เอลนีโญปีนี้ ทำไทยแล้งรุนแรง – สิงห์อาสาสร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชน บรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้าน

ปัญหาภัยแล้งของประเทศไทย ในปี 2566 ยังคงมีอยู่ แถมยังถูกซ้ำเติมด้วยภาวะ ‘เอลนีโญ่’ ทำให้ภูมิอากาศของโลกแปรปรวนอย่างหนัก

ฤดูร้อนในปี 2566 ที่ประเทศไทย ถือว่า “รุนแรง” และ “หนักหนา” กว่าปีก่อน จากปรากฎการณ์ “คลื่นความร้อน” ซึ่งร้อนจนทำลายสถิติ แผ่กระจายไปหลายประเทศในเอเชีย จนทำให้ผู้คนที่อยู่ตามกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่อื่นๆ ในประเทศ รู้สึกร้อนมากกว่าปกติ

โดยปรากฎการณ์คลื่นความร้อนนี้เป็นเพียง ‘จุดเริ่มต้น’ ของความแห้งแล้งอันยาวนานและอาจรุนแรงขึ้นจากปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” (El Niño) ที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นลำดับถัดไป หลังจากก่อนหน้านี้ โลกของเราต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ครั้งล่าสุดอันยาวนาน ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน กันยายน ปี 2563 และสิ้นสุดไปเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งนับว่ายาวนานกว่าปกติ

ทั้งปรากฎการณ์ ‘เอลนีโญ่’ และลานีญา ล้วนเป็นปรากฎการณ์อากาศผันแปรซึ่งส่งผลต่อชีวิตมนุษย์ทั้งสิ้น โดยทั้งสองปรากฎการณ์เกิดจากลมประจำปีที่เรียกว่า ‘ลมสินค้า’ ที่เกิดจากความกดอากาศตามภาวะปกติซึ่งพัดอยู่บนโลกตลอดปี  พัดจากมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันออก (ทวีปอเมริกาใต้) ไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตก (เอเชีย-ออสเตรเลีย)

แต่อย่างที่เราทราบกันดีว่าสภาพภูมิอากาศโลกของเรากำลังอยู่ในภาวะแปรปรวนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้สภาพปัจจุบันของลมสินค้าดังกล่าวมีทั้ง ‘อ่อนกำลัง’ จะส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ และ ‘มีกำลังแรงกว่าปกติ’ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์ลานีญา

ถ้าปีไหน โลกตกอยู่ในสภาวะของเอลนีโญ่ กระแสลมสินค้ามีกำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทางพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปฟิซิกไปด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปฟิซิก จะทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปยังทวีปอเมริกาใต้แทน ด้วยเหตุนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราและออสเตรเลียต้องขาดฝนและเกิดความแห้งแล้ง แต่ชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้กลับมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น

หรือถ้าปีไหนโลกตกอยู่ในสภาวะของลานีญา ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ขั้วตรงข้าม-คือลมสินค้ามีกำลังแรงเกินไป ก็จะทำให้พื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียมีระดับทะเลและปริมาณน้ำฝนสูง ดังที่เราได้เห็นปรากฎการณ์น้ำท่วมรุนแรงในประเทศไทยหลายพื้นที่ในช่วงปีที่ผ่านมา และยังส่งผลตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ต้องเผชิญความแห้งแล้งอย่างรุนแรงอีกด้วย

โดยทั้ง 2 ปรากฏการณ์นี้มักจะเกิดสลับกัน กล่าวคือ เมื่อเกิดเอลนีโญแล้วจะเกิดลานีญาตามมา โดยเอลนีโญจะเกิดขึ้นเฉลี่ย 5-6 ปีต่อครั้ง แต่ละครั้งกินเวลานานราว 12-18 เดือน ส่วนลานีญาจะเกิดขึ้นได้ทุก 2- 3 ปี แต่ละครั้งกินเวลานานราว 9-12 เดือน บางครั้งอาจอยู่นานถึง 2 ปี แต่ปัจจุบันโลกของเราได้เผชิญกับปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ที่ยาวนานกว่าปกติมากถึง 3 ปี

โดยปรากฎการณ์เอลนีโญ่ที่เริ่มในปี 2566 นี้ ทาง องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแห่งสหประชาชาติ WMO(World Meteorological Organization ) ได้ออกรายงานเตือนทุกๆ ประเทศ ให้เตรียมตัวรับมือกับวิกฤต เพราะเจอเอลนีโญรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งมีโอกาสจะเกิดขึ้นสูงถึง 80% ภายในเดือนกันยายนนี้

ด้านตัวแทนหน่วยงานด้านน้ำของประเทศไทยอย่าง นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รองผู้อำนวยการ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงปรากฎการณ์เอลนีโญในประเทศไทย ปี 2566 ว่าจะเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีนี้ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า จึงคาดการณ์ว่าปีนี้ปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5  และมีโอกาสที่เกิด ‘ฝนทิ้งช่วง’ ในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม  ซึ่งสอดคล้องกับประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อ 28 เมษายน 2566 ว่า จะมีฝนทิ้งช่วงในช่วงเดือนมิถุนายน – กลางเดือนกรกฎาคม ส่งผลให้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย ทำให้พื้นที่แล้งซ้ำซาก บริเวณนอกเขตชลประทานอาจจะเกิดการขาดแคลนน้ำใช้สำหรับทำการเกษตรได้ในหลายพื้นที่

จะเห็นได้ว่า ปรากฎการณ์ เอลนีโญ่-ลานีญา ล้วนส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้ประเทศไทยเกิดทั้งภัยแล้ง-และน้ำท่วม สลับกันไป แม้เราไม่อาจหลีกเลี่ยงปรากฎการณ์ธรรมชาติได้ แต่เราสามารถบรรเทาและแก้ไขปัญหาด้วยโมเดลการจัดการน้ำที่ทำให้ชาวบ้านในชุมชนหลายๆ แห่ง สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามน้ำหลาก และสามารถมีน้ำสำรองเพื่อทำการเกษตร-อุปโภคบริโภคในชุมชนได้อย่างเพียงพอ

ดังเช่นโมเดลการสร้างแหล่งน้ำชุมชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้าน ให้มีน้ำไว้ใช้ทั้งในช่วงหน้าแล้งและภาวะปกติ ของ  ‘สิงห์อาสา’ โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ที่ร่วมกับ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และบริษัท ขอนแก่นบริวเวอรี่ จำกัด บริษัทในเครือฯ พร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 สถาบัน จัดทำโครงการ “สิงห์อาสาสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน” ด้วยการขุดบ่อเพื่อเป็นแหล่งน้ำให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ตลอดฤดูแล้งและภาวะปกติ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนให้แก่ชาวบ้าน ควบคู่กับการนำรถน้ำออกให้บริการในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน ณ ชุมชนบ้านหนองแวงไร่ ต.ในเมือง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ที่ประสบปัญหาภัยแล้งมาอย่างยาวนาน

เครือข่ายสิงห์อาสา ร่วมกันสร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชน ณ ชุมชนบ้านหนองแวงไร่ ต.ในเมือง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น

โมเดลแหล่งน้ำชุมชนนี้ เริ่มจากสร้างบ่อน้ำ ทั้งบ่อขนาดใหญ่ (บ่อเปิด) ขนาดประมาณ 4 ไร่ และบ่อขนาดเล็ก (บ่อปิด)  โดยบ่อปิดจะใช้วิธีขุดให้ลึกถึงชั้นบาดาลแล้วฝังท่อลงไป เพื่อช่วยเติมความชุ่มชื้นให้แก่ดินโดยรอบ เพื่อเติมแหล่งน้ำให้ชุมชน กักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในหน้าแล้ง เพื่อเป็นแหล่งน้ำให้ชาวบ้านไว้ใช้ตลอดทั้งปี  พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนให้แก่ชาวบ้าน เพื่อการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถมีน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคทั้งในภาวะปกติและในช่วงหน้าแล้ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์มัลลิกา ศรีสุธรรม อาจารย์สาขาวิชาปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การกลับมาของปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลทำอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยร้อนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในบางพื้นที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะภาคอีสานที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่ง

วิธีหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดจากความแห้งแล้งโดยปรากฎการณ์เอลนีโญคือการเตรียมตัวเรื่องแหล่งน้ำให้พร้อม เช่น การสร้างแหล่งน้ำชุมชนโดยใช้กระบวนการเติมน้ำใต้ดินที่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ ซึ่งแบ่งออกเป็นรูปแบบบ่อเปิดและบ่อปิด ตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยบ่อปิดจะใช้วิธีขุดให้ลึกถึงชั้นบาดาลแล้วฝังท่อลงไป เพื่อช่วยเติมความชุ่มชื้นให้แก่ดินโดยรอบ ส่วนบ่อเปิดคือการสร้างแหล่งน้ำสาธารณะที่ทุกคนสามารถผันน้ำไปใช้ได้ตลอดทั้งปี จนทำให้แหล่งน้ำดังกล่าวมีปริมาณน้ำที่เพียงพอให้กับคนในชุมชน”

อย่างการสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนจึงร่วมกับสิงห์อาสาเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ได้ โดยพื้นที่ที่เราเลือกในครั้งนี้เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง มีน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคและทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งและฤดูกาลเพาะปลูกที่ฝนทิ้งช่วง กระบวนการเติมน้ำใต้ดินจึงเป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาน้ำแล้งสามารถกักเก็บน้ำได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์มัลลิกา ศรีสุธรรม อาจารย์สาขาวิชาปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ภาพเปรียบเทียบ ก่อน-หลัง การสร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชน (ระบบเปิด) โดยสิงห์อาสา

“ในหน้าแล้ง ชุมชนแห่งนี้จะไม่ขาดน้ำอีกต่อไป เพราะว่าที่นี่จะมีน้ำจากระดับน้ำใต้ดินขึ้นมา จากเดิมที่ฝนตกมาเยอะๆ ในปีที่มีลานีญาจนเกิดน้ำท่วมแล้วล้นออกไป ก็จะทำให้เก็บน้ำได้มากขึ้น ลดผลกระทบจากการเกิดน้ำล้นออกไปท่วมขังพื้นที่ของชุมชนได้มาก เพราะฉะนั้น หากเกิดเอลนีโญ่ที่ที่เป็นภัยแล้ง บ่อแห่งนี้ก็จะกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้มากขึ้น หรือต่อให้เป็นปีที่เกิดลานีญา ซึ่งเป็นปีที่มีน้ำเยอะ ก็จะช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นของน้ำหลากที่จะออกไปท่วมบนพื้นที่ชุมชนและเกษตรชุมชน โดยทั้งบ่อเปิดและบ่อปิดซึ่งเราทำควบคู่กันจะเพิ่มศักยภาพการกักเก็บน้ำไว้ในพื้นที่ให้ยาวนานมากยิ่งขึ้น”

ด้าน นายรวินทร์ ชมพูนุชธานินทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มประชาสัมพันธ์ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า การสร้างแหล่งน้ำชุมชนตลอดหลายปีที่ผ่านมา ช่วยให้ชาวขอนแก่นและพื้นที่ใกล้เคียงมีแหล่งน้ำชุมชนไว้ใช้ทั้งในยามแล้งและปกติ เมื่อมีน้ำพอกินพอใช้จึงทำให้สามารถต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้ประกอบอาชีพได้

นายรวินทร์ ชมพูนุชธานินทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มประชาสัมพันธ์ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด

“ตั้งแต่ปี 2564 สิงห์อาสาได้สร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชน บรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้านมาแล้วในพื้นที่ภาคอีสานหลายแห่ง และจะขยายต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป โดยก่อนนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 12 ปี ที่สิงห์อาสาพร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 สถาบัน ได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การแจกจ่ายน้ำสะอาดให้กับชาวบ้าน ติดตั้งธนาคารน้ำสิงห์ ซึ่งเป็นแท้งค์น้ำให้ชาวบ้านได้มีน้ำใช้ ทำท่อประปาเพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงน้ำจากภูเขาเข้าสู่หมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกล และสร้างแหล่งน้ำชุมชน นำองค์ความรู้เรื่องการเติมน้ำใต้ดินมาสร้างแหล่งน้ำชุมชนและถ่ายทอดให้ชาวบ้าน เพื่อให้มีน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคอย่างยั่งยืน ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องภาคอีสานได้เป็นอย่างดี”

ทั้งนี้ สิงห์อาสา และ คณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น พร้อมด้วยเครือข่ายสถาบันการศึกษา 16 สถาบันในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ,มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ, วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น และวิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม จะสร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชนพร้อมช่วยสนับสนุนองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องให้กับชุมชน เพื่อขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมทั่วทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้ทุกคนมีน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้าน
แจกจ่ายน้ำดื่มจาก ‘ธนาคารน้ำสิงห์’ ให้กับชาวบ้านในพื้นที่

ดังนั้น ภัยแล้งที่เกิดขึ้นจากเอลนีโญในปีนี้ คนไทย โดยเฉพาะเกษตรกรต้องเตรียมรับมือภัยแล้งที่จะส่งผลผลิตผลทางเกษตรได้รับความเสียหาย จึงควรพิจารณาเรื่องการปลูกพืชผลผลิตในช่วงกลางปีไปจนถึงปลายปีว่ามีแหล่งน้ำเพียงพอหรือหรือไม่ รวมไปถึงพิจารณาแหล่งเก็บสำรองเพื่อการทำเกษตรกรและอุปโภคบริโภคให้เพียงพอตลอดทั้งปี ส่วนประชาชนทั่วไปควรคำนึงเรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัด เพราะมีโอกาสที่เกิดภัยแล้งจากปรากฎการณเอลนีโญ่ครั้งนี้ด้วย รวมไปถึงช่วยกันลดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศซึ่งก่อให้เกิด ‘ภาวะโลกร้อน’ หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะซ้ำเติมผลกระทบจากเอลนีโญ่-ลานีญา ให้รุนแรงขึ้นไปอีก

ที่มา

– ‘คลื่นความร้อน’ Monster Asian Heatwave ถล่มเอเชีย ไทยก็โดนด้วย!. กรุงเทพธุรกิจ. https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1067096

– ปรากฏการณ์ลานีญา 3 ปีซ้อน สิ้นสุดแล้ว เตรียมต่อด้วยเอลนีโญรุนแรง. บีบีซีไทย. https://www.bbc.com/thai/articles/ceq5897j232o

– ปรากฏการณ์ เอลนีโญ และ ลานีญา ความแปรปรวนของกระแสลมและการไหลเวียนของกระแสน้ำ. National Geographic Thailand. https://ngthai.com/science/26980/elnino-lanina/

เอลนีโญ VS ลานีญา ปรากฏการณ์ธรรมชาติคนละขั้ว. Facebook กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. https://www.facebook.com/deqpth/posts/2667497973281293/

WMO เตือนโลก เตรียมรับมืออากาศร้อนจาก ‘เอลนีโญ่’ ด้าน กรมอุตุฯ เผย ฤดูฝนของไทยปีนี้มาช้ากว่าปกติ. Workpoint Today. https://workpointtoday.com/weather-el-nino/

“เอลนีโญ” กระทบไทยฝนมาช้ากว่าปกติ 1 สัปดาห์ ผุดแผนกักน้ำฝนสู้ภัยแล้ง. TNN Online. https://www.tnnthailand.com/news/earth/145819/

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.