ชนเผ่าแอมะซอน น้อมนำ ” เทคโนโลยี-ชีวิตยุคใหม่ ” เพื่อ “ปกป้องป่า “

ชนเผ่าแอมะซอน ชนเผ่าหนึ่ง ยอมรับเครื่องมือสมัยใหม่ เพื่อปกปักรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมเอาไว้

แม่น้ำจาวารีกั้นแบ่งระหว่างบราซิลกับเปรู ขณะไหลรี่สู่ห้วงลึกของป่าแอมะซอน สัญญาณเดียวของชีวิตมนุษย์ตามแนวฝั่งแม่น้ำ คือท่าเรือหรือเรือสักลำที่นานๆจะปรากฏให้เห็นทางฝั่งเปรู ส่วนทางฝั่งบราซิลนั้นป้ายเตือนของทางการประกาศว่า นี่คือดินแดนของชนพื้นเมืองหุบเขาจาวารี เขตสงวนอันเป็นบ้านของกลุ่ม ชนเผ่าแอมะซอน ที่ใช้ชีวิตอย่างสันโดษ กระจุกตัวอยู่หนาแน่นที่สุดในโลก คนภายนอกห้ามเข้าไป แต่แรงดึงดูดของแร่ธาตุ ไม้ซุง และสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์ ทำให้คนจำนวนมากยากจะอดใจได้

ในหุบเขาจาวารี ภูมิภาคที่อยู่โดดเดี่ยวที่สุดแห่งหนึ่งในแอมะซอนของบราซิล หญิงชาวเผ่ากานามารีเก็บเกี่ยว มันสำปะหลัง พืชหัวซึ่งเป็นอาหารหลัก ชาวกานามารีส่วนใหญ่ดำรงชีพด้วยอาหารจากป่า แต่พวกเขาและผืนป่าที่ หล่อเลี้ยงชีวิตกำลังถูกคุกคามจากคนนอกที่หมายปองทรัพยากรธรรมชาติของแอมะซอน
รัฐบาลบราซิลติดต่อชาวกานามารีครั้งแรก เมื่อปี 1972 แม้การติดต่อกับโลกภายนอกนานหลายสิบปีจะส่งผลต่อหลายแง่มุมในชีวิตของพวกเขา ผู้คนในหมู่บ้านเซาลูอีสยังคงทำสิ่งต่าง ๆ ร่วมกัน ตั้งแต่การจับปลาไปจนถึงการเล่นนํ้าในแควสาขาของแม่นํ้าจาวารี ชาวบ้านมีความสนใจใคร่รู้เรื่องของเพื่อนบ้านที่มีวิถีชีวิตสันโดษยิ่งกว่าพวกตน ซึ่งรวมถึงเผ่าหนึ่งที่อาศัยอยู่ห่างออกไปเพียง 15 กิโลเมตร ในป่า ชาวกานามารีหลายคนบอกว่า พวกเขา อยากได้โดรน เพื่อดูว่าเพื่อนบ้านเหล่านั้นใช้ชีวิตอยู่กันอย่างไร

เป็นที่ทราบกันว่ามีคนราว 6,000 คนใช้ชีวิตอยู่ในเขตสงวน พื้นที่ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นป่าบริสุทธิ์ที่มีขนาดพอๆ กับประเทศโปรตุเกส แต่จำนวนนั้นรวมเฉพาะสมาชิกของเจ็ดชนเผ่าที่ติดต่อโลกภายนอกเท่านั้น ฉันได้มาเห็นว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ ณ พรมแดนอันตรายเหล่านี้รับมือการลักลอบตัดไม้ จับปลา และทำเหมืองผิดกฎหมายที่ค่อยๆ กัดกินแผ่นดินถิ่นเกิดของบรรพบุรุษพวกเขาอย่างไร

หมู่บ้านเซาลูอีสตั้งอยู่ริมแม่น้ำจาวารี ห่างจากเมืองอาตาลายาโดนอร์เตราว 300 กิโลเมตร ที่นี่คือบ้านของ ชนเผ่ากานามารี 200 คนหรือราวๆ นั้น ซึ่งอนุญาตให้ฉันและทีมงานเข้าไปถ่ายทำ เราพักอยู่ในบ้านไม้บนเสาสูงที่สะอาดสะอ้านของพวกเขาแปดวัน ตื่นนอนเมื่อหัวหน้าเผ่า เมาโร กานามารี (ชาวกานามารีใช้ชื่อเผ่าเป็นนามสกุล) เป่าเขาสัตว์ เราออกไปเก็บหัวมันสำปะหลังกับพวกผู้หญิง และไปล่าสัตว์จับปลากับพวกผู้ชาย

คนหนุ่มสาวประจันหน้ากันในกีฬาที่คล้ายรักบี้ แต่มีการร้องรำทำเพลงไปด้วย
เด็กๆ และหนุ่มสาวในเซาลูอิสได้รับการเลี้ยงดูตามขนบดั้งเดิม แม้เด็กจำนวนหนึ่ง เช่น โจเอา กานามารีจะได้ไปเรียนหนังสือที่เมืองอาตาลายาโดนอร์เต ซึ่งต้องนั่งเรือไปเก้าชั่วโมง โจเอาใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกการลาดตระเวนต่อต้าน การลักลอบล่าสัตว์และการตัดไม้ ตลอดจนสื่อสารกับชุมชนพื้นเมืองอื่นๆ และแชร์ภาพในสื่อสังคมออนไลน์

สิ่งที่เราประจักษ์แจ้งแก่เรา ครั้งแล้วครั้งเล่า คือผู้คนที่วิตกกังวลเรื่องความรุนแรงที่กำลังรุกคืบสู่ผืนป่า ของพวกเขา และพยายามหาหนทางใหม่ๆ เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินและวิถีชีวิตของตนมากขึ้นเรื่อยๆ

“แต่ก่อนมีผู้รุกล้ำเพียงไม่กี่คน อย่างชาวประมง และพวกตัดไม้ที่มาเอาไม้ไปจากดินแดนของเรา” หัวหน้าเผ่าเมาโรบอก “ตอนนี้พวกเขาเข้ามามากขึ้นทุกวัน”
สำหรับชนเผ่ากานามารี ป่าคือพ่อแม่ผู้มอบทุกสิ่งให้ การตัดไม้และการนำทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ออกไป เท่ากับคุกคามสุขภาวะของพ่อแม่และการวิถีชีวิตของพวกเขา แต่การต่อต้านกิจกรรมเหล่านั้นเป็นอันตราย เมื่อปี 2022 บรูโน เปเรรา นักรณรงค์เคลื่อนไหวชนพื้นเมืองบราซิล และนักข่าวชาวอังกฤษ ดอม ฟิลลิปส์ ถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยมในแม่น้ำอีกสายหนึ่งในภูมิภาค ว่ากันว่าเป็นการทำตามใบสั่งของหัวหน้าเครือข่ายอาชญากรรมประมง “ตัวผมเองได้รับ คำขู่ไม่น้อยครับ” หัวหน้าเมาโรบอก

เรือท้องแบนชักลากไม้ที่ลักลอบตัดจากป่าแอมะซอนออกไปอย่างเปิดเผยในแม่น้ำจาวารีใกล้หมู่บ้านเซาลูอิส โดยน่าจะมีจุดหมายปลายทางที่โรงเลื่อย ตามปกติ เรือลักษณะนี้จะออกแล่นตอนกลางคืน แต่แอดดารีโอและทีมงานเห็นเรือสามลำ ในแม่น้ำตอนกลางวันแสกๆ
เด็กๆ ชาวกานามารีเฝ้าไฟกองเล็กๆ ชาวบ้านทำเกษตรตามขนบดั้งเดิมด้วยการหักร้างถางพงและเผาซากพืชแห้งๆ เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกและฟื้นฟูสภาพดิน มีหลักฐานบ่งชี้ว่าชนเผ่าพื้นเมืองในแอมะซอนเพาะปลูกพืชผลกัน มานานกว่า 10,000 ปีแล้ว

ถึงอย่างนั้น ชาวกานามารีก็ไม่ยอมปล่อยให้การบุกรุกล่วงล้ำเกิดขึ้นโดยไม่ทำอะไร พวกเขาร่วมมือกับ ฟูไน (FUNAI) หน่วยงานดูแลชนพื้นเมืองของรัฐ และยูนิวาจา (UNIVAJA) สหภาพกลุ่มชนพื้นเมืองในหุบเขา จาวารี จัดการลาดตระเวนและหามาตรการผลักดันกลุ่มลักลอบตัดไม้ออกจากพื้นที่ ฟูไนมอบวิทยุและน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเรือยนต์ แต่อาวุธของชาวกานามารีอย่างธนูและลูกศรกับปืนลำกล้องเล็ก เทียบกันไม่ได้เลยกับอาวุธของผู้บุกรุก ด้วยความจำเป็น หลักการทำงานของพวกเขาจึงเป็นการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า แต่รายงานสิ่งที่พบเห็น

“เราเคยยึดไม้ของกลางไว้ครับ แต่ตอนนี้ เนื่องจากพวกเขาเข้ามากันมากขึ้น เราเริ่มกลัว” หัวหน้าเผ่าเมาโรบอก “เวลาเราเข้าไปในเมือง เราจะตกเป็นเป้าของการลอบสังหารครับ”

เตเรซา กานามารี ภรรยาของหัวหน้าเผ่า เมาโร กานามารี ทำอาหารให้ครอบครัว ชาวกานามารีใช้หม้อโลหะทำอาหารและเปิดไฟฉายคาดศีรษะเมื่อฟ้ามืด เนื่องจากหมู่บ้านเซาลูอิสไม่มีไฟฟ้า แต่ขนบหลายอย่างยังคงเดิม นี่คือการปรับตัวของพวกเขา รักษาขนบโบราณ แต่ใช้เครื่องมือสมัยใหม่

โจเอา กานามารี หลานชายวัย 20 ของหัวหน้าเผ่า บันทึกการลาดตระเวนด้วยโทรศัพท์มือถือและแชร์ข้อมูลนี้ ทางสื่อสังคมออนไลน์ เขาถูกส่งไปยังอาตาลายาโดนอร์เตช่วงปลายวัยรุ่นเพื่อเรียนภาษาโปรตุเกส และตอนนี้ทำงานเป็นตัวกลางระหว่างชนเผ่าของเขากับโลกภายนอก

“เราอยากให้โลกเห็นเรา เพื่อที่พวกเขาจะได้ช่วยเราครับ” โจเอาบอก “เราออกลาดตระเวนดินแดนของเราในแม่น้ำอันตรายเหล่านี้ ไม่ใช่แค่เพื่อพวกเราเท่านั้น แต่เพื่อพวกคุณด้วย” แอมะซอนคือรัฐบาลของเรา พ่อของเรา และแม่ของเรา เราไม่อาจอยู่รอดได้ถ้าไม่มีมัน และจากที่เราทุกคนเข้าใจ คุณเองก็ไม่อาจอยู่รอดได้เช่นกัน

เรื่องและภาพถ่าย ลินซีย์ แอดดารีโอ
สัมภาษณ์และเรียบเรียง เรเชล ฮาร์ติแกน
แปล ศรรวริศา เมฆไพบูลย์

ติดตามสารคดี ระหว่างสองโลก ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เดือนมกราคม 2567

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/598788


อ่านเพิ่มเติม ป่าแอมะซอนกำลังสูญเสียพื้นที่นับล้านตารางกิโลเมตร

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.