ตะลึง! “มลพิษทางอากาศ” ทำคน “ฆ่าตัวตาย” เพิ่มขึ้น

“ มลพิษทางอากาศ ” ที่ “เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว” อาจเพิ่มความเสี่ยงในการ “ฆ่าตัวตาย”

เนื่องจาก มลพิษทางอากาศ ฝุ่นละอองในระดับสูงสามารถเปลี่ยนเคมีในสมองได้ การจัดการกับพวกมันสามารถป้องกันการฆ่าตัวตายหลายหมื่นคนในจีน

งานวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่ในวารสาร Nature sustainability ซึ่งรวมข้อมูลคุณภาพอากาศและรายงานการฆ่าตัวตายจากทั่วประเทศจีน ได้ยืนยันข้อสังเกตก่อนหน้านี้ว่า มลพิษทางอากาศที่หนาแน่นจากการจราจร โรงงาน โรงไฟฟ้าถ่านหิน และเตาผิงในบ้านสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายได้ (ทั้งหมดเป็นต้นกำเนิดฝุ่นที่คนไทยรู้จักในชื่อ PM2.5)

รายงานนี้ยังยืนยันอีกอย่างหนึ่งว่า แผนการต่อสู้กับมลพิษทางอากาศของจีนเพื่อทำให้สะอาดขึ้นซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ได้ช่วยป้องกันเหตุฆ่าตัวตายได้ประมาณ 45,970 รายตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2017 และหากประเทศอื่นจัดการอย่างจริงจัง จะช่วยผู้คนได้อีกนับล้านทั่วโลก

“เป็นการศึกษาที่ทำได้ดีมาก” โรเจอร์ แมคอินไทร์ (Roger McIntyre) จิตแพทย์จากมหาวิทยาลัยโตรอนโต กล่าว นอกจากนี้มันยังเป็นการระบุครั้งแรกว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการฆ่าตัวตายที่ลดลงกับคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น ซึ่งไม่เคยมีใครศึกษาทางวิทยาศาสตร์จริง ๆ

แน่นอนว่านักวิจัยทราบมานานแล้วว่ามลพิษทางอากาศเป็นอันตรายต่อสุขภาพกาย มันสร้างการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และมะเร็งปอดที่เกิดจากอากาศเสีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 7 ล้านคนในแต่ละปี (ตามรายงานจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ)

และในตอนนี้ มีเพิ่มหลักฐานขึ้นมาว่ามันมีผลเสียต่อสุขภาพจิตด้วยเช่นกัน การศึกษาทางระบบประสาทและสิ่งแวดล้อมขนาดเล็กได้เสนอแนะว่าความเข้มข้นของอนุภาคที่มีความกว้าง 2.5 ไมครอนหรือน้อยกว่านั้นที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (หรือที่เรียกว่า PM2.5) สามารถเปลี่ยนแปลงเคมีในสมองอย่างรวดเร็วเช่นกัน และอาจนำไปสู่ความก้าวร้าว สูญเสียการควบคุมอารมณ์ และไม่สามารถรับมือกับ วิกฤติการณ์ได้

นอกจากนี้ มลพิษทางอากาศยังเกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล โรคทางจิตเวช และความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น ภาวะสมองเสื่อม ผลการศึกษาชี้ว่าอากาศที่มีมลพิษอย่างหนักจะทำให้เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นภายใน 7 วัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น่าตกใจอย่างยิ่ง หากคุณลองจินตนาการว่าได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนคนหนึ่งอย่างร่าเริงในวันนี้ แต่ 7 วันข้างหน้ากลับเกิดเหตุการณ์สลดอย่างไม่คาดคิด

แม้อัตราการฆ่าตัวตายของจีนลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เช่นเดียวกับในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก (อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และประเทศอื่น ๆ มีจำนวนเพิ่มขึ้น) โดยในปี 2010 มีการฆ่าตัวตาย 10.88 ครั้งต่อประชากร 100,000 คนในจีน ต่อมาภายในปี 2021 อัตราดังกล่าวก็ลดลงเหลือ 5.25 ตามข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน

เช่นเดียวกับที่อื่น ๆ มีหลายปัจจัยที่ทำให้การฆ่าตัวตายลดลง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในทางที่ดีขึ้้น เพิ่มความเจริญรุ่งเรืองและโอกาสในการทำงาน รวมถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงยาฆ่าแมลง ซึ่งทำให้อันตรายถึงชีวิตน้อยลงเช่นกัน (การกินยาฆ่าแมลงเป็นวิธีการฆ่าตัวตายที่พบได้ทั่วไปในเอเชียชนบท)

และในเวลาเดียวกันนั้น ประเทศจีนก็ได้ปรับปรุงคุณภาพอากาศอย่างเข้มข้นผ่านแผนปฏิบัติการป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศปี 2013 ซึ่งสนับสนุนการเปลี่ยนถ่านหินเป็นก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้ทำความร้อนในที่อยู่อาศัยและเชิงพาณิชย์ ควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในยานพาหนะ ส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และตั้งเป้าหมายในการลด มลพิษทางอากาศโดยรอบ

ทีมวิจัยที่นำโดยนักเศรษฐศาสตร์ เผิง จาง (Peng Zhang) จากมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง เซินเจิ้น และ แทมมา คาร์ลตัน (Tamma Carleton) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาบาร์บารา ได้ใช้ประโยชน์จากแนวโน้มนี้ เพื่อศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศและการฆ่าตัวตาย และพวกเขาก็พบว่ามันเป็นเช่นนั้นจริง

เพื่อแยก PM2.5 ออกจากปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดความสับสนว่าอาจมีผลกระทบกับการฆ่าตัวตาย เช่น การปรับปรุงสภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ นักวิจัยได้เน้นไปที่การระบุการผกผันของความร้อน ในปรากฏการณ์ทางอุตุนิยมวิทยา ซึ่งตรวจสอบชั้นของอากาศเย็นที่ตั้งอยู่ใกล้กับพื้นผิวโลกโดยมีอากาศอุ่นอยู่เหนือชั้นนั้น (สามารถนึกภาพง่าย ๆ ได้ว่าอากาศอุ่นครอบอากาศเย็นไว้อยู่)

วิธีนี้จะดักจับและกดมลพิษทางอากาศให้อยู่ใกล้พื้นดินมากขึ้น (เพราะอากาศจะไม่เคลื่อนตัวจากเย็นไปสู่ที่ร้อนกว่า มันจะเคลื่อนจากร้อนมาสู่เย็นเท่านั้น ทำให้มลพิษในอากาศเย็นกว่าไม่ถูกระบายออก) สิ่งนี้ทำให้มนุษย์ในพื้นที่นั้นต้องสัมผัสมลพิษเพิ่มขึ้น

“สิ่งนี้ช่วยให้เราสามารถแยกผลกระทบเชิงสาเหตุของมลพิษทางอากาศที่มีต่อการฆ่าตัวตายได้เป็นครั้งแรก” คาร์ลตันกล่าว

ข้อมูลสภาพอากาศที่รวบรวมจากสถานีติดตามมลพิษทางอากาศทั่วประเทศจีนกว่า 1,400 แห่ง แสดงให้เห็นว่าโดยเฉลี่ยแล้ว มณฑลต่าง ๆ ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยทั่วไปแต่ละครั้งจะใช้เวลา 2 ถึง 3 ชั่วโมง กระนั้นมันก็สามารถเพิ่มระดับ PM2.5 เฉลี่ยรายสัปดาห์ได้

เมื่อรวมข้อมูลเหล่านี้เข้ากับรายงานการฆ่าตัวตายในระดับเทศมณฑลเกือบ 140,000 ฉบับต่อสัปดาห์ นักวิจัยพบว่าการผกผันของอุณหภูมิมีความสัมพันธ์กับอัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ แต่ไม่มีผลกระทบในระยะยาว

“สิ่งเหล่านี้เป็นการฆ่าตัวตายเพิ่มเติม ซึ่งการเสียชีวิตที่ไม่เคยคาดคิดขึ้นมาก่อนจากคุณภาพอากาศไม่ลดลง” รายงานระบุ

เมื่อพิจารณาตัวเลขอย่างละเอียดลงไปพบว่าเกือบ 10% ของอัตราการฆ่าตัวตายโดยรวมที่ลดลงระหว่างปี 2013 ถึง 2017 มีสาเหตุมาจากการลดมลพิษทางอากาศอย่างชัดเจน ข้อค้นพบที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ ผู้หญิงที่มีอายุเกิน 65 ปี จะมีแนวโน้มที่จะปลิดชีพตัวเองเป็นการตอบสนองต่อมลพิษทางอากาศมากกว่ากลุ่มประชากรอื่น ๆ

“เรื่องนี้น่าประหลาดใจเพราะอัตราการฆ่าตัวตายของผู้ชายมีมากกว่าผู้หญิงในทั่วประเทศจีนและในประเทศส่วนใหญ่ของโลก” คาร์ลตันกล่าว เธอตั้งข้อสังเกตว่า ความพยายามฆ่าตัวตายและอัตราความสำเร็จของผู้หญิงจีนนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกตั้งแต่เริ่มต้นอยู่แล้ว และการศึกษาก่อนหน้านี้ก็ชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงจีนจำนวนมากมีความพยายามที่จะกระทำตามแรงกระตุ้นในการฆ่าตัวตายสูง

งานวิจัยนี้เป็น “ความก้าวหน้าจากการศึกษาก่อนหน้าที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์นี้” ระหว่าง PM2.5 และการฆ่าตัวตาย โจเซฟ เฮย์ส (Joseph Hayes) จิตแพทย์จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน กล่าว “จุดแข็งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือขนาด—รวมประเทศจีนทั้งหมดด้วย” เขาเสริม

อย่างไรก็ตาม เฮย์ส กล่าวว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดความสับสนอื่น ๆ ไม่สามารถตัดออกได้ทั้งหมด มลพิษอื่น ๆ เช่น ก๊าซพิษและอนุภาคขนาดใหญ่ อาจพุ่งสูงขึ้นพร้อมกับ PM2.5 ด้วยเช่นกัน และไม่ใช่ทุกคนในเขตที่จะสัมผัสกับมลพิษในระดับปริมาณเฉลี่ย ซึ่งทำให้ผลลัพธ์มีความแม่นยำน้อยลง แต่อย่างไรก็ตามทั้งสองปัจจัยก็เกี่ยวข้องกันมากกว่าที่คิด

คาร์ตันและเพื่อนร่วมงานของเธออาจกล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับปัจจัยสับสนอื่น ๆ ในการศึกษาในอนาคต แต่สิ่งสำคัญคือ “สภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถกำหนดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก” ได้

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nature.com/articles/s41893-024-01281-2

https://www.sciencealert.com/chinese-study-finds-suicide-rates-spike-when-air-quality-drops

https://www.science.org/content/article/spikes-air-pollution-may-increase-suicide-risk


อ่านเพิ่มเติม อากาศเป็นพิษ ชีวิตถึงตาย

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.