จาก ภาวะโลกร้อน ที่กำลังเดินทางไปสู่ ภาวะโลกเดือด ธารน้ำแข็งที่กำลังละลายอย่างรวดเร็ว ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น พื้นที่ป่าฝนกำลังลดลง และสัตว์ป่ากำลังดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า กิจกรรมของมนุษย์ส่วนใหญ่ได้ก่อให้เกิด ภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา การขับเคลื่อนชีวิตที่ทันสมัยของพวกเราได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าช่วงเวลาใดๆ ในประวัติศาสตร์ ตลอด 800,000 ปีที่ผ่านมา
ภาวะโลกร้อน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากโลกไม่สามารถระบายความร้อนที่ได้รับจากรังสีดวงอาทิตย์ออกไปได้อย่างปกติ จึงทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น และทำให้สภาพอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก
ผลที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนมีความแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ หลายคนอาจคิดว่า ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นคำที่มีความหมายเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ใช้คำว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เพื่ออธิบายถึงการเปลี่นแปลงที่ซับซ้อน ซึ่่งส่งผลต่อสภาพอากาศและภูมิอากาศของโลกในปัจจุบัน เนื่องจากบางพื้นที่มีสภาพอากาศที่เย็นลง
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เพียงแต่ครอบคลุมถึงเหตุการณ์ที่อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว การเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศและถิ่นที่อยู่อาศัย ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น และผลกระทบอื่นๆ อีกมากมาย การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และได้เปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจากเดิมไปสู่ความแปรปรวน
ปรากฏการณ์เรือนกระจก เป็นหนึ่งในภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นเมื่อก๊าซบางชนิดในชั้นบรรยากาศโลกกักเก็บความร้อนเอาไว้ แก๊ซเหล่านี้มีคุณสมบัติให้แสงผ่านได้ แต่ไม่ปล่อยให้ความร้อนระบายออกไป เหมือนกับเรือนกระจกที่ใช้ในการเพาะปลูกต้นไม้ จึงเป็นที่มาของชื่อก๊าซเรือนกระจก
เมื่อแสงจากดวงอาทิตย์ส่องกระทบลงบนผิวโลกจะทำให้เกิดความร้อนขึ้นที่โลกด้วย และความร้อนที่เกิดขึ้นจะลอยกลับขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศ แต่เมื่อมีโมเลกุลของก๊าซเรือนกระจกขวางกั้นอยู่ในชั้นบรรยากาศ ความร้อนที่ลอยขึ้นจากผิวโลกบางส่วนจึงไม่สามารถขึ้นไปถึงชั้นอวกาศได้ ยิ่งก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศมีมากเท่าไร ความร้อนก็จะถูกกักเก็บอยู่ในโมเลกุลของก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น
นักวิทยาศาสตร์ได้รู้จักก๊าซเรือนกระจกมาตั้งแต่ปี 1824 โดยทฤษฎีของโจเซฟ ฟูริเยร์ กล่าวว่า ถ้าโลกไม่มีก๊าซเรือนกระจก อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะต่ำกว่านี้ ดังนั้น ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจึงช่วยทำให้โลกเหมาะสมสำหรับสิ่งมีชีวิต
ต่อมาในปี 1895 นักเคมีชาวสวีเดน Svante Arrhenius ค้นพบว่า กิจกรรมของมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก นั้นคือการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเขาได้เริ่มต้นงานวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศจากแบบจำลองสภาพภูมิอากาศ 100 ปี ซึ่งช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้เข้าใจเกี่ยวกับความซับซ้อนของภาวะโลกร้อน
ปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้เพิ่มขึ้นและลดลงสลับไปมาตลอดช่วงประวัติศาสตร์ของโลก แต่ในช่วงไม่กี่พันปีที่ผ่านมา ระดับก๊าซเรือนกระจก รวมไปถึงอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลก ค่อนข้างคงที่ จนกระทั่งในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ได้รายงานว่า การเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล และกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ เป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงสองถึงสามทศวรรษที่ผ่านมา
กิจกรรมของมนุษ์ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศของโลก ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ส่งผลต่อภูมิอากาศของโลก เช่น การปะทุของภูเขาไฟ คลื่นความร้อนจากดวงอาทิตย์ ลมสุริยะ และตำแหน่งของโลกที่สมัพันธ์กับดวงอาทิตย์ นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ อย่างเอลนีโญ และลานีญา ก็ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สร้างขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์ได้รวมปัจจัยดังกล่าวไว้ในแบบจำลองด้วย และพบว่า ปัจจัยจากธรรมชาติส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น และการเปลี่ยนแปลงของระดับก๊าซเรือนกระจกจนถึงจุดที่ไม่สมดุลเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน
เมื่อพิจารณาการเกิดภาวะโลกร้อนจากสาเหตุทางธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์พบว่ามักเกิดเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น การปะทุของภูเขาไฟที่ปล่อยเถ้าภูเขาไฟขึ้่นสู่ชั้นบรรยากาศทำให้อุณหภูมิที่ผิวโลกเย็นลงชั่วคราว ปรากฏการณ์เอลนีโญก็มีวงจรที่ค่อนข้างสั้นและคาดเดาได้ ในทางกลับกัน ความผัวผวนของอุณหภูมิที่เกิดขึ้นในช่วงยุคน้ำแข็งก็ใช้เวลาหลายแสนปี
เป็นเวลากว่าหลายพันปีที่ธรรมชาติได้รักษาสมดุลของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้ปริมาณค่อนข้างคงที่ และทำให้อารยธรรมของมนุษย์เจริญรุ่งเรืองขึ้นภายใต้สภาพอากาศที่สม่ำเสมอ
จนถึงปัจจุบัน มนุษย์ได้เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมากกว่าหนึ่งในสามของระดับปกตินับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงที่ใช้เวลาหลายพันปีในอดีตกำลังเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษ
ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นสู่บรรยากาศอย่างรวดเร็วเป็นสาเหตุที่ทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่สิ่งมีชีวิตบางชนิดจะปรับตัวได้ นอกจากนี้ สภาพภูมิอากาศใหม่ที่ไม่อาจคาดเดาได้ยังก่อให้เกิดความท้าทายต่อทุกชีวิต
ในอดีต สภาพภูมิอากาศของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นวฏจักร ซึ่งมีรูปแบบสภาพภูมิอากาศอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันสลับกับอุณหภูมิลดลงมากพอที่จะทำให้เกิดน้ำแข็งปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอเมริกาเหนือ และยุโรป ความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในปัจจุบันและช่วงยุคน้ำแข็งอยู่ที่ประมาณ 5 องศาเซลเซียส และความผันแปรของอุณหภูมิมีแนวโน้มเกิดขึ้นอย่างช้าๆ เป็นเวลาหลายแสนปี
แต่ด้วยความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น แผ่นน้ำแข็งที่กระจายอยู่ทั่วโลก เช่น กรีนแลนด์ แอนตาร์กติกา ก็เริ่มละลายเช่นกัน ปริมาณน้ำจืดจากธารน้ำแข็งที่ไหลลงมหาสมุทรทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2050 นักวิทยาศาสตร์คาดว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1 – 2.3 นิ้ว ถ้าอัตราการละลายยังคงดำเนินไปด้วยอัตราเช่นนี้
ภาวะโลกร้อนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่อาจจะพลิกโฉมโลกของเรา นอกจากหลักฐานที่เห็นได้ชัดเจน อย่างระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นแล้ว สภาพอากาศอาจจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วย เช่น พายุทั่วโลกมีกำลังรุนแรงมากขึ้นและคาดเดาได้ยากขึ้น ฝนตกมากขึ้นในบางพื้นที่ ในขณะเดียวกัน บางพื้นที่ก็เผชิญภัยแล้งยาวนานขึ้น ซึ่งทั้งหมดเป็นความท้าทายต่อวิถีการเพาะปลูกของมนุษย์ การเปลี่ยนพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่า และขีดความสามารถของการเอาตัวรอดในธรรมชาติ รวมไปถึงการสูญเสียแหล่งน้ำที่เกิดขึ้นจากธารน้ำแข็ง
สืบค้นและเรียบเรียง ณภัทรดนัย
ภาพปก Roxanne Desgagnés
ข้อมูลอ้างอิง
https://climate.nasa.gov/what-is-climate-change
https://www.nrdc.org/stories/global-warming-101
https://www.nationalgeographic.com/environment/article/global-warming-effects
https://www.un.org/en/climatechange/science/causes-effects-climate-change
https://www.epa.gov/climatechange-science/basics-climate-change
https://climate.ec.europa.eu/climate-change/causes-climate-change_en