ประสิทธิภาพของ บลูคาร์บอน ถูกพูดถึงในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลายฝ่ายต่างเร่งหามาตรการและนโยบาย เพื่อรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเอาไว้ โดยหนึ่งในมาตรการที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางคือ การดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์โดยมหาสมุทรและทรัพยาการชายฝั่ง หรือ บลูคาร์บอน
บลูคาร์บอน เป็นหนึ่งในมาตรการแก้ปัญหาเรื่องสภาพภูมิากาศที่นักรณรงค์และนักอนุรักษ์ทางทะเลระบุว่า “แหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพสูงในมหาสมุทรกำลังถูกมองข้าม” อันเนื่องมาจากการประชุม COP26 ที่ผ่านมา ผู้นำจากทั่วโลกได้แสดงความมุ่งมั่นเกี่ยวกับการหยุดทำลายป่าไม้ในปี ค.ศ. 2030 แต่มีเพียง 43 ประเทศเท่านั้น จาก 113 ประเทศ ที่รวมระบบนิเวศบลูคาร์บอนเข้าเป็นส่วนหนี่งในมาตรการการลดก๊าซเรือนกระจก
พื้นที่ระบบนิเวศบลูคาร์บอน ประกอบด้วย ระบบนิเวศชายฝั่ง ป่าชายเลน ที่ราบน้ำท่วมถึง และหญ้าทะเล พื้นที่เหล่านี้สามารถกักเก็บคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศไว้ที่ระบบราก และดินตะกอน ซึ่งสามารถเก็บกักไว้ได้นานนับพันปี หากไม่ถูกรบกวนด้วยกิจกรรมของมนุษย์ ในขณะที่ พื้นที่ป่าไม้บนแผ่นดิน หรือกรีนคาร์บอน จะปลอดปล่อยก๊าซคาณ์บอนไดออกไซด์ออกมาเมื่อต้นไม้ตาย ด้วยเหตุนี้ บลูคาร์บอนจึงมีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนสูงกว่าป่าไม้ถึงเกือบ 10 เท่า
หนึ่งในการวิจัยที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับประสิทธิภาพของบลูคาร์บอน เกิดขึ้นที่แหลม Steart ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง พบว่า สามารถดูดซับคาร์บอนได้ 19 ตัน ต่อเฮกตาร์ ในทุกๆ ปี หรือ 18,000 ตัน ใน 4 ปี ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับการกำจัดก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยโดยรถยนต์ 32,900 คัน
นอกจากนี้ ความสามารถในการดูดซับคาร์บอนโดยหญ้าทะเลจากการสังเคราะห์ด้วยแสงและกักเก็บไว้ในโคลนตะกอนมีความไวกว่าป่าฝนถึง 35 เท่า
อย่างไรก็ตาม ระบบนิเวศชายฝั่งเป็นหนึ่งในระบบนิเวศของโลกที่ถูกคุกคามมากที่สุดจากกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งการทำฟาร์ม การทำประมงเกินขนาด และมลพิษ โดยพื้นที่ที่เสียหายมากที่สุดแห่งหนึ่งคือ ชายฝั่งแถบแคริบเบียน ที่สูญเสียพื้นที่ป่าชายเลนไปราวร้อยละ 50 ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งมีสาเหตุจากการทำปศุสัตว์ การสร้างถนน และการท่องเที่ยว
ในฝั่งของประเทศอังกฤษ จากการสำรวจทางทะเลพบว่า หญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเล และชนิดพันธุ์ที่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างดี มีปริมาณลดลงประมาณร้อยละ 92 ของพื้นที่ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง 2 ศตวรรษที่ผ่านมา โดยปริมาณหญ้าทะเลที่มีชีวิตกว่าร้อยละ 39 หายไปตั้งแต่ปี 1980
นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลให้ความสำคัญกับหญ้าทะเลเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญให้กับสัตว์ทะเล หญ้าทะเลเพียงร้อยละ 0.1 ที่เหลืออยู่ในมหาสมุทรทั่วโลก สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ถึงร้อยละ 18 และทุกวันนี้ สถานการณ์ของหญ้าทะเลกำลังลดลงในอัตราร้อยละ 7 ทุกๆ ปี
สำหรับประเทศไทยนั้น มีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 2,500 ตารางกิโลเมตร และเพิ่มขั้นเล็กน้อยในปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่ายังไม่เพียงพอสำหรับการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกขของประเทศ
อ้างอิงจากถ้อยแถลงของวิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ที่กล่าวในการเสวนา The Blue Carbon and Blue Finance: The Sustainable Way for Achieving Net Zero ว่า “ประเทศไทยมีสัดส่วนการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 0.88 ของโลก แต่ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศแรกของโลก ที่มีดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศสูงที่สุด ขณะที่อันดับด้านการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก GHG ของไทยอยู่ที่อันดับ 20 ของโลก ดังนั้น ไทยจึงมีค่าดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ อันดับที่ 9 ของโลก
วิจารย์กล่าวต่อไปว่า “ข้อมูลดังกล่าวกำลังเป็นตัวเร่งให้ประเทศไทยต้องตื่นตัวกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และสามารถต่อยอดพื้นที่บลูคาร์บอนไปเป็นเศรษฐกิจสีน้ำเงินซึ่งเป็นแนวคิดที่นำเอาความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้กับสิ่งแวดล้อมทางทะเล”
แนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงินแบ่งเป็น 1. ระบบเศรษฐกิจ 2. ระบบนิเวศ และ 3. ความมั่นคง ซึ่งมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่มีมูลค่าเศรษฐกิจประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยสัดส่วนร้อยละ 80 ของการค้าทั่วโลกเกิดจากการขนส่งทางทะเล ในขณะเดียวกัน การกักเก็บคาร์บอนของพื้นที่บลูคาร์บอนก็เป็นระบบนิเวศที่ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งต้องรักษาพื้นที่เหล่านี้ไว้ไปพร้อมกับการดำเนินเศรษฐกิจ
เมื่อกล่าวถึงงบประมาณการดำเนินงานด้านบลูคาร์บอน วราภรณ์ หิรัญวัฒน์ศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมอาวุโสธนาคารโลก ( World Bank) กล่าวว่า จํานวนเงินทุนเพื่อการกุศลทั่วโลกสําหรับการริเริ่มที่เกี่ยวข้องกับด้านท้องทะเล ตั้งแต่ปี 2009-2019 มีทั้งหมด 175 ทุน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.34 ของเงินช่วยเหลือทั้งหมดที่ลงทุนเพื่อการดูแลมหาสมมุทร และกิจกรรมดานบลูคาร์บอน ซึ่งในความเห็นของวราภรณ์ เป็นเงินจำนวนน้อยมาก ดังนั้น การเพิ่มเงินทุนสำหรับโครงการที่เกี่ยวกับบลูคาร์บอน จะช่วยให้ฟื้นฟูพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนนโนบายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทะเลและชายฝั่ง นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้กล่าวถึงนโยบายของกรมฯ ว่า “การอนุรักษ์ ฟื้นฟู คุ้มครอง ดูแล รักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรวมถึงป่าชายเลน เป็นหน้าที่ของ ทช. เพื่อเป็นการลดก๊าซเรือนกระจกภาคป่าไม้ จึงได้พยายามปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต กำหนดเป้าหมายระยะ 10 ปี ( ปี 2021-2030) เนื้อที่ 3 แสนไร่ ในท้องที่ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล”
สอดรับกับนโยบายจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. ที่ระบุว่า “เราสามารถสร้างแรงจูงใจของชุมชนเพื่อเพิ่มบลูคาร์บอนที่มีเป้าหมาย 3 แสนไร่ได้ ด้วยการนำหลักการคาร์บอนเครดิตมาใช้และนำประโยชน์ที่ได้จากการไปเป็นแรงจูงใจสำหรับการปลูกป่าอีกต่อหนึ่ง”
ปัจจุบัน “ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลกำลังมีแนวโน้มที่ประชากรสัตว์น้ำได้ลดลงไปแล้วถึงร้อยละ 36 ดังนั้น เศรษฐกิจสีน้ำเงินจะต้องเข้ามามีส่วนช่วยและดูแลนิเวศทางทะเลให้สมดุลโดยเร็ว ผ่านกลไกการจัดการบริหารบลูคาร์บอน” จิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว
บลูคาร์บอนเป็นพื้นที่ส่วนรวมที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นรูปธรรมมากที่สุด เพราะบลูคาร์บอนไม่เพียงแต่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น ระบบนิเวศชายฝั่งถือเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญ อีกทั้งยังช่วยปกป้องพื้นที่ชายฝั่งจากคลื่นพายุ ดังนั้น การให้ความสำคัญกับบลูคาร์บอน และกลยุทธ์ต่าง ๆ สำหรับปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่ง จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของโลกเรา
สืบค้นและเรียบเรียง ณภัทรดนัย
ข้อมูอ้างอิง
บลูคาร์บอน ทางเลือกใหม่ ระบบนิเวศทางทะเล กับการพิชิตเป้าหมาย Net Zero
https://reefresilience.org/th/management-strategies/blue-carbon/blue-carbon-projects/
https://datacenter.deqp.go.th/knowledge/articlecop/8/
http://www.tgo.or.th/2020/index.php/th/post/blue-carbon
https://www.bangkokbiznews.com/environment/1060534
https://www.bangkokbiznews.com/environment/1031285