ทะเลเขียว อาจไม่จบแค่เกาะล้าน! ภาพดาวเทียมระบุชัด ทะเลไทย (และโลก) กำลังป่วนจาก แพลงก์ตอนบลูม ผลจาก “โลกร้อน”, “มนุษย์”

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 66 ซึ่งเป็นช่วงของวันหยุดยาว มีการเผยแพร่ภาพ แพลงก์ตอนบลูม หรือ น้ำทะเลสีเขียว ที่ เกาะล้าน จ.ชลบุรี ซึ่งน้ำทะเลมีสีเขียวไปทั้งชายหาด

ต่อมาได้มีคำอธิบายว่า เหตุการณ์ดังกล่าวคือปรากฎการณ์ “แพลงก์ตอนบลูม” หรือขี้ปลาวาฬ ถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนสีอันมาจากการเพิ่มจำนวนของสาหร่ายเซลล์เดียวในทะเลจำนวนมาก

โดยต่อมา เพจ “ข่าวสารเกาะล้าน” ได้ระบุว่าเพิ่มเติมว่า นี่คือปรากฏการณ์ธรรมชาติซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในฤดูฝน ปีหนึ่งจะเกิดขึ้น 4-5 วัน ตามกระแสน้ำของทะเล ซึ่งเกิดขึ้นบริเวณ หาดตาแหวน และ หาดตายาย ซึ่งเป็นหาดที่หันหน้าไปทางปากน้ำที่มีกระแสน้ำจืดไหลลงมา แต่หาดอื่นๆ เช่น หาดนวล หาดแสม หาดเทียน น้ำทะเลยังใสเป็นปกติ

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ ปรากฎการณ์น้ำทะเลเขียวนี้ ถือเป็นสัญญาณเตือนของภัยคุกคามที่กำลังเกิดขึ้นกับผืนน้ำทะเลของไทย และหลายแห่งในโลก

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 66 ใน Facebook ของ อ. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และ อาจารย์ประจำคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เผยแพร่แผนที่แสดงค่าเฉลี่ยรายวันของปริมาณ “คลอโรฟิลล์” ในน้ำทะเล บริเวณอ่าวไทยและอันดามัน จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA

ซึ่งเป็นภาพวัดคลอโรฟิลล์ในผืนน้ำทะเลไทยที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปริมาณแพลงก์ตอนพืชบลูม (สะพรั่ง) ในวันที่ 27 กรกฎาคม หรือ 2 วันก่อนเกิดปรากฎการณ์ทะเลเกาะล้านเป็นสีเขียว ซึ่งจะเห็นได้ว่าปริมาณคลอโรฟิลล์ครอบคลุมไปในบริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกของไทย (ไม่ใช่แค่ในจังหวัดชลบุรี หรือเกาะล้านเท่านั้น) อันเป็นผลจากปรากฎการณ์มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่ลมลมพัดน้ำมารวมอยู่บริเวณนั้น ซึ่งทำให้เกาะล้านพบเหตุการณ์น้ำทะเลสีเขียวดังกล่าว

ปรากฎการณ์ น้ำทะเลเขียว ในอ่าวไทยเช่นนี้ ส่งสัญญาณอะไรให้กับเรา

โดยในธรรมชาติ “การสะพรั่ง” (Bloom) ของแพลงก์ตอนพืชในแหล่งน้ำ ถือเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ของการเปลี่ยนแปลงแทนที่ทางระบบนิเวศ (Ecological Succession) ซึ่งใช้เวลาหลายสิบถึงหลายร้อยปีในการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ ของแหล่งน้ำดังกล่าว

แม้จะถือเป็น “ปรากฎการณ์ธรรมชาติ” แต่ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา “กิจกรรมของมนุษย์” เช่น กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้แหล่งน้ำทั่วโลกเกิดปรากฎการณ์นี้ขึ้นบ่อยครั้ง และทวีความรุนแรงมากกว่าที่ผ่านมา เช่น การปล่อยน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือนลงในแหล่งน้ำ การใช้ปุ๋ยเคมีในภาคการเกษตร หรือแม้กระทั่งการขยายตัวของประชากรก็มีผลเช่นเดียวกัน

โดยในปี 2566 ปรากฎการณ์นี้มีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว ปัจจัยโดยอ้อมที่ส่งผลคือ ซึ่งอาจเป็นผลจาก “ปรากฎการณ์ภาวะโลกร้อน” ส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์ “น้ำทะเลเดือด” กล่าวคือ น้ำทะเลมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยสูงขึ้น

เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทีมนักสมุทรศาสตร์จากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ได้เปิดเผยข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเลทั่วโลกที่น่าตกใจว่า ครึ่งหนึ่งของผืนมหาสมุทรทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบใกล้เส้นศูนย์สูตร กำลังเปลี่ยนเป็น “สีเขียวเข้ม” มากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจาก “ภาวะโลกร้อน”

โดยสีเขียวนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้สิ่งมีชีวิตอย่าง ไฟโตแพลงก์ตอน (phytoplankton) หรือ แพลงก์ตอนพืช ซึ่งใช้สารคลอโรฟิลล์สีเขียวและกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงสร้างพลังงานให้ตัวเองเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว

โดยเมื่อวันที่ 15 ก.ค. อ. ธรณ์ ได้พูดถึงปรากฎการณ์แพลงก์ตอนบลูมที่กำลังมีมากขึ้นในอ่าวไทยว่า เมื่อแพลงก์ตอนมีมากเกินไป จะส่งผลกระทบด้านต่างๆ โดยเฉพาะ “ออกซิเจนในน้ำ” ซึ่งเกี่ยวข้องกับสัตว์น้ำโดยตรง และปรากฏการณ์ที่น้ำเปลี่ยนสีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนั้นเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน

และ อ. ธรณ์ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “แม้ไม่ใช่แพลงก์ตอนพิษ แต่หอยอาจโตช้า ขายไม่ได้ราคา หนักหน่อยก็ตายเลย เป็นผลกระทบซ้ำซ้อนที่ส่งผลต่อการทำมาหากินของพี่น้องคนชายฝั่งมากขึ้นเรื่อยๆ และดูเหมือนจะไม่มีวี่แววว่าจะลด เพราะโลกยังไม่หยุดร้อน อีกทั้งผลกระทบจากมนุษย์โดยตรงก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะน้อยลงอย่างมีนัยยะ”

สอดคล้องกับ ในรายงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Nature ฉบับล่าสุด ระบุว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าวนี้ไม่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการเติบโตเกินขีดจำกัดของประชากรแพลงก์ตอน จะทำให้ผืนน้ำโดยรอบขาดออกซิเจน จนกลายเป็นเขตมรณะ (hypoxic dead zone) หรือบริเวณพื้นที่ในมหาสมุทรหรือแหล่งน้ำที่มีปริมาณของออกซิเจนต่ำมาก ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง

ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นเขตขาดออกซิเจนจนกระทั่งสิ่งมีชีวิตไม่สามารถดำรงอาศัยอยู่ได้อีก ทำให้เกิดการตายและการอพยพของสัตว์น้ำจำนวนมาก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศในแหล่งน้ำอีกด้วย

แม้ในที่สุดแล้ว ปรากฎการณ์น้ำทะเลเขียวในพื้นที่ชายหาดเกาะล้านนี้จะค่อยๆ สลายตัวไปด้วยสาเหตุต่างๆ หรือที่ เรียกว่า “ขั้นตอนการยุติปรากฏการณ์” ทว่า ปรากฎการณ์น้ำทะเลเขียวนี้ยังมีโอกาสเกิดเรื่อยๆ ทั้งในประเทศไทยและอีกหลายพื้นที่ เพราะปรากฎการณ์น้ำทะเลเดือด และภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลโดยอ้อม ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นจากที่เป็นอยู่ในขณะนี้

และถ้าปรากฎการณ์นี้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ภาพของ น้ำสวย ทะเลใส อาจเป็นเพียงภาพในอดีต ที่คนรุ่นหลังอาจไม่มีโอกาสพบเห็นได้ด้วยตาตัวเองอีก

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/environment/article/climate-change-alters-oceans-blues-greens

ปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชัน (Eutrophication)





https://www.bbc.com/thai/articles/c1d755j1dppo
https://www.bangkokbiznews.com/environment/1076547
https://mgronline.com/travel/detail/9660000068393

อ่านเพิ่มเติม บลูคาร์บอน ประสิทธิภาพที่กำลังถูกมองข้ามในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.