คุยกับ ซิลเวีย เอิร์ล “เจ้าหญิงแห่งห้วงลึก”

นักสมุทรศาสตร์ ซิลเวีย เอิร์ล ได้สมญาว่า “เจ้าหญิงแห่งห้วงลึก” หรือ “Her Deepness” จากการอุทิศตนเพื่อการสำรวจและการอนุรักษ์มหาสมุทรของเธอ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก มีโอกาสได้พูดคุยกับเธอ แบบสบายๆ (และไม่ต้องเปียกน้ำ) เมื่อไม่นานมานี้

NG: ซิลเวีย เราได้ยินข่าวลือว่าจริงๆ แล้วคุณเกิดใต้นํ้า และคุณยังมีเหงือกเหมือนปลา ที่ผ่านมาคุณเสแสร้งมาตลอดว่าเป็นมนุษย์ ที่เห็นเดินดินอยู่นี่เป็นภาพลวงตาใช่ไหม

ซิลเวีย: เป็นอย่างนั้นได้ก็ดีสิ!

 

NG: เกิดอะไรขึ้นกับคุณตอนเป็นเด็ก ทำไมจู่ๆ การใช้ชีวิตอยู่บนบกถึงกลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญรองลงไปสำหรับคุณ

ซิลเวีย: สมัยเด็กๆ ที่ชายฝั่งนิวเจอร์ซีย์ มีอยู่ครั้งหนึ่งฉันถูกคลื่นซัดจมนํ้า ฉันหายใจ ไม่ออก จนกระทั่งนิ้วเท้าสัมผัสพื้น ถึงทะลึ่งพรวดขึ้นมาได้ ตอนนั้นเองที่ฉันรู้สึกว่า มันทั้งสนุกและเจ๋งสุดๆ หลังจากนั้น พอครอบครัวย้ายไปอยู่ฟลอริดาตอนฉันอายุ 12 หลังบ้าน เราคืออ่าวเม็กซิโก คุณก็รู้นี่นาว่า เด็กๆ คือ นักสำรวจโดยธรรมชาติ พวกเขาเป็นนัก วิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ต้น ชอบถามคำถามไม่หยุดหย่อน ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่และน่าทึ่งไปเสียหมด

 

NG: ถ้าเป็นเด็กๆ ในเมือง พวกแกคงนึกถึงมหาสมุทรว่าเป็นสถานที่ที่หายใจไม่ได้

ซิลเวีย เอิร์ล: แต่ตอนนี้ทำได้แล้วนี่นา ถ้าไม่ใช่ด้วยเรือดำนํ้า ก็อาศัยเทคโนโลยีสารพัดที่พัฒนาขึ้นมานานแล้ว ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่สิบเก้า มีผู้คิดค้นการอัดอากาศ ลงไปตามท่อถึงอุปกรณ์หน้าตาคล้ายหมวก เหล็กที่คนสวมใส่เวลาลงไปอยู่ใต้นํ้า

 

NG: จริงๆ การสำรวจอวกาศกับมหาสมุทร ก็มีอะไรคล้ายกันอยู่ แต่แน่ละ การขึ้นสู่ห้วง อวกาศดูจะแพงกว่าการลงไปก้นสมุทรมาก

ซิลเวีย: การลงไปสู่ก้นสมุทรอาจจะไม่ใช่เรื่องยาก [ในเชิงเทคนิคเมื่อเทียบกับการเดินทางสู่ห้วงอวกาศ] กระนั้นที่ผ่านมาก็มีคนเพียงแค่สามคนที่ลงไปถึงจุดลึกที่สุดของโลก นั่นคือ 11 กิโลเมตร หรือราวๆ เจ็ดไมล์

ภาพถ่ายเมื่อปี 1979 ภาพนี้ถ่ายที่นอกชายฝั่งเกาะโออาฮูของฮาวาย ซิลเวีย เอิร์ล ในชุดดำนํ้าที่ออกแบบเป็นพิเศษกำลังถูกหย่อนลงจากยานดำนํ้า (เห็นอยู่ด้านบน) ลงไปยังก้นสมุทรลึก 380 เมตร จากนั้น เธอจะปลดเคเบิลที่ยึดกับชุดออก แล้วใช้เวลาสำรวจราวสองชั่วโมงในระดับความลึกที่ไม่เคยมีมนุษย์สวมชุดดำนํ้าคนไหนลงไปสัมผัส

 

NG: คุณกำลังพูดถึงร่องลึกบาดาลมาเรียนา (Mariana Trench) นอกชายฝั่งฟิลิปปินส์ ใช่ไหม

ซิลเวีย: ใช่แล้ว การสำรวจครั้งแรก ทำโดยชาก พิกการ์ด และดอน วอลช์ ในปี 1960 จากนั้นในปี 2012 ผู้สร้างภาพยนตร์และนักสำรวจประจำสมาคมเนชั่นแนล จีโอ-กราฟฟิก เจมส์ แคเมอรอน ร่วมลงทุนสร้างยานดำนํ้าสำหรับคนคนเดียวซึ่งออกจะบ้าบิ่นหน่อยๆ ยานดำดิ่งลงสู่ห้วงลึกของมหาสมุทรและใช้เวลาสำรวจอยู่นานเกือบสามชั่วโมง ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของมหาสมุทรที่ไม่มีใครเคยพบเห็น

 

NG: แต่นั่นคงเทียบไม่ได้กับความชวนฝัน ของท้องฟ้าและห้วงอวกาศใช่ไหม

ซิลเวีย เอิร์ล: คุณรู้ไหม ปัญหาของเรื่องนี้ คืออะไร เรามองมหาสมุทรไม่ต่างจากสวนหลังบ้าน เราคิดว่าเรารู้จักทุกสิ่งที่อยู่ในนั้น ถ้ามองเผินๆ คุณอาจคิดว่า สภาพที่เห็นแทบ ไม่ต่างจากเมื่อราวพันปีก่อน แต่ร้อยละ 90 ของกิจกรรมประมงในมหาสมุทรล้วนแล้ว แต่เป็นการประมงที่เกินขนาด หรือไม่ก็ถูกใช้ประโยชน์แบบเต็มร้อย และส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานี้เอง และแม้ว่าจะมีสัญญาณการฟื้นตัวของแนวปะการัง แต่ ราวสองในสามได้รับความเสียหายอย่างหนัก ส่วนหนึ่งมาจากภาวะโลกร้อนซึ่งทำให้มหาสมุทรเป็นกรดมากขึ้น

 

NG: บางทีอาจเป็นเพราะเรามองไม่เห็น เลยนึกภาพไม่ออก ขณะที่เราออกมาเรียกร้อง ให้หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า รักษาทะเลสาบ แม่นํ้า และพื้นที่ชุ่มนํ้า เป็นไปได้ไหมว่า เพราะสิ่งเหล่านี้มองเห็นได้ง่ายกว่า

ซิลเวีย: ใช่ค่ะ แล้วยังมีความคิดทำนองว่า มหาสมุทรช่างกว้างใหญ่ไพศาล สามารถฟื้นตัวได้ดี พูดง่ายๆ คือ มหาสมุทรใหญ่เกินกว่าที่จะล้มเหลว แต่ตอนนี้เรารู้แล้ว ว่า มหาสมุทรกำลังยํ่าแย่ แล้วทำไมเราต้องแคร์ด้วยล่ะ ใครจะสนใจถ้าไม่เหลือปลาทูน่าให้จับสักตัว

 

NG: เราก็แค่หันไปกินปลาชนิดอื่นกระมัง

ซิลเวีย: เราเคยคิดกันอย่างนั้นจริงๆ แต่ตอนนี้ เรากำลังไม่เหลือ “ชนิดอื่น” ด้วย ฉันหมายความว่า ปลาบางชนิดมีอายุหลาย สิบปี พวกมันไม่เหมือนไก่ที่ใช้เวลาไม่กี่เดือน ก็โตเต็มที่ ถ้าอยากได้เนื้อไก่สักครึ่งกิโล คุณอาจต้องใช้พืชอาหารสักหนึ่งกิโล ถ้าเป็นเนื้อวัว ครึ่งกิโล อาจต้องใช้พืชอาหารมากถึงเก้ากิโล แต่ปลาทูน่ากินปลาชนิดอื่นเป็นอาหาร ซึ่ง ตัวมันเองก็กินปลาเล็กปลาน้อยอีกทอดหนึ่ง เป็นอย่างนี้ลงไปเรื่อยๆ จนถึงพืชในมหาสมุทร แพลงก์ตอนนับพันนับหมื่นกิโลกรัมช่วยหล่อเลี้ยงห่วงโซ่อาหารสายยาวและบิดเกลียวนี้ ขึ้นไปจนถึงสัตว์นักล่าขนาดใหญ่อย่างปลาทูน่า ซึ่งเราจับมาทำเป็นซูชิชิ้นสวยๆ บนจาน ถามว่าจำเป็นต่อเราไหม หรือจริงๆ แล้ว เป็นแค่ตัวเลือกหนึ่ง

 

NG: ฟังคุณพูดอย่างนี้แล้วจะมีใครนึก อยากกินซูชิปลาทูน่าอีกไหม

ซิลเวีย: คุณก็แค่กินอย่างมีสำนึก รับผิดชอบ และรู้ว่าสิ่งที่คุณกินส่งผลกระทบอย่างไร นั่นคือประเด็นสำคัญค่ะ

 

NG: พูดง่ายๆ คือ ตอนนี้ถึงเวลาที่เราต้อง หันมามองความสัมพันธ์ระหว่างเรากับโลก เสียใหม่

ซิลเวีย: ถูกต้องค่ะ ถ้ามีใครถามว่า ทำไมฉันถึงต้องห่วงใยมหาสมุทรด้วย ก็เพราะมหาสมุทรเกี่ยวข้องกับชีวิตคุณ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หรืออยู่ที่ไหน ทุกลมหายใจที่คุณ สูดเข้าไป มหาสมุทรคือบ่อเกิดของออกซิเจนส่วนใหญ่ที่สร้างขึ้นในโลก โดยมีแพลงก์ตอนพืช (Phytoplankton) ตัวเล็กจิ๋วคอยเติมเต็ม ยังไม่ต้องพูดถึงการดูดซับก๊าซคาร์บอนได-ออกไซด์ปริมาณมหาศาลที่เราสร้างขึ้น ดังนั้น เราควรมองตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบ มากกว่าจะเป็นเจ้านายใหญ่ของเอกภพ

 

อ่านเพิ่มเติม : คุยกับซีซาร์ มิลแลน, มหาสมุทรกำลังเต็มไปด้วยขยะพลาสติกขนาดเล็ก

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.