ประพาสต้นบนดอย สี่ทศวรรษโครงการหลวง

ถนนที่เริ่มคดเคี้ยวบอกใบ้ว่า เรากำลังไต่ระดับขึ้นสู่เขตพื้นที่สูงจุดหมายปลายทางของฉันอยู่ที่สถานีเกษตรของมูลนิธิโครงการหลวงซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ และห่างจากชายแดนพม่าเพียงไม่กี่กิโลเมตร ก่อนหน้านี้ ชื่อโครงการหลวงที่ฉันคุ้นเคยตามผลิตภัณฑ์ต่างๆที่หาซื้อได้ในกรุงเทพฯ ทำให้คิดเสมอว่า แต่ละบาทแต่ละสตางค์ของเราได้ช่วยกระจายรายได้สู่เกษตรกรบนพื้นที่สูง แต่เมื่อการเดินทางจบลง ความรู้ใหม่ที่ได้รับคือ เราไม่ได้ช่วยเหลือพวกเขาแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น พวกเขายังช่วยให้คนเมืองกรุงอย่างฉันมี ”ตัวเลือก” มากขึ้นในการบริโภคพืชผักผลไม้ทั้งเมืองหนาวและเมืองร้อน (ยังไม่รวมผลิตภัณฑ์แปรรูปอีกสารพัดชนิด) ที่สะอาดและปลอดภัยจากเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรและยาฆ่าแมลงสารพัดชนิด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะเสด็จฯทรงเยี่ยมราษฎรบนดอยสูงในจังหวัดทางภาคเหนือ เป็นปฐมบทแห่ง “การเสด็จประพาสต้นบนดอยสูง” และนำไปสู่ “โครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งขึ้นเพื่อทดลองและส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนฝิ่น ภายหลังโครงการนี้ได้พัฒนาจนกลายมาเป็น “โครงการหลวง” เช่นในปัจจุบัน

 

[ ต้ น นํ้ า ]

ทันทีที่เดินทางถึงสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สายลมเย็นยะเยือกและแห้งก็พัดพาให้กายสั่นเทิ้ม ย้อนหลังไปเมื่อหลายสิบปีก่อน อากาศเย็นและแห้งแบบเดียวกัน ณ ผืนแผ่นดินเดียวกันนี้ ได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์อย่างหนึ่ง ซึ่งเร่งให้ ”หยดน้ำทิพย์” แห่งขุนเขาแปรสภาพเป็น ”เงิน”

“ผมขึ้นมาครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน ปี 2517 พื้นที่แถบนี้เป็นภูเขาหัวโล้นทั้งหมด ชาวบ้านถางป่า ทำไร่ แล้วก็เผา” จำรัส อินทร เจ้าหน้าที่รุ่นแรกของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เท้าความหลังถึงสถานีเกษตรหลวงแห่งแรกในความทรงจำ ”พวกเขาเผาทำไร่ฝิ่นครับ” จำรัสเล่า

ในยุคนั้น ฝิ่นและข้าวไร่ถือเป็นพืชพื้นฐานสองชนิดที่ชาวเขานิยมปลูกบนพื้นที่สูงของไทย ข้าวไร่นั้นปลูกสำหรับบริโภคในครัวเรือน ส่วนฝิ่น นอกจากใช้แทนยาบรรเทาความเจ็บป่วยสารพัดแล้ว ยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญอีกด้วย

อากาศที่ทั้งเย็นและแห้งบนดอยสูงส่งผลให้ยางหรือ ”น้ำทิพย์” ที่ไหลออกมาจากกระเปาะฝิ่นหลังการกรีด แห้งและแข็งตัวอย่างรวดเร็ว ยางแห้งหรือฝิ่นดิบซึ่งเป็นสารตั้งต้นของยาเสพติดอย่างเฮโรอีนมีมูลค่าสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดยาเสพติดทั่วโลกด้วยเหตุนี้ ฝิ่นจึงกลายเป็น ”พืชเงินสด” (cash crop) ที่ชาวเขาใช้ในการแลกเปลี่ยนหรือ ”ใช้จ่าย” ในชีวิตประจำวันแทนเงินสด

บ๊วยคือไม้ผลเมืองหนาวส่งเสริมชนิดแรกที่หยั่งรากลงบนดอยอ่างขางเมื่อเกือบสี่สิบปีก่อน แต่ในปีนี้ต้นบ๊วยในแปลงทดลองของสถานีเกษตรหลวงอ่างขางกลับออกผลผิดฤดูกาล คนงานของสถานีเกษตรหลวงอ่างขางจึงต้องเร่งมือปลิดผลทิ้ง เพื่อไม่ให้ลำต้นทรุดโทรมก่อนที่ฤดูให้ผลผลิตแท้จริงจะมาถึง

“พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงสนพระทัยชีวิตของราษฎร เวลาเสด็จฯไปเชียงใหม่ ท่านทรงทราบว่าบนดอยมีชาวเขา แต่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่กันอย่างไร นอกจากเรื่องปลูกฝิ่นแล้วไม่มีใครรู้เรื่องราวเหล่านี้เลย ท่านเสด็จฯโดยเฮลิคอปเตอร์แล้วทรงพระดำเนินต่อไปจึงทรงทราบว่าชาวเขาทำลายต้นน้ำลำธารเพื่อปลูกฝิ่น แต่ว่าไม่ร่ำรวยอย่างที่คนเขาคิดกันหรอก สามเหลี่ยมทองคำนี่ พระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งว่าไม่ใช่ทองคำที่ไหนหรอก แต่เป็นสามเหลี่ยมยากจน คนปลูกฝิ่นไม่ได้เงินเท่าไหร่ คนเอาฝิ่นไปขายต่างหากถึงรวย” หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ทรงเล่าถึงที่มาของโครงการหลวง

ในปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้จัดตั้ง ”โครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” ขึ้นเพื่อทดลองและส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนฝิ่น ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำอย่างเป็นระบบ ภายหลังโครงการนี้ได้พัฒนาต่อมาจนกลายเป็น ”โครงการหลวง” ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ทำเลที่ตั้งของโครงการหลวงถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของชาติ บริเวณที่รู้จักกันในนาม “สามเหลี่ยมทองคำ” ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างไทย ลาว และพม่านั้น หากพิจารณาจากแผนที่จะพบว่า จุดที่มีถนนหนทางหรือการคมนาคมที่สะดวก และมีเมืองท่าใหญ่ที่สามารถเป็นศูนย์กลางกระจายฝิ่นสู่ตลาดโลกได้นั้น ไม่ใช่อื่นไกล หากอยู่ในเขตแดนของประเทศไทยนั่นเอง

แต่เรื่องราวทั้งหมดซับซ้อนกว่าการแผ้วถางทำลายไร่ฝิ่น แล้วนำพืชผักผลไม้มาปลูกทดแทนมากนัก

 

[ ค น ต้ น นํ้ า ]

เมื่อแสงแรกทาบทาพ้นแนวทิวเขาขึ้นมา ชาวเขาในชุดประจำเผ่าเทินตะกร้าสานสะพายบนหลังด้วยท่วงท่าทะมัดทะแมง บ้างเดิน บ้างขี่มอเตอร์ไซค์ มุ่งหน้าสู่เรือกสวนไร่นา ที่แปลกตาไปหน่อยเห็นจะเป็นชุดประจำเผ่าที่ใส่คู่กับรองเท้าบู๊ตยาง

หลายชั่วอายุคนมาแล้ว ชาวเขาเดินเท้าเปล่าหรือไม่ก็ลากรองเท้าแตะขึ้นดอยจนกลายเป็นความเคยชิน รองเท้าบู๊ตยางจึงเป็น ”ของแปลกใหม่” ที่พวกเขาต้องใช้เวลาทำความรู้จักและรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ฉันใดก็ฉันนั้น การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตดั้งเดิมที่สืบทอดกันมายาวนานอย่างการปลูกฝิ่นจึงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยทั้งเวลา ความเข้าใจ และความอดทน

ชาวไทยเชื้อสายจีนยูนนานบนดอยสูงที่บ้านแกน้อย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ กำลังเอาแรง (ลงแขก) นวด “ข้าวนา” นอกเหนือจากส่งเสริมการเกษตรบนพื้นที่สูงแล้ว โครงการหลวงยังมีภารกิจส่งเสริมการศึกษาของลูกหลานชาวไทยภูเขาอีกด้วย

“เราเข้าไปทำงานนี่ เราไปบอกว่าเราจะช่วยเขา มันเหมือนเขาลำบากอยู่ แต่จริงๆ แล้ววิถีชีวิตเขาเป็นแบบนั้นเอง” สมชาย เขียวแดง ผู้อำนวยการสถานีเกษตรหลวงอ่างขางและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอินทนนท์ เล่าถึงหลักการส่งเสริมพืชเมืองหนาวเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น ”เราเริ่มจากการทำงานสาธิตในศูนย์ ปลูกผัก ปลูกไม้ผล บ๊วย พีช พลับ เพื่อเรียนรู้ด้วยตัวเองก่อนว่าปลูกได้ไหม แล้วก็เป็นตัวอย่างให้แก่ชาวบ้าน นอกจากนั้นเราก็ไปเยี่ยม ศึกษาชาวบ้าน เรียนรู้ทัศนคติของเขา” สมชายเล่า ”ช่วงแรกเราไปศึกษาปฏิทินการเกษตรของเขาใช้เวลาปีนึง ระหว่างนี้เขาก็เดินผ่านแปลงสาธิตของเราก็นึกอยากลองปลูก อีกส่วนหนึ่งผมทำงานกับยุวเกษตรกรปลูกกระเทียม ผักกาดหอมห่อต้นในสถานี พอเด็กได้เงินชาวบ้านก็ได้เงิน” กว่าจะจูงใจชาวบ้านให้มาปลูกไม้ผลเมืองหนาวได้ใช้เวลานานหลายปี แต่ในที่สุดบนดอยอ่างขางก็มีทั้งแปลงเกษตรของเจ้าหน้าที่และของชาวเขา

เจ้าหน้าที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางพาฉันมาหยุดที่แปลงเกษตรแปลงแรก ”บ๊วย” ซึ่งเป็นพืชชนิดแรกที่ทดลองปลูกบนดอยอ่างขาง ดอกบ๊วยสีขาวเล็กจ้อยของฤดูกาลใหม่ผลิดอกแล้ว ”แต่เดิมเป็นป่าหญ้าคา ที่นี่เริ่มปลูกป่าปี พ.ศ. 2525 ครับ” ขจร สุริยะ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เล่า ”ในหลวงมีพระราชดำริว่าอนาคตถ้าไม่มีป่า จะเอาน้ำจากไหนมาเลี้ยงไม้ดอกไม้ผล”

ในช่วงแรกเริ่มนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือ ”พ่อหลวง” ของชาวเขา เสด็จฯมายังดอยอ่างขางทุกปี ครั้งหนึ่งระหว่างประทับที่แปลงรับเสด็จและทอดพระเนตรเห็นฝั่งตรงข้ามเป็นป่าหญ้าคา จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ ดร.บุญวงศ์ ไทยอุตส่าห์ คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในขณะนั้น นำไม้โตเร็วต่างถิ่นมาปลูก เมล็ดพันธุ์ของไม้ใหญ่ที่มีความต้านทานอากาศหนาวเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเมเปิล การบูร หรือเพาโลว์เนีย ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไต้หวัน ส่วนผู้ที่ลงมือปลูกนอกจากเจ้าหน้าที่แล้ว ก็คือชาวบ้านนั่นเอง

โครงการปลูกป่าชาวบ้านเป็นโครงการในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีโดยให้ชาวบ้านที่นี่ปลูกป่าในพื้นที่ทำกินของตนเอง พวกเขาจึงได้รับสิทธิให้นำไม้มาทำฟืนหรือสร้างบ้านด้วย ”พอมีป่า ชาวบ้านก็ไม่อยากย้ายไปไหนแล้ว” ขจรเล่า ”แต่ถ้ายังแห้งแล้ง พวกเขาก็อยากย้ายถิ่นอยู่เรื่อยๆ แหละครับ”

ดอยอ่างขางมีรูปร่างเหมือนอ่างสมชื่อ บริเวณ ”ก้นอ่าง” เป็นป่าปลูกและที่ตั้งสถานีเกษตร และเมื่อฉันเดินขึ้นไปถึง ”ขอบอ่าง” ด้านที่ติดกับชายแดนพม่า เป็นที่ตั้งของโรงเรียนเล็กๆแห่งหนึ่ง ชื่อว่าโรงเรียนบ้านขอบด้ง ครูเรียม สิงห์ทร ครูคนแรกของโรงเรียน เล่าว่า เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯเยี่ยมโรงเรียน พระองค์ตรัสเพียงสั้นๆ ว่า ”ฝากเด็กๆด้วยนะครู” เด็กๆ ลูกศิษย์ของครูเรียมก็คือลูกหลานชาวเขาเผ่ามูเซอดำและปะหล่องที่อาศัยอยู่รอบสถานีเกษตรหลวงนั่นเอง

การศึกษาเป็นรากฐานให้ชาวเขาอ่านออกเขียนได้ พวกเขาได้เรียนรู้การชั่ง ตวง วัดทั้งหลายเพื่อเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรเริ่มต้นขึ้นแล้วในโรงเรียนเล็กๆแห่งนี้

คนงานกำลังคัดเกรดและบรรจุผักปวยเล้ง ที่โครงการหลวงส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกและช่วยดำเนินการด้านการตลาดให้อย่างครบวงจร

ห่างจากโรงเรียนบ้านขอบด้งมาเพียง 3-4 กิโลเมตร วีระเทพ เกษตรกรชาวเขารุ่นใหม่วัย 24 ปี ผู้ปลูกปวยเล้งและเบบี้สลัด เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านขอบด้งและไปเรียนต่อจนจบ ปวส.ด้านการเกษตรมาจากเชียงราย วันนี้เขาเลือกกลับมาทำการเกษตรอย่างพ่อแม่ที่บ้านเกิด แม้จะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปบ้างอย่างการซื้อข้าวกิน (แต่เดิมปลูกเอง กินเอง) แต่แปลงผักของเขาก็ทำให้ครอบครัวมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ฐานะมั่นคง และมีอาชีพสุจริต วีระเทพอธิบายขั้นตอนและระบบการจัดการ ไล่เรียงมาตั้งแต่โรงเรือนที่ใช้กันฝน ไปจนถึงการคัดเกรดและส่งผัก อย่างละเอียดและคล่องแคล่ว ฉันอดคิดไม่ได้ว่า วีระเทพคือตัวอย่างที่ยืนยันเจตนารมณ์ในการสร้างคนของครูเรียมได้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุด

วิถีชีวิตเกษตรกรบนพื้นที่สูงของดอยอ่างขางคงเล่าลือไปไกลเลยเขตไทย เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ชนเผ่า ”ปะหล่อง” อพยพภัยสงครามจากพม่าเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พวกเขานำพระพุทธรูปพม่าและผ้าทอมือจำนวน 5 ผืนมารอเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวระหว่างที่เสด็จฯมายังดอยอ่างขาง

“แต่ก่อนตอนอยู่ในป่าที่ประเทศพม่า ผู้หญิงต้องใช้ดาบเป็น เอาไว้ป้องกันตัว” ปั่น ธรรมมอน หญิงปะหล่องอายุ 26 ปี เล่าถึงการรำดาบหญิงที่เธอเป็นผู้ฝึกสอนให้เด็กๆ ในหมู่บ้านสำหรับการแสดงในงานรื่นเริง แม้ปั่นจะเกิดไม่ทันยุคอพยพของคนรุ่นพ่อแม่ในครั้งนั้น แต่เพลงดาบของเธอยังคงทรงพลังไม่ผิดกับบรรพชน เธอเล่าเรื่องนี้ให้ฉันฟัง ขณะตัดผักปวยเล้งด้วยมือที่เคยจับดาบ ผักใบเขียวเหล่านี้จะนำส่งไปยังสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เพื่อตรวจสอบคุณภาพ คัดเกรด และส่งขายต่อไป

นักวิจัยของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์กำลังตรวจสอบการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ดอกที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องปฏิบัติการ

บ่ายวันเดียวกัน ฉันเดินชมนิทรรศการอยู่ในพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงแห่งที่หนึ่ง ณ ตีนดอยอ่างขาง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นที่ตั้งของโรงงานแปรรูปผลผลิตแห่งแรกของโครงการหลวง นอกจากจะให้อาชีพแก่ชาวบ้านตีนดอยแล้ว ว่ากันว่าโรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ตรงนี้เพื่อ ”ขวาง” เส้นทางลำเลียงยาเสพติดในอดีตอีกด้วย

ในห้องสุดท้ายของนิทรรศการ กระดาษสีขาวผืนใหญ่บนผนังมีภาพวาดนกสองตัวเคียงกัน ฉากหลังเป็นเทือกเขาใหญ่ คำกลอนที่เขียนด้วยอักษรจีนบนภาพแปลความได้ว่า ”นกจำนวนร้อยๆตัวส่งเสียงต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ จิ้งหรีดร้อยๆตัวส่งเสียงต้อนรับฤดูฝน” ภาพวาดชิ้นนั้นเป็นผลงานของหยางกงกง ศิลปินชาวจีน อดีตทหารจีนคณะชาติของเจียงไคเช็คที่อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในประเทศไทยเมื่อกว่าห้าสิบปีก่อน เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์อธิบายว่า นกคู่ของหยางกงกงคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งชาวบ้านเทิดทูนให้อยู่คู่กับพื้นที่สูง ส่วนชาวบ้านเองคือจิ้งหรีด ซึ่งแสดงความยินดีเมื่อความอุดมสมบูรณ์มาเยี่ยมเยือน

 

[ ป ล า ย นํ้ า ]

หลังจากรถยนต์พาเราผ่านด่านตรวจของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์มาแล้ว ไม่นานนัก โรงเรือนผนังพลาสติกสีขาวก็เริ่มปรากฏให้เห็นตลอดสองข้างทาง

ปัจจุบัน โครงการหลวงย่างเข้าสู่ทศวรรษที่สี่ นับตั้งแต่วันแรกที่ต้นบ๊วยต้นแรกบนดอยอ่างขางหยั่งราก ทุกวันนี้ โครงการหลวงมีศูนย์พัฒนาโครงการหลวง และสถานีเกษตรหลวง 38 แห่งกระจายอยู่ทั่วภาคเหนือ “ที่นี่เราปรับปรุงพันธุ์ ทำลูกผสม เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและลดขั้นตอน แทนการสั่งซื้อจากเมืองนอกที่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์” พรพิมล ไชยมาลา นักวิชาการซึ่งรับผิดชอบงานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สถานีเกษตรหลวงดอยอินทนนท์ เล่าถึงงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ดอกไม้ ”ถ้าสั่งซื้อเขาตลอด ต่อให้เขาบอกหัวละร้อย เราก็ต้องเอา ไม่มีทางเลือกอื่น”

จากห้องทดลองของพรพิมลลึกเข้าไปในขุนเขาประมาณสิบห้ากิโลเมตร เป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ช่อ แซ่ลี เกษตรกรชาวม้งอายุ 34 ปี กำลังถอนวัชพืชจากแปลงเบญจมาศของเขา ”ทำมาสิบปีแล้วแต่เพิ่งมาเป็นของตัวเองได้ห้าปี ตอนแรกผมเช่าโรงเรือนอยู่ในสถานีครับ” ช่อเล่า เขาอยู่ในครอบครัวซึ่งเคยปลูกฝิ่น และต่อมาได้เป็นเกษตรกรในโครงการ ภายหลังเมื่อเริ่มมีทุนรอนและปลูกดอกไม้เป็นแล้ว ก็กู้เงินจาก ธ.ก.ส. มาทำโรงเรือน โดยได้รับความช่วยเหลือเรื่องการติดต่อธนาคารจากเจ้าหน้าที่โครงการ ”โรงเรือนในโครงการมีโรงเดียว แต่นี่เราลงทุนเอง แล้วก็เพิ่มได้”

แม้ทุกวันนี้ ช่อจะไม่ได้เป็นเกษตรกรในศูนย์พัฒนาโครงการหลวง แต่เขาก็ยังได้รับอานิสงส์จากโครงการเช่นเดียวกับเกษตรกรรายอื่นๆ ในแถบนี้ เขาตัดดอกไม้ส่งขายให้พ่อค้าคนกลางบนดอยด้วย และยังสามารถรักษาราคาผลผลิตได้เป็นที่น่าพอใจ ปัญหาการกดราคาซึ่งมักพบเห็นในพื้นที่อื่นๆ เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะพ่อค้าต้องให้ราคาใกล้เคียงหรือมากกว่าโครงการหลวงเท่านั้น จึงจะสามารถจูงใจเกษตรกรให้ขายผลผลิตให้

เพื่อกระตุ้นให้ดอกเบญจมาศผลิดอกอย่างสวยงามและมีก้านยาวตามความต้องการของตลาด เกษตรกรชาวเขาเผ่าม้งที่บ้านขุนกลาง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ จึงสร้างแปลงเบญจมาศเป็นลักษณะขั้นบันได รวมทั้งติดตั้งดวงไฟให้แสงสว่างตลอดทั้งคืน

โครงการหลวงไม่เพียงรับซื้อผลผลิตในราคาสูง แต่ยังมีมาตรฐานในการคัดเลือกคุณภาพผลผลิตอย่างเข้มงวดที่โรงคัดคุณภาพและบรรจุหีบห่อในสถานีเกษตรหลวงขุนวาง พนักงานกำลังบรรจุดอกเบญจมาศหลากสีในห่อพลาสติกพร้อมสติ๊กเกอร์ระบุวันเดือนปีที่ผลิต สติ๊กเกอร์เหล่านี้เป็นเสมือนหมายเลขประจำตัวของผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกได้ทันที

แม้ในภาพรวมทุกอย่างดูจะดำเนินไปได้ด้วยดี แต่ก็ใช่ว่าจะปลอดจากปัญหา ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเริ่มส่งผลกระทบต่อการปลูกพืชบนพื้นที่สูง ”โลกร้อนมีผลกระทบกับไม้ผลมากที่สุด” สมชายเขียวแดง ผู้อำนวยการสถานีเกษตรหลวงอ่างขางและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอินทนนท์ เล่าถึงปัญหาใหม่ของโครงการหลวงในปัจจุบัน ”พืชเราต้องการอากาศหนาว ถ้าไม่หนาวก็จบ นี่เป็นสิ่งน่ากลัวที่สุดสำหรับเรา”

ฉันพบกับเจริญ สลีสองสม นักวิชาการไม้ผล ในแปลงองุ่นสาธิตของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวางจังหวัดเชียงใหม่ เขาดูแลพืชผลในแปลงทดลองแห่งนี้มากว่าสิบปีแล้ว เจริญบอกว่า ปีหลังๆ มานี้อากาศบนดอยอุ่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดคือต้นมะม่วงซึ่งเป็นพืชเขตร้อน สามารถนำมาปลูกบนดอยได้แล้ว ”นอกจากอุ่นแล้วยังเริ่มแปรปรวน อย่างพีชเนี่ยจะชิงออกดอกก่อนเลย เพราะว่าอากาศเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว”

“ถ้าขืนเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เราคงต้องเปลี่ยนพืชตัวอื่นให้เกษตรกร” เจริญกล่าว ปัจจุบันมีการนำไม้ผลที่ต้องการความหนาวเย็นน้อย (low-chilling) และไม้ผลเขตร้อนบางชนิด เช่น อะโวคาโด มาทดลองปลูกบนที่สูงเพื่อหาทางออกแล้ว

 

[ สู่ แ ม่ นํ้ า แ ล ะ ม ห า ส มุ ท ร ]

นับแต่วันแรกที่มีการทดลองปลูกพืชทดแทนฝิ่น องค์ความรู้ที่สั่งสมจากการลองผิดลองถูกและการแก้ปัญหาสารพัดบนพื้นที่สูงตลอดกว่าสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ไม่เพียงเป็นแบบอย่างแก่พื้นที่อื่นๆในประเทศ หากยังข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงต่างประเทศด้วย ”เดิมอัฟกานิสถานเป็นแหล่งปลูกผลไม้ส่งยุโรป เอพริคอตเขาอร่อยมาก” สุทัศน์ปลื้มปัญญา ผู้อำนวยการสถาบันและวิจัยพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เล่าถึงการเดินทางสู่ดินแดนที่อากาศเย็นและมีทรัพยากรสมบูรณ์พร้อมสำหรับปลูกผลไม้เมืองหนาว แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นประเทศที่ปลูกฝิ่นมากที่สุดในโลก “เขาเห็นเราประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาฝิ่นได้โดยไม่ต้องสู้รบปรบมืออะไรกัน จึงอยากได้คำแนะนำ”

ครั้งหนึ่งอัฟกานิสถานเคยรุ่มรวยไปด้วยพืชผลราคาดี อย่างพีช พลัม และแอ๊ปเปิ้ลสีสวยผลเต่งน่ารับประทานแต่ผลผลิตเหล่านี้กลับไม่สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศปัญหาสงครามยืดเยื้อนานหลายสิบปีและความยากจนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาพืชทดแทนฝิ่นและขยายตลาดการเกษตร นอกจากนี้ องค์ความรู้ด้านการจัดการสินค้าการเกษตรยังถือว่าต่ำมาก บรรดาพ่อค้าผลไม้กลางตลาดในกรุงคาบูลวางผลไม้กองพะเนินระเกะระกะทั้งผลดิบ ผลสุก และผลช้ำซ้อนทับผสมปนเปกันอย่างขาดความเอาใจใส่

ในปี พ.ศ. 2549 หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง และคณะผู้เชี่ยวชาญของโครงการหลวง จึงเดินทางสู่อัฟกานิสถานเป็นครั้งแรก เพื่อร่วมวางโครงการนำร่องพัฒนาระบบธุรกิจและการตลาดของพืชผักผลไม้เมืองหนาว

การจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวและธุรกิจการเกษตร เช่น การคัดคุณภาพ การบรรจุหีบห่อ และระบบการขนส่ง ล้วนเป็นองค์ความรู้ที่โครงการหลวงหยิบยื่นแลกเปลี่ยนในฐานะที่ปรึกษา นอกจากนี้ยังช่วยฝึกอบรมเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและปศุสัตว์ของอัฟกานิสถาน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การพัฒนาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้ขายได้ราคาสูง เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรเลิกปลูกฝิ่นและหันกลับมาปลูกพืชผลเมืองหนาวอื่นๆ แทน

นอกจากอัฟกานิสถานแล้ว ภูฏาน โคลอมเบีย และลาว เป็นอีกสามประเทศที่ได้รับหรือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับโครงการหลวง ที่ผ่านมาพืชผลเมืองหนาวช่วยแก้ปัญหาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในภูฏานและโคลอมเบีย และเป็นความหวังว่าจะบรรเทาปัญหาการปลูกฝิ่นในลาว ”เราคงต้องบุกเบิกงานวิจัยต่อไปเพื่อหาองค์ความรู้เป็นแนวทางของเรา เราจะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เรื่องการพัฒนาพื้นที่สูง ในประเทศไทยยังมีพื้นที่สูงอีกมากที่ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหา” สมชาย เขียวแดง ผู้อำนวยการสถานีเกษตรหลวงอ่างขางและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอินทนนท์ กล่าว

ครอบครัวเกษตรกรในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ง่วนกับการตัดดอกเบญจมาศเพื่อส่งจำหน่ายไปทั่วประเทศ ระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพของโครงการหลวง โดยเฉพาะการรับซื้อผลผลิตในราคาสูง ทำให้เกษตรกรทั้งที่อยู่ในโครงการและนอกโครงการไม่ต้องประสบปัญหาการถูกกดราคารับซื้อจากพ่อค้าคนกลาง ซึ่งเป็นปัญหาที่พบในพื้นที่อื่นๆ

“ในอนาคตเราจะทำไปเรื่อยๆ แต่คิดว่าเราคงไม่ขยายจนใหญ่โต เพราะมีสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์-การมหาชน) ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเพื่อทำอย่างเราในที่อื่นแล้ว” หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงเล่าถึงแผนการในอนาคตของโครงการหลวง โดยมุ่งเน้นที่การสร้างบุคลากรและถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังหน่วยงานอื่นๆ ที่ภาครัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อขยายผลไปสู่พื้นที่สูงอื่นๆ ในประเทศ

บนดอยสูงนั้น ป่าสนต้นน้ำปลิวไสวไปตามแรงลม ความหนาวเย็นชำแรกแทรกผ่านแปลงผักเขียวชอุ่มย้อนหลังไปเมื่อกว่าสี่สิบปีก่อน ความยะเยือกและแห้งผากเดียวกัน คือลมสวรรค์ของ ”น้ำทิพย์” หรือยางฝิ่น ทว่าบนผืนดินเดียวกันในวันนี้ กลับไม่มีวี่แววของดอกฝิ่นให้เห็นอีกต่อไป คงมีเพียงผืนป่าร่มครึ้มบนขุนเขาที่ครั้งหนึ่งได้ฉายาว่า ”เขาหัวโล้น” และแปลงพืชผักผลไม้เมืองหนาว ดอกไม้ และไร่ชาของชาวเขาบนผืนแผ่นดินที่ ”นกจำนวนร้อยๆ ตัวส่งเสียงต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ จิ้งหรีดร้อยๆ ตัวส่งเสียงต้อนรับฤดูฝน”

 

อ่านเพิ่มเติม : ๘๙ พรรษา มหาราชในดวงใจ : ยุวกษัตริย์ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.