ประวัติศาสตร์โดยสังเขปของ พฤกษศาสตร์ – A brief history of Botany

ทั้งๆ ที่โลกกำลังก้าวไปข้างหน้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย แต่การศึกษาด้าน พฤกษศาสตร์ กำลังถดถอย 

ส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะตาบอดพืช (plant blindness) ที่ทำให้หลายคนมองข้ามความสำคัญของพืชไป และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขาดแคลนบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้าน พฤกษศาสตร์ เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้สนใจเรียนในสาขาที่เกี่ยวกับพืชลดลง [1] 

แล้วเราจะช่วยกันสืบทอดส่งผ่านองค์ความรู้เกี่ยวกับพืชสู่คนรุ่นต่อไปได้อย่างไร? ชวนมาทำความรู้จักกับ “พฤกษศาสตร์” ให้มากขึ้นและปลุกความเป็นนักพฤกษศาสตร์ในตัวคุณ เพราะทุกคนมีบทบาทสำคัญในการส่งต่อความรู้ทางพฤกษศาสตร์ไปยังคนรุ่นต่อไป

เมื่อพบเห็นต้นไม้ที่ไม่คุ้นตา หลายคนอาจเคยตั้งคำถามว่า “พืชนี้คือต้นอะไร?” บางครั้งก็ตอบได้ทันทีเมื่อแรกเห็น แต่บางครั้งก็ต้องอาศัยการค้นหารูปภาพในอินเตอร์เน็ตเพื่อเปรียบเทียบ แล้วทำไมเราจึงสามารถบอกได้ว่าพืชนั้นคือชนิดใด?

สิ่งสำคัญที่ทำให้เราแยกแยะและบอกชนิดของพืชได้ คือ “การสังเกต” ลักษณะของพืช โดยลักษณะนั้นต้องมีความโดดเด่นหรือมีเอกลักษณ์มากพอให้เราจดจำและตระหนักได้ กล่าวได้ว่าการเรียนรู้เกี่ยวกับพืชหรือพฤกษศาสตร์เป็นทักษะที่เราต่างได้เคยฝึกฝนมาแล้ว ยกตัวอย่างเช่นเวลาสั่งผัดกะเพรา เราสามารถบอกได้ว่านี่คือใบกะเพรา ไม่ใช่ใบโหระพาที่มีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งเราสามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะในการจำแนกและระบุชนิดของพืชได้เมื่อเราฝึกฝนบ่อยๆ จนมีประสบการณ์และองค์ความรู้มากขึ้น ดังนั้นคงจะไม่ผิดถ้าพูดว่าเราต่างก็เรียนพฤกษศาสตร์ไปโดยไม่รู้ตัว โดยเริ่มจากการสังเกตพืชรอบตัวไปจนถึงการนำพืชมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง

ลักษณะที่คล้ายแต่ไม่เหมือนของกะเพราและโหระพา ถึงแม้จะจัดอยู่ในวงศ์ Lamiaceae เหมือนกัน แต่มีลักษณะของใบและช่อดอกที่ต่างกัน ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Tulsi_or_Tulasi_Holy_basil.jpg โดย Shashidhara halady และ https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Thai_basil_with_flowers.jpg โดย Risacher

พืชปรากฏบนโลกตั้งแต่ยุคแคมเบรียน (Cambrian) นานเกือบ 500 ล้านปีมาแล้ว [2] บางชนิดสูญพันธุ์ บ้างถูกรักษาสภาพในรูปของฟอสซิล บ้างก็สาบสูญไปโดยไร้ร่องรอย แต่พืชหลายกลุ่มยังคงมีวิวัฒนาการและคงปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน เช่น พืชกลุ่มไบรโอไฟต์ (Bryophytes) ที่เป็นจุดเริ่มต้นของพืชบก [3] ส่วนการเรียนรู้เกี่ยวกับพืชนั้นเพิ่งเริ่มต้นในยุคหิน (Stone age) เมื่อมนุษย์ต้องการแยกแยะว่าพืชใดใช้เป็นอาหารและยาสมุนไพรได้ [4] เมื่อไม่นานมานี้มีการค้นพบหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าบรรพบุรุษของมนุษย์ก็รู้จักนำพืชมาใช้ประโยชน์เช่นกัน เช่น โฮมินิดส์ (hominids) เครือญาติของมนุษย์ที่มีลักษณะกะโหลกและฟันสอดคล้องกับพืชที่บริโภคเป็นอาหาร Australopithecus africanus (ประมาณ 3.4 ล้านปี) มีกรามและฟันขนาดใหญ่ มีชั้นเคลือบฟัน (enamel) หนา บ่งชี้ถึงการกินส่วนของพืชที่เหนียวและแข็ง เช่น เมล็ด หรือส่วนใต้ดินของพืช

ส่วน Homo erectus (ประมาณ 1.5 ล้านปี) มีกะโหลกเบากว่าและมีฟันขนาดเล็กกว่าจึงคาดว่าบริโภคเมล็ดหรือพืชเมล็ดยาวในบริเวณทุ่งหญ้าสะวันนา [5] นอกจากนี้ยังพบหลักฐานเส้นใยปอป่าน (flax fiber) มีอายุประมาณ 34,000 ปี จากถ้ำในสาธารณรัฐจอร์เจีย ชี้ให้เห็นว่ามีการนำพืชมาใช้ทำเส้นใย ซึ่งอาจเป็นเชือก เครื่องจักสาน หรือรองเท้า [6] จากหลักฐานเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าแต่เดิมมนุษย์ใช้ประโยชน์จากพืชตามธรรมชาติ เมื่อมีความต้องการมากขึ้นจึงเริ่มนำพืชมาเพาะปลูกในลักษณะของ domesticated plant ราว 11,400 ปีก่อน โดยคาดว่ามะเดื่อ (fig) เป็นพืชที่ปลูกเป็นชนิดแรกในเมโสโปเตเมีย ก่อนที่จะปลูกบาร์เลย์หรือข้าวสาลีเสียอีก [7]

ในสมัยโบราณองค์ความรู้เกี่ยวกับพืชถูกถ่ายทอดในชุมชนหรือสังคมในรูปแบบของการบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่นและการจารึกในสมัยประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะพืชอาหารหรือยา เช่น บันทึกอักษรภาพ hieroglyph ของอียิปต์ปรากฏสัญลักษณ์ของต้นกกปาปิรุส [8,9] การบันทึกอักษรลิ่ม (cuneiform) เกี่ยวกับการนำพืชมาใช้ในอารยธรรมเมโสโปเตเมีย [10] รวมถึงตำราการแพทย์ตะวันออกของจีนที่กล่าวถึงพืชสมุนไพรต่าง ๆ ในสมัยต่อมาเมื่อมีการบันทึกอย่างเป็นระบบและเริ่มมีการเผยแพร่ “พฤกษศาสตร์” จึงเริ่มมีเค้าโครงที่ชัดเจนและพัฒนาอย่างมีทิศทาง นำไปสู่แก่นของพฤกษศาสตร์ที่เน้นศึกษาลักษณะของพืช โครงสร้าง และถิ่นที่อยู่ของพืช

อักษรภาพอียิปต์สัญลักษณ์ต้นกกปาปิรุส ลักษณะคล้ายก้านของกก มีความหมายถึง การเติบโต ชีวิต ความเยาว์วัย และความสดใหม่ และใช้สื่อถึงสีเขียว [9] ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Single_papyrus_stem.jpg โดย Caroline Lévesque

พฤกษศาสตร์ในปัจจุบัน (modern botany) มีจุดเริ่มต้นสำคัญในสมัยกรีก โดยคำว่า “botany” คาดว่ามาจากคำกรีก botanikos หรือ botane ที่หมายถึง “พืช” บุคคลสำคัญที่ได้รับขนานนามว่าเป็น บิดาแห่งพฤกษศาสตร์ คือ ธีโอเฟรตัส (Theophrastus ราว 371-286 ปีก่อนคริสตกาล) เขาศึกษาส่วนต่าง ๆ ของพืช ลักษณะสัณฐานวิทยา การสืบพันธุ์ สิ่งแวดล้อมในถิ่นอาศัยของพืช และการเพาะปลูกพืช ซึ่งรวบรวมองค์ความรู้เหล่านี้ในตำรา 2 เรื่อง คือ Enquiry into Plants (Historia Plantarum) และ Plant Explanations ที่บรรยายและรวบรวมลักษณะของพืชมากกว่า 550 ชนิด ถือได้ว่าเป็นการจำแนกและอธิบายการนำพืชไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นระบบเป็นงานแรก ๆ ของโลก [11] ตำราของธีโอเฟรตัสมีอิทธิพลอย่างมากต่อนักสมุนไพร (herbalist) ในเวลาต่อมา หนึ่งในนั้นคือ หนังสือ De Materia Medica โดย ไดออสคอริดีส (Dioscorides ราว ปี ค.ศ. 40-90) จึงกล่าวได้ว่าพฤกษศาสตร์นั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากเวชสมุนไพรวิทยา (herbalism) ในสมัยกรีกนั่นเอง

ตัวอย่างจากตำราของธีโอเฟรตัส Historia Plantarum ที่มีการตีพิมพ์หลายครั้ง เนื้อหาในเล่มเขียนบรรยายลักษณะของพืชและภาพวาดประกอบของพืชบางชนิด ภาพจาก Historia Plantarum. (2022, December 26). In Wikipedia. https://en.wikipedia.org/wiki/Historia_Plantarum_(Theophrastus_book) และ Biblioteca Digital del Real Jardín Botánico: https://bibdigital.rjb.csic.es

จากตำราของธีโอเฟรตัสและไดออสคอริดีส ชี้ให้เห็นว่าการบันทึกข้อมูลทางพฤกษศาสตร์เดิมมีเพียงการเขียนบรรยายลักษณะของพืชและอาจมีภาพวาดประกอบอย่างง่าย เนื่องจากข้อจำกัดของเทคนิคด้านศิลปะและการคัดลอกหนังสือ (ในสมัยนั้นยังคงลอกหนังสือด้วยการเขียน) อีกทั้งมีผู้เชี่ยวชาญในการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์อยู่ไม่มาก ทำให้แยกแยะพืชที่มีลักษณะใกล้เคียงกันได้ยาก ดังนั้นการศึกษาลักษณะของพืชจากตัวอย่างพืชจริงจึงมีความสำคัญมากในการจำแนกชนิดของพืช 

ปรัชญากรีกกล่าวว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ จึงเกิดความสนใจศึกษาพืชที่ขึ้นอยู่ตามสภาพธรรมชาติทั้งในท้องถิ่นและพืชที่พบระหว่างการเดินทาง สมัยกรีกโบราณนี้เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาและบันทึกลักษณะของพืชอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคกลาง (ค.ศ. 700-1400) อาจเรียกว่าเป็นยุคมืดแห่งการศึกษาพฤกษศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เนื่องจากตำราฉบับดั้งเดิมที่หลงเหลือจากสมัยกรีกล้วนสูญหายไป ก่อให้เกิดการคัดลอกตำราที่ไม่ถูกต้อง [12] อีกทั้งปรัชญาของยุคกลางที่ต่างไปจากสมัยกรีก โดยมีความเชื่อว่ามนุษย์และธรรมชาตินั้นไม่เกี่ยวข้องกัน ในช่วงนี้จึงพบเพียงบันทึกการใช้ประโยชน์จากพืชโดยเฉพาะสมุนไพร ที่มักแฝงพืชที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและความเชื่อไว้ด้วย

ภาพวาดแสดงดอกป๊อปปี้สีแดง (Papaver rhoias) พร้อมคำบรรยาย ใน De Materia Medica ของไดออสคอริดีส ภาพจาก http://ica.themorgan.org/manuscript/page/182/143825

แม้ว่ายุคกลางจะเป็นช่วงที่มืดมิดในการศึกษาพฤกษศาสตร์ในฝั่งโลกตะวันตก แต่ยังพอมีเชื้อไฟของพฤกษศาสตร์พอให้ลุกโชนต่อไปได้บ้าง ในยุคกลางนั้นมีการสร้างสวนเพื่อรวบรวมสมุนไพรและพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ในลักษณะ monastic garden เป็นสวนอยู่ภายในอาราม (monastery) หรือวิหารคต (cloisters) ของคริสตศาสนา สวนนี้มีการปลูกพืชอย่างมีระบบระเบียบ มีการจัดสวนที่เป็นแบบแผน โดยพระหรือนักบวชในอารามนั้นเป็นผู้ดูแลสวนและศึกษาพืชต่าง ๆ [13] monastic garden จึงเป็นต้นแบบของสวนสมุนไพร (physic  garden) ในเวลาต่อมา และก่อให้เกิดแนวคิดในการสร้างสวนพฤกษศาสตร์ (botanic gardens) ที่รวบรวมพรรณไม้เพื่อการศึกษาอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

ลักษณะของ monastic garden ณ St. Lawrence’s Monastery ใน Šibenik ประเทศโครเอเชีย ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:The_Garden_of_St._Lawrence%27s_Monastery_in_%C5%A0ibenik_002.jpg โดย Tromber และ ลักษณะของสวนพฤกษศาสตร์ (botanic garden) บริเวณ systematic beds ณ สวนพฤกษศาสตร์คีว ณ สหราชอาณาจักร (Royal Botanic gardens Kew, London, UK)

ทว่าการปลูกและรักษาพันธุ์พืชที่มีชีวิตนั้นขึ้นกับฤดูกาล หากเข้าสู่ฤดูหนาวที่พืชอยู่ในระยะพักตัวหรือตายลงเพราะไม่สามารถทนอากาศที่หนาวเย็นได้ ทำให้ไม่มีตัวอย่างพืชสดในการศึกษาลักษณะของพืช ประกอบกับตำราต่าง ๆ ในสมัยนั้นยังไม่มีภาพประกอบที่สามารถบันทึกรายละเอียดที่จำเป็นในการระบุชนิดและจัดจำแนกพืชได้เท่าที่ควร เนื่องจากเทคนิคการวาดภาพที่มีข้อจำกัด 

นายแพทย์ชาวอิตาลี Luca Ghini (ค.ศ. 1490-1556) จึงริเริ่มใช้ตัวอย่างพืชแห้ง หรือ ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง (herbarium specimen) ในการศึกษาลักษณะของพืช โดยนำส่วนของพืชที่มีลักษณะสำคัญมาทับให้เรียบและทำให้แห้ง แล้วติดบนกระดาษเพื่อเก็บรักษา ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้ถูกเก็บรวบรวมในหอพรรณไม้ (herbarium) ถือว่าการก่อตั้งหอพรรณไม้ของ Ghini นี้เป็นแห่งแรก ๆ ของโลก นอกจากนี้เขายังสร้างสวนพฤกษศาสตร์ Hortus simplicium หรือ Orto botanico ณ เมืองปิซา ประเทศอิตาลี อีกด้วย [14] แต่ตัวอย่างพรรณไม้แห้งที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงสภาพอยู่นั้นจัดทำโดย Gherardo Cibo (ค.ศ. 1512-1600) เขาเป็นลูกศิษย์ของ Ghini ที่เป็นผู้ก่อตั้งหอพรรณไม้และรวบรวมตัวอย่างพรรณไม้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1532 [15,16,17]

ตัวอย่างพรรณไม้แห้งใน En Tibi herbarium ภาพจาก [17] และภาพวาดโดย Cibo ที่แสดงลักษณะและถิ่นที่อยู่ของพืช ภาพจาก Gherardo Cibo. (2022, October 28). In Wikipedia. https://en.wikipedia.org/wiki/Gherardo_Cibo

ในยุคแห่งความสงสัยใคร่รู้และยุคแห่งการสำรวจเริ่มมีการสะสมวัตถุแปลกตาจากต่างถิ่นรวมถึงตัวอย่างพรรณไม้ด้วย ในยุคนี้มนุษย์สนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ซึ่งรวมถึงธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตนานาชนิด ทำให้เกิดการศึกษาธรรมชาติหรือที่เรียกว่า ธรรมชาติวิทยา (natural history) ที่มีส่วนทำให้พฤกษศาสตร์ได้รับความสนใจอีกครั้ง ในสมัยนั้นวัตถุของสะสมจากต่างถิ่นถือเป็นของหายากและมีค่า เป็นสิ่งแสดงสถานะและฐานะทางสังคม จึงเกิดการสร้างห้องสารภัณฑ์ (Cabinet of curiosity) เพื่อรวบรวมของสะสมจากต่างแดน และหลาย ๆ แห่งได้รวบรวมตัวอย่างพรรณไม้ไว้ด้วย

ภาพพิมพ์ห้องสารภัณฑ์ จากหนังสือ Dell’Historia Naturale ค.ศ. 1599) ภาพจาก Wellcome Library, London. Wellcome Images images@wellcome.ac.uk http://wellcomeimages.org Published in Naples, 1599 Woodcut 1599 Dell’historia naturale / Ferrante Imperato Published: 1599.

นอกจากการเดินทางเพื่อสำรวจดินแดนใหม่ ยังมีการเดินทางเพื่อสำรวจพันธุ์ไม้ในดินแดนนั้นโดยเฉพาะ เรียกว่า botanical expedition โดยมีนักพฤกษศาสตร์หรือนักธรรมชาติวิทยาร่วมเดินทางไปด้วย เพื่อเก็บรวบรวมพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ ๆ ในพื้นที่ที่เข้าสำรวจ พวกเขาเดินทางกลับมาพร้อมสมบัติที่หาค่ามิได้ นั่นคือ ตัวอย่างพรรณไม้ ทำให้มีตัวอย่างพรรณไม้จำนวนมากที่สะสมอยู่ในหอพรรณไม้ ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้จะถูกระบุชนิดโดยนักพฤกษศาสตร์ต่อไป ถ้าหากโชคดีอาจได้ตัวอย่างพืชที่มีชีวิตที่สามารถนำมาปลูกในสวนพฤกษศาสตร์เพื่อการเรียนการศึกษาพฤกษศาสตร์ต่อไปได้ด้วย ในช่วงเวลานี้เองมีการพัฒนาของระบบการจัดจำแนกพืชที่เป็นมาตรฐาน โดยมีการตีพิมพ์แนวทางการจัดทำตัวอย่างพรรณไม้แห้ง ใน Isagoges in Rem Herbarium โดย Adriaan van de Spiegel (ค.ศ. 1578-1625) [18] และมีการเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการจำแนกสกุลและชนิดของพืชอย่างเป็นระบบ เช่นแนวทางของ Gaspard Bauhin (ค.ศ. 1560-1624)

การออกตามล่าหาพรรณพืชที่ยังไม่มีผู้ใดรู้จักหรือการออกตามล่าพืช (plant hunter) มีความรุ่งเรืองมากที่สุดในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 18-19 ในช่วงนี้การศึกษาพฤกษศาสตร์เน้นไปที่ความหลากหลายของพืชโดยเฉพาะพืชต่างถิ่น (exotic plants) เมื่อมีการศึกษาเกี่ยวกับพืชและมีการค้นพบมากขึ้น จึงเกิดการสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน โดยเฉพาะการจำแนกชนิดและระบุชื่อพืช (nomenclature and classification) โดยผู้ที่มีส่วนสำคัญคือ Carl Linnaeus (ค.ศ. 1707-1778) ที่ริเริ่มการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ (binomial nomenclature) และวางรากฐานในการจัดจำแนกพืชดอกด้วยลักษณะของส่วนสืบพันธุ์ ที่ถือเป็นรากฐานของการศึกษาด้านอนุกรมวิธาน (taxonomy) ของพืช ซึ่ง Linnaeus เสนอว่าเมื่อมีการตั้งชื่อพืชชนิดใหม่ ให้ฝากตัวอย่างพรรณไม้แห้งไว้ที่หอพรรณไม้ เรียกว่า ตัวอย่างต้นแบบ (type specimen) [19] เพื่อใช้เทียบลักษณะของพืชชนิดนั้น ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังคงมีการค้นพบและรายงานพืชชนิดใหม่มากมายทั่วโลก หลายชนิดอาจเป็นพืชที่พบเห็นได้ทั่วไป หลายชนิดอาจเป็นพืชที่พบในถิ่นที่อยู่เฉพาะ ที่เราเรียกว่า พืชเฉพาะถิ่น หรือ พืชถิ่นเดียว (endemic species) ซึ่งการค้นพบพืชชนิดใหม่ (new species) เป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับนักพฤกษศาสตร์และผู้คนทั่วโลก แต่พืชเหล่านี้อาจไม่ใช่ชนิดใหม่สำหรับโลกของเราที่มีอายุนับล้านปีก็ได้

ตัวอย่างพรรณไม้แห้งที่เป็นตัวอย่างต้นแบบของพืช Hieracium cerinthoides L. ภาพจาก Curators Herbarium B (2023). Digital specimen images at the Herbarium Berolinense. [Dataset]. Version: 09 Aug 2017. Data Publisher: Botanic Garden and Botanical Museum Berlin. http://ww2.bgbm.org/herbarium/ [https://herbarium.bgbm.org/object/B100603136, image ID: 210645.]).

การศึกษาพฤกษศาสตร์มีพัฒนาการก้าวสำคัญเมื่อมนุษย์สามารถประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ได้ในปี ค.ศ. 1665 พฤกษศาสตร์จึงขยายขอบเขตมากขึ้นจากการศึกษาลักษณะภายนอกของพืชที่มองเห็นได้ด้วยตาจากธีโอเฟรตัส บิดาแห่งพฤกษศาสตร์ ไปสู่การศึกษาพืชในระดับเซลล์และกายวิภาคศาสตร์ (anatomy) ของพืช โดย Nehemiah Grew (ค.ศ. 1641-1712) และพฤกษศาสตร์มีพัฒนาการครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อ Gregor Mendel (ค.ศ. 1822-1884) ค้นพบการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมของพืช ควบคู่กับการตีพิมพ์ของ Charles Darwin เกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต

ในเวลาต่อมามีการค้นพบสารพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต หรือ DNA ทำให้นักพฤกษศาสตร์เข้าใจหลักการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมของพืชของ Mendel มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาด้านอื่น ๆ ของพืช ทั้งกลไกการตอบสนองของพืชเชิงสรีรวิทยา (physiology) โดย Julius von Sach (ค.ศ. 1832–1897) หนึ่งในกระบวนการสำคัญของพืชที่เรารู้จักดีคือ กระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ที่ค้นพบโดย Jan Ingenhousz อีกทั้งการศึกษาด้านนิเวศวิทยาเริ่มจาการเดินทางของ Alexander von Humboldt (ค.ศ. 1769-1859) ไปจนถึง Eugenius Warming (ค.ศ. 1841-1924) ผู้เขียนตำราด้านนิเวศวิทยาเล่มแรก ๆ ของโลก ที่จะตอบคำถามเชิงเกี่ยวกับการกระจายตัวของพืชและลักษณะสังคมพืชที่ต่างกันได้

เห็นได้ว่าพฤกษศาสตร์สมัยใหม่นั้นต้องการอธิบายลักษณะและโครงสร้างของพืชที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมในถิ่นที่อยู่ของพืชในเชิงลึกที่ต้องอาศัยความรู้หลายด้าน พฤกษศาสตร์สมัยใหม่จึงแตกแขนงเป็นสาขาต่างๆ ตามมุมมองความสนใจที่ต่างกันตั้งแต่ระดับเซลล์ ระดับต้นพืช ไปจนถึงระบบนิเวศ แบ่งเป็นสาขาหลัก ได้แก่ การศึกษาลักษณะและการจัดจำแนกพืช (อนุกรมวิธานและความหลากหลายของพืช) การตอบสนองของพืชในเชิงสรีรวิทยา (physiology) นิเวศวิทยา (ecology) พันธุศาสตร์ (genetics) เทคโนโลยีชีวภาพ (biotechnology) และมีสาขาย่อยอีกมากมาย ในปัจจุบันยังครอบคลุมไปถึงการศึกษาเห็ดราและสาหร่ายด้วย แต่ทั้งนี้พฤกษศาสตร์ยังคงมีหัวใจหลักคือการทำความเข้าใจชีววิทยาและธรรมชาติของพืช รา และสาหร่าย ที่รอให้เรามาศึกษา ค้นคว้า และทำความเข้าใจอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

บทความนี้เป็นเพียงการเรียบเรียงและตีความประวัติศาสตร์และพัฒนาการของพฤกษศาสตร์โดยผู้เขียน ซึ่งเป็นประวัติโดยย่อ หากไม่ครบถ้วนประการใดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย ในบทความต่อไปขอชวนทุกท่านมาทำความรู้จักกับภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ (botanical illustration) ที่อยู่คู่กับการศึกษาพฤกษศาสตร์มาตั้งแต่เริ่มแรก และยังคงมีบทบาทสำคัญต่อพฤกษศาสตร์ในปัจจุบัน

บทความโดย ดร.ฉัตรทิพย์ รอดทัศนา

(ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

เอกสารอ้างอิง

[1] https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1002/ece3.9019
[2] https://www.pnas.org/doi/full/10.1073/pnas.1719588115
[3] https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0960982218300964?via%3Dihub
[4] https://huh.harvard.edu/book/chapter-2-brief-history#:~:text=Botany%20appears%20to%20have%20had,them%20as%20edible%20and%20inedible.
[5] https://nph.onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1002/ppp3.12
[6] https://news.harvard.edu/gazette/story/2009/09/oldest-known-fibers-discovered/
[7] https://news.harvard.edu/gazette/story/2006/06/figs-likely-first-domesticated-crop/
[8] https://en.wikipedia.org/wiki/Papyrus_stem_(hieroglyph)
[9] https://fitzmuseum.cam.ac.uk/objects-and-artworks/highlights/context/tradition-and-change/egyptian-writing
[10] https://www.ub.edu/ipoa/wp-content/uploads/2021/09/20041AuOrWatson.pdf
[11] https://plato.stanford.edu/entries/theophrastus/
[12] https://www.encyclopedia.com/science/encyclopedias-almanacs-transcripts-and-maps/botany-middle-ages-700-1449
[13] https://en.wikipedia.org/wiki/Monastic_garden
[14] Thiers, B.M. (2020) Herbarium: The Quest to Preserve and Classify the World’s Plants. Timber Press, US.
[15] http://artemis.austincollege.edu/acad/bio/gdiggs/collecting.htm
[16] https://www.herbarien.uzh.ch/en/informationen.html
[17] Stefanaki, A. et al. (2019) Breaking the silence of the 500-year-old smiling garden of everlasting flowers: The En Tibi book herbarium. PLoS ONE 14(6): e0217779. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0217779.
[18] https://library.si.edu/donate/adopt-a-book/isagoges-rem-herbariam-libri-duo
[19] https://data.nhm.ac.uk/dataset/the-linnaean-plant-name-typification-project

อ่านเพิ่มเติม ทำไมเรามองไม่เห็น “พืช” ? ปรากฎการณ์ ตาบอดพืช ที่มนุษย์กำลังเผชิญ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.