ฟื้นสวนร้างให้เป็น ‘สวนสร้าง’ สวน 15 นาที ย่านบางกอกน้อย

พื้นที่ที่ดูเหมือนจะรกร้าง แต่ยังคงระบบนิเวศดั้งเดิมของกทม. กำลังถูกปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะเล็กๆ ของชุมชน

‘สวนสร้าง’ หนึ่งในพื้นที่จัดกิจกรรมของ Healthy Space Alliance โครงการเครือข่ายพัฒนาเมืองและชุมชนสุขภาวะ ซึ่งสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ชวนผู้สนใจไปลงทำกิจกรรมหลากหลายในพื้นที่สีเขียวหลายแห่งทั่วกรุงเทพ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมามีทั้งหมด 5 กิจกรรม หนึ่งกิจกรรมที่เรานั้นได้เข้าร่วมซึ่งเป็นกิจกรรม ‘Bike Trip สวนสร้าง’ ย่านบางกอกน้อย ชุมชนสันติชนสงเคราะห์ ซึ่งชวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมปั่นลัดเลาะไปในชุมชนริมน้ำตามเส้นทางที่เป็นประวัติศาสตร์ชุมชนก่อนจะไปจบที่สวนสร้าง

สวนสร้าง แห่งนี้อยู่ในพื้นที่เขตบางกอกน้อย ตรงข้ามซอยจรัญสนิทวงศ์ 41 เป็น 1 ในโครงการนำร่องของสวน 15 นาที เดิมทีเป็นที่รกร้าง ต่อมาได้รับการพัฒนาภายใต้แนวคิด ‘สวน 15 นาที’ โดยมีการนำเสนอพื้นที่ประกวดและได้รับเลือกเป็น 1 ใน 5 โครงการที่ได้มาพัฒนาต่อ และมีการจัดกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นคนในพื้นที่ และผู้คนนอกพื้นที่รวมถึงเราได้รู้จักสวนสร้างมากยิ่งขึ้น

โดยสวนสร้างมีพื้นที่ที่ใกล้แหล่งชุมชนและสถานที่ประวัติศาสตร์ อย่าง วัดสุวรรณาราม โรงหัวรถจักร ชุมชนบ้านบุ  มัสยิดอันซอริซุนนะ และชุมชนสันติชนสงเคราะห์ กิจกรรมนี้ได้ออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวขยายจากการพักผ่อนหย่อนใจที่สวนสร้าง ให้สามารถไปชมสถานที่อื่น ๆ ในละแวกใกล้เคียง จะเดินเท้าหรือการปั่นจักรยานเที่ยวเล่นก็ได้ เป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และแหล่งท่องเที่ยวไปในตัว

ครั้งแรกที่เราได้ยินชื่อนี้ ยังคิดอยู่ว่าสวนสร้างจะหน้าตาเป็นอย่างไร เราไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าจะมีสวนสาธารณะในพื้นที่กทม.ในเขตบางกอกน้อย พอได้ปั่นจักรยานไปตามสถานที่ต่าง ๆ ละแวกสวนสร้างก่อนที่จะมาถึงที่หมาย ระหว่างทางได้หาคำตอบหลาย ๆ สิ่ง

‘สวนสร้าง’ คือสวนแบบไหน

สวนสร้าง คือสวนกำลังปรับปรุงพัฒนามาเป็นสวนสาธารณะ โดยอยู่ในระหว่างฟื้นคืนพื้นที่ ดูเผินๆ ด้วยสายตาคนทั่วไป นี่คือพื้นที่รกร้าง แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปแล้ว นี่คือพื้นที่ที่ยังคงระบบนิเวศดั้งเดิมของกรุงเทพฯ ซึ่งมีต้นไม้ถิ่นหลากหลายขึ้นอยู่อย่างเป็นธรรมชาติบนดินที่ชุ่มแฉะแบบที่ไม่มีใครมาแตะต้องมานาน เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพมากในการปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สาธารณะ ให้ผู้คนได้มาพักผ่อนท่ามกลางต้นไม้เขียวชอุ่ม และยังมีจุดเด่นที่อยู่การเข้าถึงง่าย ใกล้ชุมชน เดินจากถนนจรัญสนิทวงศ์เพียง 800 เมตร  แม้จะซ่อนตัวอยู่ในซอยเล็กๆ แบบที่ถ้าไม่มีคนพาเดินเข้ามาก็ไม่รู้ แต่ที่นี่เหมือนเป็น Hidden Gems อัญมณีอันล้ำค่าที่ซ่อนตัวอยู่ และจะกลายเป็นพื้นที่ส่งเสริมสุขภาวะ สามารถใช้จัดกิจกรรมต่างๆ ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตชุมชน และเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ของเขตบางกอกน้อย

เมื่อจอดจักรยานแล้วเดินเข้ามาในบริเวณสวนสร้าง รับรู้ถึงความแตกต่างได้เลยทีเดียว จากอากาศร้อนๆ แดดที่แผดเผาผิวหนัง เหงื่อที่ถูกผลิตออกมาไหลรินเหมือนอาบน้ำใหม่อีกรอบ พอได้เดินเข้ามาในบริเวณสวนสร้าง เริ่มมีลมเย็น ๆ พัดผ่านเข้าที่หน้า มีเงาของต้นไม้ใหญ่คอยช่วยให้ความร่มเย็น เริ่มกล้าที่จะถอดหน้ากากอนามัยเพื่อสูดอากาศดี ๆ ให้ร่างกายได้รับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของต้นไม้ใบหญ้า

สวนไม่จัด’ แนวคิดพัฒนาสวนสร้าง

สวนไม่จัด คือ สวนที่คงสภาพระบบนิเวศดั้งเดิม ภูมิประเทศดั้งเดิมของกรุงเทพมหานคร คือพื้นที่ราบลุ่มชุ่มน้ำ เป็น Flood Plain ที่มีน้ำท่วมถึงบางฤดู และแห้งในบางฤดู บรรพบุรุษของเราจึงใช้ชีวิตปรับตัวไปกับธรรมชาติ อาชีพทำนาที่ต้องอาศัยน้ำท่วมขังต้นข้าวจึงเหมาะกับพื้นที่ลักษณะนี้ การมาตั้งถิ่นฐานของผู้คนและโครงการพัฒนาต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงธรรมชาติของพื้นที่ไปทีละน้อย นั่นเป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับ ไปพร้อมๆ กับการสร้างและจัดหาพื้นที่สีเขียวเพื่อคืนสมดุลให้กับเมืองหลวงของเรา

แนวคิดและวิธีสร้างสวนสาธารณะมีหลากหลาย แต่วิธีที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญก็คือ การฟื้นคืนลักษณะดั้งเดิมของพื้นที่นั้น การสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งคงความหลากหลายของระบบนิเวศ และการอนุญาตให้ธรรมชาติมาทำงานร่วมกับสวน โดยปล่อยให้สวนมีความรกเรื้อบ้าง มีพงพืชที่หลากหลาย มีสัตว์น้อยใหญ่หลากชนิดได้อาศัย การเทปูนปรับพื้นที่สวนทั้งหมดต้องถูกคิดใหม่ ออกแบบให้เหมาะสม ให้ธรรมชาติได้เข้ามาส่วนหนึ่งของสวนอย่างแท้จริง ไม่เน้นการ ‘จัด’ ด้วยฝีมือคนอย่างเดียว รักษาต้นไม้เดิมที่เติบโตในพื้นที่ตั้งแต่ต้น ออกแบบจัดการพื้นที่ด้วยความเข้าใจความหลากหลายของพืชพันธุ์อย่างแท้จริง

คุณบาส – ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา นักธรรมชาติวิทยา มาเป็นวิทยากรพาเราเดินพร้อมให้ความรู้เกี่ยวระบบนิเวศดั้งเดิมของกรุงเทพฯ ซึ่งที่นี่ยังคงลักษณะนั้นอย่างสมบูรณ์ คอยชี้ชวนให้เราดูต้นเฟิร์น บอน เตย ต้นไทร และต้นไม้หลากขนาดหลายสายพันธุ์ ใหัสังเกตรูปทรงผิวสัมผัสที่แตกต่าง ตั้งคำถาม แล้วลองคิดหาคำตอบว่าทำไมธรรมชาติจึงสรรสร้างความหลากหลายนี้ขึ้น เป็นการเดินสวนในช่วงเวลาไม่นาน แต่ได้มองเหล่าต้นไม้ในมุมที่ต่างออกไป และทำให้เรารู้สึกว่า อยากเห็นสวนสาธารณะแบบนี้ในกรุงเทพฯ มากขึ้น

ไม่เพียงเล่าเรื่องความสำคัญของการรักษาพื้นที่ให้คงธรรมชาติดั้งเดิม คุณบาสยังชวนพวกเรา ‘อาบป่า’ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เราชอบเป็นพิเศษ คุณบาสให้แต่ละคนหาพื้นที่ที่ชอบ นั่งลง วางโทรศัพท์ แล้วอยู่กับตัวเองเงียบๆ สัก 30 นาที ใช้เวลามองรอบข้าง สังเกตความเคลื่อนไหวของต้นไม้ เฉดของสีเขียวที่หลากหลาย เมฆบนท้องฟ้าที่เคลื่อนตามสายลม รับรู้ถึงการมีอยู่ของธรรมชาติด้วยใจและสายตาที่เปิดกว้างมากขึ้น หากมีที่ว่างมากพอเราคงนอนเพื่อให้ตัวเองได้ซึบซับบรรยากาศมากยิ่งขึ้น

หลังจากนั้นก็ให้พวกเราวาดรูปหรือเขียนสิ่งที่ประทับใจลงในกระดาษที่ได้มา เราไม่รู้ว่าใครวาดเขียนอะไรบ้าง แต่สำหรับเราเป็นช่วงเวลาเงียบๆ ที่สำคัญ

ชวนคิดให้รอบ เมื่อสวนสร้างจะกลายเป็นพื้นที่สาธารณะ

แม้เราจะสามารถเดินทางจากป้ายรถเมล์เข้ามาในสวนภายใน 15 นาที หรือ 800 เมตร ได้ แต่สวนสร้างเป็นพื้นที่ตาบอด และยังไม่ได้มีระบบความปลอดภัยมากนัก หลังจากเดินเล่นในสวนแล้ว ผู้จัดงานก็ชวนทุกคนมาล้อมวงพุดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งผู้เข้าร่วมต่างเสนอความคิดจากมุมมองหลากหลาย เช่น

“ควรเพิ่มระบบความปลอดภัย” เพราะถ้าหากเป็นผู้หญิงที่เดินทางมาเพียงคนเดียวช่วงเช้าก่อนฟ้าสว่างหรือหลัง 4 โมงเย็น ความมืดครึ้มอาจทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มีไฟฟ้าส่องแสงมากพอ และอาจจะเกิดอันตรายได้

หรืออีกท่าน ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างภายในพื้นที่ “ควรปรับปรุงสะพานเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ” เพราะว่าสะพานที่มีอยู่ค่อนข้างแคบ ไม่สามารถเดินสวนกันได้

ความเห็นที่ทุกคนเห็นพ้องคือ “ต้องเก็บขยะเพื่อรักษาความสะอาดของสวน” เพราะลึกเข้าไปด้านในสุดพื้นที่กลายเป็นจุดทิ้งขยะที่ไม่มีใครมาดูแล ทั้งๆ ที่ตรงนั้นมีต้นไทรใหญ่ยืนต้นตระหง่านงดงาม เหมาะที่จะเป็นจุดไฮไลท์ของสวนแห่งนี้ แม้ความหลากหลายอย่างเป็นธรรมชาติของพืชพันธุ์ในสวนนี้จะดีอยู่แล้ว แต่ยังต้องปรับปรุงและจัดการอีกหลายจุด เพื่อให้เป็นสวนสาธารณะที่เหมาะสำหรับทุกคน

‘สวนสร้าง’ อยู่ตรงข้ามซอยจรัญสนิทวงศ์ 41 เดินผ่านลานจอดรถตรงเลียบเข้าไปไม่ไกล ไม่เคยไปอาจหาไม่ง่ายนัก ลองถามคนแถวนั้นดูได้ การปรับปรุงสวนจะเริ่มช่วงต้นปี 2567 ‘สวนสร้าง’ ที่ยังเป็นชื่อโครงการอยู่ โดยจะมีการประกวดตั้งชื่อกันหลังจากสวนปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว ความคืบหน้าและข้อมูลต่างๆ ของสวนสร้าง ติดตามาได้ทาง Facebook: สวนสร้าง

เรื่อง: กัญญารัตน์ นามแย้ม

โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

ภาพ: รัชตะ เจียรกุล, ณัฏฐกร ชับพรหมนฤภัย, พันธ์วิรา เงาประเสิรฐ และ กัลยา วิมจิตรสอาด จากทีม We Park


อ่านเพิ่มเติม

คุยเรื่อง Nature-based Solution กับดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ การฟื้นฟูธรรมชาติเพื่อแก้ปัญหาโลกสู่เรา

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.