คิดค้นวิธีใหม่เพื่อวัดความเปราะบางของป่าเขตร้อน

ทีมนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำที่สมาคมเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิกนำพามาให้พบกันร่วมกันสร้างดัชนีเพื่อตรวจวัดว่าป่าแห่งใดต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 

ป่าฝนทั่วเขตร้อนตั้งแต่อินโดนีเซียถึงอเมริกากลางจากมาดากัสการ์ถึงผืนป่ารอบแม่นํ้าโขง กำลังถูกตัดโค่น แผ้วถาง หรือเผาเปิดทางให้ทุ่งหญ้าเลี้ยงปศุสัตว์ ฟาร์ม และสวนปาล์ม เพื่อตัดไม้ สร้างถนน และโครงการพัฒนาอื่น ๆ ของมนุษย์ทั่วโลก ป่าฝนเขตร้อนถูกตัดโค่นมากถึงร้อยละ 20 นับจากทศวรรษ 1990 อีกร้อยละ 10 ได้รับความเสียหาย เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ฤดูแล้งยาวนานขึ้น และแล้งถี่ขึ้น

ปัจจุบัน การวิเคราะห์โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำและนักอนุรักษ์กว่า 50 คนชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกำลังโจมตีป่าต่าง ๆ ที่ชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์อย่างสาหัส ในซอกมุมส่วนใหญ่ของเขตร้อน ป่าทั้งหลายกำลังสูญเสียความสามารถในการเก็บกักคาร์บอน รีไซเคิลนํ้า และเสี่ยงต่อการพังทลายล่มสลายมากกว่าที่เคยคิดกัน

ป่าเหล่านั้นอาจกลายเป็นแหล่งปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศเสียเอง ตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกิจกรรมการใช้ที่ดินของมนุษย์ ซึ่งเพิ่มและเร่งเร็วขึ้นตามการคาดการณ์

ความรุ่มรวยและความหลากหลายทางชีวภาพของป่าแอมะซอนนั้นยากจะหาป่าผืนใดในโลกเทียบได้ ป่าฝนเขตร้อนที่มีแม่นํ้ายาวที่สุดในโลกสายหนึ่งไหลผ่านในทวีปอมริกาใต้แห่งนี้ เป็นบ้านของสัตว์ป่าและพืชพรรณถึงร้อยละ 10 ของโลกกับแมลงอีกสองล้านชนิด ป่าแอมะซอนยังสร้างวัฏจักรน้ำได้เอง เมื่อความชื้นเคลื่อนจากมหาสมุทรแอตแลนติกสู่ผืนแผ่นดินดูดซับไว้โดยรากของหมู่ไม้ และกลายเป็นไอกลับสู่ชั้นบรรยากาศทางใบของพืช

บางพื้นที่กำลังเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่อื่น ด้วยการสนับสนุนของโรเล็กซ์ โดยมีสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก จัดการให้ผู้เชี่ยวชาญทีมนี้มาพบกัน รวบรวมข้อมูลดาวเทียมตลอดระยะเวลา 40 ปี ควบคู่กับผลที่ได้จากการสังเกตการณ์อื่น ๆ เพื่อสร้าง “ดัชนีความเปราะบาง” (vulnerability index) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์มีแผนจะใช้ในไม่อีกกี่ปีข้างหน้าเพื่อติดตามว่า พื้นที่ส่วนใดของป่าฝนต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่สุด หากป่าฝนเขตร้อนอันกว้างใหญ่ไพศาลได้รับแรงกดดันเกินขนาด ก็อาจเกิดการล้มตายของต้นไม้เป็นวงกว้าง หรืออาจเปลี่ยนผ่านไปสู่ระยะใหม่ กลายเป็นป่าคล้ายทุ่งสะวันนาที่แห้งแล้งกว่าเดิม นั่นอาจทำให้ภูมิภาคอุดมด้วยสัตว์ป่ามากที่สุดในโลกหลายแห่งประสบหายนะ และเป็นไปได้ว่าจะทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยิ่งเลวร้ายป่าบางแห่ง โดยเฉพาะป่าแอมะซอน อาจเปลี่ยนไปเป็นป่าลักษณะใหม่อย่างรวดเร็ว 

นอกจากการลักลอบค้าสัตว์ป่าแล้ว นกมาคอว์สกาเล็ตแห่งป่าแอมะซอนยังเผชิญภัยคุกคามอย่างการสูญเสียถิ่นอาศัย โดยเฉพาะจากการตัดไม้ทำลายป่า และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างใหญ่หลวง

คริสโตเฟอร์ โควีย์ นักนิเวศวิทยาและนักชีวเคมีที่วิทยาลัยสกิดมอร์และผู้ร่วมเขียนงานวิจัยดังกล่าว บอกว่า “เป้าหมายในที่นี้คือแสวงหาความเข้าใจ เป็นต้นว่าพื้นที่ใดมีปัญหาอย่างไร หนักหนาสาหัสเพียงใดและอยู่ที่ใดบ้าง เพื่อที่เราจะใช้ข้อมูลเหล่านั้นช่วยทำให้ตัดสินใจได้ดีกว่าเดิมในระยะต่อไปได้หรือไม่” 

พวกเขาหวังว่าแนวทางนี้จะสร้างระบบเตือนภัยแต่เนิ่น ๆ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรในการอนุรักษ์ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดให้ไปถึงผืนป่าทั้งหลายที่เผชิญความเสี่ยงมากที่สุด 

“คนทั่วไปควรเข้าใจว่า ไม่ได้มีแต่การตัดไม้ทำลายป่าครับ” แซสซัน ซาตชิ หัวหน้าคณะผู้เขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนป่าไม้ที่ห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่นหรือเจพีแอล (Jet Propulsion Laboratory: JPL) ของนาซา กล่าวและเสริมว่า “วิถีที่ป่าทำงานกำลังเปลี่ยนไปครับ ตั้งแต่ราวปี 2000 เรากำลังเห็นปรากฏการณ์ใหม่ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเร่งเร็วขึ้นทุกที” 

รายงานสุขภาวะของป่าเขตร้อน

สถานการณ์ของป่าฝนเขตร้อนแตกต่างกันไปในแต่ละทวีป ป่าในแอฟริกากำลังประสบปัญหาเรื่องไฟมากกว่าที่อื่น ๆ ขณะที่แอมะซอนเผชิญกับการสูญเสียนํ้ามากกว่าป่าในเอเชีย ผลิตภาพของป่าทั่วแอมะซอนกำลังลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่คงที่ในคองโก และกระทั่งเพิ่มขึ้นในป่าเขตร้อนของจีน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวจากการหาประโยชน์เกินขนาดในอดีตบวกกับความพยายามอย่างยิ่งยวดในการปลูกป่า

ผลกระทบของมนุษย์ต่อป่าฝนเขตร้อน – การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งโดยทั่วไปหมายถึงการตัดไม้ทำลายป่า สภาพป่าเสื่อมโทรม รวมถึงการฟื้นฟูสภาพป่า เป็นเครื่องชี้วัดที่ดีว่ามนุษย์สร้างผลกระทบต่อผืนป่าเช่นไร

ความเปราะบางของป่าฝนทั้งหลายอาจวัดได้หลายวิธี และงานวิจัยก่อนหน้านี้มักมุ่งเน้นพื้นที่ขนาดเล็ก ซาตชิกล่าวว่านั่นมีส่วนสร้างความสับสนให้นักวิจัยและนักอนุรักษ์ที่พยายามจัดลำดับความสำคัญในการฟื้นฟูสภาพป่า 

นักวิจัยเหล่านี้ใช้ดาวเทียม แบบจำลอง และการวัดแบบอื่น ๆ ในการติดตามอุณหภูมิผืนดิน การสังเคราะห์แสง และการผลิตเหนือพื้นดิน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลง ในภาพรวมของความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของชนิดพันธุ์ต่าง ๆ ในป่า พวกเขายังตรวจสอบการสูญเสียพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้จากไฟและการตัดไม้ทำลายป่า เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของปริมาณคาร์บอนและนํ้าที่ส่งผ่านระหว่างพืชพรรณกับชั้นบรรยากาศ 

ชุดข้อมูลมหาศาลดังกล่าวเอื้อให้นักวิทยาศาสตร์สร้างระบบที่เต็มไปด้วยรายละเอียดต่าง ๆ อย่างสอดคล้องกัน เพื่อประเมินสุขภาวะของป่า เช่นเดียวกับที่บางคนต้องสู้กับโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ แต่คนอื่นมีปัญหาด้านปอด ป่าทั้งหมดเหล่านี้ก็ “กำลังเผชิญแรงกดดันแตกต่างกันในมาตรเวลาที่ไม่เหมือนกันเลย” แคเทีย เฟอร์นานเดส ผู้เชี่ยวชาญด้านไฟและความแห้งแล้งในแอมะซอน สังกัดมหาวิทยาลัยอาร์คันซอ กล่าว

ช้างป่ายืนอยู่ในแม่น้ำเลโกลีที่อุทยานแห่งชาติโอดซาลาโกกัว สาธารณรัฐคองโก แม้ป่าฝนในแอฟริกากลางยังมีสุขภาวะที่ดีเป็นส่วนใหญ่ แต่ต้นไม้จำนวนมากกำลังออกดอกออกผลน้อยลง อาหารสำหรับสัตว์ป่าจึงลดน้อยลงตามไปด้วย

ตัวอย่างเช่นในเอเชีย การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในปัจจุบันเป็นสาเหตุของความเสียหายมากกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกันที่แอฟริกากลาง ป่าต่าง ๆ เผชิญการสูญเสียนํ้าอย่างสาหัสกว่าเดิม และอุณหภูมิก็พุ่งสูงขึ้นกว่าทวีปเอเชีย ทว่าผืนป่าคองโกในภาพรวม ซึ่งครอบคลุมภูมิภาคแอฟริกากลางเกือบทั้งหมด ตอนนี้ยังถือว่ามีสุขภาวะที่ดีเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็กำลังเผชิญ ผลพวงต่าง ๆ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้นไม้ จำนวนมาก เช่นในกาบองกำลังออกดอกออกผลน้อยลง ซึ่งหมายถึงอาหารสำหรับสัตว์ป่าที่น้อยลงตามไปด้วย กระนั้นก็ยังรอดจากการที่ต้นไม้ล้มตายเป็นวงกว้าง และพืชพรรณต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้นในลักษณะต่างกันไป นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่าความเครียดที่เกี่ยวข้องกับนํ้า (water stress) ต่อเนื่องยาวนานของทวีปแอฟริกาอาจทิ้งมรดกให้ป่าต่าง ๆ ปรับตัวกับความแห้งแล้งได้ดีกว่าในที่อื่น ๆ 

แอมะซอนยังเสี่ยงที่สุด 

“ในแง่ความเสี่ยงเฉพาะตัว ป่าแอมะซอนนั้นเด่นชัดมาก ต่อให้พิจารณาเทียบกับความท้าทายของป่าฝนทั่วโลกอื่น ๆ ก็ตาม” โควีย์บอกและเสริมว่า “การตัดไม้ทำลายป่าอย่างกว้างขวางควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว กำลังส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อการทำงานของระบบนิเวศในชุดค่าตัวแปรทุกด้าน” 

ในบราซิล การตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บรรดาต้นไม้โตเร็วและทนแล้งกำลังเข้ามาทดแทนชนิดพันธุ์โตช้าที่อยู่ได้ดีกว่าในสภาพแวดล้อมชื้นแฉะ และฝนกระหน่ำหนักถึงขั้นเกิดอุทกภัย ความแห้งแล้งยืดเยื้อกว่าเดิมและเกิดบ่อยขึ้น ไฟป่าเผาผลาญทำลายล้างมากกว่าเดิม อัตราตายของต้นไม้เพิ่มสูงขึ้น

การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การแผ้วถางเพื่อทำสวนปาล์มน้ำมัน ตลอดจนการเกิดไฟป่า ทำให้ประชากรอุรังอุตังที่มีถิ่นอาศัยทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรากำลังเผชิญกับการลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว

ซาตชิบอกว่า การหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ซึ่งเป็นความท้าทายที่จะมาพร้อมกับปัญหาซับซ้อนอื่น ๆ กระนั้น ก็ยังไม่พอที่จะหยุดยั้งความเสียหาย การปลูกป่าทดแทนอย่างรวดเร็วเป็นความจำเป็นเร่งด่วน “เรายังไม่รู้อย่างที่เราอยากจะรู้เกี่ยวกับปฏิกิริยาของระบบที่จะเกิดขึ้นครับ” ซาตชิกล่าว 

ด้วยการรวบรวมการตรวจวัดทั้งหมดเข้าด้วยกันเป็นครั้งแรก นักวิทยาศาสตร์สามารถมองเห็นภาพในแอมะซอนและที่อื่น ๆ ได้ชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกัน ข้อมูลเหล่านี้ก็สนับสนุนสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ เคยพยากรณ์ไว้เป็นส่วนใหญ่ “แนวโน้มน่ากังวลขึ้นทุกที ความที่มันน่าเชื่อถือมากกว่าเดิมครับ” เนต แมกดาว์ล ผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้และนักวิทยาศาสตร์พื้นพิภพที่ห้องปฏิบัติการแห่งชาติแปซิฟิกนอร์ทเวสต์ ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัยดังกล่าว บอก 

แมกดาว์ลเสริมว่า “ผู้คนเหล่านี้ โดยเฉพาะผู้เขียนหลัก ขึ้นชื่อเรื่องความระมัดระวัง และพวกเขากำลังชี้ว่า มีบางอย่างน่าตระหนก เมื่อเราทำให้โลกร้อน ป่าบางพื้นที่ก็กำลังเดินหน้าสู่พฤติกรรมที่ดูจะล่มสลายแล้ว” 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สายเกินไปที่จะเปลี่ยนสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่ ทีมของซาตชิหวังว่า การวิเคราะห์อย่างเข้มข้นนี้ จะตอกยํ้าให้ผู้คนเชื่อว่า เรากำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งเหล่านี้ไปอย่างมีนัยสำคัญ แต่พวกเขาก็หวังว่า เครื่องมือชุดใหม่นี้จะถูกนำไปใช้เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงต่อไป และนำพาทรัพยากรด้านการอนุรักษ์ไปสู่ผืนป่าที่ต้องการการฟื้นฟูมากที่สุด 

เรื่อง เครก เวลช์


บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการริเริ่มเพื่อโลกที่ยั่งยืนของโรเล็กซ์ (Rolex Perpetual Planet Initiative) ซึ่งร่วมมือกับสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในโครงการสำรวจทางวิทยาศาสตร์เพื่อสำรวจ ศึกษา และบันทึกการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคที่มีความแตกต่างโดดเด่นหลายแห่งของโลก


อ่านเพิ่มเติม พบไมโครพลาสติกใกล้ยอดเมานต์เอเวอร์เรสต์

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.