็นเนื้อเดียวกัน (homogeneous environment) ประกอบด้วยหน่วยซ้ำๆ เช่น ภูเขา ต้นไม้ ก้อนหิน ซึ่งมีลักษณะซ้ำเดิม ยกตัวอย่างเช่น ต้นไม้ในป่าต่างก็มีสีเขียวเหมือนๆ กัน ความคล้ายกันนี้เองไม่ดึงดูดสายตาและความสนใจของมนุษย์เท่าไรนัก ลองนึกภาพทิวทัศน์ของป่าหรือทุ่งหญ้าที่มองทางใดก็เขียวไปหมด จึงยากที่เราจะหาจุดสนใจในทันทีที่เห็น อาจจะต้องใช้เวลามองกันนาน ตัวอย่างเช่นภาพด้านล่างนี้ (ภาพด้านซ้าย) ที่เมื่อเรามองครั้งแรกอาจเห็นเพียงแค่สีเขียว แต่เมื่อมองให้ดีจะพบดอกไม้สีม่วงอยู่ดังภาพที่โฟกัสดอกไม้ (ภาพตรงกลางและภาพด้านขวา)
การที่พืชมีสีกลมกลืนกับทิวทัศน์นั้นเกิดจากการที่ใบพืชของพืชดอกที่เราพบได้ทั่วไปมีสารสีที่มีสีเขียว (chlorophyll) ที่มีบทบาทในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช อีกทั้งการที่พืชมีสีกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมยังอาจเป็นประโยชน์กับพืชเอง เป็นการพรางตัวจากสัตว์กินพืช ด้วยเหตุที่ว่าพืชไม่สามารถเคลื่อนที่หลบหนีไปไหนได้ เว้นเสียแต่พืชจะต้องการความช่วยเหลือจากสัตว์ต่างๆ หรือมนุษย์ในฐานะตัวพาเมล็ดที่ช่วยกระจายพันธุ์ เช่นการที่พืชมีเมล็ดหรือผลสีโดดเด่นสะดุดตาสัตว์ เห็นได้ว่าความจริงพืชไม่ได้ดำรงอยู่เพื่อเป็นอาหารหรือถิ่นอาศัยของสัตว์และมนุษย์เท่านั้น แต่มีชีวิตและคุณค่าในตัวเอง
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาการตาบอดพืชเกิดขึ้นในปัจจุบันคือ การขยายตัวของเมืองและรูปแบบการใช้ชีวิตสมัยใหม่ ที่ส่งผลอย่างมากต่อองค์ความรู้เกี่ยวกับพืช วิถีชีวิตเมืองและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้มนุษย์ไม่สามารถเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้ และเห็นความสำคัญและคุณค่าของพืชลดลง[3] ลองสังเกตง่ายๆ ในวันนี้หากเราสั่งอาหารหนึ่งจาน หลายคนอาจไม่ทราบหรือไม่สนใจว่าเครื่องปรุงหรือส่วนผสมนั้นมาจากพืชชนิดใดบ้าง เราจึงไม่เคยทราบเลยว่าพืชที่เราใช้ประโยชน์นั้นมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร เราใช้ส่วนใดมาปรุงอาหาร
นอกจากนี้พืชบางอย่างที่เราพบเห็นได้ในจานอาหารอาจกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากการถูกคุกคามในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติหรือการเลือกปลูกพืชที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ที่อาจทำให้ประชากรพืชที่มีลักษณะดั้งเดิมลดลง ซึ่งน้อยครั้งที่การสูญพันธ์ุของพืชจะถูกหยิบยกมาเป็นประเด็น แต่เมื่อสัตว์อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มักจะถูกกล่าวถึงบ่อยครั้ง จุดเริ่มต้นเล็กๆ จากอาการตาบอดพืชนี้เอง อาจนำไปสู่การเพิกเฉยต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของพืชในธรรมชาติในที่สุด
นอกจากนี้ชีวิตสมัยใหม่ยังทำให้เรามีความผูกพันกับพืชน้อยลง อีกทั้งลดทอนคุณค่าด้านวัฒนธรรมของพืชในสังคมและชุมชน สังเกตได้ไม่ยาก เช่น ในเมืองใหญ่ที่หาร้านดอกไม้ไหว้พระได้ยาก หรือเราแทบไม่ได้ใช้ดอกไม้ในพิธีสำคัญต่างๆ มากนัก เนื่องจากวิถีชีวิตเมืองที่ทำให้เราสนใจธรรมชาติ (รวมถึงพืช) รอบตัวลดลง ดังนั้นคนในเมืองและคนรุ่นใหม่ที่เติบโตในสังคมเมืองจึงมีโอกาสใช้เวลากับธรรมชาติ เรียนรู้กระบวนการในธรรมชาติ และได้รับประสบการณ์จากธรรมชาติน้อยลง ซึ่งความผิดปกติที่เกิดจากการขาดธรรมชาติ (Nature deficit disorder, NDD) นี้เองก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการตาบอดพืช
จากการศึกษาของ Jose และคณะ (2019) พบว่าหากเราได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับพืชตั้งแต่เด็ก จะช่วยลดการมองข้ามพืชได้ ดังนั้นการวางรากฐานในการเรียนการสอนด้านชีววิทยาตั้งแต่ปฐมวัยถึงมหาวิทยาลัย จึงควรที่จะเน้นชีววิทยาของพืชด้วย[4] แต่ด้วยสภาพสังคมในปัจจุบันทำให้เด็กมีโอกาสที่ได้ใช้เวลาเล่นกลางแจ้งหรือในพื้นที่สีเขียวน้อยมาก ซึ่งเป็นปัญหาที่ถูกนำเสนอมาตั้งแต่ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 (พ.ศ. 2559)[5] และต่อมาในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ ทำให้ไม่สามารถรับรู้หรือเกิดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติได้[6]
อาการตาบอดพืชส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยส่งผลด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านพฤกษศาสตร์และธรรมชาติวิทยา สังเกตได้จากในปัจจุบันคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจศึกษาต่อในสาขาที่เกี่ยวข้องกับพืชน้อยลงและไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พืชในธรรมชาติเท่าไรนัก รวมถึงการเรียนการสอนในโรงเรียนก็ใช้พืชเป็นเพียงแค่สื่อการสอนแต่ไม่ได้สื่อสารถึงคุณค่าและข้อมูลทางชีววิทยาของพืชนั้น
ตัวอย่างจากงานวิจัยของ Stroud และคณะ (2022) พบว่าในสหราชอาณาจักรยังคงมีสาขาการเรียนด้านที่เกี่ยวกับพืชโดยเฉพาะน้อยและการเรียนการสอนชีววิทยาทั่วไปนั้นอาจไม่ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับพืชที่เพียงพอ อีกทั้งการศึกษาก่อนเข้ามหาวิทยาลัยที่ให้ความรู้เกี่ยวกับพืชค่อนข้างน้อย ทั้งการเรียนรู้ที่จะจำแนกชนิดของพืช ความหลากหลายของพืช นิเวศวิทยาและประวัติศาสตร์ธรรมชาติวิทยาของพืช ซึ่งคาดว่าปัญหานี้อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของการศึกษาด้านพฤกษศาสตร์ได้[7] นอกจากนี้บ่อยครั้งที่การศึกษาด้านพฤกษศาสตร์และธรรมชาติวิทยาขาดการสนับสนุนจากองค์กรที่มีอำนาจและหลายครั้งที่ถูกมองว่าเป็นองค์ความรู้ที่ต่อยอดในเชิงนวัตกรรมไม่ได้ ซึ่งสวนทางกับความต้องการในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังเผชิญเรื่องการสูญพันธุ์ของพืชภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งจากกิจกรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
ในที่สุดอาการตาบอดพืชจะทำให้มนุษย์ละเลยและมองข้ามพืชไปที่จะทำให้เกิดการสูญเสียพืชตามธรรมชาติมากขึ้น ดังนั้นก่อนจะสายเกินแก้ เราจึงต้องเร่งส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับพืช และสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเรียนรู้พืชในธรรมชาติเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพืช ทั้งสนับสนุนการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับพืชหรือด้านพฤกษศาสตร์โดยเฉพาะ หรืออาจสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมในรูปแบบของงานอดิเรกหรือกิจกรรมหย่อนใจที่เกี่ยวข้องกับพืช เพื่อทำให้เรามองเห็นพืชเป็นสิ่งมีชีวิตและเพิ่มพูนองค์ความรู้เกี่ยวกับพืช[8]
พบกับบทความต่อไป มาร่วมกันป้องกันอาการตาบอดพืช โดยการเรียนรู้กระบวนการศึกษาพืชของนักพฤกษศาสตร์ และความน่ามหัศจรรย์ของพืชตั้งแต่พืชทั่วไปในสวนหลังบ้านไปจนถึงพืชแปลกตาในสถานที่ยากจะเดินทางไปถึง ต่อไปนี้พฤกษศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
บทความโดย ดร.ฉัตรทิพย์ รอดทัศนา
(ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)