การกระจายตัวของถิ่นที่อยู่อาศัย ผลจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก

การกระจายตัวของถิ่นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทางธรรมชาติกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก ประกอบกับความต้องการใช้ประโยชน์จากที่ดินก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้เกิด การกระจายตัวของถิ่นที่อยู่อาศัย

การกระจายตัวของถิ่นที่อยู่อาศัย (Habitat Fragmentation) หมายถึง ภาวะการเปลี่ยนแปลงของขนาดพื้นที่ทางธรรมชาติ หรือถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิม ของสิ่งมีชีวิตจากการถูกทำลาย (Habitat Destruction) จนส่งผลให้ผืนป่า ลำน้ำ หรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ในอดีตเคยครอบคลุมพื้นที่เป็นอาณาบริเวณกว้าง เกิดการแบ่งแยกหรือแตกออกเป็นหย่อมพื้นที่ขนาดเล็กกระจายตัวอย่างไร้ความต่อเนื่อง

ภาพถ่าย Renaldo Matamoro

ภาวะการถูกทำลาย และแตกออกอย่างกระจัดกระจายของถิ่นที่อยู่อาศัย สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น การระเบิดของภูเขาไฟ การเกิดไฟป่า หรือการเกิดแผ่นดินไหว ที่ทำให้สภาพแวดล้อม และองค์ประกอบทางธรณีวิทยาของพื้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไป

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมและการกระทำของมนุษย์ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ทางธรรมชาติอย่างรวดเร็ว ทั้งจากการขยายตัวของเมือง การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการเกษตร หรือกิจกรรมการพัฒนาทางเศรษฐกิจเช่น การทำเหมืองแร่ การตัดถนนผ่านเพื่อการคมนาคม และการรุกรานเพื่อเข้าไปตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยอย่างถาวรในพื้นที่ธรรมชาติโดยตรง

ภาพประกอบ Keystone National Middle School

ผลกระทบของการแตกออกและการกระจายตัวของถิ่นที่อยู่อาศัย

การเปลี่ยนแปลงขนาดและสภาพพื้นที่ป่า แหล่งน้ำ หรือพื้นที่ธรรมชาติขนาดใหญ่ จนมีขนาดเล็กลงและขาดออกจากกัน ส่งผลให้พื้นที่กลายเป็น “หย่อม” พื้นที่ขนาดเล็ก (Patch) จำนวนมาก ที่ไม่เพียงแต่ทำให้สภาพแวดล้อมของถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมมีขนาดหดเล็กลง แต่ยังรวมไปถึงการเกิดพื้นที่บริเวณชายขอบ (Edge) เพิ่มขึ้น และการลดลงของพื้นที่แกนกลาง (Core) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตและพฤติกรรมของสัตว์ป่า รวมไปถึงกลไกการทำงานของระบบนิเวศอีกด้วย

ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ

– จำนวนประชากรและชนิดพันธุ์พืชและสัตว์มีแนวโน้มลดจำนวนลง

– อัตราการผสมพันธุ์ภายในประชากรที่มีลักษณะทางพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกัน (Inbreeding) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรม อ่อนแอลง และอาจสูญพันธุ์ไปในท้ายที่สุด

ภาพถ่าย Lucien Rancourt

– เกิดความแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมในสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ทั้งการหาคู่ผสมพันธุ์ การอพยพย้ายถิ่น โดยเฉพาะในกลุ่มสัตว์ป่าขนาดใหญ่ที่สูญเสียแหล่งอาหารและต้องการพื้นที่ในการดำรงชีวิต เป็นบริเวณกว้าง ซึ่งอาจนำไปสู่การรุกรานพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์และปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า (Human – Wildlife Conflict)

– เกิดการรุกรานของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นและการเข้ามาแทนที่ของสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่

– โครงสร้างและหน้าที่ของระบบนิเวศเกิดการเปลี่ยนแปลงไป ทั้งการถ่ายทอดพลังงาน การหมุนเวียนสสาร และวัฏจักรต่าง ๆ ที่โดยปกติแล้ว อาศัยห่วงโซ่อาหารและปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประชากรต่าง ๆ ในระบบนิเวศเป็นตัวการขับเคลื่อน

ภาพถ่าย Matt Palmer

– สภาพภูมิอากาศระดับท้องถิ่น (Microclimate) เกิดความแปรปรวน ทั้งการเปลี่ยนไปของความเข้มแสง อุณหภูมิ ทิศทางและการไหลเวียนของกระแสลม ความชื้น โดยเฉพาะจากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ชายขอบที่ทำให้การชะล้างพังทลายของหน้าดินและผลกระทบต่อระบบอุทกวิทยามีความรุนแรงสูงขึ้น

ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้และการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างถาวร ราวครึ่งหนึ่งของพื้นที่ระบบนิเวศบนบกของโลก เป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

ในปัจจุบัน มนุษย์ได้ศึกษาหาแนวทางการแก้ปัญหามากมาย ทั้งความพยายามในการเชื่อมต่อถิ่นที่อาศัยโดยอาศัยระบบนิเวศที่มีอยู่เดิม การลดการรบกวนเส้นทางอพยพของสัตว์ทั้งหลาย หรือการสร้างแนวเชื่อมต่อตามธรรมชาติ (Wildlife Corridor) ที่ถูกออกแบบมาเป็นการเฉพาะสำหรับสิ่งมีชีวิตบางชนิด เพื่อให้สัตว์ป่ายังสามารถดำรงชีวิตอย่างปกติ

ภาพถ่าย Matt Palmer

อย่างไรก็ตาม ผู้คนและประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความตระหนักรู้และความเข้าใจต่อการดำรงอยู่ของพื้นที่ทางธรรมชาติขนาดใหญ่ และความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันในระบบนิเวศเหล่านี้ ส่งผลให้ป่าไม้ แหล่งน้ำ และพื้นที่ทางธรรมชาติมากมายถูกรุกรานและถูกทำลายลง จนเหลือทิ้งไว้เพียงหย่อมพื้นที่ขนาดเล็กกระจัดกระจายไปทั่ว

ขนาดพื้นที่ที่เล็กลงทำให้ทรัพยากรธรรมชาติลดลง และเมื่อทรัพยากรเหล่านี้ไม่สามารถหล่อเลี้ยงทุกชีวิตได้อย่างสมดุลอีกต่อไป ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าอาจจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จนนำไปสู่การสูญเสียชีวิตและการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่งในอนาคต

สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย

ข้อมูลอ้างอิง
https://so04.tci-thaijo.org/index.php/NAJUA-Arch/article/download/48534/40323/
https://www.nprcenter.com/nprc1/downloads/corridor_2edition_complete.pdf
https://www.woodlandtrust.org.uk/blog/2018/08/what-is-habitat-fragmentation-and-what-does-it-mean-for-our-wildlife/
https://suriyakit.files.wordpress.com/2016/05/conservation_bology_e0b898e0b8a3e0b8a3e0b8a1e0b8a8e0b8b2e0b8aae0b895e0b8a3e0b98c2559.pdf

อ่านเพิ่มเติม ประชากร ในระบบนิเวศ (Population) หมายถึงอะไร

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.