สำรวจโลก : สาหร่ายทะเลกำลังมาแรง

เรื่อง แคเทอรีน ซักเคอร์แมน

ถ้าไม่นับรวมญี่ปุ่นและอีกไม่กี่ประเทศในเอเชียแล้ว รสชาติและผิวสัมผัสอันเป็นเอกลักษณ์ของ สาหร่ายทะเล ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก นอกจากความชื่นชอบในรสชาติแล้ว ยังมีเหตุผลอื่นๆ ที่คนเราควรหันมาสนใจ “พืชผักแห่งท้องทะเล” เหล่านี้

สาหร่ายทะเลโดยเฉพาะ เคลป์ (kelp) มีศักยภาพในการช่วยลดความเป็นกรดของทะเลได้อย่างมาก เคลป์ที่เกิดตามธรรมชาติในน่านนํ้าแถบชายฝั่งทะเลอันหนาวเย็น เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ย ดูดซึมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นตัวการทำให้ภาวะโลกร้อนเลวร้ายลง ตลอดจนไนโตรเจน และฟอสฟอรัสส่วนเกินอีกด้วย ทว่าปัญหาคือสาหร่ายเคลป์มีไม่มากพอ การเพาะเลี้ยงสาหร่ายเคลป์จึงเป็นทางออก

จีนเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ โดยผลิตสาหร่ายเคลป์ได้มากกว่าเจ็ดล้านตันเมื่อปี 2015 มุฮัมมัด โอยินโลลา นักชีววิทยาทางทะเลที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียกล่าวว่า การเพาะเลี้ยงเคลป์มีมานานหลายร้อยปีแล้วในญี่ปุ่นและเกาหลี หากการเพาะเลี้ยงสาหร่าย ทะเลขยายตัวมากขึ้น “ก็อาจช่วยกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์หลายพันล้านตันออกจากชั้นบรรยากาศได้เลยนะครับ” และการมีผู้เพาะเลี้ยงสาหร่ายมากขึ้นย่อมหมายถึงความหลากหลายทาง ชีวภาพที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ตัวอย่างเช่น ลำพังแค่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย นักวิจัยพบว่า “ดง” สาหร่ายเคลป์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอาจเป็น บ้านให้กับสัตว์ทะเลมากกว่า 800 ชนิด สาหร่ายเคลป์และสาหร่ายทะเลชนิดอื่น ๆ มีแร่ธาตุและเส้นใยสูง และยังมีคุณสมบัติด้านความหนืด คุณลักษณะเหล่านี้ทำให้มีการนำสาหร่ายทะเลมาใช้ในเครื่องสำอางและวิตามิน อาหารปลาและอาหารปศุสัตว์มากขึ้น

 

อ่านเพิ่มเติม : สำรวจโลก : สัตว์ก็มีหัวใจสำรวจโลก : เพราะน้ำคือชีวิต

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.