นวัตกรรม กำจัดคาร์บอน จากอากาศ ที่ทั่วโลกร่วมมือกันแก้โลกร้อน

การลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ไม่อาจกอบกู้โลกได้ เราจำเป็นต้อง กำจัดคาร์บอน ออกไปอย่างมหาศาล การทำเช่นนั้นจะต้องอาศัยความพยายามทั่วโลกในระดับที่มนุษยชาติไม่เคยทำสำเร็จมาก่อน

กำจัดคาร์บอน – ตลอดช่วงเวลาไม่กี่ศตวรรษที่ผ่านมา เราขุด ตัด เผา เจาะ สูบ แผ้วถาง หลอม จุดไฟ ใช้ไฟฟ้า ปล่อยจรวด ขับขี่ และบิน จนอัดฉีดคาร์บอนไดออกไซด์ 2.4 ล้านล้านตันเข้าสู่บรรยากาศโลก นั่นเท่ากับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ที่รถยนต์ 5.2 แสนล้านคันปล่อยออกมาทั้งปี หรือเท่ากับรถยนต์ 65 คันต่อมนุษย์แต่ละคนที่มีชีวิตอยู่ในโลกทุกวันนี้

ณ หุบเขาเปลี่ยวร้างคล้ายดวงจันทร์ในไอซ์แลนด์ ห่างจากกรุงเรคยาวิก 30 กิโลเมตร เอ็ดดา อาราโดตตีร์ กำลังทำภารกิจส่งคาร์บอนเหล่านั้นคืนสู่แหล่งกำเนิด

วันนี้เธอทำได้แค่ส่วนเล็กๆ แต่จะทำได้มากกว่านี้อีกมากในช่วงหลายปีข้างหน้า ในการส่งหรืออัดฉีดคาร์บอนไดออกไซด์ลึกลงไปใต้ผิวโลก เธอมุ่งย้อนกลับพฤติกรรมที่สร้างผลกระทบมากที่สุดอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ นั่นคือการขุดเจาะคาร์บอนใต้ดินปริมาณมหาศาลขึ้นมาใช้ในรูปเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นเหมือนเส้นเลือดหลักของอารยธรรมสมัยใหม่ แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นภัยคุกคามเช่นกัน

นักวิทยาศาสตร์เฝ้าติดตามเมโซคอสม์ (mesocosm) หรือการจำลองธรรมชาติในสภาวะควบคุม นอกชายฝั่งนอร์เวย์เพื่อดูว่าน้ำทะเลดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากวัสดุแอลคาไลอย่างไร “คำถามก็คือ เราเร่งกระบวนการธรรมชาติขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้หรือไม่ครับ” อุลฟ์ รีเบเซลล์ หัวหน้าโครงการ บอก
ด้วยหอหล่อเย็นซึ่งแต่ละหอใหญ่พอที่จะบรรจุหอนาฬิกาบิ๊กเบนของกรุงลอนดอนลงไปได้ โรงไฟฟ้าแดร็กซ์ขนาดใหญ่โตในสหราชอาณาจักรกำลังเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงถ่านหินมาเป็นพลังงานชีวมวลอัดเม็ดจากไม้ บริษัทแม่ บอกว่า ท้ายที่สุดแล้ว โรงงานในยอร์กเชียร์แห่งนี้จะดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากปล่องควันและส่งไปยังแหล่งกักเก็บขนาดยักษ์ใต้ทะเลเหนือ

เธอมีเวลาไม่มากนัก เช่นเดียวกับพวกเราที่เหลือ สภาพอากาศสุดขั้วและอุณหภูมิร้อนเป็นประวัติการณ์ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นแล้ว และเกือบแน่นอนว่าจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ

ในกระท่อมอิกลูที่ทำจากอะลูมิเนียมบนดินภูเขาไฟผืนนี้ อาราโดตตีร์ วิศวกรเคมีและแหล่งกักเก็บ ผู้รั้งตำแหน่งซีอีโอของบริษัทคาร์บฟิกซ์ (Carbfix) ในไอซ์แลนด์ แสดงกรรมวิธีเมื่อคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดักจับนำไปผสมกับน้ำ ก่อนป้อนเข้าสู่ระบบท่ออันซับซ้อนที่ทอดลึกลงไปใต้ดิน 750 เมตรหรือราวๆนั้น ที่นั่น คาร์บอนไดออกไซด์ที่ละลายน้ำจะเจอหินบะซอลต์ที่มีรูพรุน ทำให้เกิดจุดสีครีมเล็กๆกระจัดกระจายไปทั่วหินอัคนีใต้ดินเหล่านั้น

เธอส่งตัวอย่างหินให้ผมดู แม้จะมีปริมาณน้อยนิดเพียงใด เศษเสี้ยวของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดึงออกจากอากาศ ผ่านกระบวนการมิเนอรัลไลเซชัน (mineralization) หรือการแปรรูปเป็นแร่ธาตุ และกลายเป็นหินเหล่านี้ จะไม่ทำให้ โลกร้อนขึ้นอีกต่อไป

วักซาเทคโนโลยีส์ (Vaxa Technologies) ใช้คาร์บอนที่ปล่อยจากโรงไฟฟ้าเฮตลิสเฮทีใกล้กรุงเรคยาวิก ประเทศไอซ์แลนด์ เพื่อปลูกสาหร่ายขนาดจิ๋วเป็นอาหารหรืออาหารเสริม การเพาะเลี้ยงในน้ำที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ อาจเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยลดรอยเท้าคาร์บอนในการผลิตอาหารลงได้อย่างมหาศาล
แสงไฟจากโดรนส่องกระท่อมอิกลูทรงโดมทำจากอะลูมิเนียมบนทุ่งลาวาผืนใหญ่ใกล้กรุงเรคยาวิก ภายในโครงสร้างนี้ คาร์บฟิกซ์ บริษัทสัญชาติไอซ์แลนด์ กำลังเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้ให้เป็นหิน ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงสุดในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากเป็นแหล่งกักเก็บถาวร

เหล่านักวิทยาศาสตร์และผู้ประกอบการอย่างอาราโดตตีร์ กำลังทำโครงการสารพัดที่ทะเยอทะยานและบางครั้ง ก็เป็นประเด็นโต้เถียง เพื่อกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศและกักเก็บไว้ ในแอริโซนา อาจารย์ด้านวิศวกรรมศาสตร์คนหนึ่งให้ผมดู “ต้นไม้จักรกล” ต้นหนึ่งที่เขาบอกว่าสักวันอาจดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ได้เท่ากับต้นไม้ปกติหนึ่งพันต้น

ในออสเตรเลีย นักสมุทรศาสตร์ชั้นนำคนหนึ่งบอกผมว่า สาหร่ายทะเลคือทางรอด ขอเพียงเราช่วยกันทำสวนสาหร่ายเคลป์และวากาเมะที่กักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้หลายพันล้านตันในทะเล บนดาดฟ้าอาคารมหาวิทยาลัยในซูริก สวิตเซอร์แลนด์ นักประดิษฐ์ชาวอุรุกวัยอวดหลอดทดลองเล็กๆใส่เชื้อเพลิง ที่ใช้เพียงแสงแดดและอากาศสร้างขึ้น นั่นอาจน่าทึ่งที่สุดในบรรดาการดักจับคาร์บอนที่ผมได้เห็นทั้งหมด เพราะมันชี้ว่า วันหนึ่งข้างหน้า เราอาจควบคุมให้คาร์บอนอยู่ในวงจรประเสริฐของพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ได้

แท่นขุดเจาะกลางทะเล ทรานส์โอเชียนเอเนเบลอร์ ขุดเจาะบ่ออัดฉีดน้ำลงดินลึกกว่าสองกิโลเมตรใต้ทะเลเหนือ เพื่อสร้างโครงข่ายของแหล่งกักเก็บใต้ทะเลที่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 1.5 ล้านตัน หรือเท่ากับการปล่อยคาร์บอนของรถยนต์ประมาณ 320,000 คัน
เมื่อเทียบกิโลกรัมต่อกิโลกรัม สาหร่ายเคลป์และสาหร่ายทะเลอื่นๆเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าต้นไม้ กามีลา ฆาเบร์ นักดำน้ำชาวเม็กซิกัน สำรวจป่าสาหร่ายเคลป์ขนาดใหญ่นอกชายฝั่งเตียร์ราเดลฟวยโกของอาร์เจนตินาในการสำรวจเมื่อปี 2022 เพื่อดูว่า ป่าสาหร่ายขนาดจิ๋วใต้ทะเลในภูมิภาคปาตาโกเนียจะขยับขยายกลายเป็นแหล่ง กักเก็บคาร์บอนที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในโลกได้หรือไม่

ความพยายามเหล่านี้มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือการมุ่งลดตัวเลขการปล่อยคาร์บอนในระยะยาวที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศเห็นพ้องกันว่าเป็นกุญแจสำคัญต่อสุขภาวะของโลก ตัวเลขดังกล่าวคือความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ ซึ่งคงที่มาตลอดหลายพันปี หรือต่ำกว่า 280 พีพีเอ็มเล็กน้อย จนกระทั่งถึงยุค การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เริ่มขึ้นในกลางศตวรรษที่สิบเก้า ปัจจุบัน ตัวเลขนี้พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ราวๆ 420 พีพีเอ็ม หรือพูด อีกนัยหนึ่งได้ว่า คาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 โดยประมาณนับจากปี 1850 คาร์บอนที่เพิ่มขึ้นนี้ดักจับความร้อนเอาไว้ ทำให้โลกอุ่นขึ้นเรื่อยๆจนถึงระดับอันตราย ผู้สนับสนุนการดักจับคาร์บอนเห็นว่า งานของ พวกเขา หรือการกักเก็บตัวการหลักที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง หลายสิบปีข้างหน้า จะช่วยทำให้ตัวเลขดังกล่าวลดลงได้

แต่ความพยายามเหล่านี้มีสิ่งที่เหมือนกัน อีกประการ นั่นคือ สำหรับคนที่ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก แนวคิดว่าด้วยการดักจับและดึงคาร์บอนออกจากอากาศเป็นการเบี่ยงเบนจากภารกิจที่เร่งด่วนกว่ามากของการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ต้น

ผู้ประกอบการต่างๆกำลังเร่งหาวิธีเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นผลิตภัณฑ์ที่คนสนใจซื้อ รวมถึงเพชร บริษัทอีเทอร์ (Aether) สร้างอัญมณีจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้จากบรรยากาศแทนการทำเหมืองที่ต้องใช้พลังงานมหาศาล โดยอ้างว่า “เพชรทุกกะรัตที่เราผลิตได้ช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ”
“เราทำอะไรกับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับไว้ได้บ้าง คำตอบก็คือเราเปลี่ยนมันให้กลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ ซึ่งแต่เดิมเคยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตครับ” นิโคลัส แฟลนเดอร์ส ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของทเวลฟ์ (Twelve) บริษัทผู้ผลิตเชื้อเพลิงการบินจากคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ บอก

เป็นต้นว่า กลุ่มเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมกว่า 500 กลุ่มได้ลงชื่อในข้อเรียกร้องที่เร่งรัดให้ผู้นำสหรัฐฯและแคนาดา “ยกเลิกโครงการซีซีเอสที่อันตรายและสกปรก” หรือการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (carbon capture and storage: CCS) ซึ่งเป็นรูปแบบหลักของการกำจัดคาร์บอน ข้อเรียกร้องดังกล่าววิพากษ์แนวคิดนี้ว่าเป็น “การเบี่ยงเบนที่อันตราย ขับเคลื่อนโดยบรรดาผู้สร้างมลพิษรายใหญ่รายเดียวกับที่เป็นต้นเหตุของภาวะฉุกเฉินทางภูมิอากาศ” โดยอ้างอิงแผนการที่บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ประกาศจะกระโดดเข้าสู่ธุรกิจดักจับคาร์บอน นักวิจารณ์ยังเห็นว่าเป็นเรื่องน่าเดือดดาลที่พลังอำนาจซึ่งเป็นตัวการหลักทำให้มนุษย์เผชิญปัญหาระดับโลกนี้ พร้อมที่จะตักตวงผลประโยชน์จากคำมั่นสัญญาที่ว่า พวกเขาสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้

คำว่า “ภาวะเสี่ยงภัยทางศีลธรรม” หรือแนวคิดที่ว่าคนจะทำเรื่องสุ่มเสี่ยงต่อไป ถ้าพวกเขาคิดว่าตนไม่ได้รับผลกระทบ ปรากฏบ่อยครั้งในการถกเถียงเรื่องดังกล่าว ถ้าผู้กำหนดนโยบาย ไม่ต้องพูดถึงคนทั่วไป เริ่มคิดว่าบางที เราอาจมีวิธีวิเศษพิสดารที่จะแก้ปัญหาคาร์บอนไดออกไซด์ตัวร้ายนี้ได้ทั้งหมด บางทีพวกเขาอาจจะเริ่มวิตกน้อยลงเกี่ยวกับน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน ที่เรายังสูบขึ้นมาจากโลกอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้สนับสนุนการกำจัดคาร์บอนบอกว่า เราจำเป็นอย่างที่สุดที่ต้องทำทั้งสองอย่างพร้อมกัน ทั้งลดการปล่อยคาร์บอนในอนาคต และย้อนกลับผลกระทบของคาร์บอนที่เราปล่อยมาแล้ว

ที่โพสต์คาร์บอนแล็บ (Post Carbon Lab) ในกรุงลอนดอน ไดแอน-เจน หลิน และฮันเนส ฮัลสเติร์ต ผู้ร่วมก่อตั้ง ออกแบบเสื้อผ้าที่สังเคราะห์แสงได้ โดยใช้สีย้อมจากจุลชีพซึ่งดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศและปล่อยออกซิเจนออกมา “แฟชั่นเดิมทีมีพื้นฐานอยู่บนความสัมพันธ์แบบใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ เราจำเป็นต้องเริ่มย้อนกลับสิ่งนั้นค่ะ” หลินบอก
การผลิตปูนซีเมนต์เป็นตัวการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละเจ็ดของโลก ก่อนจะมีวิธีที่คุ้มทุนในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์จากปูนซีเมนต์ โรงงานไฮเดลเบิร์กแมทีเรียลส์ในเบรวิก ประเทศนอร์เวย์ มีแผนใช้เชื้อเพลิงทางเลือกและระบบดักจับคาร์บอนเพื่อให้การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2030

“สำหรับฉัน มันชัดเจนมากนะคะว่า นี่คือทางแก้ หนึ่ง ของปัญหา ถึงแม้จะไม่ใช่ทางแก้ เดียว” อาราโดตตีร์บอกและเสริมว่า “โดยพื้นฐานแล้ว เราจะต้องทำสิ่งนี้เพิ่มเติมจากสิ่งอื่นๆที่โลกจำเป็นต้องทำเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนจากพลังงานทั้งหมดที่เราใช้”

หรืออย่างที่แมตทิว วอร์นเคน ประธานบริษัทคอร์เปอเรตคาร์บอนของออสเตรเลีย บอกผม “คนถามผมอยู่ตลอดว่า ‘โอ้โฮ นี่คือยาวิเศษที่แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใช่ไหม’ และผมจะตอบว่า ไม่ใช่ แต่เป็นวิธีหนึ่ง และเราจะต้องใช้มันครับ”

ลึกลงไปใต้ดิน เครื่องจักรกำลังขุดวัตถุดิบขึ้นมาป้อนโรงงานไฮเดลเบิร์กแมทีเรียลส์ ซึ่งผลิตปูนซีเมนต์ปีละ 1.2 ล้านตัน แผนการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ของโรงงานเป็นส่วนหนึ่งในโครงการลองชิปของรัฐบาลนอร์เวย์ที่มุ่งลดผลกระทบจากคาร์บอนไดออกไซด์ในหลายอุตสาหกรรม
โรงงานดักจับคาร์บอนจากอากาศโดยตรงของไคลม์เวิร์กส์ในไอซ์แลนด์ ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก กำจัดคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศได้ปีละ 4,000 ตัน เท่ากับการปล่อยคาร์บอนต่อปีของบ้านเรือนราว 500 หลังคาเรือน ตอนนี้ยังถือว่าไม่มาก แต่เป็นรากฐานสำหรับอนาคต

คำยืนยันของวอร์นเคนมาจากการคาดการณ์ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ หรือไอพีซีซี (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ว่า แนวทางที่ทำได้จริงใดๆในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางภูมิอากาศต้องรวมการกำจัดคาร์บอนในระดับมหึมาไว้ด้วย การรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกินเพดานอันตรายที่ 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม จะต้องอาศัยความเป็นกลางทางคาร์บอน และ การกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึงปีละ 12,000 ล้านตันภายในกลางศตวรรษนี้

นั่นคือความท้าทายที่น่าตกใจยิ่ง เราปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าปริมาณนั้นถึงสามเท่าภายในปีเดียว

พื้นที่ป่าเบิร์ชของไอซ์แลนด์ลดลงเหลือร้อยละหนึ่งของผืนดินในประเทศเมื่อตอนกลางศตวรรษที่ยี่สิบ ตอนนี้ เนื่องจากต้นไม้กักเก็บคาร์บอนได้ กรมป่าไม้ของไอซ์แลนด์จึงสนับสนุนการปลูกป่า การสำรวจครั้งล่าสุดพบว่า ป่าไม้ ในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของไอซ์แลนด์เช่นที่เห็นในภาพ เพิ่มขึ้นสองเท่าหรือครอบคลุมพื้นที่ราวร้อยละสองของประเทศ
บนดาดฟ้าตึกของมหาวิทยาลัยอีทีเอชซูริก เครื่องกลั่นน้ำมันพลังแสงอาทิตย์ขนาดเล็กดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำเพื่อผลิตสิ่งที่นักวิจัยหวังว่าจะเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานที่เป็นกลางทางคาร์บอนได้ หากสามารถลดต้นทุนที่สูงลิ่วของกระบวนการนี้ได้

เรื่อง แซม ฮาว เวอร์โฮเว็ก
ภาพถ่าย ดาวีเด มอนเตเลโอเน
แปล ศรรวริศา เมฆไพบูลย์

ติดตามสารคดี ขจัดคาร์บอนจากอากาศ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน 2566

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/592490


อ่านเพิ่มเติม คาร์บอนเครดิต และสถานการณ์ในประเทศไทย

คาร์บอนเครดิต
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.